“ อิฉันชื่อพลอยค่ะ อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน หากมีใครเกิดสงสัยว่า ด้วยเพราะความคิดใด จึงทำให้อิฉันเอ่ยปากออกมาเป็นคำพูดเยี่ยงนี้ อิฉันจะเล่าเรื่องราวของอิฉันให้ฟัง เรื่องราวของชีวิตที่เปรียบดังสายน้ำในคลองบางหลวงที่บางครั้งเอ่อล้นฝั่ง แต่บางคราวกลับลดต่ำแห้งขอด และก็มีหลายครั้งที่ไหลเชี่ยว วกวนเกินคาดเดา แต่ท่ามกลางกระแสชีวิตที่ผันแปร ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกลับผ่านพ้นไปได้เสมอ เพราะชีวิตอิฉันมีเสาหลักให้ยึดเหนี่ยว เสาหลักที่ช่วยพยุงกายและใจ และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่อิฉันเพียงคนเดียว หากแต่เป็นคนไทยทั้งแผ่นดินที่มีหลักยึดเหนี่ยวเดียวกันนี้ ทำให้ชีวิตมีความหวังอยู่เสมอ และนี่คือเรื่องราวของชีวิตอิฉัน เรื่องราวชีวิตของคนๆหนึ่งที่ผ่านมาตลอดทั้งสี่แผ่นดิน” “แม่พลอย” ซึ่งรับบทโดย สินจัย เปล่งพานิช เริ่มต้นเปิดฉากการแสดงจุดยืนของตัวเองก่อนที่จะเล่าขานชีวิตในลำดับต่อไป
คาแรกเตอร์ของ “แม่พลอย” ในนวนิยาย “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด ตลอดชีวิต 4 แผ่นดินของแม่พลอยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในชีวิตส่วนตัว แม่พลอยผ่านสุขและทุกข์นับครั้งไม่ถ้วน ลูกๆ แต่ละคนก็มีมุมมองในด้านสังคมและการเมืองไปคนละอย่าง แม่พลอยไม่เพียงแต่รับรู้เท่านั้น หากแต่ยังต้องใช้ชีวิตแต่ละช่วงค้นหาหลักสัจธรรมของชีวิตอีกด้วย
สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุคคลสำคัญของโลกใน 4 สาขา อันได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน
แม้ว่าการประกาศยกย่องเชิดชูนี้ จะมี “บางท่าน” ไม่เห็นด้วย ดังกรณีที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีจดหมายแสดงความเห็นค้านผ่านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 ก่อนที่รัฐบาลไทยจะเสนอชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชให้ทางยูเนสโกพิจารณา มีความตอนหนึ่งเอ่ยถึง “สี่แผ่นดิน” ว่า
“สี่แผ่นดิน นั้นเป็นนวนิยายที่ใช้ล้างสมองให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของวิเศษ ชาติวุฒิสำคัญยิ่งกว่าคุณวุฒิของสามัญชนคนธรรมดา”
หลังม่านนิยาย “สี่แผ่นดิน”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้วิธีการเขียน “สี่แผ่นดิน” แบบทีละตอน โดยมิได้มีการวางพล็อตไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด แม่พลอยเริ่มปรากฏตัวครั้งแรกในวัย 10 ขวบเมื่อวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ที่หน้า 4 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งผ่านวันครบรอบของหนังสือพิมพ์ได้เพียง 1 ปีกับ 4 วัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียน “สี่แผ่นดิน” ได้เพียง 7 วัน ก็ตัดสินใจหยุดนิยายเรื่องนี้ลงชั่วคราว มิเพียงแต่นิยายเท่านั้น หากรวมถึงบทความต่างๆ ด้วย เนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองในยุคกบฏแมนฮัตตัน และรัฐบาลได้คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วยการตรวจสอบข่าวทุกชิ้นที่จะตีพิมพ์
“หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เสรีภาพอันมีขอบเขตแล้ว ข้าพเจ้าของดการใช้เสรีภาพนั้นเสียชั่วคราวจะดีกว่า” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวดังนั้น
แม่พลอยหายไปจากคลองบางหลวงเป็นเวลานานถึง 2 เดือน และกลับเข้ามาโลดแล่นในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2494 บรรทัดสุดท้ายของ “สี่แผ่นดิน ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อวันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2495
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียน “คำนำ” กล่าวแสดงวัตถุประสงค์ของการเขียน “สี่แผ่นดิน” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ไว้ว่า
“ในระยะเวลาที่ค่อนข้างจะนานนี้ ได้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอันมากในเมืองไทย และได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นี้ เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ จึงเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ย่อมทราบ แต่สิ่งที่ประวัติศาสตร์มิได้จารึก ก็คือ รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนความคิดเห็นของคนที่ต้องประสบเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นรายละเอียดเบื้องหลังประวัติศาสตร์และย่อมมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะการอบรมประเพณีและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แห่งชีวิต ย่อมเป็นมูลฐานของความคิดเห็นและกระทำให้บุคคลเกิดปฏิกิริยาแตกต่างกันไป ในเมื่อมีเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากระทบตัว … ผู้เขียนมีเจตนาที่จะให้หนังสือ “สี่แผ่นดิน” นี้เป็นที่รวบรวม “รายละเอียดเบื้องหลัง
ประวัติศาสตร์” ต่างๆ เหล่านี้ไว้อีกอย่างหนึ่ง นอกจากก่อความบันเทิงให้แก่ผู้อ่านแต่อย่างเดียว จะเปรียบเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นนั้น เป็นลายโครงบนผืนผ้าลายอย่างไทยๆ ผู้เขียนก็มีเจตนาที่จะให้หนังสือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” นี้เป็นลายประกอบ เพื่อจะได้ทำผ้าลายนั้นมีลวดลายเต็มขึ้นและวิจิตรพิสดารยิ่งขึ้น”
ชื่อภาษาอังกฤษของสี่แผ่นดินคือ Four Reigns มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดย เคอิโกะ โยชิกาวา และภาคภาษาอังกฤษแปลโดย “ตุลจันทร์ (นามปากกาของ จันทร์แจ่ม บุนนาค) โดยสำนักพิมพ์ดวงกมลเป็นผู้จัดพิมพ์
ชีวิตสี่แผ่นดินของแม่พลอยไล่เรียงจากแผ่นดินรัชกาลที่ 5 จนถึงสิ้นรัชกาลที่ 8
“พลอยรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวลอยขึ้นสู่เบื้องสูง ในขณะนั้น ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดแก่ตัวมาหลายครั้งหลายคราว ดูเหมือนจะเริ่มหลุดพ้นไป พลอยนึกถึงคุณเปรม ซึ่งดูเหมือนจะมาอยู่ใกล้ตัวทุกครั้งที่บังเกิดความทุกข์โทมนัส
…............................
เย็นวันนั้น วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 น้ำในคลองบางหลวงลงแห้งเกือบขอดคลอง หัวใจพลอยที่อ่อนแอลงด้วยโรคและความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็หลุดลอยตามน้ำไป”
“แม่พลอยฟีเวอร์” มีมาตั้งแต่ตอนที่ “สี่แผ่นดิน” ถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้ว
จากคำนำของหนังสือเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ฉบับชุดแรก ซึ่งเขียนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้ทราบว่า แม่พลอยเกิดจากจินตนาการของท่านเอง ไม่ได้มีบุคคลใดเป็นต้นฉบับของแม่พลอยโดยแท้ สิ่งเดียวที่จะยอมรับได้ก็คือชาติสกุลของแม่พลอยเท่านั้น เพราะในเรื่องได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่าแม่พลอยเป็นพวก "ก๊กฟากข้างโน้น" อันเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกคนสกุล “บุนนาค” ในสมัยก่อน
นอกจากเรื่องเทือกเถาเหล่ากอของ “แม่พลอย” แล้ว ยังมีการนำเอาตัวเลขปีที่ปรากฏในนิยายมาบวกลบคูณหารออกมาได้ว่า แม่พลอยมีอายุสิริรวม 64 ปี
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้บันทึกไว้ใน “คำนำ” ของสี่แผ่นดิน ฉบับแจกในการพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงประเสริฐศุภกิจ (จำเริญ ไกรฤกษ์) ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2515ว่า
“ผมยังจำได้ว่า เมื่อครั้งเรื่องสี่แผ่นดินยังเป็นเรื่องยาววันต่อวันในหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น พอถึงตอนที่แม่พลอยแพ้ท้องและปรารภกับคุณเปรมผู้สามีว่าอยากรับประทานมะม่วงดิบ ก็มีท่านที่นับญาติกับแม่พลอยส่งมะม่วงดิบมาให้ถึงโรงพิมพ์สยามรัฐทันที ทั้งที่ขณะนั้นมิใช่หน้ามะม่วง
ท่านที่ส่งมะม่วงดิบมาให้แม่พลอยนั้นคือ เจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมอาบเป็นคนในสกุลบุนนาค
(หมายเหตุกองบรรณาธิการ - เจ้าจอมอาบ บุนนาค (20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504) เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหนึ่งใน “เจ้าจอมก๊กออ” อันหมายถึง “อ” อันได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน บุตรีในเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่เกิดแก่ท่านผู้หญิงอู่ (สกุลเดิม วงศาโรจน์))
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า มีผู้เห็นว่าแม่พลอยในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” นั้นเป็นคนจริงๆ มีตัวตน และเหตุที่มีผู้เห็นไปเช่นนั้นก็เพราะแม่พลอยมีลักษณะต่างๆ และมีคุณธรรมซึ่งตรงกับที่คนจริงๆ นั้นมี มิใช่ลักษณะและคุณธรรมซึ่งผมคิดเอาเองหรือแต่งเอาเอง
ลักษณะคุณธรรมต่างๆ ของแม่พลอยนั้น ผมได้เขียนขึ้นจากลักษณะและคุณธรรมของท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือหลายท่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับแม่พลอย
…...................
ผมไม่อยากจะกล่าวว่าคุณอาเริญคือ แม่พลอย ไม่อยากจะกล่าวว่าคุณอาเริญคือแม่พลอย ไม่อยากจะกล่าวว่า คุณอาเริญเหมือนแม่พลอย และไม่ขอกล่าวว่า คุณอาเริญประกอบด้วยคุณธรรมต่างๆ ของแม่พลอย สิ่งที่ผมใคร่จะขอกล่าวในที่นี้คือ คุณอาเริญต่างหากที่เป็นแบบฉบับท่านหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถสร้างตัวบุคคลชื่อแม่พลอยขึ้นมาได้ในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” และขอกล่าวเสียด้วยในที่นี้ว่า ถ้าหากว่าแม่พลอยมีคุณธรรมใดๆ ที่ตรงกับคุณอาเริญแล้ว คุณธรรมเหล่านั้นก็เป็นของคุณอาเริญ ไม่ใช่ของแม่พลอย”
“ละครโทรทัศน์” สี่แผ่นดิน
นิยาย “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยจัดทำเป็น “ละครโทรทัศน์” หลายครั้ง เช่น
พ.ศ. 2504 - ช่อง 4 บางขุนพรหม ทำเป็นละครครั้งแรก โดยมี “เปี๊ยก” สุธัญญา ศิลปเวทิน” (ต่อมาแต่งงานกับ พ.อ.พยุง ฉันทศาสตร์โกศล แห่งรัชฟิล์มทีวี และลูกสาวคือ ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล นักเขียนบทโทรทัศน์มือฉกาจที่มีผลงานมากมายในปัจจุบัน) รับบทเป็น “แม่พลอย” ในวัยสาว และสุพรรณ บูรณพิมพ์ รับบทในช่วงปัจฉิมวัย “คุณเปรม” รับบทโดย อาคม มกรานนท์ ผู้ประกาศข่าวรุ่นแรกๆ ของช่อง 4 บางขุนพรหม และชูศรี โรจนประดิษฐ์ (มีสมมนต์) รับบทเป็น “แม่ช้อย” โดยมีสุพรรณ บูรณพิมพ์ เป็นผู้กำกับการแสดง
พ.ศ. 2517 - ออกอากาศทุกวันศุกร์ ช่วงหัวค่ำ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สุพรรณ บูรณพิมพ์นำมากำกับฯ อีกครั้ง “ปุ๊” พัชรา ชินพงสานนท์ รับบทเป็นแม่พลอย ประพาศ ศกุนตนาค รับบทเป็น “คุณเปรม” ร่วมด้วยสุมาลี ชาญภูมิดล และ รจิต ภิญโญวนิชย์
พ.ศ. 2523 - ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดยกนกวรรณ ด่านอุดม ในนามของคณะรัศมีดาวการละคร กำกับการแสดงโดย กัณฑรีย์ น. สิมะเสถียร ผู้รับบทแม่พลอยคือ “แมว” นันทพร อัมผลิน (ต่อมาถูกฆาตกรรม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545) และ นันทวัน เมฆใหญ่ โดยมี ภิญโญ ทองเจือ รับบทเป็น “คุณเปรม” ร่วมด้วย ผดุงศรี โสภิตา, นพพล โกมารชุน, อุทุมพร ศิลาพันธ์, วิฑูรย์ กรุณา, ฤทัยรัตน์ อมตะวณิชย์, ด.ญ.พิไลพร เวชประเสริฐ
สี่แผ่นดินเวอร์ชันนี้ยังมี “รางวัล” การันตีอีกด้วย กล่าวคือ
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2523 หนังสือพิมพ์บ้านเมืองได้จัดงานประกาศผลรางวัล “ทีวีตุ๊กตาทองมหาชน” ละคร “สี่แผ่นดิน” ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 3 รางวัล คือ ดารายอดนิยมฝ่ายชาย คือ นพพล โกมารชุน, นักแสดงรุ่นเยาว์ยอดนิยม ได้แก่ ด.ญ.พิไลพร เวชประเสริฐ (แม่พลอยวัยเด็ก) และรางวัลบทประพันธ์ยอดนิยม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2524 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย จัดมอบรางวัลเป็นปีแรก โดย นันทวัน เมฆใหญ่ ได้รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม และ นพพล โกมารชุน ได้รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายดีเด่น
พ.ศ. 2534 - ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 โดย วรายุธ (วรายุทธ) มิลินทจินดา ในนามของบริษัท ไอแอม กำกับการแสดงโดย สุประวัติ ปัทมสูต นำแสดงโดย จินตรา สุขพัฒน์ และฉัตรชัย เปล่งพานิช ร่วมด้วย ธิติมา สังขพิทักษ์, เพ็ญพิสุทธิ์ คงสมุทร, ธัญญา โสภณ, พลรัตน์ รอดรักษา, สถาพร นาควิลัย, รอน บรรจงสร้าง ฯลฯ
รางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งที่ 6 ประจำปี 2534 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2535 จินตหรา สุขพัฒน์คว้ารางวัลดารานำฝ่ายหญิงจากบท “แม่พลอย” ในเวอร์ชันนี้
พ.ศ. 2546 - ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ในนามของบริษัททูแฮนส์ กำกับการแสดงโดย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย สิริยากร พุกกะเวส และธีรภัทร์ สัจจกุล ร่วมด้วย สะแกวัลย์ ยงใจยุทธ, ชลิดา เถาว์ชาลี, ชุดาภา จันทเขตต์, เพ็ญเพ็ชร เพ็ญกุล, ชาคริต แย้มนาม, เกริกพล มัสยวานิช ฯลฯ
ไม่อาจปฏิเสธว่า “สี่แผ่นดิน” ในเวอร์ชันนี้สมบูรณ์ด้วยฉาก, พร็อพ, เสื้อผ้า, หน้า, ผม เพียบพร้อม สมจริง จนคว้ารางวัลองค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยมจากการประกาศรางวัลโทรทัศน์ทองคำ เมื่อปี พ.ศ. 2546 มาครอง
ละครเวทีวิทยานิพนธ์ “สี่แผ่นดิน”
“สี่แผ่นดิน” เคยเป็นละครเวทีวิทยานิพนธ์ของ “หง่าว” ยุทธนา มุกดาสนิท เมื่อครั้งที่ศึกษาอยู่ที่แผนกอิสระ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2516 ณ หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หอประชุมศรีบูรพา ในปัจจุบัน) แม่พลอยในโลกละครเวทีคนแรกคือ สุวัฒนา ชมบุญ, แม่ช้อย รับบทโดย สุพัตรา นาคะตะ, เพิ่ม รับบทโดย สวัสดิ์ มิตรานนท์ (เสียชีวิตแล้ว เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่นอนปราศรัยด้วยร่างกายที่อิดโรย อันเนื่องจากการอดข้าวประท้วงเพื่อให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ เหตุเกิดก่อน 14 ตุลาคม 2516 เพียงไม่กี่วัน) , อั้น รับบทโดย สมชาย อนงคณะตระกูล ฯลฯ
ปี 2517 บทละครเวทีที่เคยจัดแสดงนี้ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อน กระดาษปรูพ 205 หน้า
หนังสือเล่มดังกล่าวนำ “คำนำ” จากหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนไว้มาตีพิมพ์รวมอยู่ด้วย ความว่า
“เมื่อนักศึกษามาขออนุญาตนำเอาเรื่องสี่แผ่นดินไปทำบทละคอน ผมก็ได้ให้อนุญาตไปด้วยความเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะแลเห็นความยากลำบากของผู้ที่จะต้องสร้างบทละคอนขึ้นจากหนังสือเรื่องสี่แผ่นดิน
แต่เมื่อดูละคอนเรื่องนี้แล้ว ผมก็สิ้นความห่วงใยและสิ้นความวิตก
มีแต่ความเคารพนับถือ และความชื่นชมในความสามารถของนักศึกษาผู้ทำบทละคอนนั้นเหลืออยู่ในใจแต่เพียงอย่างเดียว
จะเป็นเพราะความชราหรืออะไรก็ตามที ทุกวันนี้ถ้าผมได้เห็นคนที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ทำอะไรได้ดี และแสดงความสามารถให้ปรากฏแล้ว ผมก็เกิดความปลื้มใจ เกิดความปีติโสมนัสยิ่งกว่าที่ตัวได้ทำเองเป็นไหนๆ
จึงขอแสดงความปลื้มใจและความปีติโสมนัสนั้นไว้ในที่นี้ - - คึกฤทธิ์ ปราโมช”
สี่แผ่นดินเดอะมิวสิคัล
สี่แผ่นดินเวอร์ชันนี้ใช้พระบรมสาทิสลักษณ์ของ “ในหลวง” รัชกาลต่างๆ เป็นสัญลักษณ์และการเปลี่ยนผ่านของแผ่นดิน โดยในเวอร์ชันนี้ให้ความสำคัญต่อธีม “รักพระเจ้าอยู่หัว” มากเป็นพิเศษ รายละเอียดปลีกย่อยที่เคยปรากฏในนิยายถูกตัดออกไปมากเพื่อมุ่งเชิดชูความจงรักภักดีต่อในหลวงของแม่พลอยเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และเหตุการณ์ในปัจจุบัน
หลังดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ความพิเศษของเวอร์ชันนี้ได้เปิดม่านอีกครั้ง เพื่ออัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันขึ้นประดิษฐานบนผนัง เนื่งด้วยพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันเดียวกับที่พระเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ความพิเศษนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
เพลงพิเศษของ “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” ชื่อ “ในหลวงของแผ่นดิน” แต่งคำร้องโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์, ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานโดย สราวุธ เลิศปัญญานุช
“มองเห็นพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางคนมืดมัว เหมือนเห็นแสงทองส่อง ใจ ตื้นตันเพียงได้มอง พนมมือทั้งสอง ก้มลงกราบด้วยหัวใจ มองพระผู้ทรงเมตตา เฝ้าดูแลประชา ทั่วอาณาใกล้ไกล เมื่อยามอ่อนล้า หมดหวัง พระองค์อยู่เป็นหลักนำหัวใจ” ...
เพลงนี้นอกจากจะเป็นเพลงประกอบละครเวที “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” แล้ว ยังเป็นเพลงซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระะเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งขับร้องโดยศิลปิน นักร้อง นักแสดง 123 คน ที่เคยร่วมงานกับค่ายเอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ
วันที่ 5 ธันวาคม เวลา 15.30 น. “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล”จะเปิดการแสดงรอบพิเศษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยรายได้ทั้งหมดจะมอบแก่สถาบันการแพทย์ สยามินทราธิราช โรงพยาบาลศิริราช โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล กำกับการแสดงโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ โดย “แม่พลอย” ใน 3 ช่วงวัย นำแสดงโดย ด.ญ.ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ (น้องพินต้า), “มัดหมี่” พิมดาว พานิชสมัย และ “นก” สินจัย เปล่งพานิช, “คุณเปรม” 2 ช่วงวัย นำแสดงโดย “กัน เดอะสตาร์” นภัทร อินทร์ใจเอื้อ และ “อุ้ย” เกรียงไกร อุณหนันท์, รัดเกล้า อามระดิษ รับบทเป็น “แม่ช้อย”, ลูกชายทั้ง 3 คนของแม่พลอยกับคุณเปรม แสดงโดย “อาร์ เดอะสตาร์” อาณัตพล ศิริชุมแสง (อ้น - ลูกติดของคุณเปรม), “สิงโต เดอะสตาร์” สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี (อ๊อด ลูกติดแม่) และ “ตูมตาม เดอะสตาร์” ยุทธนา เปื้องกลาง (ลูกที่มีความคิดเสรีนิยม สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย) ร่วมด้วยรัดเกล้า อามระดิษ, ตี๋ ดอกสะเดา
“สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” เริ่มเปิดการแสดง (หลังจากที่เลื่อนมาจากเดือนตุลาคม) ตั้งแต่วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 - 22 มกราคม พ.ศ. 2555 บัตรการแสดงทุกรอบ ติดต่อได้ที่ www. thaiticketmajor.com โทร. 0-2262-3456 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ซีเนริโอ โทร. 0-2642-2400-5
ขอบคุณพิเศษ นิตยสาร Volume