xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องตลก ‘ฝนตกขึ้นฟ้า’ : หนังเป็นเอก (ยี้...)/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ก่อนเดินเข้าโรงหนัง ระหว่างนั่งรอ ผมได้ยินคนสองคนคุยกันถึงหนังที่ตัวเองเพิ่งไปตีตั๋วและกำลังรอชม หนึ่งในนั้นลั่นคำถามขึ้นมาว่า “จะดูรู้เรื่องหรือเปล่าวะ” ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยครับ เพราะสำหรับหลายคน คงรู้สึกแบบเดียวกันกับหนังของผู้กำกับที่ชื่อ เป็นเอก รัตนเรือง

ต้องยอมรับว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่คนจำนวหนึ่ง (จำนวนน้อย) รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นหนังเรื่องใหม่ของเป็นเอก นามนี้ กลับเป็นนามที่คนดูหนังบ้านเราอีกส่วนหนึ่ง (จำนวนมากแน่ๆ) ได้ยินขึ้นมาทีไร จะรู้สึกหลอนขึ้นมาทันที ขณะที่คำว่า “หนังของเป็นเอก” ก็แทบจะมีสถานะไม่ต่างอะไรกับ “ยาขม” ที่ต้องแสดงอาการ “ยี้” หรือไม่ก็ส่ายหัวเชิงปฏิเสธเวลามีใครชวนไปดูหรือพูดถึงหนังของผู้กำกับคนนี้ บางคนอาจเลยไปไกลถึงขั้นที่ว่า คนที่ดูหนังของเป็นเอกรู้เรื่อง ต้องเป็นพวกอาร์ต พวกติสต์ เด็กแนว หรือไม่เช่นนั้น ก็ทำให้หนังของเป็นเอกดูสูงส่งสุดเอื้อมถึงไปเลย ด้วยถ้อยคำทำนองว่า ต้องปีนบันไดดู มีแต่พวก “ฉลาดๆ” เท่านั้นที่ดูรู้เรื่อง (ผมคิดว่าใครที่ “ฉลาดๆ” คงรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำกล่าวนี้อย่างแน่นอน)

โดยนัยยะนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ในสายตาของคนไทยจำนวนมหาศาล หนังของเป็นเอก คือหนังที่ดูไม่รู้เรื่อง หรือดูแล้วงงๆ ไม่รู้ว่าหนังพูดถึงหรือสื่อสารเรื่องอะไร ก็เลยพานให้ต่อไม่ติดกับหนังหรือกระทั่งเมินเฉยไปเลย เมื่อมีหนังของผู้กำกับคนนี้เข้าฉาย ต่อให้โฆษณาว่าเป็น “หนังรางวัลเมืองคานส์” ก็เถอะ ผมว่า นั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำชะตากรรมของหนังให้ย่ำแย่ลงไปด้วยซ้ำ เพราะคำว่า “เมืองคานส์” เอง ก็เป็น “ยาขม” อีกตำรับหนึ่งสำหรับคนดูหนังจำนวนไม่น้อยของบ้านเรา

ในฐานะของคนที่ติดตามผลงานของคุณเป็นเอก รัตนเรือง มาทุกเรื่อง และตามประสาคนที่ชอบดูอะไรที่มันง่ายๆ ไม่ซับซ้อนซ่อนเร้น ผมก็คงต้องเรียนตามตรงว่า ผมชอบผลงานของคุณเป็นเอกในยุคแรกๆ มากกว่า และก็เชื่อว่า ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็ไม่น่าจะมีความยุ่งยากในการที่จะ “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” ในแก่นสารเรื่องราวของหนัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เรื่องตลก 69” และ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” นั้น คืองานที่พูดได้ว่า “ตลาด” ที่สุดแล้วของผู้กำกับคนนี้

อย่างไรก็ดี พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า งานของเป็นเอกยุคหลังไม่ได้เรื่องนะครับ และผมเองก็ยอมรับว่า มันเป็นความกล้าหาญส่วนหนึ่งของผู้กำกับที่กล้าฉีกขนบความคุ้นเคย ออกไปทดลองวิธีการและไวยากรณ์การทำหนังแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น “คำพิพากษาของมหาสมุทร”, “เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล”, “พลอย” มาจนถึง “นางไม้” ซึ่งจริงๆ พูดกันอย่างถึงที่สุด หนังทั้งหมดเหล่านี้ มันก็อาจจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการลดจังหวะอัตราความเร็วของการดำเนินเรื่องให้สโลว์ลง และเลี่ยงที่จะเปิดเผยเนื้อหาเรื่องราวแบบโจ่งแจ้งชัดเจน หากแต่เว้นที่ว่างให้คนดูได้ใช้ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการตามแต่ที่ตัวเองมองเห็น

ก็เฉกเช่นที่คุณเป็นเอกเขาพูดไว้ในบางคราวที่มีคนถามว่าทำไมดูหนังของเขาไม่รู้เรื่องทำนองว่า อย่าไปเครียดว่า หนังของเขา ต้องดู “รู้เรื่อง” แค่ค่อยๆ “รู้สึก” ไปกับภาวะอารมณ์ของตัวละครก็พอ แต่ก็นี่แหละครับ โคตรยากเลย เพราะคนไทยเรา จะว่าไป ก็ยังไม่คุ้นเคยกับการดูหนังลักษณะนี้ แต่เคยชินกับหนังที่ต้องมีเรื่องมีราวให้จับต้องสัมผัสได้ชัดเจน ตลกหรือเศร้าก็เข้าใจในวินาทีนั้น ดูแล้วสามารถเอาไปเมาท์มอยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงได้ ไม่ใช่ว่าดูมาแล้ว เอ๋อๆ งงๆ ทุกครั้งที่ถูกถามว่า หนังมันพูดถึงเรื่องอะไร

นั่นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าคุณจะได้ยินคนคุยกันแบบที่ผมได้ยินหน้าโรงหนัง ไม่ว่ากับหนังเรื่องไหนๆ ของเป็นเอก รวมไปจนถึงผลงานชิ้นใหม่อย่าง “ฝนตกขึ้นฟ้า” เรื่องนี้

และไม่แปลกเลย เมื่อคำถามแรกที่ผมถูกถามในรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา จะเป็นคำถามที่ว่า “ดูรู้เรื่องหรือเปล่า?”

บอกกล่าวสั้นๆ ก่อนครับว่า หลังจากดู “ฝนตกขึ้นฟ้า” ผมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกลับไปสู่การดูหนังยุคแรกของคุณเป็นเอกอีกครั้งหนึ่ง ถึงขั้นที่พูดได้ว่าเป็นความรู้สึกคล้ายกับตอนที่ดู “เรื่องตลก 69” และก็บังเอิญเหลือเกินที่เรื่องตลก 69 ก็ออกแนวฟิล์มนัวร์หน่อยๆ เหมือนฝนตกขึ้นฟ้า เพียงแต่เรื่องตลก 69 อาจจะให้ความหรรษาทางอารมณ์มากกว่าด้วยความตลกร้ายที่เยอะกว่า

เฉพาะอย่างยิ่ง จังหวะการดำเนินเรื่องที่ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป แต่กำลัง “พอดีๆ” ไม่มีแช่กล้อง Long Take ที่ยืดยาวยืดยาดจนน่าอึดอัดหนืดหน่ายแบบเดียวกับ “นางไม้” หรือแทบจะไม่พูดไม่จาอะไรกันเลยตลอดทั้งเรื่องเหมือนงานยุคหลังๆ แน่ล่ะว่า “ฝนตกขึ้นฟ้า” ก็ไม่ได้พูดมากอะไรนัก แต่ตัวสถานการณ์ของเรื่องที่เคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว ก็ช่วยทดแทนบทพูดได้แบบไม่ทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้าง ฟุ้งๆ ลอยๆ จนเกินไป

เอามาตรฐานของคนที่ชอบดูหนังตลาดๆ อย่างผม ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้ดูง่าย ไม่งง และดูรู้เรื่อง เพียงแค่คุณจับจุดให้ได้ว่า ช่วงไหน หนังเล่าย้อนไปเหตุการณ์ในอดีต หรือช่วงไหนกำลังพูดถึงปัจจุบัน เท่านี้ ส่วนที่เหลือก็หมดปัญหา เหนืออื่นใด วิธีการเล่าสลับกลับไปกลับมาเช่นนี้ ก็ไม่ใช่กลวิธีที่เกิดจากมุมมองของผู้กำกับ หากแต่อิงแอบอยู่กับต้นฉบับนวนิยายที่หนังนำมาดัดแปลง

แนวพล็อตของหนัง เดินมาในทางของหนังสไตล์ไล่ล่าที่ให้ความรู้สึกลุ้นระทึกไปกับการหนีเอาตัวรอดของตัวละครหลัก ผ่านเรื่องราวของ “ตุล” (นพชัย ชัยนาม) ตำรวจหนุ่มตงฉินผู้ยึดมั่นในหลักการแห่งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และกล้าท้าชนกับอิทธิพลอำนาจมืดทุกรูปแบบ แต่แล้ว สถานการณ์บางอย่างก็นำชักผลักไสให้เขาจำเป็นต้องก้าวเข้าไปสู่โลกของนักฆ่าหรือมือปืน และด้วยการปฏิบัติงานอันผิดพลาดในคราวหนึ่ง ทำให้เขาโดนยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะ นอนสลบไสลไปร่วม 3 เดือน ก่อนจะฟื้นตื่นขึ้นมาในสภาพที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างกลับหัว

“ฝนตกขึ้นฟ้า” ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของวินทร์ เลียววาริณ ที่ตั้งใจเขียนนิยายเรื่องนี้ออกมาในลักษณะของฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ซึ่งมีคุณลักษณะเด่นๆ อยู่หลายประการ ไล่ตั้งแต่บรรยากาศแบ๊กกราวน์ฉากหลังที่เน้นความสลัวมัวหม่น กับตัวละครที่มีลักษณะไม่ใช่ประเภทดีสุดขั้วหรือชั่วสุดขีด หากแต่เป็นมนุษย์ “สีเทาๆ” มีดีมีร้ายปะปน ตัวละครที่เรามักคุ้นเคยในหนังนัวร์ ก็เช่น นักฆ่า อาชญากร ตำรวจ หญิงร้ายชายเลว โสเภณี ฯลฯ ขณะที่เนื้อหาเรื่องราวก็มักจะเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องอาชญากรรม เซ็กซ์ การทรยศหักหลัง ความหดหู่สิ้นหวัง ฯลฯ หนังแบบนี้ โดยส่วนตัว ผมว่าเป็นหนังอีกแนวหนึ่งซึ่งดูสนุกนะครับ เพราะมันมักจะมีอะไรให้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา และเผลอๆ มีการหักมุมในแบบที่เราไม่คาดคิดอีกด้วย

ด้วยการ “ดูหนังก่อน อ่านนิยายทีหลัง” ผมรู้สึกว่าอารมณ์แทบไม่ต่างกันเลย คุณเป็นเอก รันตเรือง เคยทำหนังที่มีต้นทางมาจากหนังสือแล้วสองเรื่อง คือ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” กับ “คำพิพากษาของมหาสมุทร” และทำให้ผมรู้สึกว่า เขาเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ที่สามารถดัดแปลงนวนิยายแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นหนังได้ดีที่สุดคนหนึ่ง นอกเหนือไปจากคุณจิระ มะลิกุล ที่ทำเรื่อง “เหมืองแร่”, คุณนนทรีย์ นิมิบุตร ทำ “จัน ดารา”, คุณคมกฤษ ตรีวิมล ทำ “เพื่อนสนิท” หม่อมน้อยจากชั่วฟ้าดินสลายและราโชมอน หรือย้อนหลังไปไกลๆ หน่อย ก็คุณยุทธนา มุกดาสนิท ทำเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” และคุณเพิ่มพล เชยอรุณ กับเรื่อง “คำพิพากษา”...

เขาสามารถเก็บเกี่ยวเอกลักษณ์ของหนังสือมาได้อย่างแทบจะไม่ขาดตกบกพร่อง ขณะเดียวกัน ก็มีพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์ลายเซ็นของตัวเอง ผมรู้สึกว่า ฝนตกขึ้นฟ้า มีอย่างน้อยสองฉากสองไดอะล็อก (ตอนที่โสเภณีพูดกับตำรวจหนุ่มก่อนจะก้มลงจูบ และฉากแค็ปหมู) นั่นคือลายเซ็นแบบเป็นเอกที่โดดเด่นในด้านการพูดที่มีเสน่ห์และตลกร้าย

ความโดดเด่นประการหนึ่งซึ่งผมคิดว่า น่าจะพลาดมากๆ หากไม่พูดถึงก็คือ การเล่นกับชื่อของตัวละครที่ซ่อนนัยยะให้ขบคิดตีความ ซึ่งในนวนิยายของคุณวินทร์ ก็น่าจะเป็นความจงใจ ตั้งแต่การตั้งชื่อตัวละครหลักว่า “ตุล” อันแปลความหมายได้ตรงตัวว่าความยุติธรรม ตลอดทั้งเรื่อง เราจะเห็นภาพแห่งความกระวนกระวายของผู้ชายคนนี้ยึดมั่นอยู่กับหลักการแห่งความยุติธรรม ไม่ว่าจะตามระบอบหรือนอกระบบ

ขณะเดียวกัน ตัวละครอย่าง “ลุงเปา” ในหนังสือ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดความเชื่อมาอีกทอดหนึ่งว่าความยุติธรรมในโลกนี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นเอง จะรอให้ระบบจัดการนั้นไม่มีวัน เฉกเช่นเดียวกับการจัดการกับผู้กระทำผิด สุดท้ายแล้ว ก็พ้นโทษ ประเทศชาติบ้านเมืองต้องเปล่าเปลืองทรัพยากรไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ต่อการจัดการกับคนเลวๆ

“ลุงเปา” แท้จริงแล้วก็อาจคิดพาดพิงไปถึง “เปาบุ้นจิ้น” ผู้ผดุงความยุติธรรม ขณะที่ในหนัง ก็มีตัวละครอย่าง “ลุงสรวง” ที่พฤติการณ์ทุกอย่างของเขา ชวนให้คิดว่าเขากำลังจะสถาปนาตัวเองเป็น “(สรวง)สวรรค์” หรือศาลอันสูงส่งที่จะบันดาลความยุติธรรมให้กับโลกให้กับสังคม
สำหรับคนที่สนุกคิดอีกหน่อย ก็อาจจะจินตนาการไปได้ว่า ตัวละครโสเภณีอย่าง “ทิวา” (ที่เป็นเอกเปลี่ยนชื่อมาจาก “สร้อยแก้ว” ในหนังสือ) จริงๆ ก็หมายถึง “แสงสว่าง” ที่สาดส่องเข้ามาในโลกอันมืดมนของอดีตตำรวจหนุ่ม พูดก็พูดเถอะ ผมเห็น “ทิวา” ในหนังเรื่องนี้แล้ว นึกถึงพวกโสเภณีในหนังเรื่อง Born on the Fourth of July ที่กลายเป็นผู้คลี่คลายความเจ็บปวดและปัญหาให้กับเหล่าอดีตทหารผ่านศึกผู้พิกลพิการได้ดียิ่งกว่ารัฐเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น กรุณาอย่าหมิ่นหยามโสเภณี ไม่ว่าเธอจะเป็นคนเหนือ คนอีสาน คนใต้ หรือคนภาคไหน เชื้อชาติใดก็ตาม!

ท่ามกลางองค์ประกอบด้านเทคนิคที่ดีในหลายๆ ด้าน ทั้งการจัดแสง การบันทึกเสียง ฯลฯ ผมรู้สึกว่า ประเด็นเกี่ยวกับความถูกต้องยุติธรรมนั้น ส่งเสียงได้ดังที่สุด “ฝนตกขึ้นฟ้า” เป็นโลกที่ความถูกต้องดีงามถูกกระทำชำเรา และหนังก็พยายามสื่อให้เราเห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ เมื่อโลกในกฎหมายหรือในระบอบ ไม่สามารถให้สิ่งนี้ได้ มันย่อมจะมีคนกลุ่มหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่ง ก้าวออกไปแสวงหาความยุติธรรมผ่านการใช้ความรุนแรง (คล้ายกับองค์กรมาตุลีในอินทรีแดง) ก็คงเหมือนกับที่ใครสักคนคิดว่า ถ้ากฎหมายทำอะไรนักการเมืองเลวๆ ไม่ได้ ทำไม เราไม่ส่งมือปืนไปฆ่ามันซะให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ก็ทำนองเดียวกัน

ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมรู้สึกเสียดายพอสมควรเกี่ยวกับการหยิบจับเอาหนังสือมาถ่ายทอดเป็นหนังของคุณเป็นเอก สิ่งนั้นก็คงได้แก่ ปลารักเร่ที่พระเอกของเราเลี้ยงไว้ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ตัว แต่ละตัวตั้งชื่อตามชื่อเดือน และบังเอิญ ปลาตัวที่ตายไป คือปลาที่ชื่อ “ตุลาคม” (อันเป็นเดือนที่มี “ตราชั่งแห่งความยุติธรรม” เป็นสัญลักษณ์) แน่นอนครับ ความตายของปลาที่ชื่อตุลาคมนี้คือกุญแจดอกสำคัญอีกดอกหนึ่งซึ่งจะไขรหัสแห่งเนื้อหาของหนังให้กระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้น

แต่กระนั้นก็ดี ด้วยองค์ประกอบเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ผมคิดว่าหนังสามารถตอบโจทย์ด้านประเด็นเนื้อหาได้เพียงพอที่จะสื่อสารให้เราเข้าใจได้อยู่แล้ว ขณะที่นักแสดงทุกๆ คนก็เล่นสมบทบาทกันทั้งหมด ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม วางชื่อไว้ชิงนักแสดงนำยอดเยี่ยมได้เลย คริส หอวัง บทอาจจะไม่มาก แต่ดูดีทุกครั้งที่ปรากฏตัว ส่วนบทโสเภณีของคุณชนกพร สยังกูล ก็ควรได้สิทธิ์ขึ้นไปลุ้นในสาขานักแสดงสมทบหญิง นั่นยังไม่นับรวมถึงโจอี้ บอย ที่ก็เท่เหลือรับประทานกับมาดของลูกนักการเมืองขาโหด

หลังจากดูหนัง มีบางคนถามผมว่า อะไรคือความหมายของ “ฝนตกขึ้นฟ้า”

แบบไม่คิดอะไรมาก “ฝนตกขึ้นฟ้า” ก็หมายถึง “สภาพ” ของตัวพระเอกอย่างตุลโดยตรง เพราะหลังจากโดนกระสุนนัดนั้น มันก็ทำให้เขามองเห็นภาพกลับหัว และได้พูดคำเท่ๆ ชวนคิด กับคริส หอวัง ทำนองว่า “ก่อนหน้านี้ ผมมองอะไรเพียงผิวเผิน ฉาบฉวย แต่ตอนนี้ การเห็นภาพกลับหัว มันทำให้ผมมองทุกสิ่งอย่างละเอียดขึ้น”

แต่ถ้าให้คิดอย่างซีเรียส และไม่เคร่งเครียดว่ามันจะถูกต้องตรงตามความคิดของคนเขียนหนังสือ/คนทำหนัง หรือไม่ “ฝนตกขึ้นฟ้า” ก็คงหมายถึงสภาพที่มันวิปริตผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น โลกที่มันไม่ตรงไปตรงมา จากการดูหนังและอ่านหนังสือ มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า บางที เราก็หวังอะไรไม่ได้จริงๆ กับความถูกต้องเที่ยงตรงใดๆ ในโลก

คำถามก็คือ แล้วจะต้องรอถึงเมื่อไหร่ ที่อะไรๆ มันจะเป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น?

ท่ามกลางแสงหม่นมัวสลัวรางชวนหดหู่สิ้นหวังของหนังนัวร์ นี่คือคำถามที่ยากเหมือนกับถามว่า เมื่อไหร่หนังเป็นเอกจะทำเงิน ซึ่งบางที เราอาจจะต้องคอยจนถึงวันที่ “ฝนตกขึ้นฟ้า”...








กำลังโหลดความคิดเห็น