xs
xsm
sm
md
lg

“เป็นไปไม่ได้” งานเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของ “ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ หนึ่งในตำนานเพลงไทย
“ถ้าฉันมีสิบหน้า อย่างทศกัณฐ์ สิบหน้านั้น ฉันจะหัน มายิ้มให้เธอ สิบลิ้น สิบปาก จะฝากคำพร่ำเพ้อ ว่ารักเธอ รักเธอ เป็นเสียงเดียว...”

เพลง “เป็นไปไม่ได้” : วง “ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์”

สมัยเป็นเด็กฟังเพลงนี้จากเทป(คาสเส็ท)ของพี่ชาย ผมไม่รู้หรอกว่าเจ้ายักษ์ทศกัณฐ์คือผู้ใด รู้จักแต่เจ้า“ยักษ์ 10 หน้า”ศัตรูตัวร้ายของ “อะเมซอน”(V6) ที่มีแต่หัวใหญ่ๆหน้าเยอะๆลอยไปลอยมา

เพราะยุคนั้นเด็กรุ่นผมคลั่ง“ไอ้มดแดง”กันมาก ไล่มาตั้งแต่ V1-V9 ก่อนที่ตอนหลังจะเปลี่ยนมาเรียก“มาร์ค ไรเดอร์”ในภายหลัง พร้อมกับมีฮีโร่มนุษย์แปลงออกมาสารพัดสารพันจนผมรู้สึกว่าสูญเสียความขลังไปเยอะ (แต่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กยุคใหม่ ส่วนไอ้มดแดง V1-V9 ในยุคผมกลายเป็นฮีโร่ตกรุ่นเป็นของเชยสำหรับพวกเขาไป)

ต่างไปจากเพลงของดิอิมที่วันนี้ยังคงความขลังน่าฟังอยู่ไม่สร่างซา

ดิอิม 3 แผ่นครึ่ง+

ความไพเราะมีเสน่ห์ของเพลงเป็นไปไม่ได้ ถือเป็นตัวดึงดูดสำคัญให้ผมหันมาสนใจไล่ตามฟังเพลงของวง “ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์” แบบจริงๆจังๆ

สมัยนั้นแม้ดิอิมจะยุบสลายวงไปหลายปีแล้ว แต่เพลงของวงนี้หาซื้อเทปมาฟังได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่จะมาเป็นเทปผีที่นำเพลงฮอตฮิตมายำรวมกัน ทำใหม่ออกมาเพียบเลย จนผมช่วงนั้นเข้าใจผิดว่าเพลงของวงดิอิมมีมากมายหลายชุดด้วยกัน

กระทั่งเมื่อโตขึ้นได้มีโอกาสศึกษาประวัติวงดิอิม ถึงได้รู้ว่าวงนี้มีผลงานสตูดิโออัลบั้มของตัวเองในสมัยที่ยังรวมวงเล่นดนตรีกันอยู่ แค่ 3 ชุดครึ่งเท่านั้น ได้แก่ 3 อัลบั้มเต็มในแบบแผ่นเสียงลองเพลย์(ยุคนั้นยังไม่มีการอัดทำเป็นเทป) คือ“เป็นไปไม่ได้” “หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม” และ “Hot Pepper” กับอีกหนึ่งผลงานชุดเล็กคือชุด“ทัศนาจร” ในแบบแผ่นเล็ก(แผ่นEP : ปี 2516 : จัดทำโดยครูวิมล จงวิไล)ที่มีเพียง 4 เพลง คือ ทัศนาจร,หาดบ้านเพ,เรือเพลง และ ลาวดวงเดือน

บวกด้วยงานเพลงที่วงดิอิมเล่นแบ็คอัพให้กับ “ป้าแดง : ฉันทนา กิติยพันธ์” กับ“ป้าเม้า : สุดา ชื่นบาน” 2 คุณป้าสุดซ่าสุดฮา ร้องนำ ซึ่งผมขอเรียกงานสตูดิโออัลบั้มทั้งแผ่นใหญ่ แผ่นเล็ก และแผ่นแบ็คอัพว่า เป็นผลงาน 3 แผ่นครึ่ง+
เป็นไปไม่ได้ สตูดิโออัลบั้มแรกของดิอิม
“เป็นไปไม่ได้” เพลงที่คิดได้ไง

หลังวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์มีชื่อจากการคว้าแชมป์ตริงคอมโบวงแรกของเมืองไทยในปี พ.ศ. 2512 และครองตำแหน่งติดกัน 3 ปีซ้อน ต่อด้วยการสร้างชื่อโด่งดังเป็นระเบิดจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์มากมาย อาทิ ชื่นรัก ทะเลไม่เคยหลับ ใจหนุ่มใจสาว หัวใจเหิร ค่าของคน-รัก-เงิน ฯลฯ ดิอิมก็ได้ฤกษ์งามยามปลอดคลอด(สตูดิโอ)อัลบั้มเป็นของตัวเองกันเสียที กับผลงานชุด“เป็นไปไม่ได้” ในปี พ.ศ. 2515 โดยมีผู้จัดทำคือครูพยงค์ มุกดา

เป็นไปไม่ได้ มีคุณค่าที่เป็นไปได้ให้จดจำอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เพลงที่เป็นทั้งชื่อเพลงและชื่ออัลบั้ม เป็นเพลงแรกในแผ่นเสียงชุดแรกของวงที่ไม่ใช่เพลงจากหนัง เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดของวง ชนิดเวลาไปแสดงที่ไหน ดิอิมต้องร้องเล่นเพลงนี้ ไม่เล่นไม่ได้ เป็นบทเพลงอมตะที่ตอนหลังกลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงดิอิม และกลายเป็นหนึ่งในตำนานเพลงไทย

เป็นไปไม่ได้ เขียนเนื้อร้องและทำนองโดยครูพยงค์ มุกดา ผู้จัดทำอัลบั้ม ซึ่งอาปุ๊ : ปราจีน ทรงเผ่า ได้เขียนบันทึกเอาไว้(ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า) เพลงนี้ครูพยงค์ “คิดได้ยังไงเนี่ย” เพราะครูพยงค์ สามารถนำคำแปลของชื่อวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ มาผูกเรื่องแต่งเป็นเพลงไทยได้อย่างสุดยอด เมโลดี้สวย ดนตรีไพเราะเพราะพริ้ง อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ขับร้องถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม น้ำทรงเสน่ห์มีเอกลักษณ์ ฟังแล้วรู้สึกรันทดท้อไปตามเนื้อเพลง ซึ่งวันนี้ผมยังไม่เห็นใครนำเพลงเป็นไปไม่ได้กลับมาร้องใหม่ได้ใกล้เคียงกับต้นตำรับเลย

เป็นไปไม่ได้ เพลงนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเพลง“ทศกัณฐ์” เพราะสามารถหยิบจุดเด่นของทศกัณฐ์มาเปรียบเปรยกับความรักที่ไม่สมหวังได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีลูกเล่นเหลือล้น แถมยังทำให้ทศกัณฐ์ให้ถูกมองเป็นยักษ์โรแมนติกจากใครหลายคน ชนิดที่พระรามก็พระรามเหอะ เจอไม้นี้เข้าไปก็ต้องหลบให้ทศกัณฐ์เหมือนกัน

“...ถ้าฉันมียี่สิบตา อย่างทศกัณฐ์ ยี่สิบตาของฉัน จะมองเธอไม่เหลียว ยี่สิบแขนจะสวมสอด กอดเธอผู้เดียว ยี่สิบสีดาอย่ามาเกี้ยว ไม่แลเหลียวมอง...”

นอกจากเพลงเอกเป็นไปไม่ได้ งานเพลงชุดนี้ที่มีทั้งหมด 11 เพลง (อ้างอิงจากจำนวนเพลงในแผ่นเสียงต้นฉบับ สำหรับใครที่มีเป็นเทป เป็น MP3 ภายหลังอาจมีเพลงน้อยกว่าหรือมากกว่าต้นฉบับ) โดยเพลงที่เหลือประกอบด้วย

“ชั่วนิจนิรันดร”(คำร้องทำนอง : พยงค์ มุกดา) เพลงช้าๆ มีเสียงแซกโซโฟนเป่าเหงาๆคลอไปกับเสียงร้องจากภาษาสละสลวยที่ครูพยงค์เปรียบเปรย รักแท้อันมั่นคงนิรันดรกับหลากหลายสรรพสิ่ง “...รักฉันนั้น เหมือนดวงตะวัน มั่นรักฟากฟ้า รักดังหมู่ปลารักวารี เหมือนดังกับแหวนแสนจะรักแก้วมณี เหมือนขุนคีรี สวาทพื้นดินเดียวกัน...”

“ขาดเธอขาดใจ”(คำร้องทำนอง : ประดิษฐ์ อุตตะมัง) อีกหนึ่งเพลงดัง ดนตรีไพเราะมีเสียงฟลู้ตมาช่วยเติมแต่งสร้างสีสัน เนื้อเพลงเป็นรักผิดหวังที่ฉันรักเธอมาก ชนิดขาดเธอขาดใจ

“ชาวดง”เพลงเก่าของครูวิมล จงวิไล เจ้าพ่อเพลงโฟล์ค(ยุคนั้น) ที่ดิอิมนำมาร้องใหม่ในจังหวะกระชับ สนุกมีชีวิตชีวา ดนตรีเล่นให้ฟังหลวมๆสบายๆแต่แน่นอยู่ในที เพลงนี้ตอนหลังกลายเป็นเพลงโฟล์คที่นิยมเล่นร้องในงานออกค่าย ท่องเที่ยว ทัศนศึกษา คู่กับเพลง“ทัศนาจร”มาจนถึงทุกวันนี้

“สกุณา” เพลงนี้ทำนองนำมาจากเพลงบูรงกากาของมาเลเซีย แต่งเนื้อไทยโดยครูพยงค์มุกดา เป็นบอสซาโนว่าที่เจ๋งมาก มีกีตาร์เล่นคอร์ดทางแจ๊ซเสียงใสๆรองพื้น สอดแทรกด้วยเสียงแซ็กที่เป่าคลอเคล้าไปตลอด

อีกเพลงหนึ่งที่เป็นบอสซ่าพลิ้วๆก็คือ “วนาสวรรค์”(คำร้อง ทำนอง : พยงค์ มุกดา) เพลงชื่นชมธรรมชาติที่เพราะทั้งเนื้อร้องทำนองและมีทางคอร์ดที่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

ดิอิมนับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเพลงสไตล์บอสซ่ายุคแรกในเมืองไทย(ร่วม 40 ปี มาแล้ว) ก่อนจะมาเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่ดิอิมไม่ได้เล่นบอสซ่าพร่ำเพรื่อจนเฝือเหมือนในยุคนี้ ที่สำคัญคืออาต้อย เศรษฐาแกร้องเพลงด้วยน้ำเสียงเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ดัดเสียงร้องให้ผิดเพี้ยนไปจากน้ำเสียงตามธรรมชาติของตัวเอง ซึ่งผมก็ยังงงอยู่ว่า ทำไมเวลานักร้องหลายคนในสมัยนี้ เมื่อร้องเพลงแนวบอสซ่า(หรือเพลงแนวอื่นด้วย) จะต้องดัด(จริต)น้ำเสียงให้มันผิดเพี้ยนเกินงามไปถึงขนาดนั้น

ส่วนเพลง“นกขมิ้น”(คำร้อง ทำนอง : พยงค์ มุกดา) เป็นเพลงเก่าที่ดิอิมนำมาร้องใหม่ ซึ่งอาต้อยสามารถร้องถ่ายทอดออกมาในกลิ่นเพลงไทยเดิมผสมดนตรีสากลได้อย่างมีลีลาไม่น้อย ทั้งลูกเอื้อน ลูกทอดเสียง ทำได้ดีสมกับเป็นหนึ่งในยอดนักร้องอมตะของเมืองไทย
แฟชั่นยุคดิอิม
หันมาฟังเพลงชุดทะเลในชุดนี้กันบ้าง วงดิอิมนับว่าเด่นมากในเรื่องของเพลงเกี่ยวกับทะเล(จนกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของวงไป) ไม่ว่าจะเป็นเพลงทะเลดังหนังไทยอย่าง “ทะเลไม่เคยหลับ” “ระเริงชล” “เริงทะเล” “หาดบ้านเพ” เป็นต้น นั่นจึงทำให้ในชุดนี้ดิอิมมีเพลงทะเลมาฝากกัน 2 เพลง คือ “ทะเลเปี่ยมรัก”กับ“เพลงรักทะเลใต้” ที่ฟังแล้วเป็นดังภาค 2 และ ภาค 2 พิเศษ ของเพลง “เริงทะเล” เพลงดังจากหนังเรื่องชื่นชีวาฮาวาย

นอกจากเพลงที่อาต้อยร้องแล้ว อัลบั้มเป็นไปไม่ได้ยังมีเพลงดังของอาต๋อย วินัย พันธุรักษ์ ให้ฟัง 2 เพลงด้วยกัน คือ “คอยน้อง” และ“ไหนว่าจะจำ”

“คอยน้อง”(คำร้อง ทำนอง พยงค์ มุกดา) มาในกลิ่นบลูส์พลิ้วๆ ท่อนกลางเปิดพื้นที่ให้แซ็กโซโลกันแบบพองาม เพลงคอยน้องถือเป็นเพลงแรกที่อาต๋อยร้องนำให้กับวงดิอิม ซึ่งเดิมได้มีการวางตัวน้าอู้ด : สิทธิพร อมรพันธุ์มือกีตาร์ ให้ร้องนำในเพลงนี้ แต่ในท่อน“เจ็บไข้ไฉนเหตุใดป่านนี้” น้าอู้ดแกร้องฟังเป็น “เจ็บไข่” ทู้กที จึงเปลี่ยนมาให้วินัยร้องแทน ซึ่งก็ได้ผลพาเขาโด่งดังกลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำตัววินัยมาจนทุกวันนี้

เช่นเดียวกับเพลง “ไหนว่าจะจำ”(คำร้อง ทำนอง : พยงค์ มุกดา) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งในเพลงประจำตัวของวินัย พันธุรักษ์

ไหนว่าจะจำ เป็นเพลงจังหวะสวิงปานกลาง มีลูกเล่นด้วยการร้องนำและมีคอรัสร้องคลอ ฟังแล้วน่าจดจำด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของอาต๋อยกับท่วงทำนองและการเรียบเรียงอันมีชั้นเชิง

พูดถึงอาต๋อย วินัยแล้ว หลายคนบอกว่าตอนหนุ่มๆแกมีใบหน้าหล่อตี๋คล้าย“เป้ อารักษ์” แต่งานนี้ผมขอเถียง เพราะเราควรยกย่องครูด้วยการบอกว่าเป้ อารักษ์ ต่างหากที่มีใบหน้าคล้ายกับอาต๋อย ส่วนเรื่องทรงผมอาต๋อยกินขาด ด้วยทรงผมหยิกฟูบานเป็นที่ทรมานใจสาว

ไหนๆเล่ามาถึงเรื่องแฟชั่นทรงผมแล้ว ผมขอต่อด้วยแฟชั่นการแต่งกายซึ่งดิอิมถือเป็นหนึ่งในผู้นำแฟชั่นแห่งยุคสมัย โดยเฉพาะกับกางเกงขาบานนี่ดิอิมใส่แล้วดูเท่ล้ำมาก ส่วนภาพที่หาดูไม่ได้ง่ายๆของวงนี้ก็คือ ภาพของอาต้อย เศรษฐา ไว้ผมยาว ไว้หนวดไว้เครา ที่ดูแล้วเข้มเอามากๆ ชนิดบางคนเห็นแล้วคาดไม่ถึงว่ายุคนั้น เศรษฐา ศิระฉายา จะดูแนวได้ถึงขนาดนี้
Hot pepper อัลบั้มเพลงสากลที่ไม่ประสบความสำเร็จ
หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม- Hot Pepper

หลังประสบความสำเร็จจากเป็นไปไม่ได้ ปี 2516 ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ ก็ส่งอัลบั้ม “หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม”ออกมา งานเพลงชุดนี้จัดทำโดยประดิษฐ์ อุตตะมัง มีทั้งหมด 12 เพลงด้วยกัน มีเพลงเด่นๆได้แก่

“หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม” (คำร้อง ทำนอง : ประดิษฐ์ อุตตะมัง)เป็นดังเพลงแทนใจวงดิอิมหลังจากต้องไกลบ้านไปเล่นดนตรีอยู่ที่ฮาวายและสแกนดิเนเวีย ซึ่งพวกเขาคิดถึงเมืองไทย ครอบครัวและแฟนเพลงกันอย่างจับใจ

“สู่อ้อมอกดิน”(คำร้อง ทำนอง : ประดิษฐ์ อุตตะมัง) เป็นอารมณ์ที่ให้ความรู้สึกต่อเนื่องจากหมื่นไมล์ฯ เพราะเป็นเพลงกลับคืนสู่บ้านเกิดหลังจากดิอิมไปเล่นดนตรีที่เมืองนอกมาเป็นปี เพลงนี้พูดถึงแม่และแผ่นดินแม่ได้อย่างซาบซึ้งจับใจ “...กลับมากราบแม่อีกครั้ง ลูกยังรักดังใจกาย แม้ลูกชีวิตดับวาย จะมาขอตาย ด้วยรอยยิ้มพราย อ้อมใจของแม่”

“หว้าเหว่”(คำร้อง : ประดิษฐ์ อุตตะมัง) นำนองเพลงนี้มาจากเพลง บังกาวัน โซโล อินโดนีเซีย เป็นป็อบแจ๊ซกลิ่นบอสซ่าอันน่าฟัง

ส่วน “คำสุดท้าย” (คำร้อง ทำนอง : ประดิษฐ์ อุตตะมัง) ขับร้อง โดยอาต๋อย วินัย เป็นเพลงช้าซึ้งๆในอารมณ์เพลงลูกกรุงกับภาษาที่เล่าเรื่องได้อย่างเห็นภาพ ผมฟังเพลงนี้ทีไรเป็นต้องเห็นน้ำพริกปลาทูลอยเด่นเข้ามาในห้วงมโนภาพทุกทีไป “...ตกตอนเย็น เห็นน้ำพริกปลาทู รสมือนางเลิศหรู เจ้าไม่เคยอยู่เฉย...”

นอกจากนี้ในอัลบั้มหมื่นไมล์ฯ ยังมีเพลงชุดทะเลที่ขาดไม่ได้สำหรับวงวงนี้ คือ“หากรักเป็นเช่นทะเล” ที่เป็นดังภาคต้อของทะเลไม่เคยหลับ และเพลงทะเลอื่นๆอย่าง “ห้วงใจรัก” “อย่ากวนใจทะเล” “สิชล” ร่วมด้วยเพลงที่เหลืออื่นๆ คือ “บุหงาลาก่อน” “ระเริงโซล” “จูบจันทร์” และ“พี่เองก็เท่านี้”

หลังอัลบั้มหมื่นไมล์ฯ ดิอิมเริ่มเดินทางเข้าสู่ยุคอิ่มตัว พวกเขาเว้นว่างจากการทำสตูดิโอไปพักหนึ่ง ก่อนจะออกผลงานเพลงสากลทั้งอัลบั้มออกมาในชื่อชุด “Hot Pepper” (ทำในปี 2518 ขายปี 19) เป็นเพลงร้อง 9 เพลง เป็นเพลงที่รู้จักคุ้นหู 4 เพลง เพลงแต่งใหม่ 5 เพลง และเพลงบรรเลง 1 เพลง คือ “Hot Pepper” ถือเป็นวงดนตรีไทยที่ผลิตงานเพลงสากลขายยุคแรกๆของเมืองไทย โดยพวกเขาหวังจะโกอินเตอร์กัน แต่ปรากฏงานเพลงชุดนี้ไม่ประสบผลสำเร็จทั้งที่เมืองไทยและเมืองนอก(โดยเบื้องหลังความไม่สำเร็จของอัลบั้มชุดนี้ ปราจีน ทรงเผ่า ได้เขียนบอกกล่าวไว้ใน หนังสือ รวมบทเพลง The Impossibles)

อย่างไรก็ตามชื่อ “Hot Pepper” ได้ถูกอาปุ๊ : ปราจีน ผู้เป็นหัวแรงหลักในงานเพลงชุดนี้ นำไปสานต่อด้วยการก่อตั้ง วงสองสาวประสานเสียงชื่อ “Hot Pepper Singers”ขึ้นมา มีเพลงดังอย่าง หัวใจสลาย, อยากลืมกลับจำ เป็นต้น ในขณะที่งานเพลงแผ่นชุด Hot Pepper นั้น เดี่ยวนี้กลายเป็นอัลบั้มหายากมา ซึ่งผมได้ข่าวว่าคอเพลงเก่าเขาเก็บเล่นกันเป็นหลักหมื่นทีเดียว

อัลบั้มเก็บตก

ในเดือนเมษายนปี 2519 หลังออกอัลบั้ม Hot Pepper มาได้ไม่กี่เดือน วงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ช็อคแฟนเพลงด้วยการประกาศยุบวงอย่างเป็นทางการ ทั้งๆที่ชื่อเสียงของวงนี้ยังคงหอมฟุ้งอยู่ จนใครหลายคนถึงกับอึ้งกิมกี่ว่า มันเป็นไปได้หรือนี่?

ครั้นเมื่อสมาชิกแต่ละคนต่างแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง ในปี 2521 วงดิอิมได้มาบันทึกผลงานเพลงชุดใหม่ ในชื่อชุด“ผมไม่วุ่น”

ผมไม่วุ่น เขียนเนื้อร้องทำนองโดยครูสุรพล โทณะวณิก มีเพลงเด่นๆอย่าง ผมไม่วุ่น เห็นแล้วหิว มาจู๋จี๋กันไหม และ เมดเล่ย์อิมพอสซิเบิ้ล ที่เป็นการนำเพลงดังหนังไทยในอดีตคือ ชื่นรัก ลำนำรัก หนาวเนื้อ และโอ้รัก มารวมทำเป็นเมดเล่ย์ในเพลงเดียว แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อีกอัลบั้มนี้ยังไม่มีเพลงทะเลที่เป็นดังเอกลักษณ์ของวงดิอิมอีกด้วย

แล้ววงดิอิมก็แยกย้ายกันไปอีกเป็นเวลานับ 10 ปี ก่อนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง(ในช่วงปี 2535บางข้อมูลก็ว่า ปี 32,33)เพื่อออกอัลบั้ม “กลับมาแล้ว” ที่เป็นการนำเพลงดังในอดีตกลับมาร้องเล่นใหม่ในสไตล์ดิอิม ร่วมด้วยเพลงใหม่อย่าง “ศึกษาวิชารัก” “กลับมาแล้ว” และเพลงเก่าที่ยังไม่เคยบันทึกเสียงที่ไหนมาก่อน อย่าง “เขาใหญ่” ผสมเพลงของคนอื่นอย่าง “ใจประสานใจ” และ “แด่น้อง”

กลับมาแล้ว แม้จะกลับมาในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแต่ดิอิมก็ได้รับเสียงตอบรับจากแฟนเพลงพอสมควร ซึ่งตอนหลังได้มีการนำเพลงเก่าในชุดนี้ออกมาอีกครั้งในปี 2537 ทำเป็น 2 อัลบั้มคู่ “ดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ 1994” คือ “เป็นไปไม่ได้” กับ “ขาดเธอขาดใจ” นับเป็นผลงานเพลงที่แม้จะไม่คลาสสิก ขลังเท่าต้นตำรับของตัวเองในอดีต แต่มันก็ช่วยคลายความคิดถึงของแฟนเพลงได้เป็นอย่างดี

และนั่นก็คือผลงานเพลงของวงวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ วงดนตรีที่ที่มีผลงานสตูดิโออัลบั้มไม่มาก สวนทางกับความสำเร็จชื่อเสียงที่พวกเขาได้รับจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งหากพูดถึงตำนานเพลงไทยสากลแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง

“ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์”
*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

-คลิกฟังเพลง เป็นไปไม่ได้

-ข้อมูลส่วนหนึ่งในบทความนี้อางอิงจากหนังสือ รวมบทเพลง The Impossibles โดยปราจีน ทรงเผ่า

-ขอจบบทความของตำนานวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์แต่เพียงเท่านี้

*****************************************

บทความแนะนำเพลงน่าสนใจย้อนยุค จะนำเสนอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม
****************************************

ข่าวดนตรี

คอนเสิร์ต เดี่ยวเปียโน โดย “ลูโดวิโก ไอเนาดี”

สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ร่วมมือกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนชม คอนเสิร์ต เดี่ยวเปียโน โดย “ลูโดวิโก ไอเนาดี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน อิตาเลียนเฟสติวัล 2011” ที่จัดขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 150 ปีของการรวมประเทศอิตาลีเข้าด้วยกัน ในวัน วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.00 น. ณ หอประชุมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับ ลูโดวิโก ไอเนาดี เป็นหนึ่งในนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของยุโรป เขาได้รับเลือกให้เป็น นักประพันธ์เพลงแห่งปี ในปี พ.ศ. 2553 ในงานรางวัลเพลงคลาสสิก ของสหราชอาณาจักร (UK Classical Brit Awards)
กำลังโหลดความคิดเห็น