xs
xsm
sm
md
lg

ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


apnunt@yahoo.com

ถ้าหากหนังที่สร้างมาจากประพันธ์ของคุณสุวรรณี สุคนธา เรื่อง “เขาชื่อกานต์” ซึ่งกำกับโดยท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล จะนับเป็นการถือคลอดให้กับภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคม หนังอย่าง “ครูบ้านนอก” (ปี 2521) ซึ่งมีคุณสุรสีห์ ผาธรรม เป็นผู้กำกับ ก็คงเป็นคลื่นอีกลูกหนึ่งในบรรดาคลื่นลูกหลังๆ ที่ร่วมกันซัดสาดเข้ายึดหัวหาดวงการหนังไทยและพลิกเปลี่ยนโฉมหน้าวงการหนังยุคนั้นไปโดยสิ้นเชิง

ไม่มากไม่มาย ผมเชื่อว่า คนรุ่นๆ อายุสัก 40 ปีขึ้นไปหรือน้อยกว่านั้นนิดหน่อย ซึ่งเติบโตมาทันช่วงเวลาประมาณหลังจากเหตุการณ์เดือนตุลา (ทั้ง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19) น่าจะคุ้นเคยกับหนังแนวนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะมันเป็นช่วงที่หนังสะท้อนสังคมสุกงอมเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงปี 2521-2525 นั้น พูดได้ว่าเป็นยุคทองของหนังแนวนี้เลยทีเดียว

คงเหมือนๆ กับกลุ่มก้อนวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคนั้นที่พยายามนำความจริงทางสังคมมาตีแผ่ในตัวหนังสือ คนทำหนังไทยในช่วงทศวรรษ 2520 ก็ได้พาตัวเองก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปในสังคมผ่านภาพยนตร์เช่นเดียวกัน และได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ที่น่าจดจำและถูกกล่าวซ้ำย้ำถึงมาจนทุกวันนี้หลายต่อหลายเรื่อง เช่น เทพธิดาโรงแรม, ชีวิตบัดซบ, เทวดาเดินดิน, คนภูเขา, ประชาชนนอก, ทองพูนโคกโพ ราษฎรเต็มขั้น, ชีวิตบัดซบ, เมืองในหมอก ฯลฯ มาจนถึงคลื่นลูกหลังๆ อย่าง ยุทธนา มุกดาสนิท ที่ทำให้ “น้ำพุ” กับ “ผีเสื้อและดอกไม้” กลายเป็นหนังไทยทรงคุณค่าตราบจนปัจจุบัน (โอกาสข้างหน้า ผมจะมาพูดเรื่องหนังไทยดีๆ เหล่านี้แบบเต็มๆ สักครั้ง)

แน่นอนครับ แม้หนังทำนองนี้จะผ่านพ้นยุคทองของมันไปนานแล้ว อย่างไรก็ดี ผมคิดว่ามันก็ยังคงเป็นความรู้สึกดีๆ เสมอ ยามได้หวนระลึกนึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ครูบ้านนอก” เรื่องนี้ ที่ล่าสุด ได้รับการนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่งในชื่อ “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่”

บอกตามตรงครับว่า คุณสุรสีห์ ผาธรรม กำกับหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ตั้งแต่ผมยังไม่เกิดด้วยซ้ำ (ปี พ.ศ.2521) แต่ก็เหมือนหนังดีๆ ยุคนั้นที่ผมได้ดูจากวิดีโอบ้างแผ่นวีซีดีบ้าง อย่างไรก็ตาม คุณค่าความดีของมันนั้นก็ไม่ได้หล่นเรี่ยเสียหายแต่ประการใด

โดยที่มาที่ไป หนังเรื่องนี้สร้างมาจากวรรณกรรมของ “ครูคำหมาน คนไค” เล่าเรื่องของครูหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบและไปประจำการสอนในถิ่นไกลปืนเที่ยง ตัวหนังนั้นมีความน่าประทับใจในหลายๆ ส่วน ไล่ตั้งแต่เนื้อหาที่สะท้อนภาพชีวิตอันยากไร้และน้ำจิตน้ำใจที่ดีงามของผู้คนในชนบทยุคเก่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการครูในต่างจังหวัด ไปจนถึงการเสียสละของครูหนุ่มที่นอกจากจะทุ่มเทแรงงานแรงใจให้กับท้องที่ซึ่งดูเหมือนจะถูกสังคมทอดทิ้ง ตัวเองยังต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนายทุนเจ้าอิทธิพลในท้องถิ่นจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ

ขณะเดียวกัน ผลงานชิ้นนี้ยังได้แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการให้กับนักแสดงอย่าง “ปิยะ ตระกูลราษฎร์” ที่รับบทบาทแสดงนำเป็นเรื่องแรกในชีวิตกับบทของครูหนุ่มเจ้าอุดมการณ์ซึ่งส่งให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตกก่อนจะกลายเป็นดาราคิวทองอีกคนหนึ่งของยุคนั้น

ครับ, ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่พูดมา มันจึงเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินข่าวว่า คุณสุรสีห์ ผาธรรม เจ้าเก่า จะหยิบเอาผลงานของตัวเองมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ผมสนใจในตอนแรกก็คือว่า 31 ปีผ่านไป คุณสุรสีห์ ผาธรรม (ซึ่งตามอายุอานามตอนนี้ ผมน่าจะเรียกท่านว่า “ลุง” ได้แล้ว) จะทำหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างไร ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

หลังจากที่ได้ดู ผมมีความรู้สึกว่า คุณสุรสีห์ และผู้กำกับฝีมือดีอย่าง “ไมเคิล ฮาเนเก้” นั้น มีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่อาจปฏิเสธ เพราะในขณะที่คนหลัง รีเมคหนังเก่าของตัวเองเรื่อง Funny Games (สุดยอดหนังเรื่องหนึ่งในโลกภาพยนตร์) แบบช็อตต่อช็อต คุณลุงสุรสีห์เองก็ผลิตซ้ำ “ครูบ้านนอก” ในลักษณะที่พูดได้เลยว่า ถ้าไม่นับรวมชื่อเรื่องและทีมนักแสดงที่เปลี่ยนแปลงไป รายละเอียดนอกจากนั้นทั้งหมดแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยกับต้นฉบับดั้งเดิม

ด้วยแบ็กกราวน์ฉากหลังของเรื่องราว สภาพแวดล้อมของสถานที่ รวมไปจนถึงเนื้อเรื่อง ปมเรื่อง ที่ถอดแบบกันมา “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” จึงไม่อาจสร้างความรู้สึกแปลกใหม่อะไรเลยสำหรับคนที่เคยดูเวอร์ชั่นเก่ามาแล้ว นั่นหมายความว่า ถ้า “ครูบ้านนอก” คือบันทึกทางสังคมฉบับหนึ่ง มันก็คงเป็นบันทึกฉบับเดียวกัน เพียงแต่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน โดยคนคนเดียวกัน เท่านั้นเอง

อันที่จริง ผมคิดว่า ในห้วงเวลากว่า 30 ปีมานี้ สังคมชนบทภาคอีสานเปลี่ยนแปลงไปเยอะเลยนะครับ ทั้งในแง่สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ผันแปรไปตามกาลเวลา ซึ่งหนังสามารถหยิบจับมาบอกเล่าได้ และเหนืออื่นใด ผมคิดว่าคุณสุรสีห์เองก็คงเข้าใจว่า คำว่า “รีเมค” นั้นไม่ได้หมายความถึง “ต้องทำเหมือนเดิมทุกอย่างทุกประการ” แต่ก็อย่างที่บอก ในเมื่อคุณสุรสีห์ต้องการหยุดเวลาของครูบ้านนอกไว้แค่ในอดีต สิ่งที่เป็น “ความร่วมสมัย” ต่างๆ ซึ่งหนังสามารถใช้สอยประโยชน์จากมันได้ จึงไม่ถูกนำมาถ่ายทอดในงานรีเมคชิ้นนี้

อย่างไรก็ดี พูดเช่นนี้ ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะจมตัวเองอยู่กับอดีตซะทั้งหมด อย่างน้อยๆ ผมรู้สึกว่า เนื้อหาแก่นแกนของหนัง ก็ยังดูเป็นสิ่งที่มีความร่วมสมัยอยู่เสมอ เช่น เรื่องราวของคุณครูผู้เสียสละเฉกเช่นครูพิเชษฐ์ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่ายังคงมีอยู่แน่นอนในตอนนี้ ไปจนถึงเนื้อหาในส่วนของกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ที่ฝังตัวอยู่ตามท้องถิ่น หรือแม้แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของครูบ้านนอกบางท่านที่ทำงานประเภทเช้าชามเย็นชาม เล่นหวย แทงมวย และพอตกค่ำ ถ้าไม่ร่ำสุราก็เล่นการพนันกับชาวบ้าน ก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในยุค 3 จี

โดยสภาพของครูบ้านนอก (บางท่าน) ที่ว่านี้ ก็สะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดผ่านตัวละครอย่าง “ครูใหญ่” ซึ่งแสดงโดยหม่ำ จ๊กมก ที่แม้จะรู้ๆ กันว่า หนังใช้สอยเขาในฐานะ “ตัวเรียกแขก” แต่ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เขาสามารถเข้ามาเติมสีสันให้กับหนังได้ค่อนข้างดี คือจริงๆ ผมยังนึกไม่ออกเลยนะครับว่า บรรยากาศอารมณ์ของหนังมันจะจืดชืดและแห้งแล้งขนาดไหน ถ้าขาดตัวละครตัวนี้ไป แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าคุณเคยดูบทของหม่ำในหนังแหยม ยโสธร 2 คุณก็อาจจะรู้สึกถึงความซ้ำๆ ในบททั้งสองที่จงใจให้ตัวละครเป็นคนพูดจาเรื่อยเปื่อยและขี้บ่น

พ้นไปจากนี้ “ฟ้อนฟ้า ผาธรรม” หลานสาวของคุณผู้กำกับ ก็ “พอไปได้” กับบทของครูแสงดาว (เวอร์ชั่นเก่า เป็นบทของคุณวาสนา สิทธิเวช) ซึ่งอันที่จริง เรายังไม่รู้หรอกว่าฝีมือทางการแสดงของเธอนั้น ควรจะจัดอยู่ในขั้นไหน เพราะบทหนังยังไม่ส่งเท่าที่ควร ส่วน “พิเชษฐ์ กองการ” นั้น ดูจะเหมาะเจาะเหมาะสมกันดีมากกับบทของครูหนุ่ม ทั้งบุคลิก หน้าตา และภาษาพูด

อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีอันหนึ่งอันใดที่น่ากระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง ก็คงเป็นตอนที่ครูหนุ่มร่ายความคิดอุดมการณ์นั่นล่ะครับ ผมรู้สึกว่ามุมกล้องจงใจโฟกัสใบหน้าของเขาแบบตรงๆ มากเกินไป จนทำให้รู้สึกราวกับว่าตัวละครดูเหมือนกำลังนั่งคุยอยู่กับกล้องมากกว่า

ดังนั้น จากความตั้งใจของหนังที่จะให้คำพูดของตัวละครดู “ขึงขัง” มันกลับกลายเป็น “แข็งๆ” คล้ายคนกำลังประกาศแถลงการณ์อะไรบางอย่าง มันให้ความรู้สึกอยากเบือนหน้าหนีเหมือนตอนที่ฟังใครบางคนบรรยายสรรพคุณของตัวเองแบบหน้าดำคร่ำเคร่ง ซึ่งจริงๆ ผมว่าหนังสามารถเลี่ยงได้ด้วยการถ่ายใบหน้าของเขาจากมุมข้างๆ บ้าง หรือมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน้าตรง

พ้นไปจากนี้ ตอนที่ครูแสงดาวกับเด็กนักเรียนร่ำไห้ฟูมฟายและทยอยกันพูดพร่ำรำพันออกมานั้น มองมุมไหน ก็ไม่น่าจะใช่ศิลปะแห่งการสร้างอารมณ์ดราม่าสะเทือนใจแต่อย่างใด ซึ่งก็คล้ายๆ กับการเซ็ตฉากขบวนเด็กนักเรียนเดินร้องเพลงไปต้อนรับครูพิเชษฐ์ แม้จะเกิดจากความตั้งใจดีที่จะทำให้คนดูรู้สึกถึงพลังความรักของเด็กๆ ที่มีต่อคุณครู แต่ก็ดูเป็นการ “ถูกจัดสร้าง” อย่างจงใจ มากกว่าจะรู้สึกว่ามัน “ออกมาจากใจ”

คงคล้ายๆ กับ “สามชุก” ของคุณธนิตย์ จิตต์นุกูล ผมคิดว่า สิ่งที่หนังอย่าง “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” มอบให้กับคนดู คือการเป็นหนังสั่งสอนคุณธรรมและปลุกเร้าจิตสำนึกด้านที่ดีงามกันอย่างโต้งๆ “ตรงไปตรงมา” ไม่ต้องมีลีลาชั้นเชิงในการเล่าเรื่องอะไรมากมาย ดูแล้วได้อุดมการณ์ ส่วนท่านที่คาดหวังความสนุกบันเทิง ก็พอมีให้เก็บเกี่ยวได้บ้างจากมุกตลกของตัวประกอบ

แต่ถ้าถามถึงบรรยากาศภาพรวมทั้งหมด ผมว่าอรรถรสของมันก็ไม่ต่างกันแต่อย่างใดกับตอนที่ดูหนังสองเวอร์ชั่นเรื่อง Funny Games ของไมเคิล ฮาเนเก้ คือแม้จะดูแค่เวอร์ชั่นเดียว แต่ก็ “ถือว่า” ได้ดูแล้วเช่นเดียวกัน






กำลังโหลดความคิดเห็น