xs
xsm
sm
md
lg

ขอบคุณที่รักกัน : ขอบคุณที่คุณจะดูหนังเรื่องนี้/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

หลายวันก่อน
"ตกลงค่ายนี้เขาจะไม่ทำหนังเอาเงินกันหรืออย่างไร?" ผมเอ่ยแซวประชาสัมพันธ์ค่ายหนังไฟว์สตาร์ฯ ระหว่างที่อีกฝ่ายพานักแสดงภาพยนตร์เรื่อง "ขอบคุณที่รักกัน" เดินสายโปรโมตก่อนหนังจะเข้าฉายในวันที่ 12 พ.ค.นี้


"นั่นสิ มันเพราะอะไรล่ะ?" อีกฝ่ายถามกลับ

เป็นที่น่าสังเกตครับว่าในระยะหลังภาพยนตร์ของค่ายหนังเก่าแก่ค่ายนี้ดูจะไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ทั้งในเรื่องของตัวเลขรายได้และกระแสของการถูกพูดถึง

ทั้งที่จะว่าไปแล้วผลงานที่ออกมาหลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็น บีฟอร์ วาเลนไทน์, ลองของ, ไชยา, บุญชู ไอเลิฟสระอู-บุญชู จะอยู่ในใจเสมอ, เฉือน, อินทรีแดง, นางไม้ ฯ เหล่านี้ ก็หาได้มีคุณภาพที่ด้อยไปกว่างานหนัง อย่าง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ/กระดึ๊บ ของ ค่ายจีทีเอช, ตุ๊กกี้ เจ้าหญิงขายกบ/บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ของ ค่ายสหมงคลฟิล์มฯ, หอแต๋วแตก/หลวงพี่เท่ง ของ ค่ายพระนครฟิล์ม, ผู้ชายลัลล้า ของ เอ็มพิคเจอร์, สุดเขตสลดเป็ด ของ M๓๙ ฯ แต่อย่างใด

หากทำไมตัวเลขของรายได้นั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันเหลือเกิน

"นั่นสิ...ผมเองก็สงสัยเหมือนกันครับว่าทำไม?"
...
วันวาน
หลังต้องผ่าฝนปรอยขึ้นไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความแออัดบนรถเมล์สาย 11 ในที่สุดผมก็พาตัวเองไปถึงเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อชมภาพยนตร์รอบสื่อมวลชนเรื่อง "ขอบคุณที่รักกัน" ได้ทันเวลา 2 ทุ่มตามกำหนด ขณะที่กว่าหนังจะฉายจริงก็เกือบจะ 2 ทุ่มครึ่ง


"ขอบคุณที่รักกัน" กำกับโดย พีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริ, พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว และ สยมภู มุกดีพร้อม หนังแบ่งเป็นเรื่องราว 3 เรื่องราวไล่ตั้งแต่เรื่องของ "จ่อย" (ปั๊ป โปเตโต้) หนุ่มที่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีที่ต้องเดินทางร่วมไปกับอาจารย์ "เสนาะ" (สมชาย ศักดิกุล) เพื่อหาแรงบันดาลใจในการเขียนเพลง พร้อมกับน้องสาวออทิสติกของเขา "เป๋อ" (สายป่าน อภิญญา)

เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องราวของ "หมวย" (ญี่ปุ่น นภัทร) เด็กสาวรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับความสะดวกสบายและชีวิตที่ทันสมัย โดยมีเตี่ย (ปั่น ไพบูลย์เกียรติ)เป็นนักธุรกิจทำโรงงานผลิตรองเท้าซึ่งได้ยื่นเงื่อนไขว่าหากเธออยากจะได้รถไว้ขับ เธอจะต้องไปเรียนทำรองเท้ากับอาก๋ง (อุดม ชวนชื่น) วันละ 1 ชั่วโมง

เรื่องที่ 3 เรื่องราวของ "ขวัญ" หญิงสาวที่ยอมละทิ้งความสะดวกสบายของชีวิตในเมืองหลวงมาใช้ชีวิตอยู่ภาคใต้กับสามีที่เป็นทหาร (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณ) ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ ทั้งสองมีลูกชายหนึ่งคน คือ "ก้อง" (ซานต้า วสุธร) ซึ่งมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นทหารเหมือนกับผู้เป็นพ่อ

แม้จะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ทั้งสามเรื่องราวต่างก็ผูกพันด้วยสิ่งเดียวกันที่เรียกว่า "ความรัก"

และถึงแม้ทั้งสามเรื่องจะมีเรื่องราวที่สื่อออกมาในประเด็นที่แตกต่าง แต่บทสรุปนั้นต่างลงเอยเหมือนๆ กัน นั่นคือ "ความประทับใจ"

"จ่อย" ชายหนุ่มที่สูงไปด้วยความมั่นใจในความสามารถทางด้านดนตรีของตัวเอง เขามีความเชื่อว่าความคิดตลอดจนสิ่งที่ตนเองทำ เช่นการเอาเพลงเก่ามาตีความใหม่ คือความเจ๋ง ความทันสมัย พร้อมกับมองว่าใครที่ไม่ยอมรับ หรือรับไม่ได้กับแนวทางของตัวเองคือพวกหัวคร่ำครึ โบราณ

ทว่าหลังจากต้องเดินทางเพื่อเก็บบันทึกเสียงตามสถานที่ต่างๆ (ซึ่งแรกๆ เจ้าตัวเองมองว่าเป็นเรื่องงี่เง่า ไร้สาระ) ตัวเขาเองก็ได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรบางอย่างผ่านงานที่ทำ ผ่านความคิดของอ.เสนาะ ตลอดจนปฏิกิริยาของตัวน้องสาวที่เปลี่ยนไป

เรื่องนี้ถ้ามองถึงการเล่าเรื่อง การวางคาแรกเตอร์ของตัวละคร การเก็บภาพรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงดนตรีประกอบ หรือแม้กระทั่งฝีมือทางด้านการแสดงของหนุ่มปั๊ปและสายป่านแล้ว ผมเชื่อมั่นว่าหากถูกแยกออกมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว ฟันธงและการันตีได้เลยว่ามันจะเป็นหนังไทยที่น่าดูมากๆ เรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน

ไปกันที่เรื่องราวของ "หมวย"

สิ่งเดียวที่ หมวย ยอมไปเรียนทำรองเท้ากับอาก๋งก็เพราะรางวัลแลกเปลี่ยนอย่างรถยนต์ นั่นเองที่ทำให้เธอหาได้ใส่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่กงสอนแต่อย่างใด ซ้ำร้ายตัวเธอยังมองด้วยว่าการตัดเย็บรองเท้าด้วยมือทีละคู่ๆ นั้นดูจะเป็นเรื่องประหลาด ไร้สาระเอามากๆ ในเมื่อผู้เป็นเตี่ยเองกำลังจะขยายโรงงานผลิตรองเท้าด้วยเครื่องจักรให้ได้คราวละมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังต้องมาอยู่กับก๋ง ความคิดของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป ก่อนที่จะเกิดเรื่องร้ายขึ้นมาอันเป็นตัวแปรที่ทำให้ทั้งหมวยและเตี่ยของเธอได้คิดและคิดได้

"ตีนตัวเองเตี่ยลื้อยังไม่รู้จักเลย แล้วอีจะไปทำรองเท้าดีๆ ให้คนอื่นใส่ได้อย่างไรวะ..." หนึ่งในประโยคที่อาก๋งพูดถึงบุตรชายตัวเองให้หลานสาวฟัง ซึ่งอาจจะดูลิเกไปนิดแต่ผมชอบครับ

เรื่องนี้ ถ้าพูดถึงในเชิงของการเป็นหนังสั้นแล้ว ต้องถือว่าเป็นหนังสั้นที่สมบูรณ์แบบมากๆ

ประเด็นของหนังอาจจะไม่ใช่ประเด็นใหม่หรือแม้แต่การเล่าเรื่องก็เป็นไปแบบ 1 2 3 คือมีการปูเรื่อง สร้างเงื่อนไข หาบทสรุป แต่หนังก็มีจังหวะในการเล่าเรื่องที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ชวนประทับใจทีเดียว

พูดถึงตัวหมวยนั้น จริงๆ แล้วแม้เธอจะดูเหมือนวัยรุ่นรักสนุก ติดเพื่อน ชอบเที่ยว ชอบแต่งตัว ชีวิตส่วนหนึ่งผูกติดอยู่กับเครื่องมือสื่อสารแบบพกพา ไม่สนใจกิจการงานของครอบครัว แต่ทั้งหมดก็เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของสังคมรอบข้าง เพราะหลังจากที่เธอได้มาคลุกคลีอยู่กับสังคมของอาก๋ง ซึ่งเป็นสังคมที่ถูกสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ความเจริญก้าวหน้า" ทิ้งเอาไว้ข้างหลัง มุมมองความคิดของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป

ว่าไปแล้วก็คงจะไม่ต่างอะไรไปจากสังคมไทยเราในปัจจุบันที่หลายครั้งเราก็เร่งรีบกันเสียจนหลงลืมไปในความสุขรอบข้างที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย รวมถึงทิ้งความงดงาม ความมีคุณค่าของรากเหง้าตัวเอง

เหมือนคนที่สวมรองเท้าไม่พอดีตีน แต่ก็ยังคิดจะไปวิ่งแข่งกับคนอื่นเขา

ปิดท้ายที่เรื่องของ "ขวัญ"... แม้ลูกชายคนเดียวของเธอจะดื้อดึงที่จะอยู่กับผู้เป็นพ่อพร้อมแสดงเจตนาชัดเจนว่าโตขึ้นเขาจะเป็นทหารรับใช้ชาติตามรอยบิดา ทว่าด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่บีบบังคับเข้ามา ทั้งเรื่องความปลอดภัย ทั้งเรื่องของหน้าที่การงานของตนเอง อนาคตของลูก ทั้งหมดทำให้เธอตัดสินใจด้วยความรู้สึกเสียใจที่จะพาเขามาใช้ชีวิตที่กรุงเทพ

ทว่า...

ในบรรดาสามเรื่องนั้น เรียนตามตรงว่าผมชอบวิธีการเล่าของเรื่องนี้มากที่สุดครับ

หนังไม่ได้มีฉากอะไรที่ยิ่งใหญ่อลังการเลย ออกจะดูค่อนข้างเรียบง่ายกว่าสองเรื่องแรกเสียด้วยซ้ำ ขณะที่เนื้อหาที่มีฉากหลังเป็นเรื่องราวความเสียสละของชายชาติทหารที่ต้องคอยดูแลความสงบของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นเรื่องที่เราคงจะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งในมุมมองที่แตกต่างกันไป แต่การนำเสนอ การสร้างจุดสนใจ เรื่อยไปจนถึงบทสรุป หนังทำได้เนียน ไหลลื่น และน่าติดตามมาก

ส่วนหนึ่งก็คงต้องยกความดีให้กับคุณหมิว ลลิตา ซึ่งต้องบอกว่ามาตรฐานของการเป็นนักแสดงคุณภาพชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของไทยของเธอนั้นไม่ตกจริงๆ ครับ

ข้อดีอย่างหนึ่งของการเล่าเรื่องโดยใช้วิธีการตัดสลับไปมา แทนที่จะดำเนินเรื่องให้จบไปทีละเรื่องนั้น นอกจากจะทำให้หนังดูกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว มันยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนดูเองค่อยๆ รู้สึกไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนความคิดและอามณ์ของตัวละครแต่ละตัวอีกด้วย

"ขอบคุณที่รักกัน" ไม่ใช่หนังรักหวือหวาประเภทสร้างสถานการณ์ความบังเอิญแล้วยัดเยียดให้เราต้องรู้สึกว่านั่นคือความรักที่แท้จริง หรือว่านั่นความประทับใจ หากแต่ "ขอบคุณที่รักกัน" เป็นหนังที่จะสะกิดให้เราได้หันกลับมามองความรักที่มีอยู่ในตัวของเราเอง ผู้คนรอบข้าง ธรรมชาติรอบตัว แล้วค่อยๆ ซึมซับ เรียนรู้

ไม่อยากบอกครับว่านี่คือเป็นหนังดี หนังสนุก หนังน่าดู

เพียงแต่ผมเองกล้าบอกได้ว่าถ้ามีใครสักคนชวนผมไปดูหนังเรื่องนี้ ผมก็คงจะบอกกับคนๆ นั้นด้วยประโยคว่า...

ขอบคุณที่รักกัน



วันนี้
หลังดูหนังจบ ผมหวนกลับคิดไปถึงสิ่งที่ได้คุยไว้กับฝ่ายประชาสัมพันธ์

เรียนตามตรงครับว่าถึงตอนนี้ผมเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า ทำไมช่วงระยะหลังๆ หนังของค่ายไฟว์สตาร์ถึงไม่ทำเงินได้สมกับคุณภาพที่ควรจะได้รับ เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ของค่ายอื่นๆ

*ยกตัวอย่าง หากหนังอย่าง "ตุ๊กกี้เจ้าชายขายกบ" ของค่ายสหฯ สามารถทำรายได้รวมแล้วเกือบจะ 70 ล้านบาท ถ้าเทียบกันที่คุณภาพและความเป็นหนังตลกเหมือนกันกับหนังอย่าง "บุญชู จะอยู่ในใจเสมอ" มันก็น่าจะทำรายได้ในระดับที่ใกล้เคียงกันมิใช่หรือ

* แล้วทำไมบุญชูฯ เองจึงจบลงที่รายได้เพียงแค่ 15 ล้านกว่าบาทเท่านั้น

คิดไปคิดมาก็คิดไม่ออก เอาเป็นว่า อย่างไรก็ภาวนาขออย่าให้ "ขอบคุณที่รักกัน" ต้องเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่มีสภาพเป็นเช่นนั้นเลย
...
หมายเหตุ:* อ้างอิงตัวเลขรายได้จากเว็บไซต์วิกิพีเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น