xs
xsm
sm
md
lg

ณัฐ ยนตรรักษ์ : บอกรักชาติด้วยเสียงเปียโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณัฐ ยนตรรักษ์
    "ดินก้อนนี้ ตีตุสและพี่น้องได้ให้แก่เรามาเมื่อวันที่เราจะจากโปแลนด์ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เราระลึกถึงเสียงร่ำไห้ของพี่น้องชาวโปแลนด์ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อเตือนให้เราขะมักเขม้นทำงานเสียสละเพื่อช่วยชาติ แต่เราได้ลืมคำสัญญาและคำสาบานของเราเสียสนิท แต่นี้ไปเราต้องปฏิบัติตามคำสาบาน"
       เฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง (1 มีนาคม ค.ศ. 1810 - 17 ตุลาคม ค.ศ. 1849)

(1)
หลังจากไปร่ำเรียนด้านดนตรีอยู่ที่ประเทศอังกฤษนานหลายปี 'ณัฐ ยนตรรักษ์' ก็เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ เขาเปิดสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเองในย่านลาดพร้าว แล้วจัดการแข่งขันเปียโนเพื่อลงหลักปักฐานให้กับวงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทย อีกทั้งยังแบ่งเวลาถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เขาได้รับมาให้กับนักศึกษาที่เขาเป็นผู้คัดเลือกเองอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากบทเพลงเปียโนโซนาต้า สำเนียงไทยๆ ที่ได้ประพันธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ณัฐยังเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด ทั้งประพันธ์เพลง แสดงดนตรีถวาย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และสำนึกรักในแผ่นดินที่เขาและต้นตระกูลถือกำเนิดมา

"เราต้องรักแผ่นดินเกิดเหมือนดังที่พระเจ้าอยู่หัวท่านเคยบอกว่า ถ้าทุกคนไม่รักแผ่นดินเกิดอีกหน่อยเราก็คงไม่มีแผ่นดินอยู่ ถ้าคนไทยไปยกย่องชาติอื่น เขาก็กลับมารุกรานเรา แล้วอย่าคิดว่าคนอื่นเขาจะมารักชาติเราเหมือนกับที่เรารัก มันเป็นไปไม่ได้หรอก เขาก็ต้องหวังประโยชน์ของเขา"

ถ้าณัฐเป็นทหาร เขาคงกระชับกระบอกปืนไว้ในมือตลอดเวลา พร้อมจะปล่อยกระสุนสังหารหากใครรุกเข้ามาด้วยประสงค์ร้าย และถ้าณัฐเป็นคนปลูกดอกไม้ เขาก็คงดูแลดอกไม้ในสวนเพื่อจะสร้างแหล่งพักตาให้พี่น้องร่วมประเทศได้หย่อนใจ แต่สิ่งเดียวที่นักดนตรีตัวเล็กๆ คนหนึ่งเช่นเขาจะแสดงออกต่อประเทศชาติได้ นั่นคือการทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัดให้ดีที่สุด

(2)
ค.ศ. 1848 'เฟเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง' หวนรำลึกคุณของแผ่นดินประเทศโปแลนด์ที่เขาจากมา แม้จะเผลอไผลหลงอยู่ในภวังค์รักที่มีต่อ 'จอร์ช แช็งค์' นักประพันธ์สาวอยู่ระยะหนึ่ง แต่หลังจากที่ 'โจเซฟ เอสเนอร์' อาจารย์สอนเปียโนและผองเพื่อนเดินทางไปเยี่ยมโชแปงที่ประเทศฝรั่งเศส และแจ้งข่าวว่าโปแลนด์กำลังย่ำแย่จากศึกสงคราม โชแปงก็หยิบก้อนดินที่ญาติพี่น้องของเขาเคยมอบไว้เพื่อเตือนสติไม่ให้เขาละเลยถิ่นกำเนิดขึ้นมากำไว้ในมือ ก่อนจะรำพึงรำพันถึงคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับพี่น้องชาวโปแลนด์

ในเมืองหลวงของดินแดนน้ำหอม คีตกวีชาวโปแลนด์กล่าวย้ำหนักแน่นถึงคำสัญญาของตนเองที่เคยลั่นไว้ ก่อนจะก้มลงจุมพิตก้อนดินในมือ และนับตั้งแต่บัดนั้น เขาก็ปวารณาตัวเองเพื่อแผ่นดินเกิด ด้วยการทำสิ่งที่ถนัดนั่นคือการประพันธ์เพลงและเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในประเทศต่างๆ ทั้งลอนดอน เวียนนา มาดริด บาร์เซโลน่า และเบอร์ลิน นำเงินรายได้ทั้งหมดสมทบกองทุนช่วยเหลือชาวโปแลนด์ที่กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอกราช

ด้วยความชื่นชมที่มีต่อตัวคีตกวีร่างเล็ก และความชื่นชอบที่มีต่อบทเพลงที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนคอร์ดสุดพันลึก ณัฐจึงหยิบเอาเพลงบัลลาต์ทั้งสี่เบอร์ของโชแปงมาซุ่มซ้อม พร้อมๆ กับการประพันธ์เพลงปลุกใจที่เขาตั้งใจจะนำมาเป็นไฮไลต์ของคอนเสิร์ตประจำตัวของเขาที่เวียนมาบรรจบอีกครั้งตามวาระ

"ปกติผมจะเล่นคอนเสิร์ตเดี่ยวที่หอประชุมใหญ่ ประมาณปีละครั้ง หรือสองปีครั้ง แล้วแต่โอกาส ก็เล่นมาตั้งแต่หอประชุมเปิดน่ะครับ(หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ) ผมเป็นนักเปียโนไทยคนแรกที่เล่นเปียโนเดี่ยวสมัยเปิดหอประชุมใหญ่ เมื่อปี ค.ศ. 1987 ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิดหอประชุมใหญ่ ผมก็เป็นคนเล่นถวายให้พระองค์ท่านเห็นว่า หอประชุมนี้สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นฉากด้านหลังขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หรือว่าไม่มีเลย มันสารพัดประโยชน์ที่เขาออกแบบ ก็เล่นที่นั่นมาเรื่อยๆ ทีนี้ปีนี้ก็ถึงเวลาที่จะแสดงพอดี ผมก็เลยหาเพลงที่จะแสดง"

จากความประทับใจที่ได้ทดลองบรรเลงเพลงต้นตระกูลไทย บนเวทีชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ณัฐก็ต่อยอดมาสู่การดัดแปลงบทเพลงให้มีลูกเล่นมากขึ้น เร้าอารมณ์มากขึ้น และปรับปรุงจนกลายเป็นเพลงคลาสสิคปลุกใจซึ่งใช้เสียงเปียโนขับร้องแทนเสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอมนุษย์

"เพลงไทยส่วนใหญ่เป็นเพลงร้อง ไม่ใช่เพลงบรรเลง เพราะคนไทยไม่ได้ฟังเพลงบรรเลง เขาชอบฟังเพลงร้อง เพราฉะนั้นจะเอาเพลงที่มาบรรเลงให้ถูกใจ ให้คนชอบ ก็ต้องเอาเพลงร้องมาทำเป็นเพลงบรรเลง คนถึงจะฟังรู้เรื่อง แต่ว่าพอเอามาทำเป็นเพลงบรรเลง สิ่งที่เราจะต้องทำซึ่งยากไปกว่าเดิมคือ เมื่อไม่มีคนร้อง เราซึ่งเป็นเปียโนต้องเป็นตัวร้อง แต่ว่าร้องเฉยๆ มันก็จะไม่เพราะ ก็ต้องหาวิธีที่จะสอดแทรกตัวประกอบเข้ามา หรือว่าทำสีสันให้มันน่าสนใจ เวลาเราซ้ำหลายครั้งก็มีเทคนิคต่างๆ ซึ่งผมก็ศึกษาจากคีตกวีเอกของโลกคนอื่นๆ ว่าเขาทำอย่างไร แล้วก็ลองทำให้ออกมาเป็นสำเนียงของเรา เพราะว่ายังไงเราก็เป็นคนไทย เราก็รู้จักสำเนียงของเราว่า ถ้าอย่างนี้มันถึงจะเป็นเพลงที่เป็นสำเนียงของเรา"

เมื่อฝึกบ่อยจนชำนาญ ณัฐจึงกลายเป็นผู้ประพันธ์เพลงที่สามารถนำเครื่องดนตรีสากล และรูปแบบสากลมารับใช้สำเนียงไทยได้อย่างลงตัว เหมือนดังเช่น เพลงเปียโนโซนาต้าทั้งสามบทที่เขาได้แต่งขึ้น นั่นคือ ถวายชัยคีตมหาราชา (เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสกาญจนาภิเษก) ถวายบังคมนวมินทรราชา (เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงพระชนมายุครบ 72 พรรษา) และ Siam Sonata (เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงพระชนมายุครบ 75 พรรษา)

(3)
หลายคนอาจสงสัยว่าเพลงคลาสิคซึ่งไม่มีกระทั่งเสียงร้องจะช่วยกระตุ้นเตือนหรือปลูกฝังสำนึกรักชาติให้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีอัตราการบริโภคเพลงคลาสสิคในระดับที่ต่ำขนาดนี้

แต่เสียงเปียโนที่วิ่งมาจากสายซึ่งถูกเกี่ยวกระตุก เมื่อมันแล่นเข้ามาสัมผัสกับโสตประสาทแล้ว ณัฐเชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้ที่ได้ฟังบางคนย้อนไปพิจารณาคำร้อง และจิตวิญญาณในการถือกำเนิดของบทเพลงเหล่านั้นได้บ้าง

"อย่างเพลงนี้เป็นต้นเลยนะครับ สมมติว่าเขารู้จักเนื้อ แค่รู้จักเนื้อเพลง ที่ขึ้นต้นว่า ต้นตระกูลไทยใจท่านเหี้ยมหาญ รักษาดินแดนไทยไว้ให้ลูกหลาน คำแต่ละคำก็มีความหมายหมด สู้จนสูญเสีย แม้ชีวิตของท่าน เพื่อถนอมบ้านเมืองไว้เรา ลุกขึ้นเถิดพี่น้องไทย อย่าให้ชีวิตสูญเปล่า รักชาติยิ่งชีพของเรา เหมือนดังพงศ์เผ่า ต้นตระกูลไทย ก็สั้นๆ แต่ได้ใจความน่ะ

"ผมอยากกระตุ้นให้เยาวชนรู้จักเพลงรักชาติ อย่างเพลงต้นตระกูลไทย คิดว่าเด็กๆ ก็คงไม่รู้จักหรอกครับ แต่ถ้าเขาได้รู้จัก เขาน่าจะชอบ ที่จริงเรามีเพลงปลุกใจรักชาติเยอะนะครับ ในสมัยที่เราต้องต่อต้านคอมมิวนิสต์ อย่างวันที่ชุมนุมคุณน้ำตาล(พวงเดือน ยนตรรักษ์ - ภรรยาของคุณณัฐ)ก็ร้องเพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งมันเหมาะมาก ไม่น่าเชื่อว่าเพลงที่เขาเขียนเอาไว้ตั้ง 20 - 30 ปีแล้วเนี่ย จะมีคนอย่างนี้จริงๆ เห็นชัดเจนอยู่ ในสมัยนั้นอาจจะไม่เห็นเป็นคน เป็นแค่หลักการ แต่คราวนี้เห็นเป็นคนๆ เลย"

แม้จะไม่มีการหยิบปืนมาเข่นฆ่าผู้คนในประเทศ เหมือนที่ชาวโปแลนด์ถูกทหารรัสเซียกระทำในอดีตกาล แต่ค่านิยม 'เงินเป็นใหญ่' ของอดีตผู้นำรายนั้น ก็ได้หว่านเพาะเมล็ดพันธ์แห่งความละโมบ ซึ่งมีจุดยืนที่อยู่คนละขั้วกับความถ้อยทีถ้อยอาศัย การมีน้ำใจแบ่งปันและสารพันครรลองดีงามที่ชาวไทยยึดปฏิบัติมายาวนานอย่างสิ้นเชิง

"เยาวชนรุ่นหลังที่เกิดขึ้นมาต้องไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งที่ยั่วยวนต่างๆ เช่น เราต้องไม่ยอมให้เงินมาเป็นใหญ่เหนือความถูกต้อง เพราะคนที่มันเสียไป เพราอยากได้ เพราะโลภ เขาเอาเงินมาวางไว้ข้างหน้าสักยี่สิบล้าน สำหรับคนที่ไม่เคยมี เขาก็รู้สึกว่ามันมากแล้ว แล้วเขาก็อาจจะทำอะไรที่ไม่ถูกก็ได้ แต่ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรกับชาติเรา ถ้าทุกคนโกงกันหมดเลย มันก็ลำบากน่ะ ถ้าเรารักชาติ เราก็ต้องทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง มากกว่าที่จะยอมเป็นทาสของเงิน

"เพราะเขาคิดแต่เรื่องหาเงินอย่างเดียว ถ้าเราคิดแต่เรื่องนี้อย่างเดียว ก็ทำให้เงินซื้อเขาได้ไง จริงๆ ไม่ใช่ ถ้าสมมติว่าทุกคนพอน่ะ แค่พอสักหน่อย เข้าใจว่าคนที่เดือดร้อนมากก็มีใช่ไหมครับ แต่ว่าคนที่มีพอสมควรแล้ว แต่ว่าอยากได้มาก(เน้นเสียง)กว่าที่มี ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้มากกว่า ซึ่งแม้กระทั่งคนที่เดือดร้อนอาจจะไม่ใช่คนที่ทำเสียหายก็ได้"

(4)
แค่ได้ยินคำว่า 'ดนตรีคลาสสิค' ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็คงจะเบือนหน้าหนี มายาคติในทำนองเปรียบว่า 'ต้องปีนบันไดฟัง' ทำให้หลายคนไม่เคยคิดแม้แต่จะยื่นหูไปสัมผัสดนตรีประเภทนี้

อาจเพราะมันไม่มีเสียงร้องที่คอยบอกเล่าเรื่องราวว่ากำลังปวดใจเพราะอกหักหรือสุขใจเพราะพบรัก เพราะมันไม่มีท่อนบังคับที่เปิดด้วยอินโทรแล้วลากไปหาฮุค ก่อนจะแยกไปหาฮุคอีกสองสามครั้งถึงจะจบเพลง หรือเพราะมันมีเครื่องดนตรีที่ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไปตามท้องตลาด จำพวกเครื่องสายหน้าตาแปลกๆ และเครื่องเป่ารูปลักษณ์ประหลาดๆ

หรือว่าแท้จริงแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดจากมายาคติที่ผลักดนตรีคลาสสิคให้ห่างตัว เป็นทัศนคติซึ่งครอบหัวคลุมหูของเราอยู่กันแน่

"มันเป็นทัศนคติที่คล้ายๆ เหมือนเอาไปแปะเอาไว้ พอคนพูดกันแบบนี้ คนก็เชื่อกันไปตามนี้ ทีนี้มันก็เป็นไปได้ครับ เพราะถ้าสมมติว่าถ้าไปดูการแสดงที่เป็นเพลงที่ยุ่งยากเกินไป เป็นเพลงสำหรับต้องเป็นนักวิชาการฟังจริงๆ แล้วให้คนทั่วๆ ไปฟัง เขาก็จะฟังไม่รู้เรื่อง แม้แต่ผมเองให้ไปฟังเพลงแบบนั้น เพลงที่ยุ่งๆ มากๆ ก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ (หัวเราะ) ทีนี้ในการที่แสดงตลอดมา ที่ผมเล่นมาผมพยายามเลือกเพลงที่มันเป็นเพลงป็อบปูลาร์ของคลาสสิค เป็นเพลงคลาสสิคที่คนส่วนใหญ่ในโลกชอบอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลามาเล่นก็ได้ผลดี แต่ความหนักใจในการเล่นคอนเสิร์ตก็มีอยู่บ้าง เพราะว่าพอคนมีทัศนคติแบบนี้เขาก็จะบอกว่า โอ้ย ไม่มาหรอก ฟังไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) แบบนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

"แม้กระทั่งว่าคนที่เรียนเปียโนเอง หรือเด็กที่เรียนเปียโนเอง โดยที่พ่อแม่บังคับให้ไปเรียนเนี่ย เขาก็จะไมได้สนใจมาฟังนะครับ คนส่วนใหญ่ที่มาฟังคือคนที่ชอบดนตรี ชอบเปียโนน่ะ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่เรียนนะ บางทีคนที่เรียนก็เรียนไปอย่างนั้นน่ะ ไม่ได้อยากมาฟังเท่าไหร่ พ่อแม่ให้เรียนก็เรียนไป แล้วพ่อแม่ที่ให้เรียนก็ไม่สนใจที่จะเอาลูกมาฟัง เพราะมีความรู้สึกว่าเป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่ง ใครเขาว่าเรียนเปียโนแล้วดีก็ทำไปนั่นแหละ

"แทนที่เมื่อทำไปแล้ว ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ก็คือการที่พาเด็กไปฟัง เหมือนคนที่พาลูกไปเล่นกอล์ฟ แล้วก็ตีไปอย่างนั้น แล้วเวลามีทีวีที่มีถ่ายทอดไทเกอร์ วูดส์เล่น ก็ไม่สนใจ ไม่เคยเปิด ไม่ดูเลย(หัวเราะ) ผมว่า คนที่เล่นไปมันก็จะเล่นไปอย่างนั้นแหละ เพราะว่าเขาไม่มีแรงบันดาลใจที่ได้เห็นของจริงว่าเป็นอย่างไร"

และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ณัฐเลือกที่จะหยิบเอาเพลงที่คนไทยคุ้นหูมาแปลงเป็นคลาสสิค เพราะพี่น้องชาวไทยที่ไม่กล้าจับต้องดนตรีอันเป็นอมตะของโลกจะได้ไม่รู้สึกหวั่นเกรงจนเกินไป

"เราต้องการเพลงที่จะต้องเล่นซึ่งเป็นเพลงไทย เราเล่นให้คนไทยฟัง โดยที่เราไม่มีเพลงไทยเลย ผมว่ามันก็แปลกนะ (หัวเราะ) เราก็เป็นไทน่ะ เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้น เรามีความรู้สึกว่า แล้วทำไมเราจำเป็นจะต้องเล่นเฉพาะเพลงฝรั่ง ทำไมเราไม่มีเพลงของเราบ้าง"

ซี่รี่ย์เรื่องโนดาเมะ คันตาบิเร ของประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการนำเอาเพลงคลาสสิคมาย่อยให้เยาวชนและผู้คนในประเทศของเขาสัมผัสได้ง่ายขึ้น และแม้ประเทศไทยจะยังจับจุดหรือมองหากลวิธีในการปรับประยุกต์บทเพลงคลาสสิคให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ แต่ณัฐมองว่าวิธีเริ่มต้นเข้าถึงเพลงคลาสสิคที่ง่ายที่สุดคือการเริ่มที่บทเพลงป็อบปูลาร์คลาสสิคทั้งหลาย

"เขาต้องมีความคุ้นเคยกับมันมากขึ้นน่ะครับ เขาก็ต้องลองฟังดูน่ะ มันมีหลากหลาย ศิลปินที่ผมแนะนำก็คือ โมสาร์ตนี่แหละครับ ฟังง่ายที่สุดแล้ว เพลงเขาฟังเพลินๆดี เพราะ อย่างเปียโนคอนแชร์โตของโมสาร์ต เพราะทุกอันเลยครับ แล้วก็เพลงของบาค แบร์เนนเบิร์ก คอนแชร์โต ก็ฟังง่ายๆ สบาย หรือคนที่อยากฟังให้สนุกกว่านั้นหน่อยก็มี วิวัลดี เดอะ โฟร์ซีซั่น ที่กล่าวมาเป็นศิลปินยุคบาโรคทั้งหมด ถ้าเป็นยุคโรแมนติกก็คงต้องฟังอย่าง รัคมานินอฟ เปียโนคอนแชร์โต หรือว่า ไชคอฟสกี ซึ่งมีทำนองเร้าใจ อันนั้นเป็นเสียงดนตรีที่มันแกรนด์ขึ้นมาอีกเยอะเลย หรือฟังซิมโฟนีของบีโธเฟน อันนั้นก็ตามได้ง่ายๆ เลยครับ"

(5)
วาระสุดท้ายของโชแปง เขาต้องทุกข์ทุรนกับอาการวัณโรคที่กำเริบหนักขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งวันก่อนเสียชีวิตเขาลุกขึ้นจากเตียงที่นอนอยู่ไม่ได้ และพูดอะไรไม่ได้ในเวลาต่อมา ก่อนที่โรคร้ายจะพรากเสียงของเขาไปตลอดกาล โชแปงได้ร้องขอให้ผองเพื่อนช่วยบรรเลงเพลงเรเคียม ( Requiem) ของโมสาร์ตในงานศพของเขา หลังจากที่เพื่อนๆ ของเขาต่อสู้กับข้อห้ามกรณีคณะประสานเสียงหญิงซึ่งไม่เคยเข้าไปขับร้องเพลงในโบสถ์แห่งนั้นจนกฎกรอบทั้งหลายคลายตัวลง เสียงประสานเพลงเรเคียมที่ชวนให้ขนลุกก็ถูกขับขานขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1849

ไม่มีใครสังเกตว่าใบหน้าของโชแปงในโลงสีขาวใบนั้นเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ท่ามกลางเสียงเพลงเรเคียมที่เขาโปรดปราน กับดินก้อนเล็กๆ จากผืนปฐพีของโปแลนด์ที่ถูกวางลงไปใกล้กับร่างของเขา ก็คงทำให้กวีแห่งเปียโนท่านนี้นอนตายตาหลับ แม้ว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้เพียง 39 ปีก็ตาม

   แต่ 39 ปีที่ทำเพื่อชาติที่รักก็คงทำให้ชีวิตของโชแปงมีค่าเกินกว่าเวลาค่อนศตวรรษของใครบางคนที่กำลังย่ำยีแผ่นดินเกิดอยู่อย่างแน่นอน

      ………………………………………..








เฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง
กำลังโหลดความคิดเห็น