xs
xsm
sm
md
lg

“ริทชี่ แบล็คมอร์”-“โรเบิร์ต แพลนต์” 2 ฮาร์ดร็อคตัวพ่อ กับอีกตัวตนบนมรรคาดนตรี/ บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ริทชี่ แบล็คมอร์ ในวัยฉกรรจ์ สมัยที่อยู่กับเรนโบว์
ปี 2010 วงการดนตรีเมืองนอกโดยเฉพาะในอเมริกา ไม่เพียงเป็นปีทองของการฟีเจอร์ริ่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปีทองของศิลปินรุ่นเล็ก นำโดยหนุ่มน้อยหน้ามน“จัสติน บีเบอร์”(Justin Bieber) และสาวน้อยแต่สวยเยอะ“เทย์เลอร์ สวิฟต์”(Taylor Swift) ที่กวาดโกยทั้งชื่อเสียง เงินทอง และรางวัลไปอย่างมากมาย

อย่างไรก็ดีปี 2010 ในอีกมิติหนึ่งของตัวโน้ตและอายุก็ถือเป็นปีทองในการออกอัลบั้มของศิลปินรุ่นใหญ่ขาเก๋าในวงการเพลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงท้ายปีหลัง ที่บรรดารุ่นใหญ่ต่างตบเท้าออกผลงานใหม่มาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อีริค แคลปตัน(Eric Clapton),ซานตาน่า (Santana),ร็อด สจ๊วร์ต(Rod Stewart),นีล ไดมอนด์(Neil Diamond) ฟิล คอลลินส์(Phil Collins),ออสซี่ ออสบอร์น(Ozzy Osbourne),เอลตัน จอห์น(Elton John)กับ ลีออน รัสเซลล์(Leon Rusel) และ ฯ

ศิลปินรุ่นคุณลุงคุณน้าที่ผมเอ่ยนามมา ส่วนใหญ่เป็นการนำเพลงเก่ามาคัฟเวอร์ใหม่ จะมีก็แต่คุณลุงออสซี่หมูบิน กับสองคุณป้าคุณปู่ปู้อีจู้ (ป้า)เอลตัน จอห์น และ (ปู่)ลีออน รัสเซลล์ ที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงใหม่ขึ้นมา โดยศิลปินเหล่านี้ต่างมาในแนวทางที่เราค่อนข้างคุ้นเคยกับผลงานและฝีมือที่พวกเขาเคยฝากชื่อก้องโลกไว้

ต่างไปจาก 2 คุณลุงขาร็อครุ่นใหญ่อย่าง “ริทชี่ แบล็คมอร์”(Ritchie Blackmore) และ“โรเบิร์ต แพลนต์” (Robert Plant)ที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ ซึ่งใครและใครหลายคนมักติดพิคเจอร์เลิฟ ภาพลักษณ์ของทั้งคู่ว่า เมื่อริทชี่ แบล็คมอร์ มือกีตาร์ผู้เกี้ยวกราดสร้างสรรค์ผลงานออกมา มันจะต้องเต็มไปด้วยเสียงกีตาร์เฮฟวี่อันดุดัน โซโลรวดเร็วน้ำไหลไฟไหม้ ชนิดที่พนักงานดับเพลิงมาดับให้ไม่ทัน หรือเมื่อยอดนักร้องโรเบิร์ต แพลนต์ออกอัลบั้มมันจะต้องแหกปากเฮฟวี่กันอย่างสะเด็ดสะแด่วให้ขี้หูสะท้านเส้นเสียงสะเทือน

แต่ประทานโทษ!!! กับผลงานเพลงในช่วงหลังและ 2 ผลงานอัลบั้มใหม่ของคุณลุงแก้วตาขา(ฮาร์ด)ร็อคทั้งสองคนหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะหลังจากที่ทั้งคู่ต่างค้นพบมรรคาใหม่ในเส้นทางดนตรีของตัวเอง พวกเขาก็หันมาสร้างสรรค์งานเพลงในแบบเฉพาะของตัวเอง ฉีกแนวออกไปจากสไตล์ดนตรีร็อคหนักๆที่เคยสร้างชื่อให้กับเขาในช่วงวัยหนุ่ม แบบหน้ามือเป็นหน้าแข้ง ยังไงยังงั้น
ริทชี่ แบล็คมอร์ กับ แคนดีช ไนท์(ปัจจุบัน)
Blackmore ‘s Night : Autumn Sky

“แบล็คมอร์ ไนท์” (Blackmore ‘s Night) ชื่อนี้อาจไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูแฟนเพลงชาวไทยเท่าไหร่ ผิดกับชื่อ“ริทชี่ แบล็คมอร์” ที่แฟนเพลงต่างรู้จักกันดี

แบล็คมอร์ ไนท์ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวตนของ ริทชี่ แบล็คมอร์ อดีตมือกีตาร์เฮฟวี่ ฮาร์ดร็อค ผู้เยี่ยมยุทธ์แห่งวง“ดีพ เพอร์เพิล” และ“เรนโบว์” ซึ่งหลังจากเขาได้พบกับ“แคนดีช ไนท์”(Candice Night) สาวสวยเสียงหวานทรงเสน่ห์เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว

แบล็คมอร์ไม่เพียงก่อร้างสร้างรักกับ(อดีต)นางแบบสาวรุ่นราวคราวลูกคนนี้เท่านั้น หากแต่หลังจากที่แบล็คมอร์อำลาเรนโบว์ พวกเขายังร่วมกันก่อร่างสร้างวงดนตรี “แบล็คมอร์ ไนท์”ขึ้นมา ในแนวทางดนตรีที่ฉีกไปจากร็อคหนักๆในสไตล์ ดีพ เพอร์เพิล และเรนโบว์อย่างสิ้นเชิง หากแต่กลายมาเป็นดนตรีแทรดิชั่น ดนตรีโฟล์คแบบยุโรป(หนักไปทางไอริช สก็อตแลนด์) และดนตรีในยุคเรเนอซองส์ที่ทั้งคู่ชื่นชอบเป็นพื้นฐาน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ “แบล็คมอร์ ไนท์” จะมีผลงานอัลบั้มออกมามากถึง 10 ชุดแล้ว
Blackmore ‘s Night อัลบั้ม Autumn Sky
สำหรับผลงานล่าสุดชุด “Autumn Sky” มีทั้งเพลงเก่าของคนอื่น เพลงใหม่ที่สองสามีภรรยาคู่นี้ร่วมกันแต่งขึ้น และเพลงแทรดิชั่นที่นำมาทำใหม่ รวมทั้งหมดมากถึง 15 เพลง แต่เมื่อฟังยาวรวดเดียวจบทั้งหมด ผมกลับไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อแต่อย่างใด หากแต่มันกลับกระตุ้นให้อยากฟังซ้ำเพื่อซึมซับในรายละเอียดมากขึ้น

เพราะนี่คือหนึ่งในผลงานเพลงอันละเมียดละไมทั้งท่วงทำนอง การเรียบเรียง เสียงร้อง และภาคดนตรีที่นอกจากเครื่องดนตรีหลักๆแล้ว ยังมีตัวเสริมอย่างเครื่องเคาะและเครื่องเป่าพื้นบ้านมาคอยเติมเสริมสีสันในอีกหลายๆบทเพลงน่าฟังมากขึ้น ซึ่งเครดิตในงานเพลงชุดนี้นอกจากคู่สามี-ภรรยา แบล็คมอร์ & ไนท์ และทีมนักดนตรีฝีมือดีแล้ว อีกคนหนึ่งที่ต้องให้เครดิตยกนิ้วโป้ง 2 มือให้เต็มๆก็คือ Pat Regen จาก R.E.M. ที่มาร่วมด้วยช่วยกันผลิตผลงานเพลงชุดนี้ออกมา

โดยบทเพลงชวนฟังในอัลบั้มนี้ เริ่มกันตั้งแต่เพลงเปิดหัว “Highland” ที่นำด้วยเสียงกลองพื้นบ้าน และดนตรีในเมโลดี้พื้นเมือง ก่อนส่งเข้าสู่ตัวเพลงที่เสียงเพราะๆหวานสวยของไนท์กับไลน์เครื่องสายอันหนาแน่น

ส่วนบทเพลงที่ฟังแล้วอิ่มเอิบไปด้วยสรรพเสียงดนตรีโฟล์คแบบยุโรปในแถบไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์ก็มี “Sake of the Song” “Song and Dance, Pt. 2” “Darkness” และ “Dance of the Darkness”

ด้าน “Journeyman (Vandraren)”และ “Keeper of the Flame” นอกจากเป็นการผสมซาวน์แบบพื้นเมืองกับดนตรีร็อคเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างไม่เคอะเขินแล้ว ใน 2 เพลงนี้เรายังได้ฟังฝีมือโซโลกีตาร์ไฟฟ้าอันยอดเยี่ยม ที่แม้จะไม่มีลูกริฟฟ์ติดหูเหมือนใน “Smoke on The Water” หรือไม่มีลูกพยางค์เร็วบรื๋อเหมือน “Highway Star” แต่ลีลา ท่วงทำนอง และสำเนียงที่แบล็คมอร์ถ่ายทอดออกมามันช่างสวยงามและเก๋าโคตร ชนิดปลาเก๋าเรียกพี่เลยทีเดียว

นอกจากลูกโซโลกีตาร์ไฟฟ้าเจ๋งๆแล้ว ยี่ห้อริทชี่ แบล็คมอร์ ยังมีทางอะคูสติกกีตาร์หวานๆสวยๆ ผสมผสานไปกับดนตรีแทรดิชั่นให้ฟังกันใน “Vagabond (Make a Princess of Me)” “Believe in Me” และ“Night at Eggersberg”

ในขณะที่บทเพลงที่ถือเป็นดังไฮไลท์ของอัลบั้มนี้ ผมยกให้กับ “Celluloid Heroes” บทเพลงเก่าของวง The Kinks วงร็อคจากอังกฤษในยุค 60’s ที่แบล็คมอร์ ไนท์ นำมาคัฟเวอร์ใหม่ในสไตล์บัลลาดหวานซึ้ง ฟังไพเราะไปด้วยเสียงร้องอันทรงเสน่ห์ สวยหวานของไนท์ที่ร้องถ่ายทอดออกมาได้อย่างกินใจ สอดรับกับภาคดนตรีละเมียดละไม มีเสียงเครื่องสายบางๆเล่นคลออุ้มเพลงอยู่ตลอด ท่อนกลางเพลงแบล็คมอร์โซโลอะคูสติกกีตาร์สั้นๆง่ายๆ แต่หวานเพราะจับใจ เรียกว่าทางกีตาร์ของพี่แกดีเป็นบ้าเลย

อย่างไรก็ดี แบล็คมอร์ ไนท์ แม้จะเป็นอีกหนึ่งตัวตนของริทชี่ แบล็คมอร์ แต่ว่าก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะงานนี้ถ้าขาดส่วนสำคัญอย่างไนท์ผู้เป็นภรรยาแล้ว งานเพลงที่ออกมาคงไม่น่าฟังขนาดนี้

ในชุดนี้ไนท์ทั้งร่วมแต่งเพลง ร่วมเล่นดนตรี และที่สำคัญคือการทำหน้าที่นักร้องนำของไนท์นั้น เธอสามารถถ่ายทอดเสียงร้องอันสวยหวานทรงเสน่ห์ออกมาได้กลมกลืนเข้ากันกับดนตรีแนวนี้ได้เป็นอย่างดี

ยามอารมณ์เพลงสนุก น้ำเสียงของเธอก็ช่วยสร้างความสนุกให้กับบทเพลงนั้นๆมากขึ้น

ยามอารมณ์เพลงเศร้า น้ำเสียงของเธอฟังโศกเศร้าโหยหา

ยามอารมณ์เพลงหวานซึ้ง น้ำเสียงของเธอหวานลอยชวนให้เคลิ้มฝัน

แต่ถึงอย่างไรบทบาทในเพลงยังไม่สำคัญเท่ากับบทบาทนอกเพลงที่เธอสามารถสยบ ริทชี่ แบล็คมอร์ มือกีตาร์สุดซ่าเจ้าอารมณ์คนนี้ให้อยู่ในโอวาทได้ และต่างร่วมกันสร้างวงแบล็คมอร์ ไนท์ขึ้นมา ซึ่งแม้อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จทางยอดขายเท่าที่ควร แต่ว่าในเรื่องสีสัน เสน่ห์ ความน่าฟัง และไอเดียการสร้างสรรค์ การผสมผสานระหว่างสรรพเสียงร่วมสมัยกับซาวดน์พื้นเมืองแล้ว แบล็คมอร์ ไนท์เป็นวงดนตรีที่มีให้ฟังกันเพียบเลยทีเดียว
เลด เซพเพลิน ในยุครุ่งเรือง นำโดยโรเบิร์ต แพลนต์(ซ้าย)และ จิมมี เพจ(ขวา)
โรเบิร์ต แพลนต์ : Band Of Joy

แม้นักฟังเพลงจำนวนมากต่างอยากเห็น 3 ผู้อาวุโส จิมมี เพจ(Jimmy Page) : กีตาร์,โรเบิร์ต แพลนต์(Robert Plant) : ร้องนำ และ จอห์น พอล โจนส์(John Paul Jones) : เบส คีย์บอร์ด กลับมารวมตัวกัน ปฏิสนธิ(อดีต)วงฮาร์ดร็อคกระเดื่องโลกนาม“เลด เซพเพลิน”(Led Zeppelin)ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่า(อดีต)นักร้องนำวงเรือเหาะมหัศจรรย์อย่าง โรเบิร์ต แพลนต์ ดูยังคงไม่มีทีท่าสนใจ แถมยังได้ออกตัวมาแรงๆและดังๆว่า พักหลังมานี่ รสนิยมเขาเปลี่ยนไป

อ๊ะ อ๊ะ โปรดอย่าคิดมาก รสนิยมของแพลนต์ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่รสนิยมทางด้านพันธุ์ไม้หรือรสนิยมในการกินข้าวเหนียว หากแต่เป็นรสนิยมทางดนตรีที่เปลี่ยนไปต่างหาก โดยแพลนต์บอกว่า ณ วันนี้ไม่ได้ทุ่มเทใจให้ดนตรีฮาร์ดร็อคเฮฟวี่เมทัลเหมือนแต่ก่อนแล้ว หากแต่หันมาทำดนตรีในรูปแบบของเขาที่สลัดดีกรีความหนักหน่วงของเพลงเฮฟวี่ ฮาร์ดร็อคทิ้ง หันมาเน้นในความเป็นโฟล์ค คันทรี แทรดิชั่น และซาวด์ที่ฟังแปลกๆผสานไปกับความสุขุมลุ่มลึกมากขึ้น

โดยหลังจากร่วมงานกับ“อลิสัน เคราส์”(Alison Krauss) สร้างผลงานสุดเจ๋ง “Raising Sand” จนประสบความสำเร็จอย่างสูงเยี่ยมคว้าทั้งเงิน กล่อง และ 5 รางวัลแกรมมี่ในปี 2009 มาครอง แพลนต์ที่ดูจะติดลมกับการทำเพลงในแนวนี้ ก็ได้ส่งอัลบั้มล่าสุด“Band Of Joy”ออกมา เป็นดังการตอกย้ำให้เห็นถึงรสนิยมใหม่ทางดนตรีของเขา
โรเบิร์ต แพลนต์ ในยุคปัจจุบัน
Band Of Joy เป็นการโปรดิวซ์ร่วมกันระหว่างแพลนต์กับ บั้ดดี้ มิลเลอร์(Buddy Miller) นักร้อง นักแต่งเพลง และมือกีตาร์ที่นอกจากจะมาร่วมโปรดิวซ์แล้ว มิลเลอร์ยังมาช่วยเรียบเรียงเพลงและเล่นกีตาร์ในอัลบั้มชุดนี้อีกด้วย

Band Of Joy มีทั้งหมด 12 เพลงด้วยกัน เกือบทั้งหมดเป็นเพลงเก่าของคนอื่น มีเพียง “Central Two-O-Nine” ที่แพลนต์กับมิลเลอร์ร่วมกันแต่ง ในอารมณ์เพลงโฟล์คที่หนาแน่นไปด้วยเสียงตีคอร์ดเท่ๆของกีตาร์โปร่งตลอดเพลง

ในขณะที่เพลงอื่นๆในอัลบั้มนี้ที่ชวนฟังก็มี

กลุ่มเพลงโฟล์ค นำโดย “Angel Dance” เพลงเปิดอัลบั้มกับท่วงทำนองแปลกๆ มีแบนโจเล่นสรรพสำเนียงดนตรีพื้นบ้านเล่นเป็นทำนองแถวสามคลอไปตลอดเพลง “House of Cards” โฟล์คร็อคโชว์ประสานเสียงอย่างเพราะพริ้ง ท่อนกลางกีตาร์โซโลง่ายๆแต่ได้อารมณ์ไม่น้อย “Satan Your Kingdom Must Come Down”และ“Cindy, I'll Marry You Someday” 2 บทเพลงโฟล์คช้าๆสุดเก๋าด้วยเสียงกีตาร์กับแบนโจที่เล่นสอดรับส่งกันไปตลอด

กลุ่มเพลงคันทรีมี “The Only Sound That Matters” บัลลาดซึ้งๆอวลไปด้วยพีดัลสตีลอันหวานจับใจ “Harm's Swift Way” ในจังหวะกระชับสนุกๆ ชวนให้นึกถึงคาวบอย ม้าตัวพ่วงพี และท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ “Falling in Love Again” เป็นคันทรี-โซลย้อนยุคที่หวานหยดย้อยไปเสียงพีดัลสตีลอีกแล้วครับท่าน

ส่วนเพลงอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะออกไปก็เช่น “Silver Rider” เป็นบัลลาดหวานพลิ้วในช่วงแรกก่อนไปล่องลอยแบบไซคีเดลิคในช่วงท้าย “You Can't Buy My Love” เป็นร็อค แอนด์โรลล์สนุกๆชวนให้ขยับแข้งขยับขา
ปกอัลบั้ม Band Of Joy
สำหรับบทเพลงทั้งหมดใน Band Of Joy ยังคงแสดงให้เห็นว่าน้ำเสียงของแพลนต์ยังเปี่ยมไปด้วยพลัง เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ร้องเพลงแบบบ้าพลังและโชว์ทักษะอันเป็นเอกอุด้านการร้องเพลงเหมือนหนุ่มๆ หากแต่เปลี่ยนมาเป็นการเพลงมุ่งเน้นในอารมณ์ เน้นในความกลมกลืนของเสียงร้องกับภาคดนตรี ที่หลายๆเพลงในชุดนี้บอกได้คำเดียวว่า คุณลุงแพลนต์แกเก๋าโคตร

อย่างไรก็ตามการที่คุณลุงแพลนต์แกมุ่งมั่นกับการทำเพลงในลักษณะนี้จนเพลินตัว มันทำให้แฟนเพลงของวงเรือเหาะมหัศจรรย์“เลด เซพเพลิน”คงต้องรอคอยและรอค้างกันต่อไป

และไหนๆก็ไหนๆแล้ว เมื่อคุณลุงแพลนต์ยังติดลมบนกับดนตรีในแนวนี้อยู่ ผมเลยขอเสนอว่าให้คุณลุง โรเบิร์ต แพลนต์จับมือกับคุณลุง ริทชี่ แบล็คมอร์ สร้างสรรค์ผลงานเพลงในแนวโฟล์ค แทรดิชั่น ให้มันรู้แล้วรู้แรดไปซะเลย

ไม่แน่นะหากฝันของผม(เกิด)เป็นจริง ทั้งคู่สามารถมาร่วมมือกันได้ บางโลกนี้อาจจะเกิดตำนานเพลงบทใหม่ขึ้นมาก็ได้ ใครเล่าจะไปรู้?

*****************************************
แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : Crossroads : Guitar Festival 2010
สังกัด : Warner Music

Crossroads : Guitar Festival 2010 2010 เป็นดีวีดีคู่ บันทึกการแสดงคอนเสิร์ตจากค่าย Warner Music ความยาวร่วม 4 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งอีริค แคลปตัน(Eric Clapton) หนึ่งในสุดยอดมือกีตาร์ระดับตำนาน ที่จะมาเปิดคอนเสิร์ตที่เมืองไทยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้ชักชวนผองเพื่อนในวงการเพลง มาร่วมแสดงคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อหารายได้ให้กับศูนย์ช่วยเหลือบำบัดอาการผู้ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ Crossroads ซึ่งอีริค เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา โดยรายได้รายได้จากการขายดีวีดีชุดนี้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว อีริค จะนำไปทำบุญมอบให้กับศูนย์ Crossroads อีกต่อหนึ่ง

คอนเสิร์ตครั้งนี้นำโดยอีริคโต้โผใหญ่ของงาน ร่วมด้วยคิงออฟบลูส์ B.B.King,Jeff Beck,Steve Winwood,John Mayer, Sheryl Crow,Earl Klugh และ ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนต่างก็ขึ้นมาร่วมเล่นกีตาร์ ร่วมร้องเพลงกันอยากสนุกสนาน โดยผู้ที่ซื้อดีวีดีในช่วงนี้ ยังมีโอกาสร่วมลุ้นชิงบัตรคอนเสิร์ต Eric Clapton Live in Bangkok ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี อีกต่างหาก

****************************************
ข่าวดนตรี
Andreas Oberg
เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ

ม.มหิดล ศาลายา ชวนคอเพลงแจ๊ซและนักฟังเพลง ร่วมเร่าร้อน อ่อนหวาน ในเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ ในวันที่ 28-30 ม.ค. 54 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เรียนรู้แจ๊ซ เพื่อสังคมแห่งความสุข” โดยมีลักษณะของการจัดงานที่ประกอบไปด้วย การแสดงดนตรีแจ๊ซ รวมกับจัดกิจกรรมการให้การศึกษาด้านดนตรีแจ๊ซ

ในงานมีนักดนตรีแจ๊ซระดับโลกอย่าง Danilo Perez, Kurt Rosenwinkel, Andreas Oberg มาเป็นตัวชูโรง ร่วมด้วยศิลปินแจ๊ซตัวพ่อของไทย อาทิ โก้-มิสเตอร์แซ็กแมน, ดร.เด่น อยู่ประเสิฐ, หนึ่ง จักรวาล, ETC, วง Pomelo Town ฯลฯ

ทั้งนี้โครงการ TIJC 2011 จัดจำหน่ายบัตรราคา 2,000 บาท (แพ็คเกจ 3 วัน)500 บาท (สำหรับเข้างาน workshop / วัน) 500 บาท (สำหรับเข้างาน evening concert / วัน) นักเรียน นิสิต นักศึกษา ลด 20% ซึ่งผู้สนใจสำรองที่นั่งได้ที่โทร 0-2800-2525 ต่อ 153,154 หรือเคาเตอร์ Thai Ticket Major www.thaiticketmajor.com โทร 0-2262-3456 และสามารถสอบถามรายละเอียดงานในแต่ละวันและรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2800-2525 ต่อ 154, 155 หรือดูที่ www.tijc.net หรือ http://www.music.mahidol.ac.th/tijc/
กำลังโหลดความคิดเห็น