xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงชงรัฐอัดเฉียดพันล้าน ผุดบายพาสเชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-มาเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีไทยและดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ไทย-มาเลเซียร่วมเปิดประตูการค้าใช้สะพานมิตรภาพที่ จ.นราธิวาสเชื่อมสัมพันธ์ยกระดับเศรษฐกิจ เร่งผุดโครงการสร้างศูนย์การพักสินค้า 200 ไร่ และด่านตรวจคนเข้าเมืองให้เสร็จทันภายในปีหน้า ด้านกรมทางหลวงเผยได้รับงบประมาณสร้างถนนบายพาส 4 เลนเชื่อมต่อระหว่างสะพานมิตรภาพและสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งแรกปี 2553-2557 รวม 360 ล้านบาท พร้อมอัดงบประมาณปีอีก 2555 อีก 450 ล้านบาท เพื่อผลักดันการพัฒนาด้านลอจิสติกส์ภายใต้กรอบ IMT-GT

ภายหลังการเดินทางของนายกรัฐมนตรีไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย เพื่อร่วมเปิดสะพานสะพานมิตรภาพ (Friendship Bridge) ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 (The Second Bridge Crossing the Golok River) โดยเชื่อมต่อระหว่างบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส กับบ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียนั้น ส่งผลให้การพัฒนาด้านการคมนาคมของฝั่งประเทศไทยยิ่งรุดหน้า เพื่อรองรับการต่อยอดเปิดเมืองเศรษฐกิจระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีประเพณี วัฒนธรรม ศาสนาและชีวิตความเป็นอยู่ ที่พึ่งพิงหล่อหลอมความสัมพันธ์ดังเมืองพี่เมืองน้องมายาวนาน

ดังจะเห็นได้จากการบรรจุโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 ที่ชาวบ้านเรียก สะพานบูเก๊ะตา (Ban Buketa Bridge) หรือบาวน์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือที่ ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) อีกทั้งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS) และรัฐบาลแต่ละฝ่ายต่างร่วมออกทุนกันสร้างฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ด้วยมูลค่า 90 ล้านบาทนั่นเอง

ภายหลังที่ประตูแห่งเศรษฐกิจแห่งนี้ได้เปิดออก รัฐบาลไทยอนุมัติโครงการสร้างถนนบายพาส 4 เลน ยาว 120 เมตร กว้าง 16.9 เมตร ระยะทางจากสะพานมิตรภาพ อ.แว้งไปสู่สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งแรก อ.สุไหงโก-ลก ประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างไทย-มาเลย์ รวมไปถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมส่งออก เช่น  การนำเข้าไม้ เครื่องอุปโภคบริโภค และการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม
สะพานมิตรภาพไทย-มาเลย์ที่นายกรัฐมนตรีไทย-มาเลย์ ร่วมกันทำพิธีเปลี่ยนชื่อ เมื่อเร็วๆนี้
นายดรุณ ทองคุปต์ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้รับงบประมาณสร้างถนนบายพาส 4 เลนเชื่อมต่อระหว่างสะพานมิตรภาพและสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งแรกสำหรับปี พ.ศ.2553 เป็นจำนวนเงิน 73.3 ล้านบาท ต่อเนื่องไปถึงปี พ.ศ.2554 ด้วยงบประมาณ 286.7 ล้านบาท และกรมทางหลวงเตรียมเสนอโครงการในปี พ.ศ.2555 ด้วยจำนวนเงิน 450 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ช่วงมีห้างหุ้นส่วน ฉัตรชัยการโยธา เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาเคยเป็นผู้รับเหมาให้กับกรมทางหลวงในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ทั้งใน จ.กระบี่และ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ด้านนายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึงโครงการสร้างศูนย์การพักสินค้าบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 1 ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมดำเนินการเกลี่ยพื้นที่จำนวนกว่า 200 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งสินค้า รวมไปถึงลานจอดรถทั้งใหญ่เล็ก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างจริงในปี 2553 นี้

รวมไปถึงการเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จของด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองในบริเวณ อ.แว้ง ให้แล้วเสร็จต้อนรับปี 2553 ที่ปัจจุบันสะพานมิตรภาพรองรับผู้คนสัญจรผ่านตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการสร้างไปแล้วกว่า 80% ในขณะที่ด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งมาเลเซียอยู่ในระหว่าเร่งดำเนินการสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2553

สอดคล้องกับนโยบายให้เร่งแก้ไข ปรับปรุง ซึ่งนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้กล่าวไว้ในการประชุมสมัชชาประธิปัตย์ 2552 ไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองบริเวณอ.แว้ง ที่ตั้งไว้ให้บริการในจุดสะพานมิตรภาพนั้นปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการแก้ไขปรับปรุง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้คนสัญจรโดยด่วน

ส่วนทางด้านนายกู้เกียรติ บูรพาพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่าการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีส่วนช่วยกระตุ้นทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านจุลภาคและมหภาพเป็นอย่างมาก เพราะด้วยระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งทางไทยและมาเลย์เองต่างก็เป็นบ้านพี่เมืองน้อง ที่เอื้อหนุนทางด้านเศรษฐกิจกันมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานนอกจากจะทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นสามารถข้ามฝั่งไปมาหาสู่ค้าขายสิ่งของที่ตนเองผลิตเองได้แล้วนั้น ยังมีผลต่อการขับเคลื่อนพืชเศรษฐกิจของไทย เช่น ยางพารา ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่งออกกลับไปทางมาเลย์ด้วยเม็ดเงินมหาศาล

นายกู้เกียรติ ยังกล่าวเสริมถึงเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ว่า รัฐบาลควรผลักดันให้มีความชัดเจนในอัตราเงินกู้ที่ดึงดูความสนใจแก่ผู้ลงทุนให้มากกว่านี้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบกิจการตั้งแต่ระดับกลางคือการลงทุนตั้งแต่ 5-10 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะการเปิดสะพานมิตรภาพ ระหว่างไทย-มาเลย์นั้น ทำให้มองไปถึงการลงทุนที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น