xs
xsm
sm
md
lg

สุดเขต สเลดเป็ด : หนังตลกไทยในอุดมคติ!!!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook : teelao1979@hotmail.com

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่จังหวะที่คุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร ปล่อยผลงานของเขาออกมาฉายในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ติดต่อกันสองปีซ้อนแล้วนั้น ผมว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เพราะหากคุณยอร์ชแกทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ช่วงเวลาสิ้นปีจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาซึ่งคนดูหนังตั้งตารอคอย ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาจะได้สำเริงสำราญกับการฉลองปีใหม่ แต่มันยังทำให้พวกเขาได้ดูหนังสนุกๆ เรื่องหนึ่งด้วย

เมื่อปลายปี 2552 ผมชอบที่คุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย บอกว่า “32 ธันวา” เป็นภาพยนตร์ ส.ค.ส. ต่างการ์ดอวยพรวันปีใหม่ และคราวนี้ ถึงแม้ “สุดเขต สเลดเป็ด” จะไม่ได้โปรโมตด้วยภาษาแบบนั้น แต่คนดูอย่างผมดูแล้ว ก็อยากจะใช้คำว่า “ส.ค.ส.” กับหนังเรื่องนี้เหมือนกัน

อันที่จริง นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาล้อเล่นได้นะครับ เพราะหากเจ้าของผลงานบอกว่านี่เป็น “หนังส่งความสุข” แต่คนดูดูแล้ว เห็นว่าน่าจะเป็น “หนัง ส.ค.ท.” ส่งความทุกข์ซะมากกว่า ผู้กำกับก็จะเสีย dog กันไปเลย แต่ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะ “32 ธันวา” หรือ “สุดเขต สเลดเป็ด” ไม่ใช่โป้ปดมดเท็จที่ใครต่อใครจะบอกว่า ดูมาแล้วโคตรจะมีความสุขเลย

เพียงแค่หนังเปิดตัวมา 5 นาทีแรก ผมจำได้ว่า “สุดเขต สเลดเป็ด” ก็ทำให้เสียงหัวเราะของคนดูดังลั่นโรงหนัง และหลังจากนั้น หนังก็เก็บคะแนนความฮาไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง ด้วยมุกตลกที่มีตั้งแต่เรียกเสียงฮาออกมาดังๆ ไปจนถึงมุกตลกยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ น่ารักน่าชังที่ทำให้เรายิ้มๆ ที่มุมปาก

ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะครับกับการที่ใครสักคนจะออกแบบมุกตลกมาได้เจ๋งๆ แบบนี้ คือมันไม่ใช่ว่า “โดนบ้างไม่โดนบ้าง” เหมือนหนังตลกเรื่องอื่นๆ แต่มุกตลกของสุดเขตฯ มันเด็ดหมดทุกมุก แต่ศักยภาพของแต่ละมุกอาจจะลดหลั่นกันไปอย่างที่บอก

ผมเชื่อว่านักแสดงตลกแต่ละคนในเรื่องก็คงรู้สึกดีกับการที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมกับหนังเรื่องนี้ ทุกๆ คน “ดูดี” และมีจุดเด่นเป็นที่น่าจดจำของตัวเอง ตุ๊กกี้ที่เคยเป็นถึงนางเอกขายกบ ยังเทียบไม่ติดราวฟ้ากับเหวกับบทตัวประกอบที่เธอได้รับในเรื่องนี้ ไม่ต้องพูดถึงโก๊ะตี๋และน้าค่อม ชวนชื่น ที่ปิดจ๊อบสุดท้ายในฐานะดาราตลกงานชุกแห่งปีได้อย่างใสสะอาด โก๊ะตี๋ดูดีมากๆ ในรูปลักษณ์ของศิลปินอินดี้ที่มากมายอารมณ์ขัน ทางด้านน้าค่อมก็ไม่น้อยหน้า ไม่เพียงมุกฮากระจาย ยังปิดท้ายด้วยซีนชวนซึ้งเล็กๆ อีกต่างหาก พ้นไปจากนี้ ยังมีดาราตลกขาประจำของหนังยอร์ช-ฤกษ์ชัย ทั้ง “แอนนา ชวนชื่น” และ “แจ๊ส ชวนชื่น” ที่ออกกันคนละไม่ฉาก แต่ก็ขำซะไม่มี

เหนืออื่นใด ผมชอบแคสติ้งนักแสดงนำมากที่สุด บทของ “ยิปโซ-รมิตา มหาพฤกษ์พงษ์” ทำให้หญิงสาวที่ดูเอ๋อๆ งงๆ ดูน่ารักน่าแสวงหามาเป็นแฟนอย่างมากมาย ขณะที่เป้-อารักษ์ นั้น ตั้งแต่ดูหนังที่เขาแสดงมา ทั้ง “บอดี้ ศพ# 19”, “รัก สาม เศร้า” และ “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” ผมว่าบทนี้ดูจะเหมาะกับเขาอย่างที่สุด ไม่ต้องพยายามออกแอ็กติ้งอะไรมาก แต่เหมือนแค่ปลดปล่อยมันออกมาจาก “บุคลิก” ของเขาเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมเซอร์ไพรส์สุดๆ เกี่ยวกับงานชิ้นนี้ของคุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย ก็คือ บทภาพยนตร์ จำได้ว่าเมื่อตอนที่พูดถึง 32 ธันวา ผมบอกว่ามันเป็น “หนังเลวที่น่ารัก” คำว่า “หนังเลว” ในความหมายของผม ไม่ได้บอกว่ามันห่วย แต่เนื่องด้วยบทหนังซึ่งยังไม่เข้าที่เข้าทางเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ก็เป็นหนังสไตล์ของคุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย ตั้งแต่ยุค “ส่ายหน้า” มาโน่นแหละครับ คือเป็นตลกที่เน้นการต่อมุก และการเปลี่ยนฉากแต่ละฉากก็ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการพาคนดูไปสู่มุกตลกมุกใหม่

แต่ที่ผมเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในหนังเรื่องล่าสุดของคุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย อย่างสุดเขตฯ ก็คือ บทหนังและการเล่าเรื่องมันดู “เข้ารูปเข้ารอย” มากยิ่งขึ้น จริงๆ เนื้อเรื่องก็ไม่มีอะไรมาก หากแต่การเปลี่ยนฉากแต่ละฉาก มันเริ่มจะ “มีความหมาย” ต่อเรื่องราว เฉพาะอย่างยิ่ง “เนื้อหา” ของหนังก็ไม่ต้องสื่อสารผ่าน “คำคมๆ” (ที่โหน่ง ชะชะช่า ต้องตามจด เหมือนใน 32 ธันวา) เพียงอย่างเดียว (แต่ก็อยากจะบอกว่าหนังมีคำคมให้เราคิดเยอะเหมือนกันล่ะ) เพราะคนดูจะสัมผัสแก่นสารได้เองผ่านเรื่องราวของหนังและของตัวละคร

แน่นอนครับ “ผู้ชายนับสาม” อย่าง “สุดเขต” (เป้-อารักษ์) นั้นคือแก่นแกนที่แน่นและแข็งแรงที่สุดของหนัง เขาคือคนหนุ่มที่มีความฝันอยากจะเป็นศิลปินชื่อดังและพยายามไขว่คว้าโอกาสให้กับตัวเอง คนดูจะรักเขาได้ไม่ยาก จากความจริงใจ ความตรงไปตรงมา คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ก็พูดออกไปอย่างนั้น แต่ก็น่าแปลก คนแบบนี้กลับมักจะถูกมองว่า “เข้าใจยาก” และก็คงเป็นเพราะแบบนี้ เขาถึงต้องมี “คู่มือวิธีใช้งานตัวเขาเอง” เพื่อให้คนที่จะคบกับเขารู้ว่าเขาเป็นคนยังไง ชอบอะไร (ไม่รู้ว่าผู้กำกับแกนั่งคิดบทหนังในส้วมหรืออย่างไร ถึงได้มุกนี้มา คนนะครับ ไม่ใช่ไอโฟนหรือมือถือ จะได้ต้องมีหนังสืออธิบายการใช้งาน 555)

“สุดเขต” จึงถือเป็นความสำเร็จอีกประการหนึ่งของคุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย ในการคิดดีไซน์คาแรกเตอร์ตัวละครแบบที่เราไม่เคยได้พบได้เห็นมาก่อนในหนังไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพของผู้ชายที่ยังยิ้มได้แม้ในเวลาที่รู้ว่าตัวเองพ่ายแพ้แล้วนั้น ก็ยิ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนดูยากจะปฏิเสธความชื่นชอบในตัวเขาได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดกันถึงความสำเร็จจริงๆ ของคุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย ในชีวิตของการเป็นคนทำหนัง ผมว่าเขาได้ยกระดับให้หนังตลกไทยดูดีมีมาตรฐานขึ้นมาอย่างน่าชม เพราะบางเรื่อง อาจได้ความตลก แต่บทหนังไม่ผ่าน ขณะที่หนังตลกบทดีๆ ก็หายากยิ่งกว่าหารัฐบาลดีๆ มาบริหารประเทศ แต่สุดเขต สเลดเป็ด สามารถทำให้ทั้งสองอย่างมาอยู่รวมกันได้ มันอาจยังไม่เพอร์เฟคต์มาก แต่นี่แหละครับ หนังตลกที่ “ดูหล่อ” ไม่แพ้หัวใจของสุดเขตเลยแม้แต่น้อย

ชั่วโมงนี้ คำว่า “ผู้กำกับหนังตลกแห่งยุค” ถ้าไม่ใช่ ก็ถือว่าใกล้เคียงมากๆ แล้วล่ะครับ สำหรับคนที่ชื่อ “ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร”!!








กำลังโหลดความคิดเห็น