xs
xsm
sm
md
lg

สงคราม(ศิลปิน)เกาหลีในแดนสยาม/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าเหมือนจะเป็น "สมรภูมิรบ" ไปเสียแล้วครับ สำหรับการแสดงความคิดเห็นผ่านงานเขียน 2 - 3 ชิ้นหลังในคอลัมน์ "ดนตรี" ของคุณ "ต่อพงษ์ เศวตามร์" บก.ข่าวเซคชัน "Super บันเทิง"

(เพื่อความมั่นคงทางด้านหน้าที่การงาน ต้องบอกก่อนนะครับว่า นี่คือ "การแสดงความคิดเห็น" ของผมที่มีต่อ "การแสดงความคิดเห็น" ผ่านงานเขียนของคุณต่อพงษ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผม ไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นของผม เกี่ยวกับงานเขียนของคุณต่อพงษ์ แต่อย่างใด 555)

เป็นสังเวียนระหว่างผู้ที่รักและชื่นชอบในตัวของนักร้อง-ดาราเกาหลี กับฝ่ายตรงข้ามที่มองว่าผลผลิตทางด้านบันเทิงจากแดนกิมจินี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีคุณภาพที่เพียงพอ และเป็น "ของปลอม" แต่ที่เด่นดังขึ้นมาก็เพราะอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างข่าว โดยค่ายเพลงใหญ่ของบ้านเราซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับต้นสังกัดของศิลปินนั้นๆ ที่มีเครื่องมือการสื่อสารในวงกว้างอยู่ในมือ

ขณะที่บางส่วนก็ค่อนแคะในทำนองที่ว่าวัยรุ่นบ้านเราที่ไปชอบไปคลั่งไคล้ดารา-นักร้องเกาหลี เป็นพวกไม่มีปัญญาไร้สติ โลก(การดูหนัง-ฟังเพลง) แคบ

เอาเป็นว่า ใครจะมีเหตุผลอะไรในการเลือกที่จะชอบ-ไม่ชอบ ก็ว่ากันไปเถอะครับ เพราะสุดท้ายเรื่องของรสนิยม เรื่องจริต-ความชอบส่วนบุคคล ต่อให้เถียงกันจนตายไปข้างหรือทั้งสองข้างก็ไม่จบ

(ต่างกับการโต้เถียงห้ำหั่นกันด้วยหลักฐานตามขั้นตอนทางกฏหมายที่สุดท้ายจะมีคนกลางคือศาลสถิตยุติธรรมรับหน้าที่พิจารณาตัดสิน ผลออกมาเป็นอย่างไรท้ายที่สุดทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาต้องน้อมรับ พึงอย่าได้ระยำเหมือนคนบางคนที่ทำตัวเป็นหมาบ้าหน้าเหลี่ยมเห่าด่าศาลหาว่ากลั่นแกล้ง ด่ากระบวนการยุติธรรมหาว่าเอนเอียง สร้างความวุ่นวายให้กับประเทศชาติอยู่ในขณะนี้)

ไม่ได้จะมาทำตัวเป็นกรรมการห้ามมวยหรอกครับ เพียงแต่อยากจะบอกว่าแทนที่จะมาทำเกรียน เถียงกันเพื่อให้รู้สึกว่าชนะ สะใจ บอกแล้วว่า(ทีม)กูเก่ง กูรู้ มึงอย่ามาเถียง มึงเถียงสู้กูไม่ได้หรอก ฯลฯ มันน่าจะได้ประโยชน์อะไรมากกว่านี้หรือไม่จากหลายๆ ความคิดเห็นที่แสดงออกมา?

เช่น มาช่วยกันดูว่าเกาหลีเขามีวิธีการเช่นไรถึงสามารถทำให้ของบ้านเขาเป็นที่นิยมในบ้านเราและอีกหลายประเทศในเอเชียได้ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ทรงผม แว่นตา ทัวร์ไปเที่ยวที่เกาหลี ฯ

ขนาดญี่ปุ่นเองที่ได้ชื่อว่าเป็นเต้ยของอุตสาหกรรมวงการบันเทิงของเอเชียก็ยังต้องยอมให้กับความฮิตของ *"ยองซัมมะ" (ซัมมะ แปลว่า ท่าน จะใช้ต่อชื่อเพื่อแสดงความยกย่อง) หรือ "เบยองจุน" พระเอกจากซีรีส์เรื่อง Winter love song (เพลงรักในสายลมหนาว) ที่กำลังเป็นที่คลั่งไคล้ของแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ขณะที่เกือบทุกร้านในญี่ปุ่นต้องมีเมนู "หมูผัดกิมจิ" ขาย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายข้าวหน้าเนื้อแบบแฟรนไชส์ ร้านอิซะกะยะ (ร้านกินเหล้าที่มีกับแกล้มจานเล็กจานน้อย)

(*อ้างอิงจากหนังสือ โตเกียวอะโซบิ 44 วัน โดย ม.ย.ร.มะลิ เรื่องอาวุธสงครามจากเกาหลี)

สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงดูนักร้องเกาหลี...เอ๊ะ มีคนเขาบอกว่าเราเป็นกบอยู่ในกะลา ฟังเพลงล้าสมัย เป็นเพลงที่แกรมมี่ฯ-อาร์เอสฯ เคยทำมาแล้วเมื่อสิบปีที่แล้ว แถมยังไปลอกท่าเต้นคนอื่นเข้ามาอีก...เอ้า ถ้าอย่างนั้นไหนลองเปรียบเทียบกันดูสิเหมือนหรือต่างอย่างไร..เอ หรือจะลองเปิดกะลาไปลองฟังเพลงที่เขาบอกว่าเป็นของจริงดูบ้างสิมันเป็นอย่างไร?

ไม่ใช่เขาวิจารณ์ศิลปินคนโปรดอะไรมา เอะอะก็เถียงดะ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือเหตุผลของคนอื่น รักแบบคลั่งไคล้ รักแบบไม่ยอมลืมหูลืมตา รักแบบยอมเป็นสาวก (โปรดมีสติพึงระลึกไว้เสมอว่ามันคือ "โลกมายา" ภาพที่สวย ภาพที่หล่อ ภาพที่แสนดี คำพูดที่ไพเพราะ ย่อมถูกนำเสนอมากกว่าในสิ่งที่ตรงกันข้าม)

ส่วนคนที่ไม่ชอบนั้น การวิจารณ์แบบฟันธงชนิดเหมารวมยกทั้งเข่งว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งหมดอย่างแน่นอน(คอนเฟิร์ม)ด้วยการวัดจากสิ่งที่ตนเห็นเพียงบางส่วน จากคนบางกลุ่ม จากพฤติกรรมบางพฤติกรรม ผมว่ามันก็ไม่เป็นธรรมสักเท่าไหร่นักกับผู้คนที่ถูกกล่าวถึง

ว่าไปแล้วโดยส่วนตัวแม้ผมจะรู้สึกว่า วัยรุ่นบ้านเรามรึงจะเกาหลีกันไปถึงไหน! แต่ถ้ามองว่านี่คือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตมนุษย์ส่วนใหญ่ที่จะต้องได้รับอิทธิพลจาก "กระแส-แฟชั่น" ในช่วงเวลานั้นๆ เข้ามามีบทบาท ทั้งในเรื่องของการฟังเพลง แฟชั่นการแต่งกาย ฯ ก็ถือว่าไม่น่าห่วงเท่าไหร่

อย่างยุคขาบานก็บานกันทั้งบ้านทั้งเมือง พอมาขาเดฟกันทั้งบ้านทั้งเมือง รัดกันซะจนไม่รู้ว่า 2 อัณฑะกับ 1 ไอ้นั่นมันไปกองกันอยู่ตรงไหน แต่พอเริ่มโตขึ้น เริ่มทำงานหาเงินได้เอง ผมเชื่อว่าหลายคนย่อมมีความคิดเป็นของตนเอง และเริ่มที่จะเลือกอะไรที่มันถูกกับรสนิยมของตนเองมากขึ้น (แน่นอนว่ามีบางส่วนอาจจะชอบในสิ่งที่กระแสนำมามอบให้)

แต่ทั้งนี้หน้าที่ของของคนที่ถูกเรียกว่าเป็น "ผู้ใหญ่" หรือมีประสบการณ์มากกว่าย่อมมิใช่การไปดูถูกเด็ก มองว่าเกรียน ต้องบังคับให้เขามาเป็นแบบที่ตัวเราเป็นหรือสิ่งที่ตัวเราชื่นชอบ ทว่าต้องคอยชี้แนะอย่างมีเหตุมีผลให้พวกเขาและเธออยู่ในกรอบของความชอบการคลั่งไคล้แบบพอดีพอประมาณ

เช่นหน้าตาสารรูปของลูกชายตัวเอง รู้ทั้งรู้อยู่ว่าปลากระโห้เรียกพี่ การจะสนับสนุนให้เขาเสียเงิน 4-5 ร้อยบาท (ขณะที่ครอบครัวมีรายได้เดือนละ 7-8 พันบาท) เพื่อทำผมทรงเดียวกับ "Hero-ดงบันชินกิ" มันจะเหมาะมั้ย?

หรือลูกสาววัย 13 อยากได้เสื้อหนาว-ผ้าพันคอ ราคาชุดละ 1,000-2,000 แบบที่น้อง "ยุนอา" เธอสวมใส่ แม้จะมีเงินพอซื้อได้ แต่มันจะดูฟุ่มเฟือยไปหรือไม่หากมามองถึงการใช้งานในบ้านเราที่อากาศร้อนโคตรๆ ไปเที่ยวเขาใหญ่ ภูกระดึง ภูชี้ฟ้า ก็ปี-สองปีละครั้ง ส่วนเมืองนอกเมืองนาไม่เคยไปเลย ฯลฯ

มากันที่เรื่องของการทำศัลยกรรมซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่ถกเถียงกันมาก

แน่นอนครับ ผมเองไม่ใช่คนเกาหลี มีโอกาสเที่ยวเกาหลีก็แค่ครั้งเดียว (ตามหมายเชิญของช่องทีวีไทยเมื่อครั้งยังเป็น "ไอทีวี" ช่วงที่นำซีรีส์เรื่อง "My Name is Kim Sam Soon" เข้ามาฉาย) เพื่อนเกาหลีก็ไม่มี อ่านภาษาเกาหลีก็ไม่ออก ฯ ด้วยเหตุนี้ก็เลยไม่รู้หรอกครับว่า ที่นั่นผู้หญิง-ผู้ชายทำศัลยกรรม "เกร่อ" กันแค่ไหน?

แล้วการทำแต่ละครั้งราคาถูกมากๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่บอกจริงหรือเปล่า? หรือจะเป็นเหมือนสเต็ปความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกอย่างที่คุณต่อ(หัวหน้าผม)บอกไว้หรือเปล่า ที่ว่า...ถ้าเป็นลูกรักของพ่อแม่ ของขวัญที่มอบให้ก็คือ การทำศัลยกรรมหน้า คือ เรียนจบประถมหรือมัธยมปุ๊บแม่จะให้เงินไปทำตาใหญ่ก่อน (ในเกาหลีนั้นเด็กก็สามารถทำศัลยกรรมได้ ถ้าผู้ปกครองเซ็นยินยอม) จบมหาวิทยาลัยก็ให้เงินไปทำจมูก ถ้าจะเข้าวงการบันเทิงก็ต้องเหลาคางและทำผิวขาว

แต่กระนั้นผมว่าก็น่าจะมีเยอะพอสมควร

แล้วคนเกาหลีทั้งหมดเขาเห็นดีเห็นงามกับเรื่องการทำศัลยกรรมเพื่อความหล่อ-ความสวยกันมากน้อยเพียงใด? คำตอบคือไม่ใช่แน่นอน ซึ่งนอกจากจะไม่สนับสนุนแล้วบางคนก็อาจจะออกแนวแอนตี้และมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศบ้านเขาเลยด้วยซ้ำ

หนึ่งในนั้นมีผู้กำกับชื่อดังที่ชื่อ "คิม คี ดุ๊ก" ( จาก SAMARITAN GIRL, 3-IRON, THE BOW ) คนนึงล่ะที่ไม่เห็นด้วย โดยแสดงผ่านออกมาจากภาพยนตร์ที่เขากำกับในชื่อ "Time" (เวลา ความรัก และเราสอง) นำแสดงโดย "ซุง ฮยุน อา" (จาก Lovers , Woman is The Future of Man ), "ฮา จุง วู" (จาก Madeleine, The Unforgiven )

หนังออกมานานแล้วครับ หาซื้อวีซีดีมาดูได้ ราคา 2 แผ่น ประมาณ 35 บาท ซึ่งต้องบอกก่อนว่ามันไม่ใช่หนังฟอร์มใหญ่หรือดูสนุกอะไรมากนัก ออกจะออกแนวโรคจิตนิดๆ ดูแล้วชวนอึดอัดน่ารำคาญ แต่กระนั้นก็สะท้อนมุมมองในเรื่องการทำศัลยกรรมของหนุ่มสาวชาวเกาหลีได้อย่างน่าสนใจ

เป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่ง(นางเอก)ที่มีความรู้สึกว่าคู่รัก(พระเอก)ของตนเปลี่ยนแปลงไปหลังคบหากันมาพักหนึ่ง และนั่นเองที่ทำให้เธอหงุดหงิด พาลหาเรื่องกับผู้หญิงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับฝ่ายชายอย่างไม่มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเด็กเสริฟในร้านกาแฟ หรือแม้แต่ผู้หญิงคู่กรณีที่ขับรถชนรถของฝ่ายชาย

คืนนั้นระหว่างที่นอนด้วยกัน ฝ่ายชายปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยบอกว่าเหนื่อย ทว่าฝ่ายหญิงก็พยายามขอร้องอ้อนวอน พร้อมกระตุ้นให้ฝ่ายชายมีอารมณ์ด้วยการให้เขานึกถึงหน้าของหญิงสาวที่ขับรถชนรถของเขาเอาไว้ระหว่างปฏิบัติภาระกิจกับเธอ

ปรากฏว่าพระเอกของเราคึกขึ้นมาทันที และกลายเป็นเซ็กส์ที่เร่าร้อนมากๆ

หลังเสร็จศึก ฝ่ายหญิงรู้สึกโกรธแฟนหนุ่มเป็นที่สุดโดยเข้าใจว่าเขาเบื่อหน้าเธอ ไม่รักเธอก็เพราะเธอไม่สวย นั่นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจที่จะทำศัลยกรรม!

(ไม่รู้ว่าขั้นตอนการทำศัลยกรรมจริงๆ เป็นเช่นไรนะครับ แต่ในหนังนั้นหมอจะต้องถามย้ำความตั้งใจของลูกค้าว่าต้องการจะทำจริงๆ หรือไม่ พร้อมกับให้ดูวิดีโอขั้นตอนของการผ่าตัดเพื่อให้เห็นถึงความเจ็บปวดทรมาน ทั้งการเฉือน คว้าน งัด แงะ ซึ่งต้องบอกว่าน่ากลัวและน่าหวาดเสียวเป็นที่สุด!)

หลังพักฟื้น 6 เดือนผ่านไปนางเอกของเรากลับไปหาฝ่ายชายอีกครั้งพร้อมใบหน้าและชื่อใหม่ เธอเริ่มผูกมิตรกับเขา ไปสมัครเป็นพนักงานเสริฟในร้านกาแฟ ไปเที่ยวกับเขาในสถานที่เดิมๆ ถ่ายรูปคู่ในมุมเดิมๆ เหมือนเมื่อครั้งที่เธอกับเขาเป็นแฟนกัน

ทั้งสองเริ่มสนิท และมีอะไรกันในเวลาต่อมา

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เหมือนจะไปด้วยดี แต่แล้วนางเอกคนใหม่ก็พบว่าพระเอกยังคงรัก และรอนางเอกคนเก่าอยู่ตลอดเวลา

เธอเสียใจ เธอคับแค้น เธอเขียนจดหมายโดยใช้ชื่อเดิมและนัดเจอพระเอกพร้อมด้วยใบหน้าเก่าที่เป็นหน้ากากจากกระดาษซีร็อกซ์ ทำให้พระเอกของเราโกรธจนกลายเป็นคุ้มคลั่งที่แฟนเขาคิดว่าเขารักเธอที่หน้าตาจริงๆ และมองว่าเธอบ้าไปแล้ว

เขาไม่แม้แต่ต้องการจะรู้ว่าใบหน้าที่อยู่ภายใต้หน้ากากนั้นเป็นเช่นไร? ก่อนที่เขาจะตัดสินใจไปทำศัลยกรรมใบหน้าตัวเองเพื่อเป็นคนใหม่บ้าง

6 เดือนต่อมา คราวนี้เป็นนางเอกของเราแหละครับที่จะต้องออกตามหาว่าผู้ชายคนไหนคือพระเอก (บอกแล้วว่าหนังออกแนวโรคจิตนิดๆ)

ตอนจบเป็นเช่นไรไม่ขอเล่าแล้วกันนะครับ เผื่อว่าบางคนจะมีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้จะได้เก็บเอาไปลุ้น

การกำหนดฉากเปิดของหนังกับฉากปิดเป็นฉากเดียวกัน รวมถึงฉากจบที่ให้เห็นภาพของหนุ่มสาวเกาหลีเดินไปมาในมุมกว้าง เสมือนราวกับว่าผู้กำกับชื่อดังคนนี้ต้องการจะสื่อให้เห็นว่าความนิยมในการทำศัลยกรรมของหนุ่มสาวชาติเดียวกับตนนั้นกำลังเป็นที่นิยมมากเพียงใด, และใบหน้าที่เห็นๆ นั้นใช่ใบหน้าที่แท้จริงของพวกเขาและเธอหรือไม่

เช่นเดียวกับบทสรุปของหนังที่ลงเอยด้วยวัฏแห่งโศกนาฏกรรมอันเป็นผลมาจากการยึดติดกับความสวยงามเพียงเปลือกนอกก็คงเป็นสิ่งที่สะกิดให้คนเกาหลียุคใหม่ซึ่งเกิดมาในยุครูปร่าง-หน้าตา-ชื่อเสียง--วัตถุ มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตให้หยุดคิดได้เป็นอย่างดี

และจะดีมากๆ อย่างแน่นอนหากหนุ่มสาววัยรุ่นของบ้านเราจะฉุกคิดได้ถึงประเด็นที่ว่านี้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น