“สุวัตร” ตอบโจทย์ กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของไทยมีปัญหา เพราะตำรวจทุกยุคทุกสมัยรับใช้นักการเมือง ยกคดีพันธมิตรฯถูกกล่าวหาก่อการร้ายปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ถูกเล่นงานกระทั่งนักร้อง นักดนตรี กระทั่งคนถือฝาหม้อ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “นายสุวัตร อภัยภักดิ์” ให้สัมภาษณ์
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทางไทยพีบีเอส ถึงกระบวนการยุติธรรมระบุว่า ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็จะมีการตั้งผู้บัญชาการตำรวจของตนเอง ซึ่งตามกระบวนการตำรวจเป็นผู้ทำคดี หาข้อมูลต่างๆ ก่อนจะส่งอัยการ แล้วก็ไปที่ศาล ถ้าหากการดำเนินคดีเริ่มต้นที่ต้นทางไม่ให้ความเป็นธรรม พอไปถึงอัยการ ถึงศาล ก็ไม่มีทางแก้แล้ว
ถ้าดูการบังคับใช้กฏหมายของเรา เช่น ถ้าขับรถเบนซ์ฝ่าไฟแดง ตำรวจจะทำเป็นมองไม่เห็น แต่ถ้าขับรถกระบะ ขับรถมอเตอร์ไซค์ ตำรวจจะจับทันที ประเทศเราการบังคัใช้กฎหมายแย่ที่สุด เรามีตำรวจอยู่ทุกสี่แยก แต่พอเกิดเหตุไม่เห็นมีตำรวจมา แต่ในต่างประเทศไม่มีตำรวจทุกสี่แยก แต่พอเกิดเหตุตำรวจเขามาทันที
นายสุวัตรกล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมเมื่อตำรวจสนับสนุนนักการเมือง ในยุคนั้นที่มีนายกฯ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัคร นายสมชาย ตำรวจก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ เมื่อรัฐบาลสั่งผู้บัญชาการตำรวจ ก็ถูกบีบให้ดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว อย่างคดีของพันธมิตรฯ เราถูกคดีผู้ก่อการร้ายที่สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ ตอนแรกก็ตั้งตำรวจขึ้นมาชุดหนึ่ง มี พล.ต.ท. วุฒิ พัวเวส เขามาดูก็บอกว่าไม่เห็นมีผู้ก่อการร้ายเลย เขาก็ถูกเปลี่ยนตัวมาเป็น พ.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จากผู้ถูกดำเนินคดี 36 คน ก็เพิ่มมาเป็น 114 คน ซึ่งบนเวทีมีทั้งแกนนำ นักวิชาการ พิธีกร นักร้อง นักแสดง มีคนถือฝาหม้อด้วย ทุกคนถูกตำรวจดำเนินคดีทั้งหมด ทั้งๆ ที่บางคนเขาไม่ควรถูกดำเนินคดี อย่างนักร้อง นักดนตรี เช่น น.ส.ศิริลักษณ์ (จอย) ผ่องโชค หรือตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ขึ้นไปร้องเพลงก็ถูกดำเนินคดีหมด ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าแค่เริ่มคิดก็ผิดแล้ว
ส่วนกรณีที่พันธมิตรฯ ไปที่ทำเนียบ ที่รัฐสภา ตอนนั้นรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะแถลงนโยบาย วันที่ 7 ต.ค. ที่พันธมิตรฯ ไปที่รัฐสภา แล้วก็ถูกตำรวจยิงตายไปจำนวนมาก มีการตั้งข้อหา 9 แกนนำว่าเป็นกบฏ มีการออกหมายจับ แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่าตำรวจตั้งข้อหาเลื่อนลอย ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ถ้าเขาหมายมั่นปั้นมือจะเอาใคร เขาทำได้ทุกเรื่อง เมื่อตำรวจเป็นต้นทาง แล้วไม่ให้ความยุติธรรม ประชาชนจะหาความยุติธรรมได้จากที่ไหน นี่คือความเดือดร้อนจากการบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาคกัน เพราะตำรวจเป็นตำรวจของนักการเมือง ไม่ว่าในยุคใดสมัยใด ดังนั้นความยุติธรรมประชาชนต้องไขว่คว้าหามาเอง
นายอานนท์ นำภา ทนายความของคนเสื้อแดง กล่าวว่า เมื่อมีการทำรัฐประหารในปี 2549 ทำให้เกิดมีมวลชนคนเสื้อแดงขึ้นมา แต่คนเสื้อแดงเหมือนพลเมืองชั้นสอง มีสองมาตรฐาน คดีของพันธมิตรไม่มีใครติดคุก แต่คดีของคนเสื้อแดงตอนนี้ติดคุกอยู่ 135 คน ยังไม่ได้รับการประกันตัว ตอนที่ทหารสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์เขาเรียกคนเสื้อแดงว่าเชื้อโรค ชนชั้นนำมองคนเสื้อแดงมีคุณค่าต่ำ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทหารจะฆ่าคนกลางเมืองหลวง ส่วนในระบบยุติธรรมก็มีปัญหา ตอนนี้ยังมีคนเสื้อแดงหลบหนีคดีอยู่อีกหลายคน ส่วนเรื่องการขอประกันตัว เราก็มีเงิน มีการลงขันกันไปประกันตัวแต่ไม่ได้รับการประกันตัว เพราะเขามองว่าเสื้อแดงมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง ซึ่งตนเชื่อว่าเรื่องสองมาตรฐานเป็นเรื่องจริง เช่น การจับคนที่ไม่ผิดไปขัง อย่างคดีเผาศาลากลาง คนเผาตัวจริงหนีไปถึงไหนแล้ว แต่คนที่ยังอยู่แถวนั้นแล้วถูกบันทึกภาพไว้ได้ ตำรวจตามไปจับตัวถึงบ้านเลย
สำหรับความแตกต่างระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง นายสุวัตรกล่าวว่า พันธมิตรฯ ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และสิ่งที่เรียกร้อง คือผลประโยชน์ของประชาชน เราไม่เคยเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา แต่เสื้อแดงทำเพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา สำหรับเรื่องที่ถูกดำเนินคดี ตนจะใช้วิธีว่าถ้ามีหมายเรียกส่งมา เราจะรีบไปรายงานตัวทันที จะไม่มีการหลบหนี อย่าง พล.ต.จำลองถูกจับ นายไชยวัฒน์ถูกจับ เราไม่ได้ขอประกันตัวเลย แต่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ จนถึงขั้นตอนของศาลอุทธรณ์ก็บอกว่าเราเสื้อเหลืองไม่มีหนีเลย อย่างคดีเอ็นบีที คดียึดรถเมล์ เราก็ไปรายงานตัว เขาก็ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีการประกันตัว ออกหมายเรียกมาเราก็ไปรายงานตัว ไปตามกำหนดทุกครั้ง ซึ่งศาลก็พิจารณาว่าเราไม่ได้หลบหนี ศาลก็มักจะให้ประกันตัว
นายอานนท์กล่าวว่า กรณีของคนเสื้อแดงไม่ได้มีการออกหมายเรียกมาก่อน มีแต่ออกหมายจับแล้วก็จับตัวเลย ส่วนที่ว่าเสื้อแดงต้องการเรียกร้อง พ.ต.ท.ทักษิณกลับมานั้น ในปี 53 ธงนำของเสื้อแดงคือเราเรียกร้องให้ยุบสภา ปี 52 เราสู้เรื่องอำมาตย์ เราอยากให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ไม่ได้อยากให้เสื้อเหลืองมาติดคุกเหมืนกัน แต่อยากให้เสื้อแดงได้รับการประกันตัวเหมือนกัน อย่างคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของดา ตอร์ปิโด
นายสุวัตรกล่าวว่า คดีของดา ตอร์ปิโด นั้นเขามีเจตนาหมิ่นฯ แต่นายสนธิเอามาพูดเพื่อจี้ให้ตำรวจ ทหารได้รู้ว่าดาพูด ให้ดำเนินคดี ซึ่งมีเจตนาไม่เหมือนกัน พอหลังจากนายสนธิพูด รุ่งเช้าอีกวัน ผบ.ทบ.ก็ให้คนไปแจ้งความ แล้วดา ตอร์ปิโดก็ติดคุกไป หลังจากนั้นตำรวจก็มาตั้งข้อหานายสนธิว่ามีความผิด ซึ่งคดีนี้เจตนามันผิดกัน นายสนธิเป็นการรวบรวมเอาหลักฐาน แผ่นซีดีไปให้ตำรวจ
สำหรับคดีนายจตุพร ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ก่อการร้าย เผาราชประสงค์ แต่ใช้เอกสิทธิ์การเป็น ส.ส. ส่วนแกนนำคนอื่นๆ ได้ประกันตัวออกมา โดยศาลบอกว่าอย่าไปขึ้นเวที อย่าไปพูดยุยงส่งเสริม จะถูกถอนประกันได้ เมื่อนายจตุพรไปขึ้นเวที ทางอัยการก็ขอถอนประกัน ซึ่งศาลตัดสินว่าร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าการดำเนินคดีต้องให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยสิทธิการประกันตัวจะต้องได้รับการพิจารณาโดยเร็ว ที่ผ่านมาเวลาสู้คดีตนจะใช้หลักของกฎหมายหลายๆ ฉบับประกอบกัน เช่นใช้หลักกฎหมายปกครอง และกฎหมายอื่นๆ อย่างกรณีของ พล.อ.ปฐมพงษ์ ซึ่งเป็นทหาร แต่ถูกคดีก่อการร้าย ตนก็ต่อสู้จนศาลยกคดีก่อการร้ายไป เป็นต้น