คีรีบูน กลุ่มนักดนตรีในยุคบุกเบิกเพลงสตริงฯของค่ายอาร์เอสฯ ใช้ชื่อวง “อัญชา” เล่นดนตรีสมัยเรียนชั้นมัธยมฯ ก่อนเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “วงคีรีบูน” เพื่อให้เรียกง่ายขึ้น อ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ นักร้องและนักแต่งเพลงของวง ยังคงทำงานเพลงอยู่จนถึงวันนี้ … และนี่คือ เรื่องราวบางส่วนแบบย่นย่อกับ “อดีต” เมื่อ 26 ปีที่แล้ว
ปี 2519 เฮียจั๊ว – เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ก่อตั้งบริษัท Rose Sound ประกอบธุรกิจตู้เพลงและอัดเพลงจากแผ่นเสียงลงเทป โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็น “ดอกกุหลาบ” ปี 2525 ผันตัวเองมาทำธุรกิจเพลงวัยรุ่น ในนามของ “อาร์.เอส.ซาวด์” มีวงอินทนิล เป็นศิลปินในสังกัดวงแรก จากนั้นตามมาด้วย ฟรุตตี้ , บรั่นดี , คีรีบูน รวมถึงซิกซ์เซ้นส์ , เรนโบว์ อาร์.เอส.ซาวด์ในยุคนั้นไม่ได้เติบใหญ่อย่างวันนี้ สมัยนั้นสำนักงานของอาร์.เอส.ซาวด์ป็นตึกแถว 2 คูหา บนถนนอุรุพงษ์ ยุคนั้นเฮียจั๊ว เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ นั่งทำงานอยู่ที่นี่
ดนตรีสตริงในกลุ่มนี้ถือเป็นวงดนตรีสตริงคอมโบยุคที่ 2 ต่อจาก The Impossible, Grand'Ex , Isn't และ ชาตรี วงคีรีบูนเป็นวงดนตรีกลุ่มนักเรียนมัธยมในโรงเรียนศรีลาจารพิพัฒน์ และเพื่อนต่างโรงเรียนแต่อยู่บ้านใกล้กันมาจับกลุ่มกันเล่นดนตรีในแนว Folk Song โดยใช้ชื่อวงครั้งแรกว่า “อัญชา” นักเรียนกลุ่มนี้ได้ส่งเทปตัวอย่างเพลงที่แต่งและร้องกันเองเข้าประกวดวงดนตรีโฟล์กซองในรายการ "ซันเดย์แก๊ป" ในเวลาต่อมา
อ๊อด คีรีบูน เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนักเรียนชั้น ม.ศ.
“ ผมส่งเทปเข้าไปและไปออกรายการวิทยุด้วย เสียงเพลงของวงคีรีบูนไปเตะหูของคนในรายการคนหนึ่ง ต่อมาเทปม้วนที่ผมส่งไปถูกรื้อค้นและถูกตามตัวให้มาบันทึกเสียงเพลงใหม่ 2-3 เพลงเป็นเพลงที่ผมแต่งทั้งหมด ตอนนั้นผมเพิ่งเอนทรานซ์เข้ามาเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพอดี บรรดาเพื่อนๆที่เคยร่วมงานกับคีรีบูนสอบติดต่างจังหวัดเยอะมาก สมาชิกในวงเหลือเพียงผมกับโอ๋ อาทิตย์ นามบุญศรี เท่านั้น วงอินทนิลซึ่งรู้จักกับเราในตอนนั้นก็เลยพาเอาสมาชิกคนอื่นๆ เข้ามาร่วมวง อันได้แก่ ไพศาล อัญญธนา (ศาล), ชัยพล อิ่มด้วยสุข (หนุ่ม) , ไกรฤทธิ์ แพสุวรรณ (โหน่ง) และพิพัฒน์ นิลประภา (ตุ้ม) สมาชิกวงก็เลยครบ ผู้จัดการวงอินทนิลก็เลยเอาเพลงที่มาช่วยผมอัดเสียงไปให้อาร์.เอส.ฯ ฟัง ซึ่งอาร์.เอส.ฯ ก็คว้าทันที”
ต่อมาวงอัญชาถูกเปลี่ยนเป็น “วงคีรีบูน” เพราะชื่อวงอัญชาเรียกยาก วงคีรีบูนเข้ามาในประวัติศาสตร์วงการเพลงเมื่อปี 2526
อาร์.เอส.ซาวด์ ได้บุกเบิกเพลงวัยรุ่นครั้งแรกด้วยวงอินทนิล เมื่อปี 2524 นักร้องนำของวงคือ เรวัต สระแก้ว ต่อมาประกาศยุบวงในปี 2528 โดยสมาชิกบางส่วนมาตั้งวงเรนโบว์ ลดบทบาทนักร้องนำของเรวัต สระแก้ว โดยให้ต้อม พีระพงษ์ พลชนะมาทำหน้าที่นักร้องนำของวงแทน นอกจากวงอินทนิลแล้ว วงดนตรีที่มาก่อนหน้าวงคีรีบูนไม่กี่เดือนคือ ฟรุตตี้ (นักร้องนำคือ สุทธิพงษ์ วัฒนจัง) , บรั่นดี (นักร้องนำคือ โอภาส ทศพร) ฐานะของวงคีรีบูน เมื่อเริ่มต้นในวงการเพลงเป็นเพียงวงเสริมของค่ายอาร์.เอส.ซาวด์ โดย 3 วงก่อนหน้านี้ถือเป็นวงหลัก
อาร์.เอส.ซาวด์ในระยะเริ่มต้นไม่ได้มีทุนในการผลิตมากมายนัก จึงแบ่งพื้นที่สำหรับสร้างชื่อเสียงในต่างจังหวัด ตอนนั้นเพลงของ 3 วงหลักดังมากในเมือง ในขณะที่เพลงของคีรีบูนถูกส่งไปเปิดตามหน้าปัดสถานีวิทยุในต่างจังหวัด ซึ่งครั้งนั้นสมาชิกวงคีรีบูนยังคิดว่าเพลงของตัวเองไม่ดัง เพราะกรุงเทพฯ ฟังกันน้อยมาก
“ การใช้ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง เปิดเพลงให้ดังในต่างจังหวัดก่อน ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมไม่รู้หรอกว่าเพลงผมดังแค่ไหน ได้รับการโปรโมตแค่ไหน จนวันที่เราขึ้นเวทีคอนเสิร์ต โลกดนตรี”
“ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสขึ้นเวทีโลกดนตรี สห.ไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะเขาไม่รู้จักว่าวงนี้คือวงอะไร มีคนมองเราเยอะจัง แล้วทำเป็นค่อยๆ เข้ามาทีละคนสองคน จากสองคนกลายเป็น 4-5 คน แล้วก็กลายเป็น 10-20-30 โอ้โหทีนี้เริ่มมีคนกล้าที่จะดึงแขนเรา เริ่มดึงเริ่มทึ้งจนผมเซถลา ผู้ชมกว่า 30 คนก็มาล้มทับเรา วันนั้นผมคิดว่าชีวิตมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย ความเป็นกับความตายมันอยู่ระหว่างฝ่ามือ ที่เขาบอกว่าคนตายเพราะถูกทับ ถูกเหยียบกันผมก็คือสภาพนั้นเลย มันเลยทำให้เรารู้ว่า ตอนนี้เราเริ่มดังแล้วนะ ความดังมันเป็นอย่างนี้นี่เอง”
ความโด่งดังของคีรีบูนนั้นได้รับฉายาว่า แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ เมื่อออกอัลบั้มชุดที่ 2 เมื่อปี 2527 – รอวันฉันรักเธอ
“การแข่งขันเริ่มเข้ามาในวงการเพลงยุคนั้น บริษัทอื่นพอรู้ว่าคีรีบูนจะออกเทปเมื่อไหร่ ก็จะวางแผนเอาศิลปินลงประกบทันที เปิดเพลงในหน้าปัดวิทยุเดียวกัน โทรทัศน์ช่องเดียวกัน เอา 2 วงประกบหน้า – หลัง ถ้าเราไม่ตายก็จะเตรียมวงใหญ่ตบท้ายอีกทีหนึ่ง เมื่อผมไม่ตาย จึงได้ฉายานี้”
อ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ ชอบร้องเพลงแต่ไม่ชอบความเป็นดารา !! ทว่า 2 สิ่งนี้มาพร้อมกัน …
วันที่เขาโด่งดังในฐานะของนักร้อง – นักดนตรี “หง่าว” ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์คุณภาพที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น เคยโทรศัพท์มาหาเขาเพื่อชักชวนให้มาเล่นหนัง
“ ผมถามพี่เขาไปว่า พี่จะให้ผมเล่นเป็นตัวอะไร เป็นพระเอกโอเคครับ ขอบคุณมากครับ แต่ผมไม่สามารถครับ ผมคุยและบอกเหตุผลกับแกว่า ผมไม่อยากจะเป็นดารา แล้วผมก็ไม่ได้หล่อแบบพระเอกขนาดนั้น”
จนเมื่อปี 2532 อ๊อด รณชัย ได้มีโอกาสร่วมงานภาพยนตร์กับบัณฑิต ฤทธิ์ถกล เรื่องความรักของคุณฉุย (บทประพันธ์ ไมตรี ลิมปิชาติ) โดยแสดงกับ รัชนก พูลผลิน, จอนนี่ แอนโฟเน่, สุริวิภา กุลตังค์วัฒนา, ศุภกร อุดมชัย เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขา
ระหว่างปี 2526 – 2530 วงคีรีบูนมีผลงานเพลงกับอาร์.เอส.ฯ 5 ชุด คือ หากรัก (2526), รอวันฉันรักเธอ (2527), เพื่อน (2528), เพียงก่อนนั้น (2529) และ อ๊อด In USA (2529) บทเพลงที่มีชื่อเสียงและคนรู้จักกันมากคือ “รอวันฉันรักเธอ” - มีดวงใจหนึ่งดวง จะมอบให้เธอไว้ครอง เมื่อยามสองเรา..ต้องจากไกล พาดวงใจเลื่อนลอย ฝากบทเพลง บรรเลงให้ไว้ เธอโปรดเก็บใจ..เอาไว้เพื่อรอ เพลงนี้เขียนโดยได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนมือกลองในวง (สมัยประกวด) ที่แอบไปหลงรักสาวคนหนึ่ง
ฉายาของอ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ในวงเรียกว่า “กิ้งก่าทะเลทราย”
นอกจากฐานะของศิลปินในวงคีรีบูนแล้ว อ๊อด รณชัย ยังเป็น 1 ใน 14 นักร้องชาย – หญิงที่ร้องเพลงในนามของ รวมดาว 1-2 (ปี 2527-2528) นพเก้า 1 – 2 (ปี 2528-2529), พบดาว (ปี 2527) และมรดกไทย (ปี 2529)
เพลงเฉพาะเสียงของรณชัย ถมยาปริวัฒน์ในกลุ่มเพลงพิเศษนี้ เช่น ดอกฟ้าที่รัก (ชุด มรดกไทย), อ้อยใจ, มนต์รักอสูร, ดำเนินทราย, ปองใจรัก, ใต้ร่มมลุลี (ชุด รวมดาว 1- 2 ร้องคู่กับอัจฉรพรรณี หาญณรงค์), แต่ปางก่อน, อายุไม่สำคัญ, รักยังคอย (ชุด นพเก้า ร้องคู่กับ อัจฉรพรรณี หาญณรงค์) เป็นต้น
“ ผมว่าอาร์.เอส.ฯในยุคนั้นมีความชาญฉลาดทางธุรกิจอยู่จุดหนึ่ง ขณะที่ผมเป็นนักร้องนำวงคีรีบูน พอเพลงมันดังและติด เสน่ห์ของสมาชิกทุกคนในวงเกิดขึ้นโด่งดังไปพร้อมๆกัน อาร์เอสฯ จับนักร้องนำของวงต่างๆในบริษัทมาทำงานชุดพิเศษ อันได้แก่ รวมดาว , นพเก้า, มรดกไทย ซึ่งเป็นงานนอกเหนือสัญญาจ้าง เฮียจั้วบอกว่า ตามใจเฮียหน่อย เฮียให้ปีละ 5 แสน สัญญา 4 ปี ผมจะมีเงิน 2 ล้าน แต่เงินตรงนี้ ผมไม่ได้และไม่เคยเรียกร้องเงินในส่วนนี้”
วงคีรีบูนสร้างความสุขทางเสียงให้แก่ผู้ฟังจนถึงปี 2531 เมื่อทุกคนเรียนจบมหาวิทยาลัย ประกอบกับอ๊อด คีรีบูน ตัดสินใจฉีกสัญญาต่อหน้าผู้บริหารของอาร์.เอส.ซาวด์ ส่งผลให้มี “คดีความ” กับต้นสังกัดติดตัว แต่วงคีรีบูน นกเพลงเสียงไพเราะได้โบยบินอย่างเป็นอิสระบนฟ้ากว้าง สมาชิกต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางของแต่ละคน การฉีกสัญญาส่งผลให้อ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี รอลงอาญา 2 ปี เพราะไม่เคยทำผิดมาก่อน
“ ทนายบอกให้ผมรับหมดเลย อะไรที่เขาบอกมารับไปให้หมด ผมก็ทำตามทนาย แต่ถ้าย้อนเวลาได้ ผมก็อยากจะสู้ เพราะวันนั้นผมเด็กเกินไป ไม่มีประสบการณ์ เราต้องดูแลตัวเอง วันนี้ผมแกร่ง กล้ามากขึ้น ถึงกล้าขึ้นเวทีเสื้อเหลืองไง” อ๊อด รณชัย กล่าวพร้อมกับหัวเราะชอบใจ
คนส่วนใหญ่คงคิดว่า อ๊อด รณชัย บันดาลโทสะจึงฉีกสัญญาต่อหน้าผู้บริหารของอาร์.เอส.ซาวด์ … แต่เขายืนยันว่าเป็นการฉีกอย่างมีสติ !! ผ่านการนั่งสมาธิ ไตร่ตรอง ทบทวน และถามตัวเองถึง 2 วัน
“นั่งเพื่อถามตัวเองว่า สิ่งที่เราจะทำนี้ เราทำด้วยเหตุผลใด เรามีความละโมบเกิดขึ้นในใจมั้ย เช่นไปที่อื่นซึ่งให้เปอร์เซ็นต์ดีกว่าหรือไม่ ตอนนั้นผมยังไม่ได้คุยกับใคร ถามต่อไปว่าหลังฉีกสัญญาหากมีปัญหาอย่างหนัก ถ้าอย่างนั้น เราก็จะไปตายเอาดาบหน้า ถามตัวเองเพื่อให้มีความบริสุทธิ์ใจในการกระทำ ทุกอย่างที่เราจะดำเนินการนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น ผมเป็นคนที่ระมัดระวังในเรื่องความเห็นแก่ตัวมาก”
หลังเหตุการณ์นั้น อ๊อด รณชัย มีโอกาสพบกับเฮียจั้ว เกรียงไกร เชษฐ์โชติศักดิ์อีก 1 ครั้ง คืนนั้น นักร้องหนุ่มวงคีรีบูนไปร่วมงานศพพ่อเฮียจั๊ว …
“ เฮียจั๊วอ้าแขนกอดผม บอกว่า อ๊อด … เฮียขอบใจมาก – เฮีย ผมเสียใจด้วยครับ ผมไปงานศพวันนั้นเพราะผู้ใหญ่คนนี้ พ่อเฮียจั๊ว ผมเคยยกมือไหว้เรียกเตี่ยเวลาที่ผมไปที่บริษัทฯ เรื่องระหว่างผมกับบริษัท ผู้ใหญ่ท่านนี้ไม่ได้รับรู้เรื่องอะไรด้วย ดังนั้น ผมจึงต้องไปคารวะศพเตี่ย เรื่องของผมมันผ่านมาพอสมควรแล้ว ไม่ได้คิดเรื่องเผื่อจะได้เคลียร์กันด้วย หลังจากวันนั้น ผมก็อยู่ของผมตามปกติ”
ชีวิตหลังฉีกสัญญา เขาต้องทนตระเวนร้องเพลงตามไนต์คลับ บาร์ต่างๆ อยู่นานถึง 10 ปีเต็ม ทนกับอารมณ์ และเรื่องราวในวิถีชีวิตคนกลางคืน
“ จากที่ผมเป็นเด็กเรียน ผมไม่เคยร้องเพลงในคลับ บาร์มาก่อน ผมต้องทำ ไม่อย่างนั้น ผมอดตาย ขณะที่ผมร้องเพลงอยู่มีคนเมาประคองผู้หญิงมานั่งฟัง เพลงของผมอาจจะไม่ถูกใจเขา มันไม่เย้ว ผมต้องเจอกับอารมณ์สารพัด ทรมานเกับการร้องเพลงในบาร์นานถึง 10 ปีเต็ม ผมไปร้องที่พัทยาค่อนข้างประจำ จากนั้นตระเวนไปตามจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ไปเรื่อยๆ แต่ผมจะร้องเพลงตามความจำเป็นนะครับ คือไม่มีจะกินแล้วผมถึงจะหาและรับงานใหม่ เพราะจริงๆ แล้ว ในส่วนลึกของเราไม่อยากทำเลย ที่ทำเพราะว่าจำเป็น”
ชีวิตจะสมบูรณ์ต้องถึงพร้อมด้วยกฎพระไตรลักษณ์ “อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา” ไม่มีสิ่งใดหรือคนใดในโลกที่สมบูรณ์พร้อม ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทั้งสิ้น อยู่ที่แต่ละคนจะประคับประคองให้วันวิกฤตนั้นผ่านพ้นไปได้อย่างไรต่างหาก
ทุกวันนี้ อ๊อด รณชัย ในตำแหน่งนักร้องนำ , กีตาร์ ของวงคีรีบูนมีงานเพลงเป็นครั้งคราว เป็นผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการบริษัท คีรีบูน จีเนียส มิวสิค ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ อีก 5 คนแยกย้ายกันไปทำงานตามความถนัดดังนี้
โอ๋ - อาทิตย์ นามบุญศรี ตำแหน่ง กีตาร์, ร้องนำ - ครูสอนดนตรี บริษัท คีรีบูน จีเนียส มิวสิค
ศาล – ไพศาล อัญญธนา ตำแหน่ง คีย์บอร์ด, เบส - ผู้จัดการการตลาด งานราชการและการนิคม บริษัท ARATISE
โหน่ง - ธนพจน์ แพสุวรรณ ตำแหน่ง เบส - ผู้บริหาร บริษัท ฮีโน่ นครสวรรค์
ตุ้ม - พิพัฒน์ นิลประภา ตำแหน่ง คีย์บอร์ด - กรรมการบริหาร บริษัท เดอะคิงคอมมูนิเคชั่น จำกัด
หนุ่ม - ชัยพล อิ่มด้วยสุข ตำแหน่ง กลอง - Creative & Photographer Manmedia.CO. LTD
อ๊อด รณชัย เคยวาดฝันว่า ถ้าคีรีบูนจะกลับมาในวาระใดก็ตาม เขาต้องการผู้ชมแค่ 2-3 ร้อยคน คัดเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ ตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น โดยใช้สถานที่ซึ่งแวดล้อมด้วยธรรมชาติเป็นที่จัดงาน ซึ่งโจทย์ข้อนี้คงจะตอบยากอยู่สักหน่อย
ที่ผ่านมา เขายอมรับว่าแฟนคลับของคีรีบูนเคยรวมตัวกันจัดมีตติ้งและเชื้อเชิญเขาและสมาชิกบางคนไปเป็นแขกรับเชิญ ซึ่งแฟนคลับของคีรีบูนแตกต่างจากแฟนคลับอื่นตรงที่ต้องผ่านตรวจตรวจเช็ก สกรีนกันอย่างจริงจัง ถึงจะเป็นสมาชิกได้ ดังนั้น ณ ปัจจุบันจึงมีแฟนพันธุ์แท้ในหลักร้อย ทั้งโดยส่วนตัวของอ๊อด รณชัยก็ไม่ได้สนใจในเรื่องปริมาณ แต่สนใจคุณภาพในฐานะแฟนตัวจริงมากกว่า แฟนคลับจะเช่าสถานที่จากผับ - ร้านอาหารในย่านประชาชื่น หรือที่อื่นๆ เพื่อจัดงานมีตติ้งในวาระต่างๆ
“ทางทีวีไดเร็คมีน้องคนหนึ่งชื่อ “วิ” เป็นผู้บริหารอยู่ในนั้น และเคยเป็นแฟนเพลงของวงคีรีบูนในสมัยนั้นมาก่อน คีรีบูนไปเล่นที่ไหน วิคนนี้ก็จะตามไปดู ในวันนี้ที่เขามีเพาเวอร์ จึงได้เสนอวงคีรีบูนต่อบริษัททีวีไดเร็ค เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยจัดคอนเสิร์ต โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร มาแล้ว ก็เลยอยากจัดคอนเสิร์ตคีรีบูน ผมก็เช็กข้อมูลจนทราบว่าวิรู้จักวงคีรีบูนค่อนข้างลึก จึงสบายใจและไว้วางใจให้เขาจัด ผมไม่ได้สนใจว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่หรือไม่ แต่ผมต้องการทำงานกับคนที่มีความลึกซึ้งกับงานที่เรากำลังจะทำ” อ๊อด รณชัย กล่าว
วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2553 เวลา 19.30 น. รอบเดียวเท่านั้น ที่ฮอลล์ 1 อิมแพค เมืองทองธานี ที่คุณจะได้ร่วมบันทึกความทรงจำกับเรื่องราวของบทเพลงที่คุณประทับใจเมื่อ 26 ปีที่แล้ว กับวงดนตรีคีรีบูน – นกเสียงไพเราะแห่งโลกดนตรี และงานนี้ไม่มีการบันทึกการแสดงและจัดจำหน่ายในรูปของ DVD