เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา
เบื้องหลังคือตัณหาและมายาแห่งนาฏกรรม...
...
หลังการออกฉายของ “โหมโรง” ในปีนับจากนั้นมาดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีหนังไทยเรื่องไหนอีกเลยที่จะหยิบหรือจับเอา “นาฏศิลป์-ดนตรีไทย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ
กระทั่งการมาถึงของ “คนโขน”
ทันทีที่หลายคนได้มีโอกาสเห็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวตลอดจนการประชาสัมพันธ์ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งในส่วนที่เป็นภาพนิ่ง และภาพยนตร์ตัวอย่าง ก็เริ่มมีกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมามากมายทันที โดยส่วนใหญ่นั้นเป็นไปในเชิงบวก ขณะที่บางส่วนก็มองด้วยความหวังว่าหนังเรื่องนี้อาจจะทำให้คนไทยได้รู้สึกถึงคุณค่าในความเป็นไทยอีกครั้งหลังจากที่โหมโรงเคยทำมาแล้ว
“หนึ่งคือเราสงสัยมากว่า จู่ๆ ทำไมวัฒนธรรมไทยมันเริ่มหายไป ทำไมไปคลั่งเกาหลี คลั่งฝรั่งกันมาก ก็เลยอยากจะทำหนังที่มันจะช่วยให้ดึงสิ่งเหล่านั้นกลับมาได้ คือมันอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นสิ่งเหล่านี้ได้ เลยคิดน่าจะทำเรื่องราวที่มันสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมไทย” ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง บอกเล่าถึงโจทย์แรกในการทำงานจนกลายเป็นที่มาของ “คนโขน” ผลงานการกำกับชิ้นที่ 2 ของเขา
“ซึ่งเราก็ต้องแยกตามความถนัดของเราออกมาด้วยว่าจะทำในแง่ไหน ก็คิดว่าเราต้องไม่พูดเป็นเชิงสารคดี ต้องไม่ใช่ว่าสอนอย่างงี้ๆ ก็ได้เส้นร่างคร่าวๆ หมายความว่าเราทำหนังที่มันครบรสชาติ ทำหนังไทยให้คนไทยดูละกัน ทำหนังชีวิตที่มันมีรัก โลภ โกรธ หลง ตามแบบฉบับของนวนิยายไทย พอมันออกมาแบบนี้แล้ว เด็กจะดูหรือผู้ใหญ่จะดู หรือวัยรุ่นจะดู ก็ดูได้ทั้งนั้น เพราะมันเป็นกลางๆ แล้วเป็นหนังไทยจริงๆ”
“พอได้ไอเดียนี้ก็เลยมีความคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ โดยเอาศิลปวัฒนธรรมที่เราจะใส่เข้าไปเนี่ยเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ พอพูดถึงศิลปวัฒนธรรมในความเป็นไทยอะไรที่ควรจะถูกหยิบมาพูดในหนัง ก็มีการแตกความคิดกันเยอะมาก และโขนก็เป็นความตั้งใจของพี่เองนานมากแล้ว เพราะมันมีความสวยงามที่น่าหยิบมาทำภาพยนตร์ได้”
ผู้กำกับที่ควบตำแหน่งเขียนบทด้วยเผยว่า หนังเรื่องนี้ตนและทีมงานใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลนานกว่า 2 ปี ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้งเพื่อให้ภาพที่ออกมานั้นมีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยมีคนโขนตัวจริงอย่าง “ครูมืด ประสาท ทองอร่าม” ศิษย์เอกของ อ.เสรี หวังในธรรม เป็นที่ปรึกษา
“ต้องขอบคุณครูมืดและครูหลายๆ คนมากที่กรุณาให้เราไปสัมภาษณ์ให้เรานั่งคุย ก็เลยเชิญครูมืดแกมาเป็นที่ปรึกษาซะเลย บอกแกว่าถ้ามันมีอะไรผิดพลาดก็โทษครูคนเดียวเลยนะเพราะว่าขึ้นชื่อครูมืดไปแล้ว (หัวเราะ) แกก็บอกเป็นไงเป็นกันเอาให้เต็มที่ ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นโขนครบถ้วนและผ่านการกลั่นกลองจากครูโขนอย่างแท้จริง”
คนโขน...เล่าย้อนกลับไปในปีพุทธศักราช 2508 ถึงเรื่องราวของ "ชาด” เด็กกำพร้าที่ถูกครูโขนฝีมือดีอย่าง “ครูหยด” เลี้ยงดูและฝึกหัดโขนให้ตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่งเติบใหญ่มีฝีไม้ลายมือเก่งกาจ อย่างไรก็ตาม เส้นทางการก้าวเพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักแสดงโขนตามความทะยานอยากในวัยหนุ่มของชาดก็หาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่อย่างใด
เมื่อ “ครูเสก” อดีตเพื่อนรักของครูหยด ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจด้วยปมแค้นฝังลึกได้รับรู้เรื่องการแสดงของคณะครูหยดที่เตรียมจะเปิดตัวชาดในบทพระรามเป็นครั้งแรกในงานแสดงโขนประจำปีครั้งใหญ่ที่วัดอ่างทอง เขาจึงหาวิธีกลั่นแกล้งและนั่นก็เข้าทางหลานชายสายเลือดโขนของครูเสก อย่าง “คม” คู่อริเก่าของชาดที่ต้องการแก้แค้นและเอาคืนชาดอย่างสาสมเช่นกัน
ปัญหาที่เข้ามาหาครูหยดและชาดหาใช่แค่มายาแห่งนาฏกรรมโขนอันเกิดมาจากความอาฆาตแค้นไม่สิ้นสุดของครูเสกและคมเท่านั้น หากยังมีเรื่องของตัณหาราคะจากตัวของ “รำไพ” และมิตรภาพในความเป็นเพื่อนกับ “แรม” และ “ตือ” ที่สั่นคลอน ล้วนถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน...
นอกจากความวิจิตรของการแสดง “โขน” แล้ว สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อก็คือ เรื่องของ “คน” นั่นเอง...“โดยรวมมันเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง มีชะตากรรมเข้ามาเป็นตัวกำหนด คือเรื่องนี้ถ้าถอดเรื่องโขนออกจะชี้ให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่ว่าจะเดินไปทางไหนมันคือเรื่องจิตใจ เรื่องกิเลส ถ้าเราให้กิเลสเป็นตัวนำพา เราตัดสินใจอะไรผิดพลาดไปผลที่ตามมานั้นมันก็จะโยงใยหลายชีวิตเข้าด้วยกัน”
ในส่วนของนักแสดงนั้น นอกจากจะเข้มข้นกับการโคจรมาพบกันของ 2 นักแสดงคุณภาพรุ่นใหญ่ “เอก สรพงษ์ ชาตรี” กับบท “ครูหยด” และ “หนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา” ในบท “ครูเสก” ร่วมด้วย “ต่าย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล” ในบท “ซ่อนกลิ่น” และการพลิกบทบาทการแสดงครั้งสำคัญของ “กบ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร” ในบทของ “รำไพ” แล้ว...
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้นักแสดงรุ่นใหม่เข้ามาร่วมสร้างสีสันอีกหลายคน ทั้ง “อาร์ อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชานาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านงานแสดงโขนมาหลากหลายงานในบทของ “ชาด” พร้อมด้วยรุ่นพี่ร่วมคณะ “ตรี นันทรัตน์ เชาวราฎศร์” ซึ่งกวาดรางวัลจากการประกวดด้านดนตรีและนาฏศิลป์มามากมายมารับบท “แรม”
รวมถึง “นัท ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์” หลานชายพระเอกชื่อดังของกรมศิลป์ “ปกรณ์ พรพิสุทธิ์” ที่มีความสามารถในเชิงโขนไม่แพ้กันรับบท “คม” และ “กอง กองทุน พงษ์พัฒนะ” หนุ่มปริญญาตรี คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีแจ๊ซ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับบทเป็น “ตือ” หนุ่มที่มีความสามารถในการวาดภาพ โดยในส่วนของนักแสดงหน้าใหม่นี้ทางทีมงานต้องใช้เวลาในการคัดเลือกตัวกันร่วม 5 เดือนเลยทีเดียว
“เริ่มจากตัวพระเอก เราก็ได้นักแสดงที่เป็นโขนจริงๆ น้องอาร์ เรียนนาฏศิลป์ที่จุฬาฯ มีพื้นฐานทางนี้ดีพอตัวเลย นางเอกเราแคสหลายคนมากๆ จนไปเห็นรูปน้องตรีในหนังสือแฟชั่น เห็นแล้วก็สวยดี แถมกำลังเรียนนาฏศิลป์ที่จุฬาฯ เหมือนกัน ก็เข้าตาเลย จากนั้นคนอื่นๆ ไม่น่าเชื่อว่าแม้กระทั่งน้องกองตัวเพื่อนในเรื่องก็เคยเรียนโขน คือได้มาจากกลุ่มโขน”
“ส่วนตัวผู้ร้ายคู่ปรับอันนี้มาครั้งแรกก็ได้เลย น้องนัท เป็นหลานของคุณปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พระเอกและครูโขนชื่อดังในกรมศิลป์ และหน้าตาก็ใช่เลยเหมาะกับยุคสมัย...มาถึงนักแสดงรุ่นใหญ่ ซึ่งตามบทมันก็มีบทของครูโขน 2 คนที่เป็นรุ่นใหญ่ ที่มีภูมิหลังที่เขาเป็นเพื่อนเก่ากันมาและมาหักกันในยุคนี้ครูคนหนึ่งก็เป็นครูของพระเอก ครูอีกตัวก็เป็นครูของตัวร้าย เป็นคู่อริกัน”
“ก็ตามสูตรหนังเลย ต้องเป็นคนที่มีบารมีที่จะมาค้ำทั้งหมดของหนัง คือถ้าดูแล้วไม่เชื่อ ตรงนี้ก็จะดูไม่แข็งแรง ในโลกการแสดงเมืองไทยต้องเป็นสองคนนี้เท่านั้น สรพงษ์ ชาตรี และ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ซึ่งดูแล้วมีบารมี มีศักดิ์ศรีค้ำกันได้ ตามมาด้วยอีกสองคนของเรื่องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้กัน คนหนึ่งก็คือแฟนเก่าของครูหยดคือสรพงษ์ เมื่อได้สรพงษ์มา ใครล่ะที่จะใส่ชุดนางรำได้สวยงาม เป็นคนรำแล้วสวยงาม ก็นึกถึงพี่ต่าย เพ็ญพักตร์ คุณต่ายก็ยินดีอยากใส่ชุดสวยงามเหล่านี้...”
“และอีกคนที่เป็นหัวใจของเรื่องก็คือตัวที่เป็นครูสอนรำ ชื่อครูรำไพ เราก็ต้องการใครสักคนที่มีความเหมาะสมกับนางรำในยุคนั้น ต้องมีความเป็นไทย และต้องมีกิเลสตัณหามาจับในชีวิตของเขา ต้องสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ได้ ก็คิดและเลือกอยู่นาน สุดท้ายเราก็ต้องเลือกกบ พิมลรัตน์ ไม่มีเหตุผลใด คือเราวางกบไปแล้วมันพอดี มันตอบทุกอย่างได้ มันไม่ได้โดดเด่นจนข่มนักแสดงคนอื่นทั้งหมด และก็ไม่ได้กลืนหายจากการเป็นนางรำคนหนึ่ง”
อีกหนึ่งที่แสดงถึงความพิถีพิถันของผู้กำกับที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ การที่เจ้าตัวได้เลือกใช้กล้องฟิล์มในการถ่ายทำนั่นเอง...“พี่ยังเป็นคนรุ่นเก่าอยู่มั้ง (หัวเราะ) คือถ้าดูว่าระหว่างฟิล์มกับกล้อง SD ยังไงพี่ก็ชอบฟิล์มมากกว่า จะเห็นความแตกต่างทางอารมณ์ด้วยเนื้อฟิล์ม ทางด้านภาพก็จะสวยและมีเสน่ห์ในตัวของมัน”
“และสิ่งที่ได้มาจากการใช้ฟิล์มถ่าย คือ สมาธิหน้ากองฯ ดีมาก คือถ้าจะถ่ายเป็น SD เป็นวิดีโอ จะถ่ายกี่เทกก็ได้ สมาธิก็น้อย พอเป็นฟิล์มก็ต้องซ้อมนะ พอถ่ายจริงฟิล์มพี่ก็ไม่เปลือง ไม่ถึง 200 ม้วน บางคนอาจจะไม่ชอบที่มันยุ่งยาก แต่พี่ชอบที่มันมีสมาธิดี พี่รู้เลยว่าถ้าไม่ใช่ฟิล์มจะมีการถ่ายเผื่อเยอะมาก ซึ่งตรงนั้นจะทำให้ใช้คิวในการถ่ายเยอะไปอีก พอเป็นฟิล์มก็จะคิดเดี๋ยวเปลืองฟิล์มก็ต้องมีการทำงานบนโต๊ะเยอะ พอถ่ายทุกคนก็จะมีสมาธิที่จะเงียบที่จะฟัง คือถ้ามันยังผลิตฟิล์มอยู่ พี่ก็จะใช้มันไปเรื่อยๆ นะ”
ภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” ดำเนินงานสร้างโดย “นับหนึ่ง นีโอฟิล์ม” โดยมี บ.สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล รับหน้าที่บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย มีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ซึ่งทางผู้กำกับเองได้สรุปภาพรวมความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ทั้งหมดให้ฟังว่า...“ความน่าสนใจรวมๆ ของเรื่องนี้คือวางให้หนังเรื่องนี้มันมีอิสระจากการประทับยี่ห้อทุกอย่าง ทั้งตัวผู้กำกับเองหนังก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองใดๆ อย่างชื่อหนังที่ชื่อคนโขนผมก็ไม่อยากให้เป็นการประทับตราว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังวัฒนธรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากดู”
“ความโดดเด่นของหนังก็จะเป็นเรื่องรสชาติของความเป็นหนังไทย ไม่ได้เข้าใจยาก แต่ก็ไม่ใช่หนังที่สามารถเดาได้ มันจะมีลีลามีปมหลังของตัวละคร สามารถกลมกลืนทำให้เราลุ้นตาม เราเชียร์ตัวละคร สงสาร เห็นใจ เข้าใจชีวิตเขาได้ เพราะฉะนั้นคนดูก็ซึบซับเรื่องราวเหล่านี้ซึ่งเกือบจะเป็นดราม่า เป็นชีวิตน้ำเน่าด้วยซ้ำได้ แล้วแต่ว่าใครจะมองว่าหนังน้ำเน่าเป็นแบบไหน”
“ในมุมคนที่ชอบโขน ชอบศิลปะ แน่นอนมีครบถ้วน เพราะฉะนั้นอย่างน้อยคน 2 กลุ่มนี้สามารถดูได้ ในมุมของวัยรุ่นทั่วไป ถ้าชอบดูหนังคุณไม่ต้องรู้ก่อนเลยว่า คนโขนเป็นอะไร ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบศิลปะความเป็นภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้มีให้ดูครบถ้วน จะครบ 100% หรือไม่ต้องให้ท่านผู้ชมตัดสินใจเอง แต่ในฐานะของคนทำภาพยนตร์ เราได้ทำเต็มที่กับปัจจัยต้นทุนในการทำภาพยนตร์อย่างเต็มร้อยเท่าที่เรามีแล้ว”
...
หมายเหตุ : คลิกชมภาพยนตร์ตัวอย่าง “คนโขน” ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=jZ2sGnmvEQk