xs
xsm
sm
md
lg

เปียโนเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ "ณัฐ ยนตรรักษ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากแนวร่วมของศิลปินเพื่อชีวิตที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่งแล้ว เสน่ห์อย่างหนึ่งของภาคเสียงเพลงบนเวทีในการชุมนุมของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาก็คือความหลากหลายในเรื่องของประเภทแนวเพลง แนวดนตรี

โดยเฉพาะที่สร้างความแปลกแตกต่างเป็นอย่างมาก ชนิดที่หลายคนคิดไม่ถึงว่าจะได้ฟังในการชุมนุมทางการเมืองก็คือบทเพลงคลาสสิกอันเกิดขึ้นจากเสียงเปียโนเพราะๆ ของนักเปียโนชื่อดังของไทยอย่าง "อ. ณัฐ ยนตรรักษ์" และเสียงร้องของผู้เป็นภรรยา "พวงเดือน ยนตรรักษ์"

ล่าสุดเขาคนนี้กลับมาแสดงถึงความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกครั้งในการแสดงเดี่ยวเปียโน เพื่อแผ่นดินเกิด "ลุกขึ้นเถิด...พี่น้องไทย" (Awake! Thais…Awake!) เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พ่อหลวง – แม่หลวงของปวงชนชาวไทย

โดยในครั้งนี้นอกจากจะได้ฟังบทเพลงเพราะ อาทิ "ลมหนาว" บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, "กลิ่นนาง" ผลงานประพันธ์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, Grand Valse Romantique บทเพลงประพันธ์ถวายวาระครบ 84 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ, "โอ้ละหนอดวงเดือนเอย" แล้ว ไฮไลต์สำคัญก็คงจะเป็นการนำเอา "เพลงต้นตระกูลไทย" เพลงปลุกใจรักชาติของหลวงวิจิตรวาทการ มาทำเป็นบทประพันธ์ใหม่นั่นเอง

“ในส่วนของผมที่เป็นนักดนตรี ผมสร้างสรรค์ดนตรีและนำเสนอผลงาน ด้วยความหวังว่าความสามารถทางดนตรีที่ผมมี จะช่วยหนุนใจผู้ฟังให้เกิดความสำนึกรักแผ่นดินเกิด และมีแรงบันดาลใจที่จะลงมือทำสิ่งที่ดีให้ชาติบ้านเมือง” ณัฐ กล่าวถึงที่มาและแรงบันดาลใจของการแสดงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้นักเปียโนชื่อดังยังกล่าวเชิญชวนให้ศิลปิน นักดนตรี ทุกคนมาร่วมอุดมการณ์คนดนตรีที่สร้างสรรค์ในโอกาสนี้ด้วยกันด้วย
“คือด้านหน้าหอประชุมใหญ่จะเป็นเวทีเปิดกว้างให้ทุกท่านนำเพลงปลุกใจรักชาติที่ท่านชอบมาแสดง ไม่ว่าท่านจะถนัดเครื่องดนตรีอะไรก็สามารถนำมาได้ แม้กระทั่งเสียงร้องครับ ให้ความไพเราะหนักแน่นของเพลงปลุกใจรักชาติในรูปแบบต่างๆ เร้าใจเราทั้งหลาย เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้ลุกขึ้นมาทำในส่วนที่ตนเองทำได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ทำเดี๋ยวนี้"
...
เกี่ยวกับ(นัก)เปียโนรักชาติ
"ณัฐ ยนตรรักษ์" เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มเรียนเปียโนเมื่ออายุ 9 ขวบ และเป็นศิษย์ของอาจารย์พันธิภา ตรีพูนผล ตั้งแต่อายุ 14 ปี


ชนะเลิศการแข่งขันเปียโน Siam Music Festival ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 เมื่ออายุ 16 ปี และสอบได้ประกาศนียบัตรขั้นสูงสุด (F.T.C.L.) ของ Trinity College of Music London ซึ่งมาทำการสอบที่ประเทศไทย เมื่ออายุ 19 ปี

แม้จะเป็นบัณฑิตทางสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่ด้วยใจรักทางดนตรี เขาจึงไปศึกษาต่อทางดนตรีที่ Goldsmiths’ College มหาวิทยาลัยลอนดอน จนได้รับปริญญาตรีทางด้านดนตรีในปี พ.ศ. 2524 และสอบชิงทุนเข้าศึกษาปริญญาโททางด้านการแสดงเปียโนที่มหาวิทยาลัย Reading

ณัฐ กลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ.2527 และในปีต่อมา ได้ก่อตั้งณัฐสตูดิโอซึ่งจัดการแสดงการแข่งขันเปียโน และ โรงเรียนดนตรีณัฐ เพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์สู่เยาวชนรุ่นต่อไป นอกจากการสอนแล้วเขายังประพันธ์เพลงสำหรับเดี่ยวเปียโนด้วย เช่น ไก่แก้ว, อัศวลีลา, กุหลาบแห่งรัก ซึ่งประพันธ์ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงพระชนมายุครบ 60 พรรษา

ปี 2537 ณัฐประพันธ์เพลงเปียโนโซนาต้าไทยบทแรก “ถวายชัยคีตมหาราชา’’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสกาญจนาภิเษก ซึ่งได้แสดงมาแล้วถึง 66 ครั้ง ใน 11 ประเทศ รวมทั้ง ณ อาคารสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค และได้บันทึกลงบนแผ่นคอมแพคดิสค์ วางจำหน่ายทั่วโลก โดยบริษัทต่างประเทศ

ปี 2542 ณัฐประพันธ์ โซนาต้าบทที่ 2 “ถวายบังคมนวมินทรราชา’’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงพระชนมายุครบ 72 พรรษา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง การแข่งขันเปียโน ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ให้เพลงนี้เป็นเพลงเลือกของระดับ Excellence และ ทำนอง ” ช้างเผือก” ของท่อนกลางก็เป็นเพลงหลักในสารคดีของ National Geographic เรื่อง “ Heaven & Empire of the White Elephant” ซึ่งฉายไปทั่วโลก

ปี 2545 ณัฐได้ประพันธ์เปียโนโซนาต้าหมายเลข 3 มีชื่อว่า “สยามโซนาต้า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงพระชนมายุครบ 75 พรรษา บทประพันธ์นี้นำเสนอเอกลักษณ์ของประเทศไทย 4 ภาค ผ่านเสียงดนตรีการเดี่ยวเปียโน

เกียรติสูงสำหรับศิลปินไทยอย่างณัฐ ก็คือการที่เมือง Terrell รัฐ Texas ได้ประกาศให้วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันณัฐ ยนตรรักษ์ ”(Nat Yontararak Day) ของเมือง และล่าสุด ปี พ.ศ. 2546 นี้ บริษัทเปียโนที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก Steinway & Sons ก็ได้มอบตำแหน่ง Steinway Artist อันทรงเกียรติให้แก่เขาเฉกเช่นนักเปียโนระดับโลกอีกหลายท่าน

"หลังจากที่เรียนจบกลับมาจากอังกฤษ ผมยังกลับมาหาครูพันทิภาอยู่เสมอ ครูยังคอยเป็นกระจกให้จวบจนครูจากไป ผมเริ่มพัฒนาฝีมือด้วยตัวเองจริงๆ ก็คงจะเป็นตอนอายุราวๆ 33 หลังจากเรียนจบมาได้ 3 ปี เพราะเราต้องเรียนเพลงใหม่ๆ เอง ต้องคิดเอง และจากการสังเกต หาวิธีสอนนักเรียน ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะของบางอย่างเราทำเองได้เป็นธรรมชาติ นักเรียนยังทำไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีอธิบายหรือยกตัวอย่าง ทำให้การสอนสนุกด้วย"

"ผมเริ่มแต่งเพลงร้องตั้งแต่ตอนอยู่สถาปัตย์ แต่งเพลงแรกชื่อ เพ้อจันทร์ เพราะอาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ สั่งว่าให้แต่งเพลงมา 1 เพลง ก็เลยลองทำดู พอเห็นว่าทำได้ ก็แปลกใจตัวเอง เลยลองเขียนมาอีกเรื่อยๆ หลังจากกลับมาจากอังกฤษแล้ว อยากมีเพลงไทยบรรเลงที่ใช้แสดงคอนเสิร์ต เลยลองทำ Variation จากเพลง ไก่แก้ว หรือ สร้อยแสงแดง ซึ่ง ท่านแม่ ( พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา) ทรงแนะนำ"

"การทำ variation คือ การนำทำนองมาแปรโดยใส่ลูกเล่น หรือดัดแปลงตัวทำนองแต่ยังเค้าเดิมไว้ด้วย วิธีนี้เป็นการเรียนรู้ที่จะขยายเพลงให้มีเนื้อหามากขึ้นแต่ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ ซึ่งสำหรับผู้ฟังแล้วก็รู้สึกง่าย ไม่ซับซ้อนมาก สามารถติดตามได้"

"หลังจากนั้นผมจึงประพันธ์เพลง กุหลาบแห่งรัก ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในวโรกาส 60 พรรษา (ผมมีโอกาสแสดงถวายพระองค์ท่านเมื่อครั้งจบสถาปัตย์ใหม่ๆ พระองค์ท่านทรงแนะนำว่าน่าจะไปเรียนต่อทางนี้เพราะมีคนเรียนน้อย ทำให้ผมมีกำลังใจมากขึ้นในการตัดสินใจไปเรียนต่อ) เพลงนี้แต่งเองทั้งหมด ยาวประมาณ 9 นาที จากเพลงนี้ก็กระโดดไปเขียนเปียโนโซนาต้าบทที่ 1 เลย ชื่อว่า ถวายชัยคีตมหาราชา"

"เพลงโซนาต้าคือบทประพันธ์สำหรับดนตรีเดี่ยว (อย่างมากก็มี 2 ชิ้น เช่น ไวโอลินกับเปียโน หรือ ฟลุตกับเปียโน) เพลงนี้มี 4 กระบวน ถ้าเทียบกับเพลงไทยก็คล้ายกับเพลงเถา มีครบรส ส่วนใหญ่ท่อนแรกอยู่ในรูปแบบของโซนาต้า ซึ่งเป็นรูปแบบแน่นอนระดับหนึ่ง รวม 4 กระบวนแล้วก็มีความยาว 37 นาที การเขียนเพลงยาวๆ นั้นยาก"

"เพราะต้องคิดให้ทั้งหมดมีความเป็นหนึ่งด้วย ถึงแม้จะแบ่งเป็นแต่ละกระบวนก็ตาม ลีลา สไตล์ จะต้องสอดคล้อง แต่ก็มีความแตกต่างที่ชวนให้ติดตามด้วย เพลงนี้ผมใช้เวลา 7 เดือนเต็มๆ ตัวทำนองหลักของเพลงนี้ ผมนำมาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 , 7 และของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีไทยเดิมและดนตรีไทยร่วมสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

(ท่อน 1 เพลง บุหลันลอยเลื่อน กับ เพลง สายฝน ท่อน 2 เพลง ใกล้รุ่ง กับ คลื่นกระทบฝั่ง และ เพลงค่ำแล้ว ท่อน 3 เพลง ราตรีประดับดาว กับ เพลง แสงเดือน ท่อน 4 เพลง เขมรละออองค์ กับ เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ และ ยูงทอง)

"การนำทำนองมาผสมผสานกัน บวกกับเสียงประสานตะวันตกนั้น ให้รสชาดดนตรีที่มีเอกลักษณ์พิเศษมาก เพลงนี้ได้มีโอกาสแสดงเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี แสดงไป 11 ประเทศ กว่า 60 รอบ ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ได้นำเอาเพลงนี้ไปใช้เป็นดนตรีประกอบของบัลเล่ต์เรื่อง มัทนพาธา ทั้งเรื่องได้อย่างลงตัว สวยงาม ไม่น่าเชื่อว่าเพลงนี้แต่งขึ้นก่อนเสียด้วยซ้ำ สนุกที่สุดคือแสดง 3 รอบ ผมเล่นเปียโนสดทั้ง 3 รอบเลย เป็นประสบการณ์ที่ยังประทับใจไม่หาย"

ทั้งนี้เจ้าตัวยังได้บอกถึงความแตกต่างระหว่างการประพันธ์เพลงโดยใช้เปียโนกับการแต่งทำนองเพลงในปัจจุบันทั่วๆ ไปด้วยว่า...
"เพลงทั่วไป คนฟังจะจำทำนองทั้งหมดได้รวดเร็วเพราะมีประโยคที่ซ้ำๆ และเพลงยาวประมาณ 3 นาที เพลงเปียโนบางครั้งทำนองอาจจะร้องตามไม่ได้เพราะเสียงสูง ต่ำ ขึ้น ลง มาก และอาจจะร้องตามไม่ทัน เพลงที่บรรเลงเปียโนเดี่ยวนั้น เปียโนจะเป็นทั้งเสียงร้องนำ เสียงประสาน มีโน้ตประกอบที่กำกับคล้ายจังหวะ มีการรัวคอร์ดในรูปแบบต่างๆ บางครั้งมีเสียงประกอบอื่นๆ รวมอยู่ในเสียงเปียโนตัวเดียว"

"แต่เสียงเปียโนก็มีเสน่ห์ที่ชวนฟัง เพราะไม่มีเนื้อร้องกำกับให้คิดอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วแต่ผู้ฟังจะคิดไปตามจินตนาการของตัวเอง และที่น่าทึ่งคือ เปียโนทำเสียงได้ครบถ้วน ถ้าเล่นได้ดีจริงๆ แล้วก็ไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป"

ที่ผ่านมาณัฐมีผลงาน 10 อัลบั้มด้วยกัน ไล่ไปตั้งแต่ เพ้อจันทร์, คนเดียวในดวงใจ, พ-วงเดือน, เปียโนกับปลายนิ้ว, เงียบๆ คนเดียว, พักตรงนี้, Unchained Melody, เปียโนโซนาต้า หมายเลข 1 “ถวายชัยคีตมหาราชา” (Glory to Our Great Kings), เปียโนโซนาต้าหมายเลข 2 “ถวายบังคมนวมินทรราชา” (Homage to H.M. King Rama the Ninth), สยามโซนาต้า (Siam Sonata)

สำหรับในคอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นครั้งล่าสุดนี้ ณัฐได้บอกเล่าถึงความแตกต่างไปจากคอนเสิร์ตครั้งก่อนๆ ว่า
"ผมยังไม่เคยแสดงเพลง Ballade ของ Chopin ครบทั้ง 4 บท ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกของนักเปียโนไทยด้วย ยังไม่เคยมีผู้ใดแสดง 4 บท พร้อมกันมาก่อน บทประพันธ์ Ballade แต่ละบทถือว่าเป็นสุดยอดของคีตนิพนธ์ของโชแปง ได้รับการยกย่องในด้านคุณค่าของเนื้อหาและวิธีการประพันธ์ ว่าเป็นบทประพันธ์ที่รวบรวมเอาความคิด และอารมณ์ที่ลุ่มลึกที่สุดของโชแปงเอาไว้ ผมใช้เวลาเตรียมมาปีกว่าๆ แล้วสำหรับทั้ง 4 บทนี้ โดยเฉพาะบทที่ 4 เพราะเป็นบทที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุด"

"ครึ่งหลังนั้น จะเป็นเพลงที่ผมประพันธ์และเรียบเรียงเองทั้งหมด เพลงโอ้ละหนอ...ดวงเดือนเอย กับเพลง ลุกขึ้นเถิด..พี่น้องไทย จะเป็น 2 เพลงใหม่ที่บรรเลงครั้งนี้เป็นครั้งแรก และที่พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ คงอยู่ที่เพลง ลุกขึ้นเถิด..พี่น้องไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมนำเอาเพลงปลุกใจรักชาติ มาเป็นเพลงแสดง ขอยกตัวอย่างไปถึงเพลง Polonaise ของโชแปง ซึ่งเป็นเพลงที่โชแปงใช้บรรยายความรักชาติได้เป็นอย่างดี ผมหวังว่า เพลงนี้จะสร้างความสำนึกในการรักชาติของบรรพบุรุษของเราที่กอบกู้รักษาชาติบ้านเมืองไว้ ให้เรามีชาติไทยที่น่าภาคภูมิใจอยู่จนทุกวันนี้"

"แล้วในสูจิบัตรผมจะพิมพ์เนื้อร้องเพลงนี้ เพื่อให้ท่านผู้ชมได้รับทราบเนื้อเพลง ต้นตระกูลไทย ในแต่ละข้อจะกล่าวถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์คือ ข้อแรกกล่าวถึง ท่านแม่ทัพที่มีศักดิ์เป็นเจ้าพระยาออกสู้รบ ผู้ซึ่งเป็นผู้กล้าหาญของชาติ ข้อสอง จะกล่าวถึงประชาชน เช่น ชาวบ้านบางระจัน, นายจันหนวดเขี้ยว เป็นต้น มีชื่อบุคคลเหล่านี้หลายๆ คนด้วยกัน ข้อที่สามข้อสุดท้ายกล่าวถึงวีรสตรี ตั้งแต่องค์พระสุริโยทัย ถึงท้าวสุรนารี"

"ผมพยายามให้ดนตรีแต่ละข้อสร้างเอกลักษณ์ของบุคคลแต่ละกลุ่ม ต่างสีสันกัน ส่วนร้องรับ ซึ่งมีประโยคที่ว่า...ลุกขึ้นเถิด พี่น้องไทย อย่าให้ชีวิตสูญเปล่า...นั้น ยังคงอารมณ์ที่หนักแน่นตลอดทั้ง 4 ครั้งที่กลับมา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าดนตรีนี้จะปลุกเร้าความรู้สึกของเนื้อเพลงให้ได้ถึงแก่นครับ"
...
ต้นตระกูลไทย
เพลง "ต้นตระกูลไทย" เป็นเพลงปลุกใจ ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยหลวงวิจิตรวาทการ เพื่อประกอบละคร "อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง" เมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นเพลงที่รวบรวมบุคคลสำคัญที่มีความเก่งกล้าสามารถที่ยอมสละแม้ชีวิตของตนเองเพื่อคนไทยทั้งชาติ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนได้รู้และรักหวงแหนในผืนแผ่นดินไทยกว่าจะมาเป็นประเทศไทยของเราในปัจจุบัน

เนื้อเพลงกล่าวถึงบุคคลสำคัญทั้งหมด 21 คน ได้แก่ ท่านพระยาราม พระราชมนู เจ้าพระยาโกษาเหล็ก สมเด็จพระนารายณ์ สีหราชเดโช เจ้าคุณพิชัยดาบหัก นายแท่น นายดอก นายอิน นายเมือง ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายโชติ นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแก้ว องค์พระสุริโยทัย ท้าวสุรนารี ท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทร

เพลงต้นตระกูลไทย
(สร้อย) ต้นตระกูลไทย ใจท่านเหี้ยมหาญ
รักษาดินแดนไทย ไว้ให้ลูกหลาน
สู้จนสูญเสีย แม้ชีวิตของท่าน เพื่อถนอมบ้าน เมืองไว้ให้เรา
ลุกขึ้นเถิด พี่น้องไทย อย่าให้ชีวิตสูญเปล่า
รักชาติยิ่งชีพของเรา เหมือนดังพงศ์เผ่า ต้นตระกูลไทย


(1) ท่านพระยาราม ผู้มีความแข็งขัน สู้รบป้องกัน มิได้ยอมแพ้พ่าย
พระราชมนู ทหารสมัยกู้ชาติ แสดงความสามารถ ได้ชัยชนะมากหลาย
เจ้าพระยาโกษาเหล็ก ท่านเป็นแม่ทัพชั้นเอก ของสมเด็จพระนารายณ์
สีหราชเดโช ผจญสงครามใหญ่โต ต่อตีศัตรูแพ้พ่าย
เจ้าคุณพิชัยดาบหัก ผู้กล้าหาญยิ่งนัก ล้วนเป็นต้นตระกูลไทย

(สร้อย)

(2) หมู่บุคคลสำคัญ หัวหน้าชาวบางระจัน ที่เราหาชื่อได้
นายแท่น นายดอก นายอิน นายเมือง ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่
นายโชติ นายทองเหม็น ท่านพวกนี้ล้วนเป็น ผู้กล้าหาญชาญชัย
นายจันหนวดเขี้ยว กับนายทองแก้ว ทำชื่อเสียงเพริศแพร้ว ไว้ลายเลือดไทย
ชาวบางระจัน สำคัญยิ่งใหญ่ เป็นต้นตระกูลของไทย ที่ควรระลึกตลอดกาล
(สร้อย)

(3) องค์พระสุริโยทัย ยอดมิ่งหญิงไทย สละพระชนม์เพื่อชาติ
ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร ป้องกันถลางนคร ไว้ด้วยความสามารถ
ท้าวสุรนารี ผู้เป็นนักรบสตรี กล้าหาญองอาจ
ป้องกันอีสาน ต้านศัตรูของชาติ ล้วนเป็นสตรีสามารถ ต้นตระกูลของไทย
(สร้อย)
...
หมายเหตุ
เดี่ยวเปียโนเพื่อแผ่นดิน "ลุกขึ้นเถิด...พี่น้องไทย" แสดงวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำรองที่นั่งได้ที่ มูลนิธิของขวัญแห่งชีวิต โทร 02 930 4004, 02 541 8664, 02 541 8667 รายได้นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเลือดที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ดูรายละเอียดได้ที่ www.givingthegiftoflife.com / www.nat-studio.com
กำลังโหลดความคิดเห็น