xs
xsm
sm
md
lg

บูชาครู “เรย์ ชาร์ลส์” ผ่าน 3 ยอดคน “วิลลี่ เนลสัน,วินตัน มาร์แซลิส และ นอร่าห์ โจนส์”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)

“วิลลี่ เนลสัน”(Willie Nelson) - ปูชนียบุคคลสำคัญแห่งวงการคันทรีในระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ วันนี้กับวัยใกล้ๆ 80 ปี คุณปู่วิลลี่ยังคงโลดแล่นในวงการเพลงสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆออกมาได้อย่างน่าทึ่ง

“วินตัน มาร์แซลิส”(Wynton Marsalis) - คนดนตรีแจ๊ซนามอุโฆษในระดับหัวแถว ผู้สร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมามากมาย น้าวินตันที่วันนี้เปลี่ยนจากหุ่นเพรียวลมมาเป็นหุ่นอาเสี่ย ไม่เพียงเป็นเอกด้านการเป่าทรัมเป็ตในสายแจ๊ซเท่านั้น แต่เขายังข้ามสายพันธุ์ดนตรีไปเป่าในทางคลาสสิค(Classical music) ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

ยอดคนดนตรีทั้งสอง แม้จะผ่านจุดสูงสุดในเส้นทางดนตรีของตัวเองมาแล้ว แต่ชื่อชั้นทางดนตรีของทั้งสองคน ไม่ได้เป็นดังวงการมวยไทย ที่“ชื่อมีไว้เรียก ชั้นเอาไว้วางของ” เพราะชื่อชั้นของยอดคนทั้งคู่ยังคงมากบารมีในยุทธจักรวงการเพลงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

แม้คุณปู่วิลลี่กับคุณน้าวินตันจะเล่นดนตรีกันคนละสาย แต่การโคจรมาพบกันของทั้งคู่ที่ไม่ต่างจากฟ้าลิขิตในอัลบั้ม “Two Men With The Blues”(2008) ซึ่งเป็นการนำเพลงเก่าอมตะอย่าง “Basin Street Blues”,”Stardust”,”Georgia On My Mind” และ ฯลฯ มาร้องเล่นบรรเลงใหม่ในลีลาบลูส์ แจ๊ซ คันทรี ที่สดและเก๋าจากชั้นเชิงทางดนตรีของทั้งคู่นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันใหม่ ที่เด่นและโดนในวงการเพลง

อัลบั้ม Two Men With The Blues ได้รับเสียงตอบรับรับจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์อย่างดีเยี่ยม ทำให้การผสม(สาย)พันธุ์ทางดนตรีของคุณปู่วิลลี่กับคุณน้าวินตันมีโปรเจคที่ 2 ตามมา กับผลงานชุด “Here We Go Again”

Here We Go Again เป็นการนำเพลงอมตะของ “เรย์ ชาร์ลส์”(Ray Charles) ศิลปินผิวสีผู้พิการทางสายตานามอุโฆษที่โลกยกย่อง มาร้องเล่นแบบคารวะในความยอดเยี่ยมและความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีของเขาผู้นี้

สำหรับอัลบั้มนี้(สงสัย)คุณปู่กับคุณน้ากลัวว่าแฟนเพลงจะเจอแต่โบราณบุคคล จึงสร้างความกระชุ่มกระชวยด้วยการดึงหลานสาวคนสวย อย่าง“นอร่าห์ โจนส์”(Norah Jones) มาร่วมฟีเจอร์ริ่งด้วยอีกแรง เป็นคุณปู่-น้า-หลาน 3 ประสาน 3 วัย ที่ชื่อชั้นของแต่ละคนนั้นจัดอยู่ในระดับเหนือธรรมดา

Here We Go Again ไม่ได้เป็นผลงานสตูดิโออัลบั้ม หากแต่เป็นงานบันทึกการแสดงสด ที่ “โรส เธียเตอร์” ณ เฟรเดอริค พี.โรส ฮอลล์(Rose Theater, Frederick P.Rose Hall) แห่ง แจ๊ส แอท ลินคอล์น เซ็นเตอร์(Jazz at Lincoln Center)ในนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9-10 ก.พ. ปี ค.ศ. 2009 (แต่อัลบั้มผลิตออกมาในปีนี้ได้สักพักหนึ่งแล้ว)

คอนเสิร์ตครั้งนี้นอกจาก 3 คุณปู่ น้า หลาน ยังมียอดนักดนตรีอีก 5 คนได้แก่ “Dan Nimmer” : เปียโน,“Ali Jackson” : กลอง & เพอร์คัสชั่น,”Carlos Henriquez” : เบส,”Mickey Raphael” : ฮาร์โมนีกา และ “Walter Blanding” : เทเนอร์ แซกโซโฟน

อัลบั้ม Here We Go Again มีทั้งหมด 12 เพลงด้วยกัน เพลงแรกเปิดตัวนำกันด้วย “Hallelujah I Love Her So” เป็นกอสเพลกลิ่นบลูส์แจ๊ซสนุกๆ ไลน์เปียโนท่อนอินโทรขึ้นนำได้สวยทีเดียว ปู่วิลลี่แม้จะแก่แต่ก็เก๋า เขาร้องเพลงเสียงลูกทุ่งขึ้นจมูกได้อย่างดี แถมยังโชว์ฝีมือโซโลกีตาร์ทางเก๋ๆในช่วงโซโลดนตรีอีกต่างหาก ส่วนน้าวินตันเพลงนี้โชว์ฝีมือกันแค่พอหอมปากหอมคอ โดยมีนักดนตรีอื่นๆร่วมโซโลด้วยอีกแรงทั้ง แซกโซโฟน ฮาร์โมนีการ์ เป็นเหมือนการแนะนำตัวให้แฟนเพลงได้รู้จักในฝีมือกัน

“Come Rain Or Come Shine” บัลลาดช้าๆ หลานสาวนอร่าห์ขับขานเสียงหวานๆปนเศร้าได้อย่างมีเอกลักษณ์กับสไตล์การร้องเพลงตามแบบฉบับของเธอ ส่วนน้าวินตันนั้นฉายลีลาอันเหนือชั้นให้เห็นผ่านลูกโซโลทรัมเป็ตหม่นเศร้าบาดลึก

กลับมาสนุกกันต่อกับ “Unchained My Heart” คุณปู่วิลลี่ร้องแบบสบายๆไปตามอารมณ์เพลงที่มุ่งเน้นต่อการเปิดพื้นที่ให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นโชว์ฝีมือทางดนตรีมากกว่า ซึ่งพระเอกของงานนี้ผมยกให้กับอาลีมือกลองที่โซโลเคาะกลองแบบเสียงทึบ(ปิดเสียงสแนร์) ได้อย่างยอดเยี่ยมชนิดถ้าได้นั่งดูสดๆคงต้องขยับแข้งขยับขาตาม ลูกโซโลกลองของเขาไม่บ้าพลังแต่ฟังเก๋าเป็นบ้าเลย พับผ่า

“Cryin’ Time” สลับอารมณ์ด้วยบัลลาดหวานๆในทางคันทรีที่มากันแบบเห็นเนื้อถึงหนัง คุณปู่วิลลี่และหลานสาวนอร่าห์สะกดคนฟังด้วยการร้อง“ดูเอ็ท”คู่กัน อย่างถึงอารมณ์

ทางของเพลงยังหน่วงเนิบอยู่กับ“Losing Hand” บลูส์ดิบๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ลูกโซโลฮาร์โมนีกาของมิคกี้กับเสียงทรัมเป็ตของน้าวินตันดวลกันอย่างสะเด็ดสะแด่ว

จากนั้นเป็น “Hit The Road Jack” เพลงนี้ 3 ประสานคุณปู่ -น้า-หลาน ร่วมร้องรับส่งกันอย่างสนุกในอารมณ์ โดยมีภาคเครื่องดนตรี แซกโซโฟน ฮาร์โมนีกา ทรัมเป็ต และกีตาร์ มาร่วมโซโลหนุนส่งกันแบบจัดหนัก

ต่อกันด้วย “I’m Moving On” ที่ภาคดนตรีร่วมกันเคลื่อนไหวสร้างลีลาในบทเพลงนี้ได้อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะเสียงทรัมเป็ตผ่าน“มิวท์”(Mute : อุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องทองเหลืองใช้ใส่เข้าไปในปากลำโพง(ปากแตร)เพื่อให้เกิดเสียงบีบแหลมที่แปลกออกไปจากเสียงปกติ)ของน้าวินตันนั้น เฉียบคม จับใจเหลือหลาย

“Busted” เพลงนี้คุณน้าวินตันร่วมร้องกับคุณปู่วิลลี่ โดยมีกองหนุนเป็นทีมเครื่องเป่าที่สอด-รับ-ส่ง มากันอย่างหนาแน่น

ถัดมาเป็น“Here We Go Again” เพลงไตเติ้ลแทรคที่ลงตัวมากทั้งภาคดนตรีและภาคเนื้อร้อง เพลงนี้คุณปู่กับหลานสาวร้องดูเอ็ทร่วมกันในทางริทึ่มแอนด์บลูส์ ได้อย่างเพราะพริ้งสดใสมีชีวิตชีวา ชนิดคนฟังประทับใจปรบมือกันลั่นฮอลล์

ส่วน “Makin’ Whoopee” เป็นสวิงแจ๊ซสนุกๆขับขานเสียงหวานๆใสๆโดยนอร่าห์โจนส์ “I Love You So Much(It Hurts)” เป็นสแตนดาร์ดหวานแต่ไม่เลี่ยน เสียงของคุณปู่ฟังอบอุ่นแม้จะเลยช่วงความรู้สึก I Love You So Much มานานมากแล้วก็ตาม

ปิดท้ายกันด้วย “What’D I Say” เพลงสนุกๆที่คูณปู่ น้า หลาน โชว์พลัง 3 ประสานอย่างถึงในรสของอารมณ์เรย์ ชาร์ล ปิดท้ายคอนเสิร์ตได้อย่างลงตัว รับเสียงปรบมือไปกึกก้อง

สำหรับอัลบั้ม Here We Go Again แล้ว แม้จะมีแกนนำคือ 3 ประสาน คุณปู่วิลลี่ คุณน้าวินตัน และหลานสาวนอร่าห์ที่มาร่วมฟีเจอร์ริ่ง แต่ว่าทั้ง 3 คน ต่างจัดลำดับความสำคัญทางดนตรีได้อย่างดีเยี่ยมไม่มีใครเด่นเกินใคร อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับทีมนักดนตรีแบ็คอัพ ที่ไม่ได้มาเป็นแค่ผู้เล่นประกอบอยู่ข้างหลัง หากแต่พวกเขาสามารถขึ้นมาโซโลยืนแถวหน้าได้อย่างเหมาะสมยามเมื่อถึงจังหวะต้องสำแดงฝีมือ

นอกจากนี้ความที่เป็นบันทึกการแสดงสดทำให้อัลบั้มนี้มีความสดใหม่อยู่ในตัว โดยเฉพาะจากฝีมือของผู้อาวุโสทั้งสองที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสดกระชากวัย(อย่างไม่น่าเชื่อ)

ปู่วิลลี่ แม้วันนี้เสียงจะไม่ใสมากพลังเหมือนอดีต แต่ว่าคุณปู่แกยังคงลายเซ็นเสียงร้องในแบบเหน่อลูกทุ่ง(ฝรั่ง)ขึ้นจมูกได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ลีลาการขับขานใส่อารมณ์ลูกล่อลูกชนนั้นยังคงเจ๋งอยู่เหมือนเดิม

น้าวินตัน งานนี้เสียงทรัมเป็ตของเขามีปรากฏในทุกเพลง(และร่วมร้องใน 3 เพลง)อย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อย แต่ในรายละเอียดของทางดนตรีนั้น ทั้งการสร้างเมโลดี้ ลูกโซโล ลีลาลูกเล่นต่างๆ ยังยอดเยี่ยมสมความเป็นขั้นเทพ ซึ่งถือเป็นส่วนเติมเต็มที่ขาดไม่ได้ในอัลบั้มนี้ด้วยประการทั้งปวง

ด้านหลานสาวคนสวยนอร่าห์ โจนส์นั้น ลีลาการร้อง น้ำเสียงของเธอ ประกบกับรุ่นใหญ่ได้อย่างสบาย โดยเฉพาะกับเพลงแจ๊ซ และ คันทรีนั้น ถือเป็นทางถนัดของเธออยู่แล้ว แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ เธอสามารถนำซาวด์ร่วมสมัยเข้าไปผสมผสานกับซาวด์ย้อนยุคได้เป็นอย่างดี

ส่วนจุดที่ผมถือเป็นหัวใจหลักในงานเพลงชุดนี้ก็คือ นี่แม้เป็นผลงานอัลบั้มบูชาครูเรย์ ชาร์ลส์ ที่ฟังแล้วถึงรสถึงเครื่องในอารมณ์เรย์ ชาร์ลส์แบบไม่มีกั๊ก แต่ว่าก็มีทางของคันทรี บลูส์ แจ๊ซ ที่เป็นลายเซ็นของคนทั้ง 3 มากบ้างน้อยบ้าง ร่วมอยู่ในทุกๆเพลง กลายเป็นเพลงเรย์ ชาร์ลส์ ในสีสันใหม่กลิ่นอายเก่า ที่หากไม่ใช่ยอดฝีมือทางดนตรีคงจะทำออกมาได้ไม่ลงตัวรื่นรสเท่านี้เป็นแน่
*****************************************

คอนเสิร์ต

ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ & แอนโทนี่ การ์เซีย

เอ เอ็ม ไอ อีเวนส์ ร่วมกับสถานทูตออสเตรเลีย กรุงเทพฯ นำเสนอทัวร์คอนเสิร์ต “HUCKY Eichelmann and ANTHONY Garcia Thailand Tour 2011” ทัวร์คอนเสิร์ตทั่วไทย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน 2554 ในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์และแอนโทนี่ การ์เซีย สองนักกีตาร์คลาสสิคชื่อดังจะแสดงคอนเสิร์ตและเวิร์คชอพร่วมกัน ทั้งคู่ต่างเป็นศิลปินระดับโลกและครูสอนกีตาร์ผู้มากด้วยฝีมือด้านการแสดงดนตรีและประสบการณ์ในวงการดนตรีศึกษา

การจัดทัวร์ครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับอรรถรสการแสดงสดของนักดนตรีที่เต็มเปี่ยมด้วยความสามารถที่ผสมผสานการเล่นกีตาร์ทั้งแบบโซโล่เดี่ยวและแบบคู่ดูโอ โดยบทเพลงที่คัดเลือกมาแสดงมีทั้งเพลงคลาสสิค เพลงพื้นบ้าน เพลงเวิลด์ มิวสิค บทเพลงจากประเทศไทย ออสเตรเลีย และอีกหลากหลายประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการ อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา

สำหรับผู้สนใจที่อยู่ในกรุงเทพฯ สามารถสามารถติดตามได้ใน วันพุธที่ 24 สิงหาคม เวลา 19.00 น. ณ มอนทิส รีสอร์ท - ห้องประชุมมอนทิส และในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม เวลา 20.00 น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (หอประชุมเล็ก)

ส่วนต่างจังหวัดจะมีการจัดที่ พัทลุง ในวันอังคารที่ 30 สิงหาคม เวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง - อาคารเรียนรวม เวิร์คชอป วันพุธที่ 31 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ณ ห้อง MF1204-1205

และที่ภูเก็ต คอนเสิร์ตจะมีในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน เวลา 19.00 น. ณ โรงละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ส่วนเวิร์คชอป วันเสาร์ที่ 3 กันยายน เวลา 09.00 น. ณ โรงเรียนดนตรีสยามกลการ (ภูเก็ต)
ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.amithailand.com หรือสอบถามที่ โทร. 0-2662- 1836
เสกข์  ทองสุวรรณ
“Tchaikovsky Night”

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย(TPO) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทยในการดูแลของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอคอนเสิร์ต “Tchaikovsky Night” ค่ำคืนแห่งบทเพลงของ Pyotr Ilyich Tchaikovsky นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ยุคโรแมนติกได้แก่ เพลง Symphony No.5 in E minor op.64 และเพลงคอนแชร์โต้ Piano Concerto No.1 in B-flat minor op.23 อำนวยเพลงโดย Gudni A. Emilsson ได้ เสกข์ ทองสุวรรณ ศิลปินนักเปียโนชาวไทยคนแรกที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านดนตรี ปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยดนตรี Saint-Petersburg State Conservatory ประเทศรัสเซีย กลับมาโชว์ฝีมือเปียโนของเขาอีกครั้งหลังจากประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการเล่นร่วมกับ TPO ในครั้งที่แล้ว พร้อมรับฟังบทเพลงไทย เทพรัญจวน 3 ชั้น อีกด้วย

คอนเสิร์ตครั้งนี้ จัดขึ้น ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 รอบ คือ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 เวลา 16.00 น. บัตรราคา 500, 300 และ 100(นักเรียนนักศึกษา) บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com
กำลังโหลดความคิดเห็น