xs
xsm
sm
md
lg

อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง : หนังรางวัลชนะเลิศ Best Script..?/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คงคล้ายๆ กับตอนที่หนังเรื่อง “กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว” เข้าฉาย ซึ่งกลายเป็นหนังที่ผมอยากดูตั้งแต่ได้รับรู้ “ต้นทาง” ของมัน ที่มีความเป็นมาค่อนข้างน่าสนใจ เพราะไม่ว่า “กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว” หรือกระทั่ง “อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง” เรื่องนี้ ต่างก็เป็นผลงานที่ต่อยอดมาจากเวทีไทยแลนด์สคริปต์โปรเจคต์ด้วยกันทั้งคู่ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า “อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง” นั้น คือ (บท) หนังที่ได้รางวัลชนะเลิศ Best Script มาจากเวทีดังกล่าว

บอกเล่ากันแบบย่อๆ ครับว่า “ไทยแลนด์สคริปต์โปรเจคต์” ก็คือโครงการสรรหาบทหนัง “ที่มีคุณภาพ” จากทั่วประเทศ โดยมีโต้โผใหญ่ในการคัดสรรเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สองคน คือ นนทรีย์ นิมิบุตร กับ เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งจากจำนวนบทหนังทั้งหมด 900 เรื่อง มี 15 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบมา และ “อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง” ก็คือบทหนังที่ได้รางวัลชนะเลิศ เท่าที่คุณอุ๋ย-นนทรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อ บอกว่า เป็น Best Script ที่ได้คะแนนเป็นเอกฉันท์ คณะกรรมการไม่มีใครโต้แย้ง

แต่ Best Script กับ Best Movie จะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ผมว่า หลายๆ คนที่ไปดูมา คงมีคำตอบอยู่ในใจ แต่โดยส่วนตัว พูดกันแบบจริงใจ ผมดูหนังที่เติบโตมาจากเวทีนี้ (ไทยแลนด์สคริปต์โปรเจคต์) มาแล้วหนึ่งเรื่อง คือ “กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว” ก็รู้สึกเฉยๆ และค่อนไปทางน่าเบื่อด้วยซ้ำ แล้วพอมาดู “อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง” ผมก็หวังว่าความเป็น Best Script น่าจะมีอะไรที่ให้คาดหวังได้ ไม่มากก็น้อย

ความน่าสนใจของหนังนั้น อยู่ที่การหยิบยกเอาความเป็นไปในชนบทอีสานบางท้องถิ่นมานำเสนอควบคู่กับภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอีสาน แม้ว่าอันที่จริง นี่จะไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทอดเรื่องแบบนี้ แต่ประเด็นที่หนังโฟกัสซึ่งเกี่ยวกับค่านิยมเกี่ยวกับการมีสามีฝรั่งของผู้หญิงหญิงอีสาน (บางคน) ก็น่าจะเป็นความแปลกใหม่ที่เราไม่เคยเห็นในหนังไทยมาก่อน

ศูนย์กลางของเรื่องราวนั้นอยู่ที่หนุ่มมาร์ค (รอน AF5) ซึ่งกำลังลำบากกับการเรียนมหาวิทยาลัย เพราะพ่อหมดควาย (ขาย) ไปหลายตัวแล้ว ชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหงของเขาก็ยังไม่จบสิ้นสักที ติดอยู่วิชาเดียวคือภาษาอังกฤษ เหตุการณ์ในหนังนั้น เริ่ม “มาคุ” ขึ้นมา เมื่อมาร์คกลับบ้านเพื่อไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนหญิงคนหนึ่ง ก่อนจะพบว่าเจ้าบ่าวของงานนั้นเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว ขณะที่สาวๆ ในหมู่บ้านคนอื่นๆ ไม่ว่าสาวใหญ่สาวน้อย หรือกระทั่งมีผัวแล้ว ต่างพากันเมาท์ถึงการมีผัวฝรั่งจนกลายเป็นกระแสหลักของผู้หญิงในหมู่บ้าน บางคนก็ถึงขั้นที่ว่าอยากจะทิ้งสามีไปหาผัวฝรั่งเลยก็มี เช่นเมียของทิดสุบรรณ (เหลือเฟือ มกจ๊ก) นั้นเป็นตัวอย่าง แล้วหนุ่มอีสาน ผู้บ่าวไทบ้านอย่างมาร์คจะทำอย่างไร?

ผมจะพยายามมองหาข้อดีของหนังเรื่องนี้ก่อน ซึ่งก็แน่นอนล่ะครับ นอกจากจับกระแสความคลั่งไคล้ของสาวไทยอีสานที่คิดอยากจะมีคู่ชีวิตเป็นชายฝรั่งได้อย่างที่ต้องการ ขณะที่ก็ตั้งคำถามต่อค่านิยมนั้นไปด้วยว่า มันใช่วิถีทางที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น มีความสุขขึ้น ได้จริงหรือเปล่า อีกทั้งพยายามจับคู่ชกให้กับวิถีท้องถิ่น อยู่ง่ายกินง่าย และรสนิยมวิไลที่มาพร้อมกับความหรูหรารถยนต์ บ้านหลังใหญ่ อันเป็นลูกหลานของระบบทุนนิยม และหนังก็แสดงความใจกว้างพอที่จะไม่สรุปเข้าข้างตัวเอง (คนไทย) ว่าอะไรๆ ที่ฝรั่ง มันล้มเหลวไปซะหมด

พูดง่ายๆ ก็คือ หนังนั้นมีแนวคิดที่ดีครับ และผมคิดว่าถ้าหนังเลือกที่จะทำให้ผลงานชิ้นนี้ออกมาเป็นดราม่าซึ้งๆ ก็ได้ไม่ยาก หากแต่สุดท้ายแล้ว หนังเลือกรูปแบบการเล่าเรื่องที่ผ่อนคลาย ไม่เครียด และพยายามหยอดมุกตลกเข้ามาตลอดเวลา แต่ทว่าก็น่าเสียดาย มุกตลกเหล่านั้น ส่วนใหญ่ ดูเหมือนจะขำเฉพาะคนที่แสดงและผู้กำกับ อย่างการเปิดก้นโชว์หญิงของหนุ่มมาร์คนั่น คิดว่ามันขำนักเหรอครับ?

การแคสติ้งตัวละคร แน่นอน หนังระดับนี้ไม่ได้ต้องการ “นักแสดง” ที่เล่นได้แข็งแรงอะไรมาก และสำหรับคนที่รับบท “มาร์ค” ก็เล่นบทนี้ได้ แต่ที่มันขัดหูขัดใจเป็นอันมากก็คือสำเนียงพูดของเขานั่นแหละครับ มันอีสานแบบไม่สมจริงเอาซะเลย มันทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและระคายหู (เหมือนดูละครน้ำเน่าตอนหัวค่ำ แล้วพวกนักแสดงพยายามจะ “เว้าอีสาน” กัน แต่ฟังแล้วมันไม่ใช่) ในหนังเรื่องนี้ ผมเห็นอยู่สองคน คือ รอนAF5 กับคุณปิยะ ตระกูลราษฎร์ ที่พูดอีสานไม่รื่นหูเอาซะเลย

และถ้าไอ้หนุ่มสักคนในหนังจะคิดว่าการมีผัวฝรั่งเป็นความเพ้อเจ้อเหลวไหล เพราะมันอาจจะไม่ “สุข” จริงอย่างที่ฝันแล้วล่ะก็ ผมว่าหนังเรื่องนี้ก็กำลังจมตัวเองอยู่กับภาพฝันในจินตนาการแบบ “หลับลืม” ไม่น้อยไปกว่ากัน ผมเองยังอดแปลกใจไม่ได้เลยครับว่า เพราะอะไร ทั้งๆ ที่หนังพูดถึงประเด็นที่ร่วมสมัยเอามากๆ (อย่างการมี “รักข้ามชาติ”) แต่กลับมาตกม้าตายกับเรื่องพื้นๆ ฉากหนึ่งซึ่งทำให้ผมขนลุกซู่ว่าทำไปได้ยังไง ก็คือ ตอนที่รอนหนุ่มมาร์คนั่งบนหลังควายคู่กับ “แววดาว” (เปรี้ยว AF2) นี่มันยุคไหนเหรอครับ ใช่ผมกลับไปอยู่ยุคไอ้ขวัญรักกันกับอีเรียมใช่หรือไม่

โอเคล่ะ ต่อให้มันอาจจะมีอยู่จริง แต่ถามจริงๆ เถอะครับว่า มันจะมีลูกผู้หญิงบ้านไหนที่เป็นสาวเป็นแส้ขนาดนั้นแล้วไป “ใกล้ชิด” กับชายหนุ่มแบบนั้น ผมบอกได้เลย ไม่มีทาง พ่อแม่รู้ ถูกตีตาย แน่นอนว่า ถ้ามันจะมี ก็คงมีอยู่แต่ในมโนภาพอันฉาบฉวย (แต่คิดว่าดูดี) ของคนเมือง เท่านั้นเอง

เหนืออื่นใด ผมคิดว่าหนังอ่อนในเรื่องของ “ตรรกะ” มาก เฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอภาพแห่งความอยากมีผัวฝรั่งจนตัวสั่นของหญิงอีสานนั้น ดูดีๆ มันเกือบจะเกินพอดี จนดูเป็นความน่าเกลียด เหมือนกับว่าผู้หญิงอีสานนี่ วันๆ ไม่ทำอะไร นั่งคิดแต่ว่าอยากจะมีผัวฝรั่ง ขนาดตัวเองมีผัวอยู่แล้ว ก็พยายามจะหาทางทิ้งผัวตัวเอง ใช่ล่ะ มันอาจจะมีจริง แต่เหตุผลต้องแน่นครับ สิ่งนี้น่าจะเกี่ยวกับการที่หนังทำให้คาแรกเตอร์ของตัวละครดูแบนราบขาดมิติด้วย หมายถึง คนๆ หนึ่งจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหตุผลรองรับมันไม่หนักแน่นเพียงพอ อะไรๆ จึงดูง่ายไปหมด

อย่างไรก็ตาม ผมไม่รู้นะครับว่า ตกลงแล้ว คุณภาพแห่ง Best Script ที่คุณสุมิตร เที่ยงตรงจิตร เขียนไว้ นั้น ถูกผู้กำกับอย่างคุณชิโนเรศ คำวันดี ดึงมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพแล้วหรือยัง แต่เท่าที่เห็น ถ้าหนังแบบนี้คือหนังที่เกิดมาจาก Best Script ซึ่งผ่านการคัดสรรมาอย่างดี มันก็ยากจะจินตนาการได้เหลือเกินว่า แล้วอีก 800 กว่าเรื่องที่เหลือนั้น มันจะแค่ไหน?

และตามความจริง เมื่อดูจากคุณภาพของผลงานที่ออกมา ผมมีความเห็นว่า แทนที่จะใช้คำ Best Script หรือ Good Script คำว่า The Most Interesting Script (น่าสนใจที่สุด) ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับผลงานระดับนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น