apnunt@yahoo.com
อันที่จริง ผมเกือบจะข้ามที่จะไม่เขียนถึงหนังเรื่องนี้แล้วในตอนแรก อย่างไรก็ดี เมื่อเห็นว่ามีคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านอุตส่าห์อีเมล์มาถามมากมายเหลือเกินว่า หนังเรื่องนี้น่าดูหรือไม่ ผมก็อดไม่ได้ที่จะขอเขียนถึงหนังเรื่องนี้สักตั้ง ให้หายคาใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคำถามที่ว่า ตกลงแล้ว นางเอกนั้น “ลอก” บุคลิกมาจาก “เหมยลี่” รถไฟฟ้ามาหานะเธอ หรือเปล่า??
อันดับแรก ก็เข้าใจล่ะครับว่า เงินทองนั้นหายาก การจะจับจ่ายใช้สอย ควรต้องมีสมองกำกับ (ผมล่ะชอบจังเลยที่มีคำกล่าวว่า รวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องโง่ด้วย เพราะบางที คนรวยๆ ก็ใช้ตังค์อย่างโง่ๆ ให้เราเห็นเยอะแยะ เช่น ถลุงเงินเลี้ยงลูกสมุนให้ทำลายบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง อะไรทำนองนั้น) จะดูหนงดูหนังก็ต้องชั่งน้ำหนักกันหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเอาเงินมาเสี่ยงกับหนังไทยด้วยแล้ว มันดูเหมือนว่าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่เป็น “ความน่าพอใจ” น้อยยิ่งกว่าเสี่ยงดวงซื้อหวยซะด้วยซ้ำ
เพราะอะไรน่ะหรือ?
ก็แหม คุณเอ๊ย ปีหนึ่งๆ ถึงจะมีหนังไทยเข้าฉายนับ 40-50 เรื่อง แต่ถามหน่อยเถอะว่า มันจะมีสักกี่เรื่องกันที่ดูแล้ว “แฮปปี้เอ็นดิ้ง” คือดูจบแล้วรู้สึกพออกพอใจที่ได้ดูและไม่เสียดายตังค์ค่าตั๋ว เพราะส่วนใหญ่เท่าที่เห็น ก็จะเป็นประเภท “แซดเอ็นดิ้ง” (Sad Ending) คือดูจบแล้วรู้สึกเสียดายตังค์และเวลาโคตรๆ ซะมากกว่า
เพราะเหตุฉะนี้นั้น คนทำหนังไทยก็อย่าได้ไปนึกน้อยอกน้อยใจคนไทยด้วยกันเลยครับ หรือพูดอีกอย่าง อย่ามัวไปโทษ Cat ตัวไหนเลยครับ เพราะบางที คุณภาพผลงานของพวกคุณเองนั่นแหละที่ทำให้คนไทยเบื่อและเอือมกับการดูหนังไทยไปเอง (พูดแบบนี้ อาจดูเป็นการเหมายกเข่ง ซึ่งไม่ใช่เลยครับ เพราะอันที่จริง หนังไทยที่ทำได้ดีๆ ก็มีอยู่แน่นอน เพียงแต่นานๆ จะโผล่มาสักครั้ง)
เรื่องแบบนี้ ผมว่า บางที มันก็เกี่ยวกับความไว้เนื้อเชื่อใจเหมือนกันนะครับ เพราะถ้าจะลองเปรียบเทียบคนทำหนังเหมือนพ่อค้า คนดูคือผู้ซื้อก็ย่อมมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้า “พ่อค้า” คนไหน เคยผลิตสินค้าที่ทำให้คนซื้อผิดหวังมาแล้ว คราวต่อไป เพียงแค่ได้ยินชื่อของพ่อค้า ผู้ซื้อก็คงไม่อยากแม้แต่จะเหลียวมองแล้ว มันก็เหมือนกับคนที่เคยเจ็บ แล้วก็ไม่อยากเจ็บซ้ำอีกรอบนั่นแหละครับ คิดง่ายๆ เลย (เจ็บแล้วจำคือคน เจ็บแล้วทนคือควาย ถูกต้องที่สุดแล้ว จริงไหมครับคุณที่รัก??)
เอาล่ะ ไม่ว่าจะอย่างไร ในวงการหนังบ้านเรา ก็ยังมีผู้กำกับอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งถือได้ว่า “มีประวัติผลงานที่ดี” ในสายตาคนดูหนัง และพอมีผลงานชิ้นใหม่ออกมา ประชาชนคนดูก็พร้อมที่จะจ่ายเงินให้ ไม่ต้องพูดไปถึงรุ่นใหญ่แบบท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ปูชนียบุคคลแห่งวงการหนังไทย คนทำหนังร่วมสมัยหลายๆ คน อย่าง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, เอส-คมกฤษ ตรีวิมล, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, นนทรีย์ นิมิบุตร ฯลฯ เขาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีเครดิตที่ดีในสายตาคนดูหนังด้วยกันทั้งสิ้น
และคงไม่ขี้เหร่เกินไปนัก หากใครสักคนจะคิดว่า 3 ผู้กำกับ My Valentine (เสรี พงษ์นิธิ, พรชัย หงส์รัตนาภรณ์, และ ทรงศักดิ์ มงคลทอง) ก็อาจจัดอยู่ในจำนวนคนทำหนังที่พอจะไว้วางใจได้เช่นเดียวกัน อาจยังไม่ถึงขั้นดีเลิศประเสริฐศรี แต่ก็เหมือนกับ “บัวเหล่าที่ 2” ซึ่งลอยตัวอยู่ปริ่มน้ำ ขยับอีกสักนิดเดียว เคี่ยวกรำตัวเองอีกนิดหน่อย ก็น่าจะสามารถสร้างผลงานที่เจ๋งๆ ได้แล้ว
ผมรู้สึกของผมเองว่า Before Valentine (ออกฉายเมื่อปีที่แล้ว) ที่เป็นงานเรื่องแรกของพวกเขานั้น มีมุมมองที่ใช้ได้ทั้งในวิธีการเล่าเรื่อง (การเล่าเรื่องของตัวละครคู่รักหลายๆ คู่ ก่อนจะตลบหลังคนดูด้วยการเฉลยปมบางอย่างที่ “เข็มขัดสั้น”) รวมไปจนถึงเนื้อหาสาระที่นำเสนอกับประเด็นมุมมองความรักหลากมิติ
ถ้าคนส่วนใหญ่คิดว่าโลกนี้มีหนังอยู่สองแบบ คือหนังดีกับหนังเลว ผมอยากจะเพิ่มให้อีกอย่างว่ามันยังมีหนังที่ “พอดูได้” และ “น่าให้กำลังใจ” อยู่จำนวนหนึ่ง และไม่มากไม่มาย สำหรับ Before Valentine ผมก็รู้สึกกับมันแบบนั้นได้อย่าง “สนิทใจ”
แล้วกับงานเรื่องใหม่อย่าง My Valentine ล่ะ เป็นอย่างไร?
ด้วยชื่อของหนัง อาจจะทำให้ใครต่อใครรู้สึกไปว่านี่เป็นหนังภาคต่อของเรื่องที่แล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลยครับ โอเคล่ะ ถ้าจะมีอันหนึ่งอันใดที่ผมคิดว่า ทั้งสองเรื่องพอจะเรียกว่าเป็นพี่เป็นน้องกันได้ ก็คงเป็นโครงสร้างของหนังที่ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่กับรูปแบบการเล่าเรื่องที่พูดถึงคู่รัก 3 คู่เหมือนๆ กัน (ซึ่งอาจจะถูกกำหนดมากลายๆ โดยจำนวนผู้กำกับที่มีอยู่ 3 คน เลยต้องแบ่งๆ กันกำกับคนละเรื่องสั้นๆ) พ้นไปจากนั้น กลิ่นอายสไตล์หนังที่เน้นความน่ารักกุ๊กกิ๊กอารมณ์ดี ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างในหนังทั้งสองเรื่อง
My Valentine เล่าเรื่องราวของสาวสวยหมวยเลือกได้อย่าง “มายด์” ที่มีผู้ชายผ่านเข้ามาในชีวิตให้เลือกถึง 3 คน 3 แบบ และโจทย์สำคัญที่หนังวางไว้ในพล็อตเรื่องให้คนดูเข้าไปร่วมกันค้นหาคำตอบ ก็เล่นกับ “สมมติฐาน” และการคาดเดา ทำนองเดียวกันกับหนังอย่าง Sliding Doors [ที่เริ่มต้นด้วยคำถามทำนองว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าหากว่า...?”(What if...?)] นั่นก็คือ สุดท้ายแล้ว “มายด์” จะเลือกผู้ชายแบบไหนมาเป็นคู่ครองใจของตัวเอง
หนังนั้นมีดีแน่นอนครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมรู้สึกว่า นี่เป็นหนังที่มี “เนื้อหาสาระ” แน่นที่สุดแล้วในบรรดาหนัง 4-5 เรื่องที่เข้าฉายมาแต่ต้นปี ขณะเดียวกัน มุกตลกต่างๆ ก็ทำให้การดูหนังเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างรื่นรมย์พอสมควร
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า มันเป็นภาระที่หนักหนาเอาการอยู่เหมือนกันสำหรับนักแสดงหน้าใหม่อย่าง “มิ้นท์-มิณฑิตา วัฒนกุล” ที่เพิ่งเล่นหนังเป็นครั้งแรก แต่ต้องมาแบกรับหนังทั้งเรื่อง กับบทของ “มายด์” ซึ่งมีสถานะเป็น “เสาหลัก” ของหนัง อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าไม่ขี้เหร่เลยครับสำหรับการแสดงของทายาทสาวคุณโกวิท วัฒนกุล คนนี้ แม้เมื่อพูดกันอย่างถึงที่สุด เทียบกับ “เหมยลี่” แห่งรถไฟฟ้ามาหานะเธอแล้ว เธอจะยังเป็นมวยรองอย่างมองเห็นได้เด่นชัดก็ตามที
มาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถาม เหตุไฉน ผมจึงโยง “มายด์” ไปเปรียบเทียบกับ “เหมยลี่” (คริส หอวัง) เหตุผลนั้นไม่ซับซ้อนเลยครับ เพราะที่ผ่านๆ มา มีหลายคนเหลือเกินที่ถามผมว่า ตกลง เธอสองคนนี้ “มีอะไรกัน” หรือเปล่า? (ความหมายของ “มีอะไรกัน” ก็คือ เหมือนกันหรือเปล่านั่นแหละครับ อย่าคิดมาก)
เรื่องความเหมือนหรือไม่เหมือนนี่ ผมว่า มันรู้สึกกันได้อยู่แล้วล่ะครับ และบอกตามตรงว่า ในบางขณะ การแสดง ตลอดจนสีหน้าท่าทางของ “มายด์” ก็ทำให้ผมนึกไปถึงหญิงสาวอย่าง “เหมยลี่” เช่นกัน
อันที่จริง พอเจอคำถามว่าเหมือนหรือไม่เหมือน ผมนึกไปถึง “นางเอก” ในหนัง Chick Flick (หนังที่วางตำแหน่งของนักแสดงนำหญิงเป็น “บุคคลสำคัญ” ของเรื่องราว) แนวตลกๆ ส่วนใหญ่ของฝั่งฮอลลีวูดนะครับ ซึ่งว่ากันตามจริง ก็แทบจะเรียกได้ว่า “โคลนนิ่ง” คาแรกเตอร์ของกันและกันมาแทบทั้งนั้น นั่นยังไม่ต้องพูดถึงบุคลิกต๊องๆ แบบ “จวนจีฮุน” ใน My Sassy Girl ที่ก็ถูกผลิตซ้ำในหนังเกาหลีนับเรื่องไม่ถ้วนเหมือนกัน
และพูดก็พูดเถอะ แม้แต่เหมยลี่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างในตังเองที่ชวนให้คนดูนึกไปถึงหนังตัวละครในหนังเรื่องอื่นๆ อย่างความโอเว่อร์หลุดโลกเหมือนตัวละครในหนังโจวซิงฉือ ความตลกโก๊ะกังสไตล์การ์ตูน (ชัดสุด ผมว่าเธอเหมือน “โนดาเมะ คันทาบิเล” มากๆ) หรือแม้แต่จะพูดว่าเป็น บริดเจ็ท โจนส์ ที่โอนสัญชาติมาเป็นคนไทยและพูดภาษาไทย ก็พอจะพูดได้อีกเช่นกัน
คำถามสำคัญก็คือว่า ถ้าหน้าตาท่าทางมันเหมือนกันแบบนั้นแล้ว สิ่งที่ตัวละครเหล่านี้จะต้องวิ่งไปชี้วัดกันอีกขั้นก็คือ รายละเอียดของแต่ละคนว่าจะมีอะไรแตกต่างไปจากคนอื่นๆ หรือไม่อย่างไร แน่นอนครับ สำหรับน้องมายด์แห่ง My Valentine พูดกันอย่างเป็นธรรมกับเธอ ผมว่ารายละเอียดชีวิตของเธอนั้น ไม่เหมือนกันเลยกับ “เหมยลี่”
อย่างน้อยที่สุด “มายด์” ไม่ใช่ตัวละคร “เนื้อหาเดียว” คือเป็นแค่คนโสดขี้เหงาซึ่งเฝ้าคอยใครสักคนเหมือนเหมยลี่ เพราะบางที มายด์ก็ “ร้ายเอาเรื่อง” เหมือนตอนที่จิ๊กหนุ่มมิค (วสุ แสงสิงแก้ว) มาจากหญิงอีกคน บางที เธอก็เศร้าและเหงา และอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นว่ามายด์ก็เหมือนหญิงสาวอีกหลายๆ คนในโลกนี้ที่เคยเดินหนีจาก “ความรักครั้งเก่า” ก่อนจะมาค้นพบทีหลังว่า นั่นคือ “ความรักที่ดี”
อย่างไรก็ตาม การโปรยรายละเอียดลงไปในตัวของมายด์เยอะๆ แบบนี้ มันก็ส่งผลข้างเคียงตามมาเช่นกัน เพราะถ้าเทียบกันในแง่ “ความสามารถ” ของบท ในการที่จะทำให้คนดูเอ็นดูรักใคร่นั้น ผมว่า หญิงสาวแห่งรถไฟฟ้าฯ ดูจะมีราคาเป็นต่อค่อนข้างสูง
ที่เป็นเช่นนี้ ผมว่าเนื้อหาของหนังนั้นก็มีส่วน ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันจริงๆ “เหมยลี่” นั้น มีประเด็นชัดเจนในตัวเองและเรียก “อารมณ์ร่วม” จากคนดู (ส่วนหนึ่ง) ได้ไม่ยาก เพราะความเป็นเธอ คือคนที่มีชีวิตอยู่มานานแต่ยังโสด เหงา ว้าเหว่ และรอคอยคนที่ใช่หรือใครที่ชอบ ประเด็นนี้มันโดนใจคนไร้คู่เข้าอย่างจัง (บางที รายได้เกินกว่า 150 ล้านบาทของ “รถไฟฟ้าฯ” อาจสะท้อนให้เห็นก็ได้ว่า บ้านเราเมืองเรา เต็มไปด้วยคนเหงาใจไร้คู่เยอะแยะจริงๆ 55)
ส่วน “มายด์” แม้ว่าจะเป็นคนที่ต้องพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่หนังก็ไปให้น้ำหนักกับการเลือกผู้ชายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตซะเกินครึ่ง ซึ่งในจินตนาการของผม ทีแรก คิดว่า “มายด์” น่าจะเป็นหญิงสาวที่อกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่เคยเข็ดหลาบ และยังคงตั้งหน้าตั้งตาแสวงหารักแท้ต่อไป และยิ่งฟังเพลงที่ใช้ประกอบในการโปรโมตอย่างเพลง “ขาหมู” ของวงแทตทู คัลเลอร์ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เชื่อมั่นมากขึ้นว่า ตัวตนของมายด์ไม่น่าจะไกลไปจากที่คิดไว้ แต่ในความจริง หนังยังเค้นตรงนี้ได้ไม่อยู่หมัด
แน่นอนล่ะว่า เนื้อหาที่หนังพูดถึง “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ของผู้ชายแต่ละแบบ (อย่างน้อยก็ 3 แบบ ที่หนังเลือกมา) และพยายามบอกให้เรารู้ว่า คนเราไม่มีใครที่เพอร์เฟคต์ไปซะทุกด้าน นั้นเป็นสาระที่ดีมากๆ ของหนัง แต่ถึงกระนั้น ผมคิดว่าถ้าหนังอยากจะให้ตัวละครอย่าง “มายด์” เป็นขวัญใจคนดูจริงๆ อาจจำเป็นต้องเน้นความเป็นคนไม่หมดหวังในความรัก ทั้งที่อกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงเฝ้ารอคนที่ใช่ ใส่ลงไปในตัวของมายด์มากกว่านี้
พูดง่ายๆ ก็คือว่า ทั้งๆ ที่หนังมีนักแสดงตัวยืนเป็นผู้หญิง แต่เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่เราสัมผัสได้แจ่มชัดที่สุดและรู้สึกว่าหนังสื่อสารได้ดีที่สุด ก็คือการพูดถึงความไม่เพอร์เฟคต์ของผู้ชาย ซึ่งถ้าจะเปรียบไป มายด์ก็คงเหมือนกับจอโปรเจคเตอร์สักจอที่รอฉายภาพของผู้ชายหลากหลายแบบที่มาโลดแล่นอยู่บนนั้นเพื่อให้เราได้มองเห็นความไม่สมบูรณ์พร้อมของพวกเขานั่นเอง
ขออนุญาตเปรียบเทียบกับเหมยลี่อีกครั้งครับ ผมว่าสาเหตุที่ทำให้เหมยลี่โดนใจผู้คน เหตุผลหลักๆ ไม่ใช่เพราะท่าทางตลกโก๊ะกังหรือหน้าหมวยเหล่านั้นหรอกครับ หากแต่เป็นเพราะตัวตนที่ชัดเจนของเธอ---โสด ขี้เหงา ต้องการคนรัก---ต่างหาก สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอออกมาอย่างเด่นชัดให้คนดูสัมผัสและรู้สึกมีอารมณ์(และประสบการณ์)ร่วมได้ไม่ยาก ซึ่งสำหรับน้องมายด์ ผมว่า หนังยังไม่สามารถเจาะทะลวงเข้าไปถึงภาวะความรู้สึกลึกๆ ข้างในของเธอได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ ซึ่งคงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า “จุดขาย” ในตัวเธอ ยังไม่โดน (คำว่า “สวย หมวยเลือกได้” ในหนังโปรโมต ไม่พอครับสำหรับเรียกคนไปดู)
แต่เอาเถอะ ไม่ว่าที่สุดแล้ว สาวหมวยอย่างมายด์จะทำให้คนดู “อิน” ไปกับเธอได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถึงยังไง ผมว่าสาวตาหยีอย่าง “มิ้นท์-มิณฑิตา” ก็เต็มที่กับบทแรกในชีวิต สมกับที่ถูกวางตัวให้เป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของหนัง พูดภาษาของคอมเมนเตเตอร์แห่งรายการ AF ก็ต้องบอกว่า เธอ “ไปต่อได้” ในเส้นทางสายนี้
พูดกันอย่างถึงที่สุด นี่ไม่ใช่หนังเลวร้าย แต่ถามว่า “ดีมาก” มั้ย ก็คงไม่ถึงขั้นนั้น หรือถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมาเลย ผมคิดว่า ผู้กำกับทั้ง 3 ท่านยังคงรักษามาตรฐานของหนังเรื่องที่แล้วไว้ได้อย่างมั่นคง ด้วยการทำให้ My Valentine มีภาพรวมในลักษณะของการเป็นหนังระดับกลางๆ ที่น่าให้กำลังใจ มีมุกตลกที่ดีใช้ได้ เท่าๆ กับที่มีสาระให้เก็บรับ
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าคุณคิดว่าตัวเองจ่ายเงินร้อยกว่าบาททั้งทีเพื่อที่จะได้เข้าไปดูอะไรซึ่งต้อง “สุดยอดๆ” แบบ Avatar หรือ The Dark Knight เท่านั้น ผมก็คงไม่มีอะไรจะพูดเช่นกัน...