หลังกลายเป็นผู้อพยพต้องมาอาศัยออฟฟิศเป็นที่พิงพักนานร่วม 2 สัปดาห์กระทั่งความรู้สึกเซ็งๆ เริ่มจะถามหา แถมยังจะต้องมาหงุดหงิดกับข่าวคราวความขัดแย้งในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของบรรดาข้าราชการ-นักการเมืองที่โยนโทษกันไปมาในความผิด จะขอรับเพียงอย่างเดียวคือความชอบเพื่อรักษาหน้าตาและฐานเสียงของตนเองเอาไว้จนอยากจะตะโกนด่าว่า...จัญไรจริงๆ พวกเมิง!
...บ่ายวันวาน ผมเลยตัดสินใจเปลี่ยนบรรยากาศที่จำเจย่านถนนพระอาทิตย์ออกไปเดินเปิดหูเปิดตาบ้าง
จุดหมายไม่ไกลครับ อยู่ที่ "ภูเขาทอง"
บางคนอาจจะเครียดกับเรื่องน้ำท่วมจนลืมไปว่าประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่งของบ้านเราที่ทำสืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว
ประเพณีที่ว่าก็คือ "ลอยกระทง" ซึ่งปีนี้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทยนั้นตรงกับวันพฤหัสฯ ที่ 10 พฤศจิกายนตามปฏิทินสากล
แม้หลายปีหลังที่ผ่านมางานลอยกระทงในกรุงเทพฯ จะมีการจัดกันหลากที่หลายสถาน แต่ถ้าถามว่าที่ไหนคลาสสิก เก่าแก่ที่สุด แถมยังเป็นต้นกำเนิดงานวัดของบ้านเรานั้นก็เป็นที่ภูเขาทองนี่แหละ
ปีนี้งานลอยกระทงภูเขาทองหรือในชื่องานอย่างเป็นทางการว่า "งานนมัสการพระบรมสารีริกธาต ณ บรมบรรพต" จะจัดกันตั้งแต่วันที่อาทิตย์ที่ 6 เรื่อยไปจนถึงวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน
ถึงตอนนี้อยากจะเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของภูเขาหนึ่งเดียวของกรุงเทพฯ ลูกนี้สักหน่อยเผื่อว่าบางคนจะยังไม่ทราบ
เป็นที่ทราบกันดีใช่มั้ยครับว่าหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 กรุงศรีอยุธยาราชธานีเมืองหลวงของเราถูกเผาทำลายเสียหายย่อยยับเกินที่จะกลับมาซ่อมแซมได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินท่านกู้คืนได้ซึ่งเอกราชจึงได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ฝั่งธนฯ แต่ตลอดระยะเวลา 15 ปีในสมัยธนบุรีด้วยความที่มีสงครามกับก๊กนั้นเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาจึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตอย่างหวาดผวาอยู่
กระทั่งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นครองราชย์ ท่านจึงทรงต้องการจะเรียกขวัญคนไทยให้กลับคืนมาจากภาพฝันร้ายที่กรุงศรีอยุธยาต้องมาพังพินาศย่อยยับด้วยการสร้างพระนครขึ้นใหม่ให้ยิ่งใหญ่ประดุจกรุงศรีอยุธยาที่เคยโอ่อ่าเรืองรองมานานกว่า 400 ปี ด้วยเหตุนี้เองสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จึงถอดแบบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งในส่วนของพระบรมมหาราชวัง รวมถึงวัดพระแก้วที่ถอดแบบมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์
นอกจากนี้พระองค์ท่านก็ยังทรงให้ขุดคลองแยกจากคลองรอบกรุงโดยมีพระประสงค์ปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า "...เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปชุมนุมเล่นเพลงและสักรวาในเทศกาลฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เคยประชุมเล่นกันมา ก็เพื่อจะรักษาประเพณีเก่าไว้..."
คลองที่ว่านี้ก็คือคลองมหานาค
แต่ในตอนที่ขุดคลองมหานาคนั้นยังไม่มีการสร้างภูเขาทองแต่อย่างใด ขณะที่วัดสระเกศที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นเองก็มีชื่อว่า วัดสะแก ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้มีการขุดคลองมหานาคขึ้น วัดสะแกซึ่งอยู่ตรงปากคลองพอดีพระองค์ท่านจึงสั่งให้มีการบูรณวัดสะแกขึ้นใหม่แล้วพระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ อันเป็นที่มาของภูเขาทองในเวลาต่อมา
ถึงตอนนี้ต้องขอย้อนกลับไปในสมัยอยุธยายังเป็นเมืองหลวงกันสักนิด
ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงนั้นมีวัดเก่าแก่อยู่วัดหนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระนคร ชื่อวัดภูเขาทอง มีเจดีย์องค์ใหญ่มหึมาอยู่ด้านบนตั้งตระหง่านให้ชาวเมืองมองเห็นได้ชัดเจน ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพมาพระภิกษุรูปหนึ่งของวัดภูเขาทอง ชื่อพระมหานาค ได้สึกออกมาสู้กับพม่า โดยได้ชักชวนให้ประชาชนช่วยกันขุดคลองจากวัดภูเขาทองแยกไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องการบุกรุกของข้าศึก ซึ่งคลองที่ว่าก็เลยถูกเรียกว่าคลองมหานาค แต่ปัจจุบันคลองนี้น่าจะตื้นเขินไปหมดแล้ว
กลับมาที่สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างเจดีย์ใหญ่ไว้นอกกำแพงเมืองตามแบบอย่างของเจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยา จึงทรงเลือกชัยภูมิที่จะสร้างและทรงเห็นว่าไม่มีสถานที่ไหนที่จะเหมาะสมเท่ากับพื้นที่วัดสระเกศ ริมคลองมหานาค อีกแล้ว ทว่าด้วยความที่ดินบริเวณนั้นอ่อนมาก ไม่ว่าจะลงซุงเพื่อปักเป็นฐานเท่าไหร่ก็พังทลายลงมาทุกครั้งจนไม่อาจจะสร้างเจดีย์ภูเขาทองได้ตลอดรัชสมัยของพระองค์
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์พระองค์ท่านได้โปรดให้ก่อสร้างเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นบนเนินดินที่มีการถมรากฐานไว้แล้ว พร้อมพระราชทานนามว่า พระบรรพรต แต่ประชาชนทั่วไปเรียกกันอย่างติดปากว่า เจดีย์ภูเขาทอง
อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นเจดีย์ภูเขาทองยังคงเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน จนเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้โปรดให้มีการสร้างเจดีย์ภูเขาทองขึ้นใหม่ให้เทียบเท่ากับสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการนำซุงไม้สักมาถมเพิ่มอีกนับพันๆ ท่อน กระทั่งปี 2421 การก่อสร้างก็แล้วเสร็จ มีการนำเอาพระบรมสารีริกธาตุที่อุปราชแห่งอินเดียนำขึ้นทูลเกล้าถวายมาประดิษฐานไว้ ณ ยอดเจดีย์ ก่อนจะมีงานฉลองครั้งยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2421
เจดีย์ภูเขาทองมีความสูงรวม 76 เมตร ยอดเจดีย์แต่ก่อนเป็นเพียงการปูนโบก ต่อมาในปีพ.ศ. 2510ได้มีการนำเอากระเบื้องโมเสคสีทองมาประดับไว้จนทำให้เราเห็นเป็นเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับงานลอยกระทงภูเขาทองปีนี้ เท่าที่เดินๆ ดูในช่วงเย็นก็ต้องบอกว่าคนมาเที่ยว ไหว้พระ ทำบุญ ค่อนข้างจะเยอะทีเดียวถ้ามองว่านี่เป็นวันแรกของการจัดงาน แถมยังอยู่ในห้วงเวลาที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมอยู่หลายคนคงจะไม่มีอารมณ์เที่ยวกันสักเท่าไหร่
ส่วนบรรยากาศโดยรวมทั่วๆ ไป ก็ไม่ต่างอะไรไปจากปีก่อนๆ ครับ มีบรรดาบรรดาร้านค้าทั้งที่เป็นของกิน ของเล่น ของใช้ สารพัดสารพันมาตั้งใหัเลือกกิน เลือกเล่น และเลือกซื้อไปใช้มากมาย
ที่น่าสังเกตก็คือปีนี้บรรดาดอกไม้ไฟ ทั้งพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ฯ มีขายให้เห็นกันกลาดเกลื่อน ก็ไม่ทราบว่าที่เคยมีข้อห้ามออกมาเพราะเกรงจะเกิดอันตรายนั้นถูกยกเลิกไปแล้วหรือไม่ อย่างไร?
เอาเป็นว่าใครที่รู้สึกเครียดๆ กับเรื่องน้ำท่วมบ้าน เปิดดูข่าวก็มีแต่น้ำๆๆ ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาชาร์ตแบตให้กับจิตใจด้วยการเที่ยวงานวัดภูเขาทองดูบ้างก็ดีนะครับ
ได้เห็นสีหน้าเปื้อนรอยยิ้มของคนมาเที่ยวที่หลายคนมาเป็นคู่ๆ บ้างก็มากันทั้งครอบครัว บ้างก็มากับเพื่อน ตลอดจนได้เห็นภาพวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ ในมุมสูงๆ กว้างๆ แล้วก็ต้องบอกว่าสบายหู สบายตา สบายใจกว่านั่งดูข่าวน้ำท่วมเยอะครับ