xs
xsm
sm
md
lg

ลาก่อน สหายเก่า มิตรรักเพลงร็อค “Scorpions” ไอ้แมงป่องผยองเดช/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ลีลาร็อคสะเด่าทรวงของวง Scorpions” แมงป่องผยองเดช
หากพูดถึงวงดนตรีเฮฟวี่ ฮาร์ดร็อค ที่ผูกพันแนบแน่นกับแฟนเพลงชาวไทยมาอย่างยาวนานร่วม 40 ปี ทอดตาทั้งแผ่นดินจนตาสุกเหลืองเกรียมนอกนุ่มใน เห็นจะไม่มีวงไหนเกิน “สกอร์เปี้ยนส์”(Scorpions) วงร็อคสัญชาติเยอรมันเจ้าของฉายา (ไอ้)“แมงป่องผยองเดช” ที่คุณอา“วิฑูร วทัญญู” (อดีต)ดี.เจ.ขวัญใจไทยร็อคตั้งให้ และกลายเป็นฉายาอมตะมาจนทุกวันนี้

เหตุที่เพลงแบบสกอร์เปี้ยนส์โดนใจขาร็อคชาวไทยจำนวนมาก เพราะวงนี้มีท่วงทำนองเด่นชัดสวยงาม ฟังง่าย แถมยังมีเพลงฮิตและเพลงบัลลาดเพราะๆ อ่อนหวานแต่หนักแน่นอยู่มากมาย ชนิดที่สามารถนำมารวมฮิตรวมแล้วรวมอีกได้อยู่เรื่อยๆ

หลายเพลงของสกอร์เปี้ยนส์ในบ้านเราไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะในสายร็อคเท่านั้น หากแต่มันแพร่หลายขจายขจรไปมากกว่านั้น โดยเฉพาะเพลง “Holiday” บัลลาดร็อคสุดคลาสสิคที่สกอร์เปี้ยนส์แพร่พิษร็อคมาเขย่ารูหูแฟนานุแฟนชาวไทยนั้น มันโด่งดังไกลไปกว่าเพลงร็อคทั่วๆไป หากแต่กลายเป็นเพลงป็อบปูล่าที่ฮอตฮิตติดหูคนไทยไปทั่วหัวระแหง

ดังถึงขนาดวงลูกทุ่ง วงหมอลำ วงเหล้า หรือแม้กระทั่งตลกคาเฟ่ยังนำเพลงนี้ไปเล่นกัน

ผมจำได้ว่าในขณะที่สมัยวัยละอ่อนฝึกหัดเล่นกีตาร์ “Holiday”เป็นหนึ่งในเพลงฮิต เพลงครู ที่คนรุ่นราวคราวเดียวกับผมนิยมเล่นกันมาก เพลงนี้เล่นไม่จบเพลงไม่เป็นไร แต่ในท่อนปิ๊คกิ๊งช่วงอินโทรนี่ ต้องพยายามเล่นให้ได้ ใครเล่นได้ถือว่า(โคตร)เท่ชะมัด

เรียกได้ว่า สกอร์เปี้ยนส์สำหรับผมถือเป็นดังเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ ที่คุ้นเคยและสนิทชิดเชื้อในสรรพเสียงเพลงร็อคกันมายาวนาน ตั้งแต่วัยเยาว์มาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเมื่อรู้ข่าวสกอร์เปี้ยนส์ได้ประกาศยุติวงอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว มันทำให้ผมรู้สึกอดใจหายไม่ได้

แต่เมื่องานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ฉันใดก็ฉันเพล ที่สกอร์เปี้ยนส์ย่อมมีวันเลิกวง พร้อมกับทิ้งตำนานวงแมงป่องผยองเดชไว้ให้แฟนานุแฟนได้รำลึกอาลัยกัน

กำเนิด

สกอร์เปี้ยนส์เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก พวกเขาสามารถพิชิตรางวัลทางดนตรีต่างๆมาหลากหลาย อาทิ รางวัล “The World Music Award” รางวัล “Best International Selling Artist from Germany” และฯลฯ รวมถึงที่ถือเป็นสุดยอดของวงดนตรีร็อคอย่างรางวัล “Rock Legend Award” ซึ่งกว่าจะสร้างชื่อประสบความสำเร็จ กลายเป็นหนึ่งในตำนานร็อคระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้ เส้นทางชีวิตของได้แมงป่องผยองเดชได้ผ่านร้อน ผ่านหนาว และผ่านเรื่องราวมาอย่างโชกโชน

วงสกอร์เปี้ยนถือกำเนิดก่อนผมเกิดหลายช่วงปี แรกเริ่มเดิมที ในปี(ค.ศ.)1965 “รูดอล์ฟ เชงเกอร์”(Rudolf Schenker) มือกีตาร์ ได้ร่วมกับ“โวล์ฟกัง ซิโอนี่”(Wolfgang Dziony)มือกลอง ก่อตั้งวงดนตรีขึ้นเล่นดนตรีในย่านเมืองฮันโนเวอร์ เยอรมนี ก่อนที่รูดอล์ฟจะฟอร์มวงสกอร์เปี้ยนส์อย่างเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาในปี 1969 โดยเขาทำหน้าที่เป็นเสาหลักของวง เล่นริธึ่มกีตาร์ แต่งเนื้อร้อง ทำนอง ร่วมด้วย“เคลาส์ ไมน์”(Klaus Meine) แหกปากร้องนำ, โวล์ฟกัง หวดกลอง, โลธาร์ ไฮม์แบร์ก(Lothar Heimberg)ทึ้งเบส พร้อมเสริมทัพหน้ากีตาร์คู่ด้วย“ไมเคิล เชงเกอร์” “Michael Schenker” น้องชายของรูดอล์ฟในตำแหน่งกีตาร์โซโล
อัลบั้มแรกของสกอร์เปี้ยนส์
ปี 1972 รูดอล์ฟพาสกอร์เปี้ยนส์เดินหน้าสานฝัน ส่งอัลบั้มแรก “Lonesome Crow” ออกมา งานเพลงชุดนี้เดินตามรอยวงร็อคทั่วๆไปในยุคนั้น เรียกว่ายังคลำหาแนวทางของตัวเองไม่เจอ เสียงร้องของเคลาส์ ไมน์ ยังไม่เด่นไม่โดน แต่ไมเคิลได้ฉายแววกีตาร์ฮีโร่ออกมา จนถูกวงจานผี “UFO” วงฮาร์ดร็อคจากอังกฤษฉกตัวไป ก่อนไปสร้างตำนานหวือหวากับวงจานผีอยู่พักหนึ่ง

สร้างชื่อ

หลังไมเคิลน้องชายตัวแสบเห็นจานผีดีกว่าแมงป่อง งานนี้เดือดร้อนรูดอล์ฟต้องวิ่งวุ่นควาญหามือกีตาร์คนใหม่ จนสุดท้ายได้ “อูลิธ จอน รอธ” (Ulrich Jon Roth) หรือ อูลิธ รอธ ผู้เชี่ยวชาญทางกีตาร์คลาสสิคผสมร็อคแบบดุๆจากวง “Dawn Road”(วงที่รูดอล์ฟได้ไปร่วมงานอยู่พักหนึ่ง)มาเป็นมือกีตาร์โซโลคนใหม่

สกอร์เปี้ยนส์หลังยกเครื่องวงใหม่ พวกเขาได้ออกอัลบั้มชุดที่สอง “Fly To The Rainbow”ออกมา ในปี 1974 งานเพลงชุดนี้พวกเขาเริ่มจับทิศทางวงของตัวเองถูก มีเพลงร็อคบัลลาดเมโลดี้สวยๆอย่าง “Fly people fly” ให้ฟังกัน เสียงของเคลาส์ ไมน์มีสไตล์เด่นชัดเจนขึ้น อูลิธ รอธ โชว์ทางกีตาร์อันยอดเยี่ยมสวยงามในหลายๆเพลง จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางกีตาร์นีโอคลาสสิคเลิศล้ำนำยุคสมัย

ปี 1975 วงแมงป่องถือภาษิตน้ำขึ้นให้รีบตักฉวยจังหวะที่เริ่มมีชื่อเสียงจากชุดที่สอง ปล่อย “In Trance”ออกมา โดยมี “ดีเตอร์ ดีร์คส์”(Deiter Deirks)เป็นโปรดิวเซอร์(และร่วมทำงานคู่บุญบารมีในชุดต่อๆมาอีกหลายชุดด้วยกัน)
“Virgin Killerกับปกอัลบั้มอันหวือหวา
งานชุดนี้มีเพลงมันๆอย่าง “Dark lady”และ“Robot man“ ช่วยย้ำเติมชื่อเสียงของวงนี้ให้แรงขึ้น ก่อนที่ปี 1976 จะทำอัลบั้ม “Virgin Killer” กับหน้าปกสาวน้อยตัวกะเปี๊ยกเปลือยแบบเห็นแล้วไม่ชวนให้เกิดความกำหนัด แต่ชวนให้เกิดความสะเทือนใจมากกว่า จากนั้นพวกเขาออกอัลบั้ม “Taken by Force” ในปี 1977 ตามด้วย บันทึกคอนเสิร์ต “Tokyo Tapes” ในปี 1978

หลังอัลบั้ม Taken by Force รูดอล์ฟกับรอธทะเลาะกัน เพราะรูปดอล์ฟหันมาเน้นทำเพลงแนวฮาร์ดร็อคที่อิงการตลาดมากขึ้น จนรอธผู้หลงใหลในแนวทางนีโอคลาสสิคทนไม่ได้ ต้องขอคอนเวิร์ส เดินกันคนละทาง หันไปไปสร้างวงกันคนละวง(รอธไปทำวงใหม่ชื่อ Electric Sun) ทำให้รูดอล์ฟต้องควาญหามือกีตาร์คนใหม่อีกครั้ง

ยุคทอง

ปลายยุค 70 ‘s สกอร์เปี้ยนส์แม้ไม่โด่งดังเปรี้ยงปร้าง แต่ว่าก็ขึ้นหม้อพอตัว ดังนั้นการคัดหามือกีตาร์คนใหม่จึงมีคนมาออดิชั่นมากถึง 140 คน ก่อนที่“แมทเธียส แจ้บส์”(Matthias Jabs)จะเข้าวินแหกด่านมะขามเตี้ยเข้ามาครองตำแหน่งมือโซโลกีตาร์ของวงแมงป่องได้

แต่บังเอิญว่า ช่วงนั้นไมเคิล เชงเกอร์ ยอดมือกีตาร์ผู้มีทางโซโลอันสวยงาม แต่ความประพฤติห่วยแตก เพราะดื่มหนักบ้าบอเสียงานเสียการจนถูกวงจานผี UFO ถีบกระเด็นออกมา ต้องบากหน้ากลับคืนสู่วงสกอร์เปียนส์อีกครั้ง

ช่วงนี้ไอ้แมงป่องผยองเดชจึงมีมือกีตาร์มากถึง 3 คนเลยทีเดียว
Lovedrive” อัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังเปี้รยงปร้างให้กับ Scorpions
สกอร์เปี้ยนส์ยุคมากมือกีตาร์ได้ออกอัลบั้ม“Lovedrive”มาในปี 1979 ชุดนี้ไมเคิลยังคงไม่เลิกดื่มหนักและบ้าบอ จึงได้ร่วมบันทึกเสียงกีตาร์เพียง 3 เพลงเท่านั้น แต่อัลบั้มชุด Lovedrive กลับยอดเยี่ยมลงตัว มีเพลงบัลลาดร็อคขึ้นหิ้งระดับตำนานอย่าง “Always Somewhere” และ “Holiday”

Lovedrive สร้างชื่อกระฉ่อนโลกให้กับไอ้แมงป่องผยองเดชทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ในอเมริกา รวมถึงในบ้านเรา แต่สถานการณ์ภายในวงช่วงนี้กลับดูไม่โสภา เพราะเมื่อไมเคิลมาทวงตำแหน่งโซโลกีตาร์มือหนึ่งคืน แจ้บส์จึงถูกบีบให้ไปเป็นกีตาร์โซโลตัวสำรองแทนไมเคิลยามที่เขาเมาหนักเล่นไม่ไหว

แต่เมื่อสันดอนของไมเคิลไม่สามารถขุดได้ เขายังคงขี้เมาหยำเปเสียงานเสียการอยู่เหมือนเดิม สุดท้ายทางวงจึงตัดสินใจสลัดเขาทิ้ง แล้วเรียกแจ้บส์เข้ามาเป็นโซโลกีตาร์แบบเต็มตัว

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สะท้อนให้เห็นว่า ใครก็ตามแม้จะมีฝีมือเก่งเลิศล้ำขนาดไหน แต่ถ้าประพฤติแย่ ทำตัวไม่ดี ขาดความรับผิดชอบ ก็ไม่มีใครเขาเอาเหมือนกัน

ขึ้นๆลงๆ

หลังเคลียร์ปัญหามือกีตาร์โซโลลงตัว สกอร์เปียนส์คลอด “Animal Magnetism”ออกมาในปี 1980 “Blackout” ในปี 1982 ก่อนกลับมาโด่งดังกะฉ่อนอีกครั้งในปี 1984 ด้วย “Love at First Sting” ที่มีเพลงยอดเยี่ยมอย่าง “Still Loving You” บัลลาดร็อคหวานแต่หนักแน่น และ “Rock You Like a Hurricane” ร็อคโคตรมันที่กลายมาเป็นเพลงประจำวงในเวลาต่อมา

Love at First Sting เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ไอ้แมงป่องประสบความสำเร็จอย่างสูงเยี่ยมจนได้รับการยกย่องให้เป็น “The Ambassadors of Rock” ก่อนที่พวกเขาจะออกบันทึกการแสดงสด “World Wide Live” มาในปี 1985 และ “Savage Amusement” สตูดิโออัมบั้มในปี 1988

ปี 1990 สกอร์เปียนส์แพร่พิษส่ง “Crazy World” ออกมาอาละวาดวงการ พร้อมกับดึงดีเตอร์ ดีร์คส์ กลับมาเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมอีกครั้ง

Crazy World ไปได้สวย พร้อมกับมีบัลลาดร็อค “Wind Of Change” ที่โดดเด่นด้วยเสียงผิวปากอันทรงเสน่ห์ กับเนื้อหาว่าด้วยการเมือง ส่งผลให้ Wind Of Change กลายเป็นเพลงอมตะของสกอร์เปียนส์ไปอีกเพลง

ช่วงยุค 90’s สกอร์เปี้ยนส์มีการเปลี่ยนมือกลองหลายคน แต่พวกเขายังคงเดินหน้าปล่อยพิษร็อคต่อไป ด้วยการทยอยออกอัลบั้มมาอย่างต่อเนื่อง

ปี 1993 ออก “Face the Heat”, ปี 1995 “Live Bites”(แสดงสด),ปี 1996 ออก “Pure Instinct” โดยเปลี่ยนมือกลองอีกครั้งจาก“เคิร์ต เครสส์”(Curt Cress) มาเป็น “เจมส์ ค็อตทัค”(James Kottak) มือกลองคนปัจจุบัน พร้อมกับส่ง“Eye II Eye” ออกมาในปี 1999

Eye II Eye แสดงสัจธรรมแห่งวงการเพลงให้เห็นว่า วงดนตรีมีขึ้นมีลง มียอดเยี่ยมและมีห่วยแตก งานเพลงชุดนี้สกอร์เปี้ยนทดลองของใหม่ด้วยการนำแนวเทคโน ป็อบ มาใส่ในหลายเพลง ใส่กลองไฟฟ้าเสียงเบาหวิวเข้าไป เสียงร้องของไมน์ก็ออกไปทางป็อบมากกว่าฮาร์ดร็อค จนอัลบั้มชุดนี้โดยรวมแทบไม่มีความเป็นแมงป่องผยองเดชหลงเหลืออยู่ จนนักวิจารณ์และแฟนเพลงขาร็อคทนไม่ได้ยกให้ Eye II Eye เป็นอัลบั้มสุดห่วยแบบช่วยไม่ได้ของวงนี้ไป
Sting In Tail งานเพลงชุดสุดท้ายอำลาไอ้แมงป่องผยองเดช
ปิดตำนาน

สกอร์เปี้ยนเป็นพวกเจ็บแล้วจำ ในปี ค.ศ. 2000 พวกเขาร่วมเล่นกับ Berlin Philarmoniker ปล่อย “Moment of Glory” ในบทเพลงที่เต็มไปด้วยเสียงแบ๊คอัพจากวงออร์เคสตร้าอันหนาแน่น แม้จะถูกใครหลายคนกระแนะกระแหนว่าเดินตามรอย “Metallica”เจ้าพ่อสปีด เมทัลก็ตาม แต่ Moment of Glory ก็ช่วยกู้ชื่อ แมงป่องผยองเดชจากชุดที่แล้วกลับมาได้มากทีเดียว

“Acoustica” เป็นผลงานชุดถัดมาในปี 2001 เป็นบันทึกคอนเสิร์ต(เพลงเก่าๆ)ในแบบอะคูสติกตามสมัยนิยมของยุคนั้นที่แม้ไม่หวือหวาเปรี้ยงปร้างแต่ก็ขายได้พอตัว ไม่ถึงกับแป๊กแต่อย่างใด

สกอร์เปียนส์ปรับวงอีกครั้ง ได้“พาเวล มาซิโวด้า”(Pawel Maciwoda) มากระตุกเบส พร้อมกับส่ง“Unbreakable” ออกมาในปี 2004 ที่ถือเป็นผลงานจัดหนักอีกชุดหนึ่งของพลพรรคแมงป่องผยองเดช

จากนั้นก็ตามด้วยคอนเซ็ปต์อัลบั้ม “Humanity - Hour 1” ในปี ค.ศ. 2007 ก่อนจะช็อคแฟนเพลงด้วยการปล่อยเหล็กไนส่ง “Sting In Tail” ออกมาเมื่อปีที่แล้ว(2010) พร้อมกับข่าวประกาศยุติวงสกอร์เปียนส์อย่างเป็นทางการ
10 ก.พ.นี้กับคอนเสิร์ตร่ำลาแฟนเพลงชาวไทย
ร่ำลา

แม้จะประกาศยุบวงอย่างเป็นทางการ มีอัลบั้มสุดท้ายทิ้งทวนออกมา แต่พิษของแมงป่องยังไม่หมดแค่นี้ เพราะสมาชิกชุดปัจจุบันทั้ง 5 ที่อายุเข้าสู่หลัก 6 นำโดย รูดอล์ฟ เชงเกอร์ : กีตาร์ ร่วมด้วย เคลาส์ ไมน์ : ร้องนำ,แมทเธียส แจ้บส์ : กีตาร์โซโล,เจมส์ ค็อตทัค : กลอง และ พาเวล มาซิโวด้า : เบส ขอปล่อยพิษแมงป่องสั่งลาจนหยาดหยดสุดท้าย ด้วยการออกตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตล่ำลาแฟนเพลงทั่วโลก

สำหรับในเมืองไทยไอ้แมงป่องผยองเดชมีกำหนดการพ่นพิษร็อคร่ำลาแฟนๆเมืองไทยในคอนเสิร์ต “Farewell-Tour 2011 Live in Bangkok” ในเวลา 2 ทุ่ม วันพฤหัสฯที่ 10 ก.พ. 2554 นี้ ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาสกอร์เปียนส์จะเคยมาเล่นคอนเสิร์ตในเมืองไทยหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ทรงคุณค่าที่สุด

เพราะนับจากนี้ไปเราจะไม่ได้ดูสกอร์เปียนส์เล่นสดอีกแล้ว พวกเขาจะกลายเป็นตำนานดนตรีร็อคอีกบทหนึ่ง ที่แม้วงดนตรีนามสกอร์เปียนส์จะยุติสลายไป แต่ชื่อของ“สกอร์เปียนส์”ยังคงอยู่ในใจแฟนเพลง ตลอดไป...

ลาก่อน สหายเก่า...สกอร์เปี้ยนส์ ไอ้แมงป่องผยองเดช

*****************************************

บทความแนะนำเพลงน่าสนใจย้อนยุค จะนำเสนอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม

*****************************************
คอนเสิร์ต
วง Andreas Oberg Trio
เต็มอิ่มกับ “เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ” ม.มหิดล

ผ่านพ้นไปอย่างสมราคากับ 3 วันเต็มๆในงาน “Thailand International Jazz Conference 2011” (TIJC2011) หรือ “เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ ประจำปี 2554” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา

กิจกรรมใน TIJC2011 ตลอด 3 วัน แบ่งเป็น 2 ภาคด้วยกัน คือ

ภาคแรกเป็นภาคดนตรีเพื่อการศึกษาสำหรับนักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจ ตั้งแต่ช่วงสายไปถึงเย็น มีให้ความรู้ทางด้านดนตรี การเวิร์คชอป การประกวดดนตรี เป็นต้น

ภาคหลังเป็นการแสดงดนตรีตั้งแต่ช่วงค่ำไปถึงกลางดึก

วันแรก(28) เปิดงานโดย วง Rangsit University Jazz Orchestra,Mauro Monti Sextet,วง ดร.เด่น อยู่ประเสิฐ และไฮไลท์ Andreas Oberg Trio ที่นอกจากฝีมืออันยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถในการเอนเตอร์เทนต์คนดูได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการส่งเสียงร้องเป็นทำนองคู่ไปกับการโซโลกีตาร์ และการเล่นหยอกล้อรับ-ส่งกับมือเบสของวงอย่างสนุกสนาน

วันที่สอง(29) เริ่มด้วยวง Thai Tem วงเยาวชนที่นำเครื่องดนตรีไทย อาทิ เปิงมาง ขลุ่ย ซออู้ ซอด้วง แคน มาเล่นในแนวร่วมสมัยได้อย่างไพเราะสนุกสนาน เป็นที่น่าชื่นชมและน่าส่งเสริมเยาวชนวงนี้ยิ่งนัก จากนั้นเป็นแจ๊ซบ้าพลังจาก วง“หนึ่ง จักรวาล” ต่อด้วย วงแจ๊ซ จาก อาจารย์ ม.ศิลปากร และปิดท้ายด้วยไฮไลท์ “Kurt Rosenwinkel Trio” ที่มาโชว์ลีลาการเล่นกีตาร์ การอิมโพรไวส์ได้อย่างสุดยอด ในหลากหลายอารมณ์ ทั้งรวดเร็ว สนุก อ่อนหวาน พลิ้วไหว มีความละเอียดชัดเจนอยู่ในลูกนิ้วที่พรมลงบนเส้นลวด 6 สาย สมกับตำแหน่งยอดมือกีตาร์แจ๊ซในอันดับต้นๆของโลก ยุคปัจจุบัน

วันสุดท้าย(30) เปิดด้วย “Mahidol University Jazz Orchestra” ต่อด้วย “ETC” วงขวัญใจวัยรุ่นที่มาเล่นทั้งฟิวชั่นแจ๊ซ และเพลงฮิตของตัวเอง เรียกเสียงกรี๊ดจากสาวๆได้เป็นอย่างดี ถัดมาเป็น “The Pomelo Town” วงจาก อาจารย์ ม.มหิดล เจ้าภาพของงานที่มาเพียงเพลงเดียว แต่เพลงยาวเหยียดเกือบ 1 ชั่วโมง มีการแบ่งเป็นมูฟเม้นท์ต่างๆ และปิดท้ายงานกันด้วยวง “Danilo Perez Trio” วงระดับโลกที่ฝีมือนักดนตรีแต่ละคนโคตรเก๋า จัดอยู่ในประเภทเขี้ยวลากดิน พวกขึ้นมาเล่นแจม อิมโพรไวส์ พูดภาษาดนตรีกันอย่างสนุกและชวนทึ่งไปกับฝีมือของแต่ละคน ที่เล่นเป็นทีมเวิร์คอย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะมือกลองนั้นตีมัน สุดยอดมาก นับเป็นวงปิดงานที่เหมาะสมยิ่ง

สำหรับใครที่พลาดงานนี้คงต้องรออีกทีปีหน้า พร้อมกับลุ้นว่าจะมีศิลปินคนใดและศิลปินระดับโลกคนใดมาร่วมงานบ้าง
สิทธิชัย เพ็งเจริญ หัวหน้าวง TPO
คอนเสิร์ต “ The Butterfly Lovers ”

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ในการดูแลของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนชมคอนเสิร์ต “The Butterfly Lovers” พบกับความไพเราะในบทเพลง Violin Concerto “The Butterfly Lovers” จากการประพันธ์ของ He Zhanhao และ Chen Gang ที่นำบทเพลงคอนแชร์โต้มาถ่ายทอดในกลิ่นอายเพลงพื้นบ้านจีน ได้อย่างโรแมนติก จนได้รับการเปรียบให้เป็น “โรมิโอ แอน จูเลียต แห่งเมืองจีน” (China's Romeo and Juliet) บทเพลงนี้ได้รับการบรรเลงไวโอลินจากโซโลอิสท์ นายสิทธิชัย เพ็งเจริญ หัวหน้าวง TPO

นอกจากนี้ ยังมีบทเพลง Enigma Variations op.36 ของ Edvard Elgar คตีกวีชางอังกฤษที่ประพันธ์เพลงนี้ขึ้นมาจากแนวคิด “เพื่อนในมโนภาพ” (my friends pictured within) ที่ขับเคลื่อนแนวคิดต่างๆของเขาที่มีต่อเพื่อนผ่านมูฟเมนต์เสียงเพลงออเคสตรา ของเขา

สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้อำนวยเพลงโดย Gudni A. Emilsson จัดขึ้น ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มี 2 รอบ คือ วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16.00 น. บัตรราคา 500, 300 และ 100 (นักเรียนนักศึกษา) บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, http://www.thailandphil.com
กำลังโหลดความคิดเห็น