xs
xsm
sm
md
lg

สุนทรพจน์บันลือโลกบนเวทีรางวัล : เมื่อเกียรติยศในมือหาใช่สาระสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงเวลาแห่ง "สุนทรพจน์หลังได้รับรางวัล" ในวงการบันเทิง ควรจะเป็นช่วงเวลาแห่งความปิติยินดี, ความชื่นมื่น หรือความสำเร็จส่วนตัวของคนดัง ... แต่ยังมีคนดังอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยอมใช้ช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ส่วนตัว เพื่อประกาศจุดยืนบางอย่าง ชนิดที่ว่าไม่แกรงกลัว ว่ามันจะมีผลกระทบอย่างไรตามมาเลย

" ... เราอยู่ในยุคสมัยที่สมัยที่ผลการเลือกตั้งถูกบิดเบือน จนเลือกประธานาธิบดีจอมบิดเบือนเข้ามา เราอยู่ในยุคสมัยที่ส่งคนไปตายในสงครามที่เกิดขึ้นจากความบิดเบือน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เราต่อต้านสงครามครั้งนี้ คุณบุช คุณมันน่าละอาย น่าละอายจริง ๆ …"

นั่นคือส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ หลังได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมเมื่อปี 2003 ของ ไมเคิล มัวร์ จากผลงานเรื่อง Bowling for Columbine กลายเป็นสิ่งที่หลายคนยังจดจำได้ เมื่อยอดผู้กำกับสารคดีเมืองลุงแซม เลือกใช้ช่วงเวลาแห่งเกียรติยศส่วนตัว เพื่อประกาศจุดยืนทางการเมืองแทน

ในขณะนั้นเรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย ว่าสิ่งที่มัวร์ทำเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ บางก็คิดว่าเขาฉวยโอกาสใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่สำหรับมุมมองของมัวร์นี่คือส่วนหนึ่งของการแสดงออกความเป็นตัวเอง

มีรายงานว่าในวันนั้นมีทั้งเสียงปรบมือกึกก้องให้กับมัวร์ และเสียงโห่จากใครบางคน ... "มีข่าวว่ามีคนเห็นแตกต่างกันเป็นสองทาง เพราะมีคนในฮอลโห่ขึ้นมาซัก 5 คนเท่านั้นเองมั้ง" มัวร์ แสดงความมั่นใจว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด และคนส่วนใหญ่ในวันนั้นก็เห็นด้วยกับเขาในประเด็นนี้

"พวกเราส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยค่านิยมแบบจูเดโอ-คริสเตียน ที่กล่าวไว้ว่าคุณไม่มีสิทธิ์คร่าชีวิตผู้อื่น นอกจากจะเป็นการป้องกันตัว เป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในหัวของผมด้วย แต่ผมต้องละทิ้งความเป็นตัวเองแบบนั้นไป เมื่อก้าวขาสู่ โกดัก เธียเตอร์ เหรอครับ" มัวร์ให้สัมภาษณ์กับ THR หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่นานนัก

"ในทางตรงข้าม ผมก็ไม่ได้ลบหลู่อะไรเมื่ออยู่ในสถานที่ของคนอื่นแบบนั้นนะครับ เพราะผมถูกเลี้ยงมาแบบนั้น ในงานผมใส่ทักซิโด ไม่ได้สวมหมวกเบสบอลเหมือนเดิม ผมกล่าวตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวเอง เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอยู่กับเนื้อหาข่าวสารในหนังของผม”

"มันจะผิดมากกว่า ถ้าให้ผมยืนขึ้นเพื่อขอบคุณเอเยนต์, ทนายความ และดีไซเนอร์ที่ให้ทักซิโดชุดนี้มา ผมจะยอมรับตัวเองได้อย่างไรกัน"

ตัวแทนรับออสการ์ของ "มาลอน แบรนโด"

เมื่อปี 1972 มาร์ลอน แบรนโด ได้สร้างเหตุการณ์ที่หลายคนกล่าวว่า "อื้อฉาว" ที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสการ์ขึ้นมา เมื่อเขาปฏิเสธที่จะขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัลนักแสดงนำชายจากภาพยนตร์เรื่อง The Godfather แต่ส่งหญิงสาวชาวอเมริกันพื้นเมือง ชาชีน ลิตเติลเฟทเธอร์ เพื่อประกาศว่าเขาปฏิเสธที่จะรับรางวัลดังกล่าว

ลิตเติลเฟทเธอร์ ปรากฏตัวบนเวทีประกาศรางวัลด้วยชุดอินเดียแดงเต็มยศ เพื่อกล่าวแถลงการณ์ เรียกร้องความยุติธรรมต่อวิธีปฏิบัติของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อชนชาวพื้นเมือง รวมถึงประท้วงต่อการเสนอภาพของอินเดียแดงในสื่อภาพยนตร์ และโทรทัศน์ที่ผิดจากความเป็นจริงมาโดยตลอด

แบรนโด ยังเขียนแถลงการณ์ความยาว 15 หน้า เพื่อให้ ลิตเติลเฟทเธอร์ กล่าวบนเวทีในวันนั้น แต่โปรดิวเซอร์ได้ขู่สาวอเมริกันพื้นเมืองว่าเธอไม่มีสิทธิ์พูดอะไรที่ยาวเกิน 60 วินาที แถลงการณ์จึงถูกอ่านในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนด้านหลังเวทีแทน

นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่อย่าง แบรนโด อาจจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับสถาบันฯ ผู้จัดงานออสการ์อย่างมากในวันนั้น แต่ชื่อของเขายังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอีกสองครั้ง กับสาขานักแสดงนำชายในปี 1973 จาก Last Tango In Paris และจากสาขานักแสดงสมทบชาย จาก A Dry White Season ในปี 1989

ฝ่ายสาวอินเดียแดง ต่อมามีการเปิดเผยว่า ชาชีน ลิตเติลเฟทเธอร์ แท้จริงแล้วไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ แต่สาวคนนี้มีชื่อแต่กำเนิดว่า มารี ครูซ เป็นนักแสดงเชื้อสายเม็กซิโก-สหรัฐฯ จากเฟรชโน ส่วนเสื้อผ้าที่เธอใส่ขึ้นบทเวทีออสการ์ในนั้นก็เช่ามาจากร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเธอยังตัดสินใจเปลื้องผ้าขึ้นปกนิตยสารแนววาบหวิวอย่างเพลย์บอย ก่อนที่ชื่อจะค่อย ๆ เลือนหลายไป

รางวัลของฉัน "พระเยซู" ไม่เกี่ยว

ชื่อของดาวตลกหญิงปากจัด เคธีย์ กริฟฟิน กลายเป็นข่าวใหญ่ในงานแจกรางวัลเอ็มมีเมื่อปี 2007 ภายหลังเธอกลายเป็นผู้คว้ารางวัลในสาขา Outstanding Reality Program จากรายการ Kathy Griffin: My Life on the D-List แต่แล้วดาวตลกหญิงรายนี้ ก็กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณที่ทำให้ทุกคนต้องปากค้าง

"มีคนมากมายที่ขึ้นมาเพื่อกล่าวขอบคุณเยซูคริสต์ สำหรับการได้รับรางวัล ฉันอยากจะบอกให้ทุกคนทราบไว้ว่า ไม่มีใครมีส่วนต่อรางวัลของฉันน้อยไปกว่าพระเยซูอีกแล้ว ท่านไม่ได้ช่วยอะไรฉันเลย ถ้ามันเกี่ยวกับท่าน ซีซาร์ มิลาน (นักฝึกหัดสุนัขคนดังเชื้อสายเม็กซิกัน) ก็คงขึ้นมารับรางวัลแทนแล้ว เพราะฉะนั้นฉันสามารถพูดได้ว่า ยอมรับเถอะพระเยซู รางวัลนี้คือพระเจ้าของฉันแล้วตอนนี้" เป็นถ้อยคำของเธอในวันนั้น

ในเวลาต่อมา กริฟฟิน จึงอธิบายว่าเธอไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่พระเยซู แต่ต้องการล้อเลียนคนดังที่ชอบขอบคุณพระองค์กันแบบฟุ่มเฟือย และไม่เป็นเรื่องเป็นราว หลังได้รับรางวัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเหล่าศิลปินที่ชอบทำตัวอื้อฉาวกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ทางสมาคมคาทอลิกจะไม่ขำไปกับมุขตลกจิกกัดของ กริฟฟิน ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาได้ออกมาประนาม และเรียกร้องไปทางสถาบันผู้แจกรางวัลให้ "ระงับการเผยแพร่ความเห็นที่มีเนื้อหาดูหมิ่นเหยียดหยาม และหยาบคายของ กริฟฟิน"

สุดท้ายทางสถาบันฯ ผู้รับผิดชอบรางวัลเอ็มมี จึงตัดส่วนที่มีปัญหาออก พร้อมให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "เนื้อหาที่ก้าวร้าวดังกล่าว จะไม่ถูกนำเสนอในการถ่ายทอดเทปบันทึกการมอบรางวัลในคืนวันเสาร์"

"ฉันเป็นคาทอลิกคนสุดท้ายแล้วเหรอ ที่มีอารมณ์ขัน" เคธีย์ กริฟฟิน กล่าวเมื่อเกิดปัญหามากมาย จากคำพูดของเธอ แต่อย่างน้อยก็ยังมีกลุ่มคนที่ออกมาปกป้อง และมองว่าการตัดต่อคำพูดดังกล่าวทิ้ง เป็นการขัดต่อหลักด้านสิทธิ์การแสดงความคิดเห็น อันเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย

เมื่อ She กลายเป็น He

เพียงแค่รายละเอียดเล็ก ๆ ในสุนทรพจน์หลังได้รับรางวัล จากเวทีมอบรางวัลที่มีคนติดตามดูมากที่สุดในโลกก็อาจสร้างปัญหาขึ้นมาได้

ในงานแจกรางวัลออสการ์เมื่อปี 2000 ที่ ฮิลารี สแวงค์ ได้รับรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงครั้งแรกของเธอ จากภาพยนตร์เรื่อง Boys Don't Cry ที่สร้างมาจากเรื่องจริง ของหญิงวัยรุ่น ผู้ใช้ชีวิตในฐานะเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และต้องจบชีวิตจากการถูกข่มขืนอย่างน่าเศร้า

ซึ่งนอกจากการกล่าวขอบคุณทุกคน ที่มีส่วนร่วมต่อผลงานชิ้นนี้ตามปกติแล้ว นักแสดงหญิงฝีมือดียังกล่าวแสดงความขอบคุณไปถึง "ทีนา แบรนดอน" บุคคลต้นทางของเรื่องราวในหนัง Boys Don't Cry ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สแวงค์ ใช้คำสรรพนามสำหรับเพศชายอย่าง "He" กล่าวถึงบุคคลผู้ล่วงลับผู้นี้หลายหน รวมถึงเรียก “แบรนดอน ทีนา” อันเป็นชื่อสำหรับตัวตนเพศชายของหญิงคนนี้ แทนที่จะเป็นชื่อตามกำเนิด “ทีนา แบรนดอน” ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่มารดา และครอบครัวของเธอไม่พอใจเป็นอย่างมาก

โจแอน แบรนดอน แม่ของ ทีนา แบรนดอน โต้เถียงว่าลูกสาวของเธอไม่ได้เป็นคนแปลงเพศ การแต่งตัวและปฏิบัติตนเองเหมือนผู้ชาย เป็นเพียงกลไกการป้องกันตัวเอง หลังจากเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ยังเด็ก "เธอแสร้งทำเป็นชายก็เพื่อไม่ให้มีผู้ชายคนอื่น มาแตะต้องเธอ" ผู้เป็นแม่กล่าว

แม้ตัวของ สแวงค์ จะออกมาขอโทษในเวลาต่อมา แต่นักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิของคนแปลงเพศ ได้กล่าวสนับสนุนดาราสาวเจ้าของรางวัลออสการ์ ว่าเธอกล่าวถูกต้องแล้วที่ใช้คำบ่งบอกเพศชายกับ ทีนา แบรนดอน อย่างที่เจ้าตัวต้องการ และแสดงออกจริง ๆ

ทวงความยุติธรรมบนเวทีออสการ์

ภาพยนตร์เรื่อง Inside Job ที่ว่าด้วยหายนะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากฝีมือของผู้กำกับ ชาร์ลส์ เฟอร์กูสัน กลายเป็นผลงานที่คว้ารางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ประจำปี 2011 ไปครอง ซึ่งตัวผู้กำกับของเรื่อง ก็ไม่กลัวที่จะยืนยันจุดยืนทางการเมืองของเขาอีกครั้ง

ผลงานของ เฟอร์กูสัน เรื่องนี้มีเนื้อหาที่มองความละโมบของคนใหญ่โตในวอลสตรีต, นักเศรษฐศาสตร์ และบรรดาผู้บริหารนโยบาย ที่ก่อให้เกิดความวิบัติทางเศรษฐกิจ เป็นอาชญากรรม ที่ชนชั้นกลางต้องตกเป็นเหยื่อ

โดยเนื้อหาหลักของ Inside Job กล่าวถึงปัญหาทางการเงินเมื่อปี 2008 เป็นประเด็นหลัก ซึ่งเมื่อผู้กำกับรายนี้ได้โอกาสขึ้นเวทีออสการ์เพื่อรับรางวัล เขาก็ไม่ลังเลที่จะใช้โอกาสดังกล่าว ถามหาความยุติธรรมที่อเมริกันชนยังไม่ได้รับ

"ขอโทษเถอะครับ ผมอยากจะเริ่มต้นชี้ให้เห็นว่า สามปีมาแล้วที่การฉ้อโกงทางการเงินก่อให้เกิดหายนะทางการเงินอันใหญ่หลวง แต่ก็ยังไม่มีผู้บริหารคนไหนต้องเข้าคุกเลย ผมว่ามันผิดแล้วล่ะ"

เรื่องการเมือง,ศาสนา, สังคม, ประวัติศาสตร์, เพศสภาพ หรือประเด็นล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ อาจจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนหลีกเลี่ยง แต่ก็ยังมีเหล่าคนดังบางส่วนไม่ยี่หระต่อความสุ่มเสี่ยงที่ว่า …. เพราะสุดท้ายสำหรับพวกเขาความเชื่อและจุดยืนบางประการ อาจจะเป็นเรื่องสำคัญกว่างานอันหรูหรา หรือรางวัลอันทรงเกียรติเสียอีก

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

ไมเคิล มัวร์
ตัวแทนของ มาร์ลอน แบรนโด
เคธีย์ กริฟฟิน
ฮิลารี สแวงค์
ชาร์ลส์ เฟอร์กูสัน
กำลังโหลดความคิดเห็น