xs
xsm
sm
md
lg

Twilight 4.1 : มันอาจมีวิญญาณหรือพลังงานบางอย่างแฝงอยู่/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


น่าหัวเราะ, น่าเบื่อ, น่าผิดหวัง, หนังห่วย, ไม่เมกเซ้นส์, ไม่เห็นสนุกเหมือนในหนังสือ และอีกหลากหลายมุมมองที่ฟ้องไปในทางลบ ซึ่งคุณจะสามารถพบเห็นได้อย่างง่ายดายเพียงแค่เสิร์ชเข้าไปในเว็บไซต์ต่างประเทศหลายๆ แห่งที่มีการพูดถึงหนังแวมไพร์ขวัญใจวัยรุ่นภาคล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า Twilight Saga : Breaking Dawn Part 1 หรือเรียกสั้นๆ ว่าภาค 4.1

โดยส่วนตัว ผมไม่ใช่ทั้ง Twilighter หรือ Twihard (ศัพท์แสงที่ใช้เรียกพวกสาวกแฟนคลับระดับคลุกวงใน) ไม่ได้อ่านตัวหนังสือของสเตฟานี เมเยอร์ ที่เป็นต้นฉบับ แต่สำหรับเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งติดตามดูมาทุกภาค ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง หรือกระทั่งเฉยๆ แตกต่างกันไปในแต่ละภาค พูดไปก็คล้ายคนมีเวรมีกรรมต่อกันนั่นล่ะครับ ไหนๆ ก็คบหากันมาขนาดนี้แล้ว ก็จำต้องอยู่ดูใจกันไปจนวินาทีสุดท้ายโน่นแหละ

และแน่นอนครับว่า หนัง (และหนังสือ) ที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนแข็งแกร่งและมีผู้คนตามแห่แหนได้หนาแน่นมากเพียงนี้ มันย่อมต้องมีอะไรดีบ้างล่ะ ไม่เช่นนั้นก็คงล้มหัวทิ่มไปตั้งแต่ภาคแรกแล้ว

ไม่ว่าจะเห็นด้วยมากหรือน้อยก็ตาม แต่ปัจจัยลำดับที่หนึ่งซึ่งทำให้ใครต่อใครหลงรักแวมไพร์ชุดนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรักโรแมนติก

ก็จริงที่ว่า เรื่องรักโรแมนติกของแวมไพร์อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะแม้แต่เจ้าตำรับนิยายผีดูดเลือดตัวพ่ออย่างบราม สโตกเกอร์ ก็เคยเสนอเรื่องทำนองนี้มาแล้ว ขณะที่หนังแวมไพร์ที่ผมเห็นว่าทำได้ดีมากๆ เรื่องหนึ่งก็คือ Dracula จากมุมมองการตีความของฟรานซิส ฟอร์ด ค็อปโปลา

อย่างไรก็ดี Dracula ของค็อปโปลา ก็ดูแตกต่างค่อนข้างสูงกับ Twilight เพราะถึงแม้ Dracula จะมีเรื่องรักโรแมนติกเป็นอาภรณ์ แต่มิติทางด้านเนื้อหาที่ยื่นเข้าไปแตะประเด็นซีเรียสๆ หลายประการ ทั้งความยึดมั่นในความรักต่อพระเจ้า มโนธรรม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ฯลฯ ซึ่งถือว่ามีความซับซ้อนสูงในเชิงเนื้อหา ขณะที่ Twilight ยกให้ความโรแมนติกเป็นเสาเอก ส่วนประเด็นอื่นมีน้ำหนักรองลงมา การเล่าเรื่องก็เรียบๆ ง่ายๆ

กล่าวอย่างรวบรัด Twilight ในความเป็นจริง ก็อาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเรื่องรักที่หยิบยืมรูปลักษณ์และเรื่องราวเชิงตำนานของแวมไพร์ (ผสมกับเรื่องของมนุษย์หมาป่า) มาปรับใส่เนื้อหาแบบนิยายรักที่เช็กสเปียร์เคยทำไว้แล้ว อย่าง โรมิโอ แอนด์ จูเลียต หรือกระทั่งหนังอย่างไททานิค ที่ไม่ว่าจะพูดถึงความรักที่แตกต่างระหว่างชนชั้น หรือความรักต่างเผ่าต่างพันธุ์ มันก็ให้ผลเหมือนๆ กัน คือ ความยากที่จะสมปรารถนา

และความรักที่ยากจะสมปรารถนานี่แหละครับที่มันตราตรึงใจยิ่งกว่ารักที่ได้มาง่ายๆ ผมเคยคุยกับรุ่นน้องบางคนที่กำลังคิดเอาดีด้านการทำหนังว่า หนังรักที่ดี มันควรจะมีด้านเศร้า (นอกจากมีตลกเป็นตัวประกอบสร้างสีสัน) เรื่องรักส่วนมากที่มันประทับใจ ก็เพราะมันมี “โศกนาฏกรรม” (Tragedy) หรือความเศร้าเป็นส่วนประกอบ เรื่องราวของโรมิโอกับจูเลียต มันคงไม่ซึ้งขนาดนั้น หากว่าทั้งคู่ไปเจอกันในผับที่ไหนสักแห่งแล้วเกิดปิ๊งกัน พาไปหาพ่อแม่แล้วโอเค ตัดสินใจแต่งงาน (แต่จะอยู่กันรอดหรือเปล่า นั่นก็อีกเรื่อง)

กล่าวสำหรับ Twilight ถือว่ามีองค์ประกอบที่ว่ามาครบถ้วน “เอ็ดเวิร์ด” กับ “เบลลา” คือสิ่งมีชีวิตต่างพันธุ์ที่ไม่น่าจะโคจรมาครองคู่กันได้ แต่เขาและเธอก็เคียงกันฟันฝ่าพยายามก้าวข้ามกำแพงแห่งความแตกต่างดังกล่าว และยิ่งไปกว่านั้น การใส่ตัวละครมนุษย์หมาป่าอย่างเจค็อบเข้ามา จนนำไปสู่ “รักสามเส้าของเราสามคน” เข้าไปด้วยอีก ก็ยิ่งเพิ่มมิติแห่งเรื่องรักให้ดูมีน้ำหนักขึ้นไปอีก นี่ผมพูดในมุมของทไวไลท์แฟนคลับนะครับ

แอ็กชั่นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหนังนั้น เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องรักเป็นเรื่องหลัก และนี่ล่ะครับ คือ “พลังงานบางอย่าง” ที่แฝงอยู่ในแฟรนไชส์แวมไพร์ชุดนี้

ขณะเดียวกัน การวาดภาพของตัวละครแต่ละตัว ให้มีคาแรกเตอร์ที่เหมือนเป็น “บุคคลในฝัน” ก็นับเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่กระชากใจใครหลายคนให้ตกหล่นลงไปสู่หล่มหลุมแห่งความลุ่มหลงได้อย่างยากจะห้ามใจ

ในสายตาของหญิงสาว เอ็ดเวิร์ด คัลเลน คงเฉกเช่นเทพบุตรจุติ เขาคือเป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้ชายดีๆ” ซึ่งมีความเป็นสุภาพบุรุษอยู่สูง ถ้าถอดหัวโขนของแวมไพร์ออกไป เอ็ดเวิร์ดก็คงไม่ต่างอะไรกับผู้ชายที่มีดีซึ่งสุภาพสตรีทั้งหลายใฝ่ฝันจะใช้จ่ายวันเวลาที่เหลือไปด้วยกัน

ฝ่ายเจค็อบหรือก็ใช่ย่อย แม้จะมีสเตตัสเป็นเพียง “เบอร์สองผู้ปวดร้าวตลอดกาล” แต่หัวจิตหัวใจและความห่วงใยของเขานั้น กลับดูจะยิ่งใหญ่กว้างขวางยิ่งกว่าป่าเดนาลี เขาเป็นคนหนุ่มที่มีกรรม คล้าย “ทาสรัก” ที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิด แต่พยายามเสมอที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ “รัก” ที่เป็นของคนอื่น แต่เพราะแบบนี้กระมังที่ทำให้เบลลาก็ไม่กล้าหักหาญน้ำใจผลักไสไล่ส่งให้จบๆ ไปซักที

ขณะที่เบลลา ถ้าจะมองในเชิงภาพขายฝัน...โดยแกล้งๆ มองข้ามว่าเธอช่างทำตัวเหมือนชะนีหรือวันทองสองใจซะเหลือเกิน...ก็คืออีกหนึ่งภาพฝันที่นิยายฉบับนี้เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาอย่างเข้าใจใครหลายคน ก็จะไม่ให้เป็นภาพฝันได้อย่างไร ในเมื่อข้างกายเบลลา มีผู้ชายดีๆ มารุมรักและทำดีให้ถึงสองคน โดยยังสามารถสมานฉันท์ ไม่ควักปืนขึ้นมาเข่นฆ่ากันให้ตกตายไปข้าง แม้จะฮึ่มฮั่มใส่กันบ้างบางเวลา

ดังนั้น ไม่ว่าหนังจะแตกแขนงออกไปอย่างไร จะมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ สักกี่กลุ่ม แต่ปมรักปมร้าวของเหล่าตัวละครสามตัวนี้แหละครับที่นับเป็นเสน่ห์อันยิ่งยวดซึ่งทำให้หนังรักแวมไพร์เรื่องนี้เดินทางมาได้ไกลอย่างที่เป็นอยู่

Twilight 4.1 เปลี่ยนมือกำกับจากแคเธอรีน ฮาร์ดวิก มาเป็น บิล คอนดอน ที่เครดิตเก่าๆ ของเขาแต่ละเรื่อง ล้วนน่าจดจำ ทั้ง Gods and Monster, Kinsey หรือ Dreamgirls นั่นยังไม่นับรวมการเขียนบทให้กับหนังยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์อย่าง Chicago แต่กระนั้น ถ้าจะให้เทียบกันหมัดต่อหมัด ผมยังคงชอบงานเก่าๆ ของเขามากกว่าราวฟ้ากับเหว

โดยภาพรวมในภาคนี้ ดูเหมือนหนังและหนังสือจงใจที่จะเอาใจแฟนคลับทไวไลท์โดยเฉพาะ อย่างน้อยๆ หลังจากที่ปล่อยให้ตัวละครฝ่าฟันอุปสรรครัก ฟากคนดูก็ลุ้นเอาใจช่วยกันมายาวนาน หนังก็มอบช่วงเวลาแห่งความสุขให้กับตัวละครและแฟนคลับแบบเต็มอิ่ม ด้วยฉากช่วงแต่งงานไปจนถึงฮันนีมูนที่กินเวลาร่วมๆ ครึ่งชั่วโมง อ้อยอิ่งอยู่เช่นนั้น ก่อนจะพาไปสู่สถานการณ์ต่อไป

เรื่องราวนั้นไม่เท่าไหร่ เพราะมันไม่มีอะไรมาก นอกไปจาก “แต่งงาน”, “ตั้งท้อง” แล้ว “คลอด” โดยสอดแทรกการทะเลาะกันเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างกลุ่มแวมไพร์กับหมาป่าเข้ามาเป็นระยะๆ (ซึ่งก็ไม่ต่างจากภาคก่อนๆ ที่เนื้อหาก็วนเวียนอยู่แถวๆ การออดอ้อนออเซาะกันไปมาระหว่างหนุ่มสาวทั้งสาม) ผมเห็นด้วยกับคนรู้จักหลายคนที่บอกว่า หนังสามารถเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้จบได้ภายใน 5 นาที แต่ก็อย่างว่า ถ้าเล่าแค่ 5 นาที มันก็คงเป็นสตอรี่ที่แห้งๆ แล้งไร้ฟีลลิ่ง

ด้วยเหตุนี้ ในเสี้ยวหนึ่งของความนึกคิด ผมจึงมองว่า หนังอย่างทไวไลท์นั้น จำต้องพึ่งพาการเล่นกับรายละเอียดด้านอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครค่อนข้างมาก หนังจึงเล่าเรื่องไม่รีบร้อน แต่ค่อยเป็นค่อยไป ให้คนดูได้สัมผัสกับความอ่อนไหวและเปราะบางของตัวละครทีละเล็กทีละน้อย และนี่ก็คือจุดเด่นของหนัง มีหลายๆ ฉากที่หนังทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นฉากที่เจค็อบมางานแต่งและได้พบกับเบลลา ความรู้สึกสุขทุกข์ มันซุกอยู่ในฉากนั้นทั้งหมด เช่นเดียวกับฉากระเบิดอารมณ์ของเอ็ดเวิร์ดที่ผมคิดว่าโรเบิร์ต แพ็ททินสัน เขาแสดงได้ถึงดี

พูดกันอย่างถึงที่สุด ทไวไลท์ ก็คือนิยายประโลมโลกย์ดีๆ นี่แหละครับ ไม่ต่างจากละครน้ำเน่าอย่างที่ใครเขาว่า แต่ถ้า “ในน้ำเน่า ยังแลเห็นเงาจันทร์” เหมือนสุภาษิตโบราณ ผมว่าทไวไลท์ ก็ไม่ถึงกับสิ้นไร้แง่มุมให้ขบคิด

คือคุณจะตื่นเต้นหลงใหลไปกับเรื่องรักในหนังอย่างไรก็ได้ แต่บางที เราอาจต้องมองให้ทะลุจากกรอบความโรมานซ์หวานแหววที่หนังและหนังสือประกอบสร้างออกไปบ้าง แม้เรื่องราวของตัวละครจะช่างฝันสักแค่ไหน แม้คาแรกเตอร์ของพวกเขาจะน่าลุ่มหลงสักเพียงใด แต่ลึกลงไป เราต่างสัมผัสได้ถึงด้านที่อ่อนด้อย

บางคนถามผมว่ารู้สึกอย่างไรกับตัวละครชวนฝันพวกนี้ ชอบหรือไม่ชอบ ผมไม่มีคำตอบแน่ชัด เท่ากับว่า แต่ละคนต่างก็มีบุคลิกภาพส่วนตัว และชะตากรรมทั้งหมดที่เกิดในเรื่อง ก็ล้วนแต่เป็นผลพวงแรงเหวี่ยงแห่งความรู้สึกนึกคิดส่วนบุคคลของพวกเขาทั้งสิ้น แต่ถ้าจำเป็นจะต้องตอบ...
จงเอาอย่างเจค็อบที่มีน้ำใจไม่รู้จาง แต่อย่าเป็นผู้ไม่รู้จักปล่อยวางอย่างหนุ่มหมาป่า เพราะไม่เช่นนั้น คุณอาจต้องใช้วันเวลาจมปลักอยู่กับความเจ็บปวดไม่รู้จบ

จงเป็นเอ็ดเวิร์ดที่ดูสุขุม อ่อนโยน ให้เกียรติผู้หญิง แต่อย่าเอาอย่างหนุ่มแวมไพร์ที่ท่ามาก อ่อนไหวง่าย ใจร้อน และคิดจุกจิกแบบคนไม่กล้าตัดสินใจ

จงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และเป็นตัวของตัวเองอย่างเบลลา แต่อย่าได้เป็นหญิงสาวใจโลเลละล้าละลัง เพราะการทำอย่างนั้น มันรังแต่จะทำให้เรื่องราวต่างๆ พัวพันยุ่งยาก และอาจต้องมีบางคน...เจ็บปวดเพราะคุณ...







กำลังโหลดความคิดเห็น