มีการโจมตีหนังดังแห่งปีอย่าง “Avatar” ว่าซ่อนประเด็นเหยียดผิว, ส่งเสริมการสูบบุหรี่ และความตื้นเขินของหนัง จนล่าสุด “เจมส์ คาเมรอน” ต้องออกมาตอบโต้ชี้แจงในประเด็นข้อกล่าวหาอันรุนแรงเหล่านี้
ในขณะที่หนัง “Avatar” กำลังเดินหน้าเก็บเงินทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และลุ้นว่าจะเป็นหนังทำเงินตลอดกาลเรื่องใหม่แทน Titanic หรือไม่ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ปลื้มกับหนังเรื่องนี้ รวมถึงกลุ่มชนกลุ่มน้อย, องค์กรต่อต้านการสูบบุหรี่ และวาติกัน
ลี โรบินน์ นักแสดงหญิงจากหนัง Seven Pounds และ Hotel for Dogs กล่าวชื่นชม Avatar ว่าทำออกมาได้อย่างสวยงาม อย่างไรก็ตามหนังยังสร้างออกมาเพื่อรองรับกลุ่มผู้ชมที่เป็นผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ หนังจึงยังมีน้ำเสียงลักษณะเดียวกับเรื่องราวแบบ Pocahontas ที่ว่าด้วยหญิงสาวท้องถิ่นสอนให้ หนุ่มผู้มาเยือนได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติ แต่สุดท้ายเขากลายมาเป็นผู้ช่วยเหลือทุกคนให้รอดชีวิต
"มีหลายอย่างในหนังที่ทำให้ฉันหัวเสียจริงๆ ค่ะ" ลี สาวที่เป็นลูกครึ่งจาไมก้า และจีน กล่าวในฐานความเป็นชนกลุ่มน้อยในอเมริกาของเธอ "มันน่าจะดีกว่านี้ถ้าให้ พวกเขาสามารถต่อสู้เพื่อตัวเองได้"
ขณะที่ แอนนาลี นิววิทซ์ บรรณาธิการของเว็บไซต์ ไซ-ไฟชื่อดัง io9.com พยายามเชื่อโยงเนื้อหาของ Avatar กับหนังฮอลลีวูดเรื่องอื่นๆ ว่ามักจะนำเสนอเรื่องในทำนองเดียวกัน อาทิ District 9 เล่าเรื่องของหนุ่มผิวขาว ที่ช่วยเหลือมนุษย์ต่างดาวให้กลับบ้านได้สำเร็จ ขณะที่ Dune เล่าเรื่องของหนุ่มผิวขาวที่กลายเป็นเทพเจ้าในดินแดนของมนุษย์ต่างดาว
"ในหนังพวกนี้ตัวละครผิวขาวจะรู้สึกว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบอะไรซักอย่างที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย และทำลายล้างพวกมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆ ซึ่งก็หมายความถึงพวกคนผิวสีนั้นเอง และสุดท้ายจะเป็นคนผิวขาว ที่แผงตัวเข้าไปกลายเป็นผู้นำของพวกมนุษย์ต่างดาว ในการต่อต้านกับสิ่งชั่วร้าย" นิววิทซ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ไม่รู้จะเป็นเมื่อไหร่ ที่พวกคนขาวจะหยุดสร้างหนังแบบนี้ และเริ่มคิดเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธ์ใหม่เสียที"
เจมส์ คาเมรอน ผู้เขียนบท และกำกับ Avatar ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวผ่านอีเมล์ไปถึง AP ว่าหนังของเขามีความประสงค์ที่จะให้คนดูได้ เปิดมุมมองต่อคนอื่นๆ เคารพพวกเขาแม้ว่าจะเต็มไปด้วยความแตกต่าง และหวังว่าจะหาทางยับยั้งความขัดแย้ง ทำให้โลกสงบสุขกว่าเดิม "ผมไม่คิดว่านี่เป็นเนื้อหาที่เหยียดผิวนะ" คาเมรอนกล่าว
ขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อย คนคิดว่าการตีความ และจับผิดประเด็นต่างๆ ของหนังเป็นเรื่องหยุมหยิมน่ารำคาญไปแล้ว "ผู้คนจะสนุกกับหนังแบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้วหรือยังไง" คนดูหนังธรรมดาๆ คนหนึ่งแสดงความคิดเห็นไว้ที่เว็บไซต์ของนิตยสาร Essence สื่อของสตรีผิวดำ ที่มีคนจำนวนมากโต้เถียงกันถึงประเด็นเหยียดผิว หลายคนยกตัวอย่างว่ามีหนังอีกตั้งหลายๆ เรื่องที่คนผิวดำเป็นตัวเอก และช่วยโลกไว้ในที่สุด อย่าง วิล สมิธ ใน I Am Legend หรือ เดนเซล วอชิงตัน ใน Book of Eli ที่มีโปรแกรมเปิดฉายในปีนี้
ไม่ใช่แค่ประเด็นเนื้อเรื่องหลักของ Avatar ที่ถูกนำมาโจมตี แต่ส่วนประกอบเล็กๆ อย่างการสูบบุหรี่ของตัวละครที่แสดงโดย ซีเกอร์นี วีเวอร์ ก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาด้วย
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. สตอนตัน เอ แกลนซ์ แห่งศูนย์ศึกษาและวิจัยเรื่องยาสูบ แห่งมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ศูนย์รณรงค์เพื่อการปลอดบุหรี่ อาจต้องออกมาเคลื่อนไหว ในการให้ข้อมูล หลังจากมีหนังดังหลายเรื่องรวมถึงใส่ฉาก ซึ่งเป็นการสื่อข้อมูลที่เป็นการสนับสนุนการสูบบุหรี่ไปยังคนดู
"ทำแบบนี้มันเหมือนกับใครบางคน ปล่อยพลูโตเนี่ยมลงไปในแหล่งน้ำชัดๆ" แกลนซ์ ยังยกตัวอย่างฉากที่ตัวละครนักสิ่งแวดล้อมของ ซีเกอร์นี วีเวอร์ ในหนังเรื่อง Avatar ที่ไม่เพียงสูบบุหรี่ตลอดทั้งเรื่อง แต่ยังแสดงความรักสุดๆ ต่อยาเสพติดสร้างมะเร็งชนิดนี้
เจมส์ คาเมรอน ต้องออกแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง เขากล่าวว่าไม่แปลกที่ตัวละครของ วีเวอร์ จะพ่นควันก่อมะเร็งให้เห็นกันตลอดทั้งเรื่อง เพราะตัวละคร เกรซ อากุสติน ไม่ได้ถูกออกแบบให้มาเป็นแม่แบบสำหรับวัยรุ่นอยู่แล้ว
"เธอพูดจาหยาบคาย, ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่" คาแมรอน เขียนในแถลงการณ์ผ่านอีเมล์ของเขา ผู้กำกับชื่อดังยังย่ำว่า การเลือกให้ตัวละครตัวนี้สูบบุหรี่เป็นความตั้งใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบุคลิกภาพของตัวละคร "ในมุมมองตัวละคร เรากำลังแสดงให้เห็นว่า เกรซ ไม่ได้สนใจร่างกายมนุษย์ของเธอ เธอสนใจร่างอวตารเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นการสะท้อนมาถึงโลกยุคปัจจุบันที่เราอาศัยกันอยู่ ที่เราะเองก็มี 'ร่างอวตาร' กันออกมากมาย ผมหมายถึงทั้งสังคมออนไลน์ และวิดีโอเกมส์"
เจมส์ คาเมรอน ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติม ยืนยันว่าเขาเห็นด้วยการผลกระทบของบุหรี่จากภาพยนตร์ แต่ไม่ใช่ห้ามไม่ให้มีบุหรี่แม้แต่มวนเดียวปรากฏในภาพยนตร์แบบนี้ "ผมไม่เคยเชื่อในแนวคิดที่ว่า ในหนังไม่ควรมีคนสูบบุหรี่ หนังสมควรสะท้อนความเป็นจริง ทำไมมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คนยอมรับได้ที่ในหนัง PG-13 คนฆ่ากัน, ลักขโมย หรือโกหกกันได้ ทำไมเรื่องผิดศีลธรรมแบบเห็นๆ กันแบบนั้นนำเสนอได้ แต่สูบบุหรี่ไม่ได้ แต่ผมเห็นด้วยว่าสำหรับตัวละครจำพวกที่เป็นแบบอย่างให้กับวัยรุ่น ไม่สมควรสูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามันทำให้รู้สึกว่าการสูบบุหรี่ เป็นสิ่งเท่ห์ หรือยอมรับได้สำหรับเด็กๆ" ซึ่งเขายังยืนยันว่าในหนังของเขาไม่เคยมีการส่งเสริมการสูบบุหรี่อย่างแน่นอน
และราวกับว่า Avatar ยังจะดังไม่พอ สถาบันสำคัญทางศาสนาอย่าง “วาติกัน” ยังร่วมออกมาแสดงความคิดเห็นถึงหนังเรื่องนี้ด้วย แน่นอนว่าเป็นความเห็นซึ่งในทางลบว่าตื้นเขิน
หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ลอสเซอร์วาโตเร โรมาโน และสถานีวิทยุของวาติกัน ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงหนังสุดฮิตเรื่องนี้ โดยเรียกหนังทุนสูงของเจมส์ คาเมรอนว่า เป็นงานที่เต็มไปด้วยความตื้นเขิน เน้นแต่การเสนอเทคนิคพิเศษ
“หนังสร้างความยุ่งยากเกิดเหตุด้วยการ เชื่อมโยงเรื่องจิตวิญญาณ เข้ากับการพิธีบวงสรวงธรรมชาติ” หนังสือพิมพ์ลอสเซอร์วาโตเร โรมาโน ให้ความเห็นซึ่งไปในทิศทางเดียวกับวิทยุของวาติกัน ที่กล่าวว่า “หนังเรื่องนี้เน้นการสักการะสัจธรรมปฏิรูป ที่พยายามทำให้พลังงานกลายเป็นศาสนาใหม่ของโลกยุคมิลลิเนี่ยม ธรรมชาติในหนังไม่ใช่สรรพสิ่งที่ควรปกป้อง แต่กลายเป็นเหมือนเทพเจ้าที่ต้องบูชา”
“หนังสร้างความยุ่งยากเกิดเหตุด้วยการ เชื่อมโยงเรื่องจิตวิญญาณ เข้ากับการพิธีบวงสรวงธรรมชาติ” หนังสือพิมพ์ลอสเซอร์วาโตเร โรมาโนให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับวิทยุของวาติกัน ที่กล่าวว่า “หนังเรื่องนี้เน้นการบูชาศาสนาจอมปลอม ที่พยายามทำให้พลังงานกลายเป็นศาสนาใหม่ของโลกยุคมิลลิเนี่ยม ธรรมชาติในหนังไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานสรรพสิ่งที่ควรปกป้อง แต่กลายเป็นเหมือนเทพเจ้าที่ต้องบูชา”
อย่างไรก็ตามโฆษกของวาติกัน ต้องออกมาชี้แจงว่า การพูดถึงหนังสุดดังเรื่องนี้เป็นเพียงแค่การวิจารณ์ภาพยนตร์ตามปกติธรรมดาเท่านั้น พร้อมกับยังเตือนไปถึงสื่อมวลชนว่า อย่าพยายามใส่ไฟว่านี่คือความเห็นของวาติกันหรือสันตะปาปา เบเนดิ๊ก ในมองการบูชาธรรมชาติ ในทางลบอย่างเด็ดขาด
เป็นเรื่องปกติสำหรับสื่อของวาติกัน ที่มักจะออกมาแสดงความคิดเห็นกับสื่อบันเทิงสมัยใหม่อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ทั้งวิทยุ และหนังสือพิมพ์ ศาสนจักร แห่งนี้ ก็เคยออกมาให้ความเห็นถึงเพลงของ U2, การ์ตูนซิมป์สัน และนิยายของแดน บราวน์ มาแล้ว ซึ่งสำหรับการแสดงความเห็นต่อหนัง Avatar ในครั้งนี้ ยังไม่มีการออกมาชี้แจง จากผู้กำกับแต่ประการใด