xs
xsm
sm
md
lg

The Hurt Locker : สมรภูมินี้ไม่มีวีรบุรุษ/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


ถึงนาทีนี้ สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารวงการภาพยนตร์ The Hurt Locker น่าจะกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากหนังตะลุยทำคะแนนดะด้วยการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาเกือบจะครบทุกสถาบัน อีกทั้งล่าสุดยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 9 สาขา - เทียบเท่าหนังฟอร์มคนละขอบโลกอย่าง Avatar

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงวันนี้ The Hurt Locker ก็ประสบวิบากกรรมในเชิงพาณิชย์มาแล้วพอท้วมๆ หนังสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2008 (ด้วยทุนสร้าง 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าน้อยมาก) เดินทางไปเปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลหนังเวนิส ประเทศอิตาลี ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทว่าหลังจากนั้นหนังกลับหาผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาไม่ได้เลย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงกลางปี 2009 บริษัทซัมมิต เอนเตอร์เทนเมนต์ จึงตกลงใจที่จะจัดจำหน่ายหนังให้ ทว่าก็เป็นการฉายแบบจำกัดโรง - ด้วยตัวเลขจำนวนโรงที่จุ๋มจิ๋มจนน่าตกใจ คือ 4 โรงเท่านั้น

เกี่ยวอะไรกับ “คนดีผีคุ้ม” หรือเปล่าไม่ทราบ ทว่าจำนวนโรงฉายเพียงแค่นั้น ที่สุดแล้วก็กลับเพียงพอที่จะทำให้ The Hurt Locker สร้างกระแส “ปากต่อปาก” ขึ้นมาได้สำเร็จ นักวิจารณ์ชื่นชม คนดูชื่นชอบ จำนวนโรงขยับขึ้นจากเลขหลักเดียวเป็น 2 และ 3 หลัก แม้ตัวเลขรายรับเบ็ดเสร็จสุดท้ายในอเมริกาจะหยุดอยู่แค่ 12.65 ล้านเหรียญฯ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่หนังคว้ารางวัลจากสถาบันต่างๆ มาแบบท่วมบ้านปานนั้น (ซึ่งแน่นอนว่า กระแสปากต่อปากดังที่ได้กล่าวมา มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้หนังได้รับการเหลียวแลจากคณะกรรมการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีใหญ่ๆ อาทิ ลูกโลกทองคำและออสการ์) ก็มีผลทำให้อนาคตของหนังในตลาดต่างประเทศพลอยสดใสขึ้นตามไปด้วย

จุดใหญ่ใจความที่ทำให้ The Hurt Locker ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้จัดจำหน่ายในระยะแรก แน่นอนว่าก็ด้วยเหตุผลคลาสสิก คือ “หน้าตาไม่ขาย” หนังขาดแคลนนักแสดงนำอันเป็นที่รู้จัก (เรล์ฟ ไฟน์ส และ กาย เพียร์ซ ที่มีชื่อปรากฏในสื่อประชาสัมพันธ์ของหนัง เอาเข้าจริงก็เป็นแต่เพียงบทรับเชิญเท่านั้น) อีกทั้งยังใช้ฉากหลังเป็นสงครามอิรัก ซึ่งในช่วงระยะเวลาเกือบ 7 ปีนับตั้งแต่เริ่มสงครามเป็นต้นมา (สงครามอิรักเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2003 โดยมีกองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นหัวหอกในการนำกองกำลังนานาชาติบุกอิรัก) ยังไม่ปรากฏว่ามีหนังที่ว่าด้วยเรื่องนี้ –ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม- ทำเงินเป็นจริงเป็นจังเลยสักเรื่อง

The Hurt Locker เป็นผลงานกำกับของ แคธริน บิเกโลว์ ผู้กำกับหญิงซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำหนังแมนๆ อย่าง Point Break, Strange Days และ K-19: The Widowmaker (The Hurt Locker ทำให้บิเกโลว์เป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลจากสมาคมผู้กำกับอเมริก หรือ DGA และเป็นผู้หญิงคนที่ 4 ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม)

หนังเล่าถึงช่วงเวลา 38 วันของนายทหารสามนายแห่งหน่วยบราโว กับภารกิจเก็บกู้วัตถุระเบิดในกรุงแบกแดก ประเทศอิรัก

ทั้งสามนายประกอบด้วยจ่าสิบเอกวิล เจมส์ หัวหน้าหน่วยผู้พกพาลูกบ้ามาเต็มพิกัด มีหน้าที่ในการลงมือเก็บ กู้ ทำลาย หรือทำอะไรก็ตามแต่ที่จะหยุดยั้งวัตถุระเบิดเหล่านั้นไม่ให้มันสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนลูกน้องทั้งสอง คือ จ่าแซนบอร์น และพลทหารเอลดริดจ์ ในการออกปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ทั้งสองจะทำหน้าที่สอดส่องระวังภัยและสื่อสารกับทหารหน่วยอื่นๆ ในพื้นที่ ขณะที่หัวหน้ากำลังดวลเป็นดวลตายกับระเบิดสารพัดชนิดที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงลิบเหล่านั้น

โดยพื้นฐานของเรื่องนั้น The Hurt Locker มีองค์ประกอบแห่งความแอ็กชั่นและระทึกขวัญถึงพร้อมอยู่แล้วเป็นทุน ทั้งตัวละครบ้าดีเดือดที่คาดเดาพฤติกรรมไม่ได้ ระเบิดสารพัดประเภทที่คาดเดาไม่ได้ว่ามันจะระเบิดเมื่อไหร่ สภาพของสมรภูมิรบซึ่งฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่ทหารสวมชุดพรางที่ออกมายิงกันซึ่งๆ หน้า ทว่ามัน “เป็นใครก็ได้” และบ่อยครั้งที่หนังแสดงให้เห็น ศัตรูที่ทหารเหล่านี้ต้องห้ำหั่นด้วย ก็เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาๆ ที่เดินกันขวักไขว่ไปมาตามท้องถนนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แคธริน บิเกโลว์ก็กลับทำให้หนังขยับเกินเลยขอบเขต “แอ็กชัน-ระทึกขวัญ” และก้าวล่วงสู่เขตแดนของความ “ตึงเครียด-อึดอัด” ด้วยการอัดฉากกู้ระเบิดอันแสนจะกระชากหัวใจผู้ชมเข้ามาแบบไม่ยั้ง และแทบไม่มีเวลาผ่อนปรนให้ผู้ชมหันเหไปสู่ความรู้สึกอื่น

ขยายความก็คือ กว่าชั่วโมงแรกของ The Hurt Locker นั้น เป็นการแสดงฉากกู้ระเบิดราว 4-5 ฉากอย่างแทบจะต่อเนื่องกัน ทุกฉากล้วนตลบอบอวลด้วยบรรยากาศอันแสนจะตึงเครียด แต่ละฉากล้วนกินเวลายาวนาน (ดิฉันไม่ได้จับเวลา แต่คาดว่าฉากหนึ่งๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 10 นาที) โดยแทบจะไม่พยายามคลายความตึงเครียดให้แก่ผู้ชม –และตัวเอง- ด้วยการหันไปเล่าถึงเรื่องราวในแง่มุมอื่น อาทิ ปมปัญหาของตัวละครแต่ละตัว หรือความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสาม (ในหนังสงครามปรกติ ภายหลังฉากรบพุ่งระทึกใจ หนังก็มักจะผ่อนตัวเองลงมาโดยการสลับคั่นหันไปเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของตัวละครหลัก)

มากกว่านั้นก็คือ จะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทว่าหนังก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ตัวละครหลักทั้งสามนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ตายเท่าๆ กัน และมีสิทธิ์ตายได้ตลอดเวลา มันไม่ใช่อารมณ์แบบเวลาที่เราดู Die Hard หรือ 24 ที่ต่อให้ลุ้นระทึกขนาดไหน ลึกๆ เราก็รู้อยู่ในใจว่า พระเอกจะไม่ตายตอนจบ

ผลของทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาทำให้ The Hurt Locker เป็นหนังที่ดูแล้วทั้งเหนื่อย อึดอัด และทรมาน ถามว่าหนังดีไหม? ดี - เป็นวิธีการเล่าถึงสงครามที่น่าสนใจไหม? น่าสนใจ – กล้าไหมที่ใช้วิธีการเช่นนี้? โอ้ กล้ามากค่ะ - แต่ให้ดูอีกรอบเอาไหม? ดิฉันไม่ดีกว่า – ที่ผ่านมาดิฉันเคยเจอหนังที่ดีมากๆ แต่ขอดูแค่รอบเดียวมาจำนวนหนึ่ง และ The Hurt Locker ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่คิดว่าที่หนังออกมาเช่นนั้นเพราะแคธริน บิเกโลว์ “มันมือ” เกินไปหรือเล่นหนักโดยปราศจากความยั้งคิด แต่เชื่อว่า มันเป็นเจตนาของเธอและ มาร์ค โบล์ คนเขียนบท ที่อยากจะถ่ายทอดบรรยากาศของสงครามอิรักจริงๆ และทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับเข้าไปอยู่ในสมรภูมิรบด้วยตัวเองเสียมากกว่า (บิเกโลว์เคยมีความคิดที่จะทำหนังเรื่องนี้เป็นสารคดี ทว่าท้ายที่สุดก็ต้องเลิกล้มความตั้งใจ เพราะมันทั้งเสี่ยง อีกทั้งยังไม่ได้รับการอนุญาตจากกองทัพ)

ตามข้อมูลที่เคยอ่านพบ มาร์ค โบล์ ผู้เขียนบทหนังเรื่องนี้ อาชีพดั้งเดิมจริงๆ ก็คือการเป็นนักข่าว เขาเคยลงพื้นที่จริง เคยไปตามติดชีวิตเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดที่อิรักมาเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากคำบอกเล่าของโบล์ ภาระหน้าที่ของหน่วยเก็บกู้ระเบิดนั้น ในความเป็นจริงแล้วโหดหินกว่าที่เห็นในหนังมาก ในวันหนึ่งๆ เจ้าหน้าที่หน่วยนี้ถูกเรียกตัวไปจัดการกับระเบิดหลายต่อหลายครั้ง (ในหนังให้เห็นแค่วันละ 1 ครั้ง) และสภาพชีวิตที่นั่นก็ไม่เอื้อให้ทหารคนไหนมีอารมณ์มาคิดคำนึงถึงอดีตหรืออนาคต เพราะลำพังการประคับประคองให้ตัวเองมีชีวิตรอดในแต่ละวัน บ่อยครั้งยังเป็นเรื่องยากเกินจะทำได้อยู่แล้ว

พ้นจากที่กล่าวมา ความยอดเยี่ยมอีกประการของ The Hurt Locker ก็คือการที่มันสอดแทรกถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการเป็นตัวตั้งตัวตีก่อสงครามครั้งนี้เอาไว้อย่างแนบเนียน ไม่มีตัวละครตัวไหนด่ารัฐบาลอเมริกันออกมาตรงๆ ทว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่หนังเผยให้เห็นบ่อยครั้ง อาทิ สายตาเคลือบแคลงของชาวอิรักที่ยืนมองสองข้างทางในขณะที่รถฮัมวี่ของกองทัพอเมริกันวิ่งผ่าน ป้ายที่ติดไว้ท้ายรถฮัมวี่ว่า “อย่าเข้าใกล้เกิน 100 เมตร มิฉะนั้นคุณจะถูกยิง” ฯลฯ ...ไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำให้มากความ รายละเอียดเพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้ชมตระหนักว่า ชาวอิรักส่วนใหญ่ไม่ได้อ้าแขนต้อนรับทหารอเมริกันอย่างอบอุ่นหรือมองพวกเขาฉันท์มิตรเลยแม้แต่นิดเดียว

นอกจากนั้น การที่หนังให้ตัวละครตัวหนึ่งพูดถึงชาวอิรักในทำนองว่า “คนพวกนี้ก็หน้าเหมือนกันทั้งนั้น” และเหตุการณ์ ‘ผิดฝาผิดตัว’ ครั้งหนึ่งที่จ่าสิบเอกวิล เจมส์ประสบ (รวมถึงลักษณะพิเศษของสมรภูมิอิรักซึ่งดูเหมือนชาวอิรักแทบจะทุกคนล้วนมีสิทธิ์เป็นมือวางระเบิดดังที่ได้กล่าวไป) มันก็ชวนให้ผู้ชมคิดต่อไปได้เหมือนกันว่า หรือหนังมีเจตนาจะโยนคำถามใส่รัฐบาลอเมริกันว่า เอาเข้าจริง “พวกคุณรู้ไหมว่ากำลังสู้กับใครอยู่?”

เช่นกันกับหนังสงครามทั่วไป ที่ร้อยทั้งร้อยล้วนถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อประณามความเลวร้ายของสงคราม และเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า มันสามารถทำให้คนสูญเสีย “ความเป็นคน” อย่างไรบ้าง – The Hurt Locker เองก็ไม่ได้ต่างกัน

หนังมีข้อความสำคัญประโยคหนึ่งซึ่งปรากฏในหนังก่อนที่จะเข้าเรื่อง รวมถึงบนสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ – นั่นก็คือ War is a drug. “สงครามคือยาเสพติด” (มีที่มาจากหนังสือชื่อ War Is a Force That Gives Us Meaning ของ คริสโตเฟอร์ เฮดเจส นักเขียน / นักหนังสือพิมพ์ / นักข่าวสายสงคราม ชาวอเมริกัน)

วิล เจมส์คือตัวละครที่เป็นภาพสะท้อนของคำกล่าวนี้

เขาไม่ได้พาตัวเองร่วมสงครามเพราะมีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะกำราบอธรรม ค้ำจุนโลก หรือเพื่อแสวงหาสถานภาพวีรบุรุษจากความวิปโยคของเพื่อนมนุษย์

เขาเพียงแต่ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดี เหนืออื่นใด เขายอมรับว่าตัวเอง “รัก” ที่จะทำเช่นนี้
ในทัศนะของ The Hurt Locker ความร้ายกาจที่สุดของสงคราม ก็คือ การที่มันทำให้ใครบางคนเสพติดมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น คือการที่ใครบางคนรู้สึกว่า หากปราศจากมันเสียแล้ว ชีวิตก็ช่างว่างเปล่า ไร้ความหมาย

และก็เช่นเดียวกับยาเสพติดทั้งหลาย ที่ในยามเมามายได้ที่ ความหวาดหวั่นกลัวตาย ความแยแสใส่ใจผู้คนในชีวิต จิตสำนึกทั้งหลายทั้งปวงที่ประกอบรวมให้ใครสักคนเป็นมนุษย์ - ก็ดูเหมือนจะสูญสลายตามไปด้วย

หมายเหตุ The Hurt Locker จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 25 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงภาพยนตร์ house, เอสเอฟ เวิลด์ซีเนมา และพารากอน ซีนีเพลกซ์










กำลังโหลดความคิดเห็น