xs
xsm
sm
md
lg

Changeling : นี่ไม่ใช่ลูกฉัน!/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญและบทสรุปของหนัง

10 มีนาคม 1928 ตำรวจลอสแองเจลิสได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุจาก คริสตีน คอลลินส์ วัย 37 ปี ว่า วอลเตอร์ คอลลินส์ บุตรชายวัย 9 ขวบของเธอ หายตัวไปจากบ้าน

ในช่วงเวลานั้น คริสตีนมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสั่งการของชุมสายโทรศัพท์เขตลอสแองเจลิส เธอไม่เปิดเผยเรื่องของสามีมากนัก แต่ก็เป็นที่ทราบทั่วกันว่า คริสตีนนั้นเป็น “ซิงเกิ้ลมัม” เธอเลี้ยงดูลูกชายตามลำพัง และลูกก็เป็นแก้วตาดวงใจ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเธอ

ดังนั้น การหายตัวไปของวอลเตอร์จึงนับได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของคริสตีน และเธอก็ทำอย่างที่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะทำหากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน – เธอให้ทั้งข้อมูล ความร่วมมือ และฝากความหวังไว้กับตำรวจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หลายวัน หลายสัปดาห์ เป็นเดือนผ่านไป ตำรวจก็ยังไม่พบร่องรอยเบาะแสของลูกชายเธอ

จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 1928 –หรือ 5 เดือนนับจากเกิดเหตุ- คริสตีนก็ได้รับการติดต่อจากทางตำรวจว่า พวกเขาพบลูกของเธอแล้ว และกำลังจะนำเด็กชายกลับคืนสู่อ้อมอกเธอ

18 สิงหาคม คือวันนัดพบ

คริสตีนไปรอรับวอลเตอร์ที่สถานีรถไฟด้วยความปิติอย่างถึงที่สุด นักข่าวติดตามไปทำข่าวกันอย่างคับคั่ง ตำรวจหลายนาย –ทั้งระดับผู้บัญชาการกรมและต่ำลงมา- แห่แหนกันไปออกหน้าออกตาในเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ชื่อเสียงของกรมตำรวจลอสแองเจลิสกำลังเสื่อมเสียอย่างหนักในสายตาสาธารณะ (ข้อหาหลักๆ ก็เช่น ไร้ประสิทธิภาพในการดูแลทุกข์-สุขของประชาชน คอรัปชัน ใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ) ทางตำรวจจึงคิดว่า การติดตามตัววอลเตอร์ คอลลินส์มาคืนผู้เป็นมารดาได้สำเร็จ น่าจะกอบกู้ศรัทธา –หรืออย่างน้อยที่สุดก็ “กู้หน้า”- ให้กับกรมตำรวจได้บ้าง

แต่แล้วเหตุการณ์กลับพลิกผัน – ทันทีที่คริสตีนเห็นเด็กชายชัดๆ เธอก็หันขวับมาบอกท่านอธิบดีทันทีว่า “นี่ไม่ใช่ลูกฉัน”

ที่น่าขันก็คือ ทั้งท่านผู้บัญชาการและผู้กอง เจ. เจ. โจนส์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ นอกจากจะไม่ฟังคำประท้วงของเธอแล้ว ยังคงยืนกรานว่าเด็กคนนี้คือลูกชายของเธอแน่นอน (หนำซ้ำยังตั้งสมมติฐานพิลึกพิลั่นว่า “ไม่เจอกันหลายเดือน คุณอาจจำลูกตัวเองไม่ได้”) หลักฐานที่ตำรวจยกขึ้นมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตนก็คือ “ก็เด็กบอกว่าเขาคือลูกคุณ” และ “เราให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กตรวจสอบแล้ว และเขาก็ยืนยันว่านี่คือวอลเตอร์ ลูกชายคุณ คุณจะบอกว่าคุณรู้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญหรืออย่างไร?”

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่แท้จริงที่รับรู้กันได้ ก็คือ แท้จริงแล้ว ทางตำรวจไม่อยากจะ “เสียชื่อ” และ “เสียหน้า” ต่อหน้านักข่าวจำนวนล้นหลามที่มายืนออกันอยู่ที่นั่นนั่นเอง

ไม่ว่าจะอย่างไร เหตุการณ์ในวันนั้นก็จบลงด้วยการที่ตำรวจเกลี้ยกล่อม –ผสมข่มขู่- จนคริสตีนให้ยอมโพสต์ท่าดีอกดีใจให้นักข่าวถ่ายรูปคู่กับเด็กชายคนนั้นได้สำเร็จ อีกทั้งยังสามารถทำให้เธอยอมรับเด็กกลับไปเลี้ยง (ผู้กองเจ. เจ. โจนส์บอกคริสตีนว่า “ให้เวลาตัวเองกับลูกปรับตัวสักสองสามอาทิตย์”) จนได้ในที่สุด

สามสัปดาห์ต่อมา คริสตีนกลับไปหาผู้กองโจนส์อีกครั้งพร้อมยืนกรานคำเดิมว่าเด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกเธอแน่นอน และเหตุที่เธอต้องร้อนรนมาร้องเรียนนั้น ก็ไม่ใช่เพื่อให้ตำรวจยอมรับผิด เพียงแต่เธอกลัวว่า หากตำรวจคิดว่าเด็กนั่นคือลูกชายของเธอเสียแล้ว ก็จะวางมือ ปิดคดี และไม่ยอมสืบหาลูกชายตัวจริงของเธออีกต่อไป

คริสตีนมีหลักฐานมากมายมายืนยันกับผู้กองโจนส์ อาทิ จดหมายจากครูประจำชั้นของวอลเตอร์ และจากหมอฟันของเขา อย่างไรก็ตาม ผู้กองโจนส์นั้น นอกจากจะไม่ฟังเธอแล้ว ยังกลับมองว่าเธอเป็นตัวก่อกวนและ “ตัวอันตราย”

และในเวลาต่อมา เมื่อคริสตีนเริ่มหันไปป่าวร้องกับสื่อมวลชน –เพราะทนความไร้แยแสของทางตำรวจไม่ไหว- เขาจึงตัดสินใจจับคริสตีนส่งโรงพยาบาลบ้า และยัดข้อหามีพฤติกรรมก่อความไม่สงบอันเนื่องมาจากอาการเสียสติให้แก่เธอทันที

ในระหว่างที่คริสตีนถูกควบคุมตัวเอาไว้ในโรงพยาบาลโรคจิต เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเหตุการณ์หนึ่ง กล่าวคือ ตำรวจพบเบาะแสว่ามีการลักพาตัว กักขังหน่วงเหนี่ยว กระทำชำเรา และฆาตกรรม ในฟาร์มปศุสัตว์แถบวิเนวิล ริเวอร์ไซด์เคาน์ตี้ ในเบื้องต้นทราบว่าเหยื่อมีอยู่ด้วยกัน 3 ราย เป็นเด็กชายอายุราว 10-13 ปี

ตำรวจจับกุมฆาตกรได้ในเวลาต่อมา คือ กอร์ดอน นอร์ธคอตต์ วัย 22 และ นางซาราห์ นอร์ธคอตต์ ผู้เป็นมารดา จากการสอบปากคำ แม่-ลูกนอร์ธคอตต์สารภาพว่า ตัวเลขของเหยื่อที่แท้จริงนั้นมีมากกว่าสาม (คนแม่บอกว่า “เกินห้า” ขณะที่ลูกชายบอกว่า “น่าจะถึงยี่สิบ”) อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่ยอมรับตรงกัน ณ เวลานั้น (ก่อนจะกลับคำให้การในภายหลัง) ก็คือ ในจำนวนเหยื่อทั้งหมด มีวอลเตอร์ คอลลินส์รวมอยู่ด้วย

คำสารภาพของแม่-ลูกนอร์ธคอตต์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อคดีของคริสตีน คอลลินส์

มันทำให้คริสตีนได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลบ้า และต่อมาก็เดินหน้าฟ้องกรมตำรวจลอสแองเจลิสแบบไม่ยอมลดราวาศอก และในท้ายที่สุด ผลการต่อสู้ก็จบลงด้วยการที่ผู้กองเจ. เจ. โจนส์ถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่คริสตีนเป็นจำนวนเงิน 10,800 ดอลลาร์ (แต่เอาเข้าจริงเขาก็ไม่เคยจ่ายเงินก้อนนี้ให้เธอ) และยังถูกลงโทษให้พ้นจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับ เจมส์ อี. เดวิส ผู้บัญชาการกรมตำรวจลอสแองเจลิสในขณะนั้น

นอกจากนั้น ในเวลาต่อมามันยังส่งผลให้มีการปรับลดอำนาจบางส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจลง กล่าวคือ ตำรวจจะไม่สามารถออกคำสั่งให้จับใครไปขังไว้ในโรงพยาบาลบ้าโดยพลการได้อีกต่อไป จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน

ข้างคริสตีน คอลลินส์ อันที่จริงวิบากกรรมของเธอควรจะยุติลงแต่เพียงเท่านี้ ทว่าเอาเข้าจริงก็เปล่า

เพราะการที่แม่-ลูกนอร์ธคอตต์เปลี่ยนคำให้การในภายหลัง โดยบอกว่าพวกเขาไม่ได้ฆ่าวอลเตอร์ คอลลินส์ อีกทั้งในอีกหลายปีต่อมา ยังมีเด็กชายคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าเคยถูกแม่-ลูกนอร์ธคอตต์จับตัวไป แต่หนีรอดออกมาได้ หนำซ้ำยังบอกว่า ตนเห็นวอลเตอร์วิ่งหนีออกมาด้วย – ก็ทำให้คริสตีนยังคงมีความหวังว่า ลูกชายของตนยังไม่ตาย และจะเดินทางกลับคืนสู่อ้อมอกของตนในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

แน่นอนว่า คริสตีน คอลลินส์ไม่เคยสมหวัง เธอเสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม 1964 เธอไม่เคยหยุดตามหาลูก ทว่าไม่เคยได้พบเขาอีกเลยทั้งชีวิต

Changeling ผลงานกำกับของ คลินต์ อีสต์วู้ด ซึ่งออกฉายในปี 2008 บอกเล่าเรื่องราวของคริสตีน คอลลินส์ดังที่กล่าวมาข้างต้น

หนังมีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้แตกต่างไปจากเหตุการณ์จริงอยู่บ้างพอหอมปากหอมคอ (อาทิ การตัดตัวละครซาราห์ นอร์ธคอตต์ออก และการเปลี่ยนให้เด็กชายผู้แอบอ้างว่าเป็นวอลเตอร์ คอลลินส์ มารับสารภาพภายหลังจากที่คริสตีนถูกปล่อยตัวจากโรงพยาบาลแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง การสารภาพของเด็กชายเกิดขึ้นในระหว่างที่คริสตีนยังอยู่ที่โรงพยาบาล)

อย่างไรก็ตาม สองประเด็นหลักที่หนังยังสามารถเก็บความเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน หนึ่งคือ การสะท้อนให้เห็นถึงความฟอนเฟะและอิทธิพลมืดของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ในช่วงเวลานั้น (พูดอีกแบบก็คือ หากมีตำรวจพรรค์นี้ใกล้ตัว นอกจากจะไม่สามารถพิทักษ์อะไรได้แล้ว ยังจะเป็นเภทภัยคุกคามสันติของเราอย่างร้ายกาจอีกด้วย)

และสองคือ การแสดงให้เห็นว่า เพื่อลูกหนึ่งคน คนเป็นแม่สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมายเพียงไหน

คริสตีน คอลลินส์ผู้เป็นศูนย์กลางของเรื่องนั้น ในฐานะของตัวละคร ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เธอเริ่มจากการเป็นคุณแม่ผู้เข้มแข็ง ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง (ในยุคสมัยที่สังคมยังไม่อ้าแขนต้อนรับ “ซิงเกิ้ลมัม” มากเท่าปัจจุบัน) ทว่าก็เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และยอมศิโรราบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ -ที่ถือเป็นตัวแทนของระบบ- อย่างสุดหัวใจ (การที่คริสตีนไม่หันหน้าไปพึ่งนักข่าวนับตั้งแต่เกิดเรื่องใหม่ๆ ก็เพราะเธอให้เหตุผลว่า “ฉันหวังพึ่งพาตำรวจ ไม่ใช่ต่อกรกับพวกเขา”) ก่อนที่จะถูกกระทำโดยตัวแทนของระบบดังกล่าว และพลิกกลับมาลุกขึ้นยืนหยัดสู้อย่างคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย

แองเจลินา โจลี ผู้ได้รับเลือกให้มารับบทนี้ ทำหน้าที่ของเธออย่างได้อย่างสมบูรณ์ (ข้อมูลใน imdb.com ระบุว่า ก่อนที่บทนี้จะตกมาถึงมือโจลี มีนักแสดงหญิงชั้นนำสองคนที่ปรารถนาจะครอบครองบทคริสตีน คอลลินส์เช่นกัน นั่นก็คือ ฮิลารี สแวงก์ และ รีส วิเธอร์สปูน) โจลีได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในหลายเวทีด้วยกัน อาทิ ออสการ์ ลูกโลกทองคำ รางวัลจากสมาคมนักแสดงแห่งสหรัฐอเมริกา (Screen Actors Guild Awards) และ BAFTA

หนังมีความยาวถึง 2 ชั่วโมง 20 นาทีโดยประมาณ ทว่าในแง่ของความ “ดูสนุก” มันก็เข้มข้น ชวนติดตาม และการ “สร้างมาจากเหตุการณ์จริง” ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญของหนัง ก็ยิ่งช่วยเพิ่มพูนความ “ขลัง” และความ “ทรงพลัง” มากขึ้นหลายเท่าตัว

ที่สำคัญ ดูจบแล้วมันก็ชวนให้ตั้งคำถาม –ซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหรือคุณภาพของหนัง- ว่า หนังที่ดีและสนุกขนาดนี้ ทำไมถึงได้ถูกส่งตรงลงแผ่นโดยไม่เข้าโรงฉายไม่ทราบ?

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก








กำลังโหลดความคิดเห็น