xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียรามา: ย้อนตำนาน Cinema City เมื่อดาวตลกริทำหนัง

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี

ซือเป๋ แซ่ตลก
Cinema City หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งหนังฮ่องกงยุค 80s เป็นบริษัททำหนังซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ เหล่าดาราตลกชื่อดัง จนกลายเป็นผู้กุมชะตากรรมของวงการภาพยนตร์ฮ่องกงในยุคนั้น และเป็นบทพิสูจน์ว่าดาวตลกก็ทำหนังดี ๆ ได้เหมือนกัน

หนึ่งในความทรงจำสำหรับยุค 80s ของหลาย ๆ คนรวมถึงผม กับหนังฮ่องกงก็คือ Cinema City & Films Co. บริษัทสร้างหนังสำคัญแห่งยุค ที่ก่อตั้งโดยดาวตลก 3 คน เหมาะเจีย, หวงไป่หมิง, และ ซื่อเทียน จนเป็นเครื่องหมายการค้าของหนังตลกฮ่องกงอยู่หลายปี

เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ Cinema City เริ่มต้นขึ้นในปี 1981 เมื่ออาชีพของดาวตลก ซื่อเทียน ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ เล่นหนังมากกว่า 10 เรื่อง ทั้งแนว ตลก, กังฟู, ชีวิต หรือสยองขวัญ นอกจากนั้นยังเดินทางรับงานเทียวไปเทียวมาระหว่างฮ่องกงและไต้หวัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการจดจำใด ๆ จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสร่วมมือก่อตั้งบริษัทสร้างหนัง กับเพื่อนนักแสดงอีก 2 คน อย่าง หวงไปหมิง บัณฑิตคณะวรรณกรรมจีนคลาสสิค จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้ผันตัวเป็นนักแสดง พร้อมทำงานเขียนบทควบคู่กันไปด้วย ขณะที่ เหมาะเจีย หนุ่มที่มีเครื่องหมายการค้าอยู่ที่ ศีรษะอันล้านเลี่ยนเตียน ผู้จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แต่รักวงการหนังมากกว่า

สิ่งที่ทั้งสามเหมือนกันก็คือ เป็นหน้าใหม่ไฟแรงในวงการ, เป็นคนมีการศึกษา ทำงานทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังมานานหลายปี รวมถึงเคยประสบความล้มเหลว ในการเปิดบริษัทผลิตภาพยนตร์มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อพวกเขาตัดสินใจตั้งบริษัท Cinema City ร่วมกัน ซึ่งมันได้เปลี่ยนโฉมหน้าหนังฮ่องกงไปอีกหลายปี

Cinema City มีผลงานเรื่องแรก เป็นหนังตลกที่หลายคนยังจดจำได้ Laughing Times (ซือเป๋ แซ่ตลก, 1981) งานที่ได้รับ อิทธิพลผสมลอกปนคารวะ ลีลาของราชาตลกระดับโลก ชาร์ลี แชปลิน

งานนี้ ซื่อเทียน ลงมารับบทนำด้วยตัวเอง อีกสองแกนนำก็ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เหมาะเจีย นอกจากจะรับบทเป็นตัวร้ายของเรื่องแล้ว ยังดูแลในส่วนของการถ่ายทำด้วย ส่วน หวงไป่หมิง ก็แสดงบทประกอบเล็กๆ ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบบทหนัง สำหรับหน้าที่ผู้กำกับของเรื่องตกเป็นของ ผู้กำกับหนุ่มมาแรงในยุคนั้น ที่ชื่อว่า อู๋หยี้เซิน หรือที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ในนามของ จอห์น วู นั้นเอง

Laughing Times กลายเป็นหนังฮิต และเปิดโอกาสให้ Cinema City ขยับขยายจนใหญ่โตมากยิ่งขึ้น ด้วยเงินทุนจากนายทุนบริษัทด้านการขนส่ง Golden Princess ที่เข้ามาเป็นหุ่นส่วน สตูดิโอสร้างหนังแห่งนี้จึงเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง

บริษัทมีการว่าจ้างเอา ผู้บริหารหญิงไฟแรง จื่อหนานซุน นักศึกษาจบนอกหัวก้าวหน้า ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในฐานะภรรยาคนเก่งของ ฉีเคอะ

จื่อหนานซุน ถูกว่าจ้างมาเพื่อปรับรูปแบบองค์กรของ Cinema City ใหม่ ด้วยความที่เธอมีเส้นสาย และความสนิทชิดเชื้ออยู่กับกลุ่มคนทำหนังหนุ่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในวงการโทรทัศน์ Cinema City กลายเป็นศูนย์รวม ที่ทุกคนสุมหัวกันทำงานกันเหมือนเพื่อน มากกว่าจะเป็นไปภายใต้ระบบธุรกิจ และหลายคนกลายเป็นบุคลากรคนสำคัญของวงการหนังฮ่องกงในเวลาต่อมา

วิธีการทำงานของที่นั้นไม่เหมือนใคร เพราะบริษัทไม่ได้มีเครือข่ายโรงจำนวนมากมารองรับ ดังนั้นพวกเขาจึงมุ่งความสนใจไปที่การสร้างหนัง เป็นเป้าหมายอันดับแรก ต้นทุนสำคัญของ Cinema City จึงไม่ใช่โรง หรือดารา แต่เป็นบุคลากรเบื้องหลังที่สดใหม่ ระดมสมองค้นหาไอเดียป้อนให้กับวงการหนังอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละวันกลุ่มคนทำหน้าไฟแรง จะมาสุมหัวกันในห้องเล็กๆ พูดคุยถึงแนวคิดใหม่, เรื่องราวทั่วไปของวงการหนังฮ่องกง และความเคลื่อนไหวของระดับโลก เจิ้งจื่อเหว่ย กับ ฉีเคอะ จะเป็นคนที่พูดมากที่สุด โดยเฉพาะฉีเคอะที่พูดเร็วเสียจนคนอื่นๆ แทรกไม่ได้ ขณะที่ เหมาะเจีย จะคอยฟัง และแสดงความคิดเห็น ส่วน หวงไป่หมิง ก็จดสิ่งต่างที่น่าสนใจเอาไว้

ทุกไอเดียจะต้องผ่านความเห็นชอบ ของทุกคนในบริษัทเสียก่อน หนังจึงจะได้สร้าง มีการเรียกกลุ่มทีมงานใน Cinema City ว่า “แก๊ง 7 คน” แต่ละคนต้องรับผิดชอบงานมากกว่าหนึ่งอย่าง ทั้งกำกับ เขียนบท รวมไปถึงแสดงนำ มีการกล่าวอย่างติดตลกว่า เมื่อก่อนพระเอกหนังฮ่องกงจะต้องเป็น คนหน้าตาหล่อเหลา หรือไม่ก็ร่างกายกำยำเต็มไปด้วยมัดกล้าม แต่หลังจากมี Cinema City คนประเภทที่ว่า หนวดเครารุงรัง (ฉีเคอะ), หัวล้าน (เหมาะเจีย), หรือไม่ก็อ้วนเตี้ย (เจิ้งจื่อเหว่ย) ก็เป็นพระเอกกับเขาได้เหมือนกัน

Cinema City ผลิตหนังออกมาสู่สายตาผู้ชมหลายเรื่อง แต่ที่โดดเด่นที่สุด ก็คือ Aces Go Places หนังบู๊ตลกคู่หู ที่ทำเงินมหาศาล จนมีการสร้างภาคต่อเนื่องออกมาอีกหลายภาค ซึ่งแต่ละภาคตั้งชื่อไทยได้น่าปวดหัวเหลือเกิน ไล่มาตั้งแต่ เฮงลูกเดียว, สามัคคีเฮง, โคตรเก่งมหาเฮง, โคตรเก่งมหาเฮง, เออ เอ็งเก่ง แถมเมื่อมีการผลิตเป็นแผ่นวีซีดี หรือดีวีดี ก็มีการเปลี่ยนชื่อไทยอีกหลายครั้ง จนสร้างความงงงวยให้กับแฟนหนังไปตาม ๆ กัน

คนทำหนังกลุ่มนี้ไม่เคยยึดติดอยู่กับสูตรสำเร็จเก่า ๆ รวมถึงมีการดึงมือดีจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น หนังผีตลกเรื่อง Till Death Do We Scare (1982, ยุ่งน่า ขอข้าเป็นคน) ที่แสดงโดย อลัน ทัม และเดวิด เจียง นั้นถึงกับลงทุนว่าจ้างเอา ช่างแต่งหน้าเอ็ฟเฟคนดังจากสหรัฐ ทอม ซาวีนี่ เจ้าของผลงานหนังซอมบี่คลาสสิค Dawn of the Dead (1978) มารับหน้าที่เพิ่มความสยดสยองให้กับหนัง กันเลยทีเดียว

แม้จะโด่งดังมากกับการสร้างเสียงหัวเราะให้กับแฟนหนัง แต่ Cinema City ก็ยังมีผลงานในแนวทางอื่นอีกจำนวนมาก รวมถึง A Better Tomorrow (1986, โหดเลวดี) หนังบู๊อาชญากรรมที่ต่อมากลายเป็นปรากฏการณ์ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ หรือหนังเศร้าเคล้าน้ำตาที่หลาย ๆ คนยังจำได้อย่าง Papa, Can You Hear Me Sing (1983, พ่อจ๋าอย่าร้องไห้) ก็เป็นผลผลิตจากการทำงานของ Cinema City

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดาวตลกดังทั้งสาม มีบทบาทเป็นขาใหญ่ในวงการหนังฮ่องกงต่อไปอีกหลายปี อย่างไรก็ตามเมื่อมีความรุ่งเรือง ก็ต้องมีการเสื่อมถอยเมื่อถึงปลายยุค 80 Cinema City ก็เริ่มเห็นแววปิดฉาก

ความรุ่งเรืองของ Cinema City ดูเหมือนจะเคียงคู่ไปกับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของฮ่องกง บริษัทเปิดขึ้นเมื่อฮ่องกงเริ่มกลายสภาพเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย ในปี 1984 ตลาดหุ้นฮ่องกงพุ่งสูงขึ้น จนถูกจับตามมองว่านี้จะเป็นตลาดเงิน และแหล่งลงทุนที่สำคัญเทียบเท่ากับ ลอนดอน นิวยอร์ก หรือโตเกียว อัตราการจ้างงาน และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มมากขึ้น มีผลต่อธุรกิจภาพยนตร์ Cinema City ก็คือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์นี้มากที่สุด ในทางเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจฮ่องกงเริ่มเดินทางมาสู่ทิศทางขาลง Cinema City ก็พบกับขาลงด้วย

ความยิ่งใหญ่ของ Cinema City ดำรงอยู่ติดต่อกันประมาณ 6 – 7 ปี ในที่สุดเค้าลางของการสิ้นสุดก็เดินทางมาถึง หนังที่ผลิตเริ่มได้รับการตอบรับที่น้อยลง ในปี 1987 หนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง ซื่อเทียน ประสบปัญหาทางการเงินส่วนตัวอย่างหนัก จนเพื่อนสนิทอย่าง ฉีเคอะ และจอห์น วู ต้องช่วยกันสร้างหนังที่ไม่น่าจะถูกสร้างออกมาอย่าง A Better Tomorrow 2 (1986, โหดเลวดี 2) ออกมา และมอบบทนำ (และรายได้) ให้กับ ซื่อเทียน

สถานการณ์ของต่าง ๆ ดูเหมือนจะไม่ได้ดีขึ้นเลย การดิ้นรนครั้งสุดท้าย เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดตัวลงของบริษัท ก็คือการสร้างหนังเรื่อง Undeclared War (1990, สงครามเงียบเก็บเจ้าพ่อ) หนังตำรวจตามสมัยนิยมของฮ่องกงในยุคนั้น ที่มีความทะเยอทะยาน มุ่งหวังในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มร้อย ถึงขั้นลงทุนจ้างเอาดาราต่างประเทศหลายคนมารับบทเด่นในหนัง รวมถึง โอลิเวีย เฮอร์ซี่ อดีต จูเลียต แห่ง Romeo & Juliet (1969) ฉบับคลาสสิค มารับบทเด่นในเรื่อง แต่สุดท้ายนี่กลายเป็นงานที่ล้มเหลวในทุกด้าน และเป็นประวัติศาสตร์หน้าสุดท้ายของ Cinema City ไปโดยปริยาย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Cinema City ถึงคราวเสื่อมถอย ก็คือการสูญเสียกำลังหลัก ในบริษัทไปคนแล้วคนเล่า ไร้จุดแข็งที่เคยมีมาในอดีต อย่างกลุ่มนักคิดทีมงานสร้างสรรค์ ต้นตอแห่งไอเดีย และความสดใหม่ที่เคยมีก็สลายไปด้วย

เจิ้งจื่อเหว่ย ได้อธิบายถึงสถานการณ์ในช่วงนั้นว่า "พวกเราก็เหมือนกับเด็กทารกกลุ่มนึง ที่กินข้าวในหม้อเดียวกันมานาน เมื่อตัวโตขึ้น หมอข้าวนั้นก็ไม่พอซะแล้ว" ตัวของเจิ้งจื่อเหว่ยเอง ย้ายข้ามฟากไปอยู่กับ Golden Harvest ขณะที่ ฉีเคอะ และจื่อหนานซุน ก็ร่วมกันเปิดบริษัท Film Workshop เป็นของตัวเอง

ในปี 1991 ความรุ่งเรืองของ Cinema City ก็ปิดฉากลง ทิ้งให้หนังเล็ก ๆ In the Lap of God (1991) ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ให้เป็นผลงานเรื่องสุดท้าย ก่อนที่สามแกนนำจะขายหุ้นในส่วนของตัวเองให้กับบริษัท Golden Princess ไปทั้งหมด เหมาะเจีย และซื่อเทียน ยังคงพยายามดิ้นรน ในช่วงท้ายๆ ของบริษัท ด้วยการใช้สูตรสำเร็จที่เคยได้ผลมากกว่า แม้แต่การขุดเอาของฮิตในอดีตอย่าง Aces Go Places มาสร้างใหม่ก็ไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่หวัง

"เหมาะเจีย" ยังมีงานแสดงให้เห็นอยู่บ้าง, "หวงไป่หมิง" ก่อตั้งบริษัท Mandarin Films ที่ยังมีผลงานถึงทุกวันนี้ทั้ง Ip Man และหนังตลกชุด All's Well End's Well (กระทิงสู้ปู้เลี่ยวฉิง) ที่เข้าฉายในตรุษจีนทุกปี ส่วน "ซื่อเทียน" ต้องออกจากธุรกิจไปเมื่อปี 1992 ขณะที่มีอายุ 41 ปีเท่านั้น

********************

... ดูมาแล้ว ...



The Space Battleship Yamato / 2199 ยามาโต้ กู้จักรวาล (ผู้กำกับ - ทากาชิ ยามาซากิ / แสดงนำ - ทาคุยะ คิมูระ, เมอิสะ คุโรกิ, โทชิโร ยานากิบะ, นาโอโตะ โอกาตะ)

The Space Battleship Yamato ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากประเทศญี่ปุ่น เล่าเรื่องของอนาคต ที่สงครามระหว่างมนุษย์กับพวกดาวเกมมิลาส ทำให้เกิดสารกัมมันตรังสีปกคลุมไปทั่วโลก จนกระทั่งมีข่าวสารส่งมาจากแดนไกล ถึงโอกาสการพื้นฟูโลก ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า คอสโม คลีนเนอร์ เทคโนโลยีของชาวอีสกันดาร์ แต่ภารกิจครั้งนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า มนุษย์ต้องเดินทางไปเอาเครื่องมือดังกล่าว ที่ดาวอีสกันดาร์ กาแล็คซี่อันโดรแมดา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากโลก 148,000 ปีแสง และกลับมาให้ถึงโลกภายในระยะ 1 ปีเท่านั้น ไม่เช่นนั้นโลกอาจจะพังพินาศไปกับสารกัมมันตรังสีเสียก่อน

ชาวโลก จึงตัดสินใจกู้ซากของ “ยามาโต้” เรือ ประจัญบานขนาดยักษ์ ของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกจมอยู่ในท้องทะเล แปซิฟิก ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อดัดแปลงให้เป็นเรือรบอวกาศ ด้วยแปลนที่ได้มาจากมนุษย์ต่างดาว สำหรับภารกิจกู้โลกในครั้งนี้

ทากาชิ ยามาซากิ ผู้กำกับที่เชี่ยวชาญในงานด้านเทคนิคพิเศษ เจ้าของงานที่หลาย ๆ คนยังคงประทับใจอย่าง Always: Sunset on Third Street ถือว่าใจกล้าพอสมควร ที่หยิบเอาการ์ตูนระดับตำนานผลงานของ เลย์จิ มัตซึโมโตะ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เป็นงานที่หลาย ๆ ฝ่ายตั้งความหวังไว้สูง ซึ่งผลงานที่ออกมาก็นับได้ว่าน่าพอใจ

หนังถูกถ่ายทอดในแบบหนังไซไฟ ‘โอลด์สกูล’ ที่มีงานภาพและเทคนิคพิเศษยิ่งใหญ่สมจริง ฉากสงครามอวกาศก็เรียกได้ว่าทำได้ ‘ถึง’ แบบหนังยุคใหม่ แต่มีกลิ่นของลีลาเก่า ๆ อยู่เยอะพอสมควร ไล่กันตั้งแต่ งานการออกแบบ, ลีลาการเล่าเรื่อง, บทหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ได้ใส่ใจกับความสมเหตุสมผลทุกกระเบียดนิ้ว เหมือนหนังไซไฟในยุคปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นชัดอันหนึ่งได้แก่ ฉากห้องบังคับการ ที่หลายฝ่ายบอกว่าดู ‘กระป๋อง’ เหลือเกิน แต่ในทางตรงข้ามก็ให้ความรู้สึกคลาสสิคแบบหนังไซไฟญี่ปุ่นเก่า ๆ ดี

ด้วยทิศทางดังกล่าวอาจทำให้หนังดู ‘ขลัง’ และเป็นที่ยอมรับสำหรับแฟนเก่า ๆ ในทางตรงกันข้ามมันก็เป็นคำถามเหมือนกัน ว่าผู้สร้างยึดติดกับสิ่งเก่า ๆ มากเกินควรหรือไม่ ? องค์ประกอบหลาย ๆ อย่างทำให้ The Space Battleship Yamato ฉบับนี้ดูเชยไปซักหน่อย และเทียบไม่ได้เลยกับ Star Trek ภาคล่าสุดของฮอลลีวูด ที่สร้างสมดุลระหว่างองค์ประกอบเดิม ๆ และใหม่ ๆ ได้ลงตัวอย่างน่าทึ่ง



The Legend of Chen Zhen / เฉิน เจิน หน้ากากฮีโร่ (ผู้กำกับ - แอนดรู เลา / แสดงนำ - เจินจื่อตัน, ซูฉี, หวงซิวเซิง, หวงเป่า)

หนัง 1 ใน 3 เรื่องของ เจินจื่อตัน ในปี 2010 ที่ผ่านมา The Legend of Chen Zhen ไม่ได้น่าเบื่อน่ารำคาญเท่ากับ 14 Blades แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นเป็นผลงานชิ้นเอกของแอ็กชั่นสตาร์รายนี้เท่ากับ Ip Man 2

The Legend of Chen Zhen เป็นภาคต่อของ Fist of Fury (ไอ้หนุ่มซินตึ้งล้างแค้น) หนังในตำนานของ บรูซ ลี (ที่เคยถูกนำกลับมาสร้างใหม่หลายครั้ง ตัวของ เจินจื่อตัน ก็เคยรับบทดังกล่าวในฉบับทีวีซีรีส์มาแล้ว) โดยผูกเรื่องให้ตัวเอกอย่าง เฉินเจิน กลับไปบู๊กับพวกญี่ปุ่นอีกครั้ง ในเซี่ยงไฮ้ยุคสงคราม

น่าสนใจว่าลีลาชาตินิยมในหนังเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก ชนิดที่ว่าแทบไม่แสดงด้านดีของฝ่ายญี่ปุ่นให้เห็นกันบ้างเลย เข้าใจว่าหนังต้องการจับตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก (แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ Fist of Legend เฉินเจิน ฉบับ เจ็ท ลี ที่ค่อนข้างให้ความเป็นธรรมกับตัวละครชาวญี่ปุ่นมากที่สุด)

รวมแล้ว ๆ หนังอยู่ในระดับกลาง ๆ องค์ประกอบทุกอย่างไม่ได้โดดเด่นแต่ก็พอรับได้ ที่น่าประทับใจมากที่สุด ก็คือฉากเปิดเรื่อง ที่ผู้กำกับ แอนดรู เลา และ เจินจื่อตัน สร้างฉากบู๊กังฟูผสมหนังสงครามแนว Saving Private Ryan ออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจดี และแปลกใหม่ดี



Tracing Shadow / ศึกขุมทรัพย์วังหลวง (ผู้กำกับ - อู๋เจิ่นอวี่ / แสดงนำ – อู๋เจิ่นอวี่, อู๋เพ่ยฉือ, เจซี ชาน)

ผลงานการกำกับ และแสดงนำเรื่องใหม่ของ อู๋เจิ่นอวี่ พระเอกรุ่นใหญ่ ที่คราวนี้หันมาจับหนังกำลังภายใน ว่าด้วยการตามล่าหาสมบัติ หนังมีเนื้อเรื่องที่ชวนให้นึกถึงนิยายกำลังภายในยุคเก่า ๆ อย่างไรก็ตามเนื้อแท้แล้ว Tracing Shadow เป็นหนังตลกที่ล้อเลียนทั้งขนบของหนังแนวนี้ และเรื่องราวร่วมสมัยทั่ว ๆ ไป ของฮ่องกง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใครไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น ก็คงยากที่จะบันเทิงไปกับหนังได้อย่างเต็มร้อย

มุขตลกของ Tracing Shadow ที่พอจะสร้างความบันเทิง (ให้กับคนไทยเรา) ได้บ้างก็คือ การล้อเลียน พระเอกคนดังของฮ่องกงอย่างที่งานนี้ได้ เฉินหลง, หลิวเต๋อหัว, เจ็ท ลี แถมด้วย เจย์ โจว, เริ่นเสียนฉี, เซียะถิงฟง ตัวปลอมมาเข้าฉากกับเพียบไปหมด เป็นฉากที่เรียกว่าพอจะเรียกเสียงหัวเราะได้บ้าง

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

เหมาะเจีย
หวงไป่หมิง
ซื่อเทียน
Aces Go Places
โปสเตอร์ของ Aces Go Places ฉบับอินเตอร์ ที่ดูแทบไม่ออกว่าเป็นหนังฮ่องกง
แซม ฮุย กับ เหมะเจีย กับภาพที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี
หนังตระกูล Happy Ghost ผลงานเด่นอีกชิ้นของ Cinema City
Tiger On The Beat / โหด ทะลุ แดด - หนังดังในยุคนั้นอีกเรื่อง
Till Death Do We Scare / ยุ่งน่า ขอข้าเป็นคน - หนังผีฮา ๆ จากฝีมือแต่งหน้าเอฟเฟคโดย ทอม ซาวีนี่<br/>
พ่อจ๋าอย่าร้องไห้
ซื่อเทียน ใน โหดเลวดี 2
Undeclared War / สงครามเงียบเก็บเจ้าพ่อ - ความล้มเหลวที่ปิดฉาก Cinema City
Winner Takes All การปลุกชีพหนังชุด Aces Go Places ที่ไม่ขลังเหมือนเก่า
กำลังโหลดความคิดเห็น