xs
xsm
sm
md
lg

“R.E.M.” ยังเข้ม ขลัง คมความคิด ตอกย้ำศักดิ์ศรีเจ้าพ่อ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
R.E.M. กับสมาชิกชุดแรกและชุดเดียว ที่ภายหลังมือกลองได้ลาออกไป
ต้นยุค 90’s พลังดนตรีเฮฟวี่ เมทัล ที่สร้างความหนักกะโหลกแต่ไม่หนักใจให้บรรดาสาวกหูเหล็กทั้งหลาย ได้ค่อยๆอ่อนล้าโรยแรงลงไปตามวิถีทางของมัน (แต่กระนั้นเฮฟวี่ก็ยังไม่ตาย) สวนทางกับกระแสอัลเทอร์เนทีฟร็อกที่เคยถูกบดบัง เคยถูกถีบให้อยู่นอกกระแส ได้ทะยานขึ้นมาแจ่มแจ้งเป็นดนตรีกระแสหลักที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก(อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง)

คุณาณุคุณนี้ ถ้าไม่ยกให้กับผู้บุกเบิกแผ้วถางก็คงจะกลายเป็นพวกมีสันดานไม่ต่างจากนักการเมือง(ไทย) โดยเฉพาะกับวงอย่าง U2 และ R.E.M. ที่จัดเป็นเจ้าพ่ออัลเทอร์ ผู้สร้างสรรค์ นำพาดนตรีแนวนี้ให้ขึ้นมากระฉ่อนผงาดโลก

ในยุทธจักรดนตรีอัลเทอร์เนทีฟถ้าเปรียบ U2 เป็น“แมนฯยู” R.E.M. ก็เปรียบดัง“เชลซี”ในยุคนี้ หรือ“ลิเวอร์พูล”ในยุครุ่งโรจน์ ที่ขับเคี่ยวตีคู่กับแมนฯยูกันมาตลอด แต่สุดท้าย ผมไม่รู้ว่าหงส์แดงตัวนี้บินอีท่าไหน ปัจจุบันจึงลดเพดานบินลงมาเรื่อยๆจนต่ำเรี่ยมองไกลๆดูคลับคล้ายเป็น“เป็ดแดง”กระพือปีกไปเสียฉิบ

สำหรับแมนฯยู เอ้ย!!! ไม่ใช่ สำหรับ U2 การกลับมาในชุด“No Line On The Horizon” (ปี ค.ศ. 2009) เป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีรุ่นใหญ่ หลังจากที่ช่วงหนึ่งเคยหลงไปกับกลิ่นเทคโนและอีเลคโทรนิค

ส่วน R.E.M. วันนี้พวกเขาส่ง “Collapse Into Now” อัลบั้มใหม่ๆสดๆซิงๆ ออกมาทะลวงรูหูแฟนานุแฟนอีกครั้ง ซึ่งก่อนที่จะไปรู้จักกับอัลบั้มนี้ว่า จะเป็นอัลบั้มพาออกทะเลหรืออัลบั้มตอกย้ำศักดิ์ศรีความเป็นเจ้าพ่ออัลเทอร์ ผมขอพาย้อนอดีตไปรู้จักกับที่มาที่ไปและชื่อชั้นบารมีของวงดนตรีวงนี้กันสักหน่อย แบบพอเหม็นปากเหม็นคอ

R.E.M. เป็นวงร็อกอเมริกัน ก่อตั้งวงในปี 1980 ประกอบด้วยสมาชิกรุ่นคงกระพันรุ่นเดียว คือ ไมเคิล สไตป์(Michael Stipe) : แหกปากร้องนำ,ปีเตอร์ บัก(Peter Buck) : ขยี้สายกีตาร์,ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) : ตะปบเบส และ บิลล์ เบอร์รี(Bill Berry) หวดกลอง

ก่อนจะมาเป็นหัวหอกในแนวอัลเทอร์ R.E.M. ได้ชื่อว่าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันผู้บุกเบิก “College Sound” หรือดนตรีสไตล์ “College Rock” ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง The Replacement, The Smithereens และ Sonic Youth เป็นต้น

College Rock เป็นส่วนผสมของดนตรีเนื้อหาอุดมความฝันของคนหนุ่มสาวในยุค 60’s กับดนตรี Post Punk ในปลายยุค 70’s ซึ่งภายหลัง College Sound ได้พัฒนาเป็นโมเดิร์น ร็อก ที่ตอนหลังเรียกรวมเป็นอัลเทอร์เนทีฟในกาลต่อมา

ในปี 1983 R.E.M. ส่งซิงเกิ้ลแรก "Radio Free Europe" ออกมาชิมลาง ก่อนตามต่อติดๆกันด้วยอัลบั้ม “Murmur”(1983) ที่นอกจากจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีแล้ว อัลบั้มชุดนี้ยังถูกยกให้เป็นต้นธารของดนตรีแนวคอจเลจร็อกอีกด้วย
Out Of Time หนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมของ R.E.M.
จากนั้น R.E.M. ได้เดินหน้าสร้างสรรค์งานเพลงที่ไม่ได้หมกหมุ่นอยู่กับเรื่องอกหัก รักคุด ตุ๊ดเมิน โทร.มือถือไปหาแล้วเธอไม่รับก็จะบ้าเป็นบ้าตาย หากแต่พวกเขาได้ใส่ความคิดด้านการเมือง สิ่งแวดล้อม ความคิดแสดงหา ความคิดอยากเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นลงไปในบทเพลง จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งร็อกมีกึ๋น ร็อกปัญญาชน ที่หาตัวจับยากวงหนึ่ง

R.E.M. ยังมีเรื่อง ที่ไม่รู้ว่าจะน่ายินดีหรือน่าเสียใจดีก็คือ พวกเขาเป็นวงดนตรีที่พี่มาร์คคนรูปหล่อบ้อท่า บอกว่านิยมชมชอบเป็นที่สุด แต่ในพักหลังๆผู้สันทัดกรณีหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า รสนิยมการฟังเพลงของพี่มาร์คแกเปลี๊ยนไป๋ เพราะแกหันไปฝักใฝ่ในดนตรีกันตรึมแบบใครทัดทานก็ไม่ยอมรับฟัง

บนเส้นทางยุทธจักดนตรีอันยาวนานร่วม 30 ปี R.E.M. มีการเปลี่ยนแปลงทางสมาชิกเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การลาออกไปของบิลล์ มือกลอง ในปี 1997 เพื่อไปทำฟาร์มส่วนตัว หลังจบการทัวร์อัลบั้มที่ 10 “New Adventures In Hi-Fi” (ปี1996) ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาไม่ได้หาใครมาแทน หากแต่ครองวงกับสมาชิกที่เหลืออยู่ 3 พะหน่อเรื่อยมา

นับจาก Murmur อัลบั้มชุดแรกในปี 1983 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน R.E.M. มีสตูดิโออัลบั้มรวมทั้งหมด 15 ชุดด้วยกัน(รวมชุดใหม่ด้วย) ผลงานเด่นๆ ของพวกเขาได้แก่ Green(1988), Monster(1994),Accelerate (2008) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 2 อัลบั้มสุดยอดของเขาอย่าง “Out Of Time”(1991) ที่คว้ารางวัลแกรมมี่มาครอง พร้อมมีเพลงยอดฮิตอมตะอย่าง “Losing My Religion” กับอัลบั้ม “Automatic For The People”(1992) ที่ลงตัวทั้งเนื้อหา ดนตรี และการตลาด ทำให้ได้มาทั้งเงิน ทั้งกล่อง และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ R.E.M.ถูกยกขึ้นทำเนียบร็อกแอนด์โรลฮอลออฟเฟมในปี 2007
Collapse Into Now การกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี
สำหรับการกลับมาของ R.E.M. ใน“Collapse Into Now” อัลบั้มล่าสุด พวกเขายังคงเลือกใช้บริการของ “แจ็คไนฟ์ ลี”(Jacknife Lee) ให้มาเป็นโปรดิวเซอร์เหมือนเดิม พร้อมร่วมเล่นคีย์บอร์ดและกีตาร์ให้ด้วย

ลี (ผู้เคยโปรดิวซ์วง U2) ถือเป็นยอดโปรดิวเซอร์ที่ร่วมหัวจมท้ายใช้บริการกันมาตั้งแต่ชุดที่แล้ว คือ Accelerate (2008)

หลัง R.E.M.ล้มเหลวไม่เป็นท่ากับชุด “Around The Sun”(2004) ที่ทั้งโดน(นักวิจารณ์)ด่า ทั้งขายไม่ดี จนต้องหลบไปยกเครื่องกันใหม่อยู่ร่วม 4 ปี ก่อนจะไปดึงลีมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับผลงานชุด Accelerate ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัลบั้มชวนฟัง อีกทั้งยังช่วยกู้ชื่อ กู้ศักดิ์ศรีของเจ้าพ่ออัลเทอร์คืนมา

และศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าพ่ออัลเทอร์ได้ถูกตอกย้ำอีกครั้งกับผลงานชุดล่าสุด Collapse Into Now ที่ยังคงเข้มขลังไปด้วยเนื้อหาปัญญาชน ฟังแล้วชวนให้ขบคิดตาม ในขณะที่ภาคดนตรีแม้จะคงความเป็นร็อกเข้มๆในลายเซ็นเฉพาะของวง แต่พวกเขาได้เพิ่มสัดส่วนความเป็นป็อบ ดนตรีฟังติดหูเข้าไปมากขึ้น ทำให้ดนตรีในชุดนี้มีหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ

อัลบั้มนี้ R.E.M.เสริมแต่งสีสันเล็กๆน้อยๆแต่พองาม ด้วยการเสริมทีมเครื่องเป่า และการดึงแขกรับเชิญอย่าง Joel Gibb,Patti Smith นักดนตรีรุ่นใหญ่,Eddie Vedder นักร้องนำวง Pearl Jam และ Peaches นักร้องสาวรุ่นใหญ่ เข้ามาร่วมแจม

Collapse Into Now มีทั้งหมด 12 เพลงด้วยกัน R.E.M. เปิดนำด้วย “Discoverer" กับซาวนด์กีตาร์เล่นโน้ตหยาบๆเสียงแสบกึ๋นนำมา รับต่อด้วยเสียงร้องกร้าวๆของสไตป์ กับเพลงมันๆดิบๆเปิดอัลบั้มที่สนุกไม่น้อย ซึ่งในเพลงได้สื่อให้เห็นว่าการค้นพบที่ดีที่สุดคงจะไม่มีอะไรเท่า“การค้นพบตัวเอง”

แทรคต่อมา “All the Best” ยังคงดีกรีความมันที่มากับความโจ๊ะในจังหวะเร่งเร้ายิ่งกว่าเพลงแรกกีตาร์ของมิลล์เล่นคอร์ดแตกๆดิบๆ อุ้มรับเสียงแหกปากกร้าวๆของสไตป์ไปตลอดเพลง

ถัดมาเป็น “Überlin” ที่ฟังแล้วชวนให้คิดถึง “Losing My Religion”ไม่ได้ เพลงนี้เจือกลิ่นความเป็นป็อบอยู่สูงพอตัว ขึ้นนำมาด้วยเสียงกีตาร์ใสๆ ในจังหวะกระตุกๆช่วยกระตุกอารมณ์ เสียงของสไตป์เปลี่ยนจากความกร้าวมาร้องด้วยน้ำเสียงฟังคลุมเครือล่องลอย อันเป็นสไตล์หากินของเขา กับเนื้อเพลงที่ฟังเหมือนกำลังไล่ล่า ไล่ตามหาอะไรสักอย่าง ในขณะที่ท่อนโซโลกีตาร์เล่นแต่ละโน้ตลากยาว ฟังได้อารมณ์แตกต่างไปจากพวกที่เล่นโซโลด้วยลูกนิ้วเร็วบรื๋อไปอีกแบบ

“Oh My Heart” อารมณ์เพลงยังต่อเนื่องกับ Überlin โดยเฉพาะกับเสียงร้องของสไตป์ แต่ที่เปลี่ยนไปเป็นทางจังหวะของเพลง เพลงนี้มีกลิ่นของโฟล์คเจืออยู่ผ่านเสียงแอคคอร์เดียน กับเสียงกีตาร์โปร่งและเสียงรัวปิ๊กกีตาร์หวานบาดลึก อีกทั้งยังมีเสียงเครื่องเป่าบางๆมาช่วยสร้างสีสันอีกทาง

ถัดมาเป็น "It Happened Today" ได้ Joel Gibb และ Eddie Vedder มาช่วยร้อง ในดนตรีสไตล์ถนัดของ R.E.M. มีกีตาร์โปร่งตีคอร์ดเล่นคลุมคลอไปตลอด ช่วงท้ายต่างคนต่างเปล่งเสียงโหยหาโหยหวน ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ออกมา

“Every Day Is Yours to Win” มาในอารมณ์ช้าๆ เสียงของสไตป์ร้องเหมือนรำพึงรำพัน ฟังล่องลอย เหงาเศร้า ผิดกับเพลงถัดไปอย่าง “Mine Smell Like Honey” ที่เรียกอารมณ์มันๆสนุกๆกลับมา ไม่งั้นอารมณ์อาจจะเดินเข้าสู่โหสดน่าเบื่อได้ เพลงนี้พวกพี่เข้าใจคิดชื่อเพลงกันดีจริงๆนะ

ส่วน “Walk It Back” เป็นการเดินถอยหลังที่ดึงกลับไปในอารมณ์ช้าๆซึ้งๆ แล้วมาสลับอารมณ์กันอีกครั้งด้วย “Alligator Aviator Autopilot Antimatter” ที่ได้เจ๊ Peaches มาร่วมส่งเสียงกับดนตรีสุดมัน พร้อมด้วยเนื้อหาอันชวนขบคิด เกี่ยวกับไอ้เข้ตัวหนึ่งผู้ต้องเรียนรู้โลกอีกมาก

“That Someone Is You” นี่ก็สนุกมันไม่แพ้เพลงที่แล้ว แถมเจือด้วยลูกโจ๊ะๆอีกต่างหาก

อารมณ์เพลงถูกเบรกอีกครั้งด้วย “Me, Marlon Brando, Marlon Brando and I” ในกลิ่นโฟล์คร็อกเพราะๆที่น่าฟัง จากนั้นเป็นการจัดเหวอส่งท้ายกันด้วย “Blue” ที่ได้ Patti Smith มาช่วยส่งเสียง ในอารมณ์ไซคีเดลิกหลอนๆลอยๆ กับเสียงร้องผสมเสียงพร่ำเพ้อรำพึงรำพัน ก่อนปิดท้ายกันด้วยการกลับไปหาจุดเริ่มต้นกับซาวนด์กีตาร์หยาบๆเสียงแสบกึ๋นนำในเพลง “Discoverer"

เหมือนดังเป็นการบอกว่าในจุดจบมีจุดเริ่มต้น

สำหรับ Collapse Into Now นับเป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีของเจ้าพ่ออีกครั้ง ซึ่งเจ้าพ่อกลุ่มนี้ไม่ได้ไปเอารัดเอาเปรียบเข่นฆ่าทำร้ายใคร หากแต่เป็นเจ้าพ่ออัลเทอร์ที่มีดนตรีเนื้อหาลุ่มลึกชวนขบคิดเป็นสิ่งช่วยจรรโลงโลก
*****************************************

คอนเสิร์ต

Herbie Hancock Live In Bangkok

พบกับ Herbie Hancock ยอดนักเปียโนแจ๊ซระดับโลก ตำนานที่ยังมีลมหายใจ หนึ่งในผู้เคยร่วมกับ Miles Davis สร้างสรรค์ดนตรีแจ๊ซให้ชื่อกระฉ่อนโลก

Herbie Hancock คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงมากว่า 50 ปี เคยร่วมงานกับยอดนักดนตรีชั้นเยี่ยมมากมาย มีอัลบั้มเดี่ยวกว่า 65 ชุด สามารถคว้ารางวัลแกรมมี่มากครองได้ถึง 14 รางวัล ล่าสุดกับอัลบั้ม “River The Joni Letters” สามารถคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมปี 2007 มาครอง นอกจากนี้เขายังเคยได้รางวัลออสก้าร์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Round Midnight มาครองอีกด้วย

สำหรับการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ Herbie Hancock มาพร้อมกับพลพรรค นักดนตรีระดับโลก ได้แก่ James Genus(เบส),Greg Phillinganes(คีย์บอร์ด),Trevor Lawrence(กลอง) และ Kristina Tra in (นักร้อง)

ทั้งนี้คอนเสิร์ต Herbie Hancock Live In Bangkok จะเล่นในวันที่ 8 พ.ค.54 เวลา 20.00 น. ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน บัตรราคา 4,500/3,500/2,500/1,500 และ 1,200 บาท ผู้สนใจจองบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456 หรือดูเพิ่มเติมที่ www.thaiticketmajor.com
วง TPO
Mahler’s Tragic

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอคอนเสิร์ต “Mahler’s Tragic” ที่นำบทเพลง Symphony No.6 หรือ Tragic ของ กุสตาฟ มาลเลอร์ บทเพลงเชิงโศกนาฏกรรมที่เขาประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด เพลงนี้มีกลิ่นอายวัยเด็กของเขาคือมีสุ้มเสียงของคาวเบลล์ที่คุ้นเคยสมัยทีมาลเลอร์เติบโตขึ้นใแถบชนบทของโบฮีเมียน ร่วมกับบทเพลงไทย มอญอ้อยอิ่ง เถา โดยการอำนวยเพลงของ Claude Villaret

คอนเสิร์ตครั้งนี้ จัดขึ้น ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 รอบ คือ วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2554 เวลา 16.00 น. บัตรราคา 500, 300 และ 100 (นักเรียนนักศึกษา) บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0-2800-2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, http://www.thailandphil.com/
กำลังโหลดความคิดเห็น