ความแตกต่างของนวนิยายกับละครโทรทัศน์มีการพูดถึงบ่อยครั้ง ณ วันที่โลกผันแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น เรื่องราวที่เป็นเพียง “ตัวอักษร” ถูกตีความใหม่รวมถึงต่อเติมเสริมแต่งให้ได้รสชาติในการชมละครโทรทัศน์ให้ได้ “รส”
น้ำผึ้งขม (ภาคแรก), ระฆังวงเดือน(ภาคสอง) บทประพันธ์ของ กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2531 เป็นตัวอย่างของเรื่องราวและรสที่แตกต่าง จนเรียกได้ว่า “ละครศัลยกรรม”
ละครศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ หลังข่าวทางช่อง 3 เรื่องนี้ดำเนินการผลิตโดย บริษัท เมคเกอร์ วาย จำกัด ควบคุมการดำเนินงานโดย “จ๋า ยศสินี ณ นคร" ผู้เป็นลูกสาวคนเก่งของมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช โดยก่อนหน้านี้จ๋าได้พา “จำเลยรัก” (ชูวงศ์ ฉายะจินดา) ออกมาตีความใหม่ จนเรตติ้งโดยเฉลี่ยทุกตอนอยู่ที่ 12.4 และในตอนอวสานเรตติ้งพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 21.4 ซึ่งถือว่าสูงมาก เธอคือผู้จัดหน้าใหม่มาแรงที่สุดคนหนึ่งของช่อง 3 ในขณะนี้
น้ำผึ้งขม เวอร์ชัน 2009 เขียนบทโทรทัศน์โดย ยิ่งยศ ปัญญา กำกับการแสดงโดย ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์
...
จากใจ "กฤษณา อโศกสิน" - "เปลี่ยนไปเยอะนะคะ"
กฤษณา อโศกสิน เป็นนามปากกาของ สุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกานี้แปลว่า “ไม้หอม ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์” ดังนี้ ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ “ไพลิน รุ้งรัตน์” จึงเปรียบเปรยว่า กฤษณา คือ ไม้หอมในวนอุทยานของนักเขียน นามปากกาอื่นๆ เช่น กัญญ์ชลา, สไบเมือง, สุปปวาสา เธอได้รับการประกาศเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2531 และได้รับการประกาศเกียรติเป็น 1 ใน 50 ศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นทางวรรณกรรมทั่วโลกจากประเทศชิลี รวมทั้งได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากการเสนอชื่อของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“น้ำผึ้งขม – ระฆังวงเดือน” ของสำนักพิมพ์ ดับเบิ้ล นายน์ กล่าวถึง “ปม” ไว้ที่ปกหลังว่า แผลรักที่เยียวยาด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์และดีงาม
“บนเส้นทางที่พรหมลิขิตให้ กังสดาล เดิน กับชีวิตและจิตใจที่ซื้อขายเยี่ยงวัตถุ ท่ามกลางกระแสอลเวงแห่งอารมณ์ของชายหนึ่งผู้มีใจให้สองหญิง อันผูกไว้ด้วยความพยาบาท ...อาฆาตรัก เธอ … ผู้เสียสละรัก จะมีความสุขในความทุกข์ หรือความหวานในความขม กับปมรักที่ ปุริม ก่อขึ้นโดยเจตนา โลกคงไม่มีที่ว่างสำหรับคนอ่อนแอ อุปสรรคสอนให้เธอกล้าเผชิญ...และยอมรับว่า วัย... ความอบอุ่น...ของเขา เปรียบประดุจพ่อ ความกังวล...ห่วงใย... เปรียบประดุจพี่ ความซาบซึ้ง...ดื่มด่ำ...ที่มอบให้ฉันสามี จึงมีค่า...มากกว่าทุกสิ่งที่รอคอย”
กฤษณา อโศกสิน กล่าวในคอลัมน์ “ตัวละครของฉัน” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือนว่า “ฉันสร้างน้ำผึ้งขมขึ้นด้วยความอ่อนหัด ไม่จัดเจน โดยนำเด็กสาวเจ้าความคิดบูชาความฝัน เอาชนะคะคานกับความรักมาโรมรันพันตูกับชายหนุ่มใหญ่ งามสง่า ผู้ที่ฉันสร้างขึ้นมาให้เขาคู่กันหลังความแค้นมลายไป ความรักลอยอยู่บนผิวหน้า”
น้ำผึ้งขม ที่ดำเนินการผลิตโดย บริษัท เมคเกอร์ วาย จำกัดนั้น เปลี่ยนไปมากจากกระบวนการตีความใหม่ ! แม้แต่กฤษณา อโศกสินก็ยังยอมรับกับซูเปอร์บันเทิงออนไลน์
“เปลี่ยนไปเยอะนะคะ ไม่ได้ดำเนินเรื่องไปตามที่มีในหนังสือหรอกค่ะ บางเหตุการณ์ก็ไม่มีในหนังสือ คงจะเปลี่ยนไปเพื่อจะให้สนุกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ”
กฤษณา อโศกสิน วัย 78 ปี กล่าว พร้อมกับยอมรับว่างานของเธอหลายๆ เรื่องที่ถูกเช่าช่วงลิขสิทธิ์ไปทำละครโทรทัศน์ผ่านการ “ดัดแปลงมาเยอะ” เรื่องการดัดแปลงนี้สามารถทำได้ เนื่องจากมีความแจ้งชัดอยู่ในสัญญา
“ในสัญญาทุกเรื่องจะมีเหมือนกันคือ ดัดแปลงได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นคำที่กว้าง ถ้าเราเซ็นสัญญาไปแล้ว เขาจะไปดัดแปลงอย่างไรก็ได้ ตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสม และความเหมาะสมเราก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วแต่ว่าเขาอยากจะเปลี่ยนให้มันสนุกขึ้น หรืออาจจะให้โลดโผนขึ้น หรือจะให้เกิดอะไรขึ้นตามความเหมาะสมของผู้เขียนบท ผู้กำกับ” ในสัญญาฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า ต้องส่งบทโทรทัศน์กลับมาให้นักประพันธ์ดูแต่อย่างใด
นวนิยายเรื่อง น้ำผึ้งขม – ระฆังวงเดือน ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร “สตรีสาร” ระหว่างปี 2505 – 2508 หรือเมื่อ 47 ปีล่วงมาแล้ว
“ปรับให้เข้ากับยุคสมัยก็ควรจะปรับนะคะ ดิฉันก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่าน่าจะปรับให้อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า ผู้ประพันธ์และผู้อ่านไม่ตกใจจนเกินไป”
แก่นของเรื่องคือ พระเอกเคยหลงรักแม่นางเอกมาก่อน ความไม่สมหวังในอดีตทำให้พระเอกเกิดความแค้นอยู่ในใจ ฝ่ายแม่นางเอกมีหนี้สินจากการพนันจึงนำลูกสาวมาขายให้ พระเอกซื้อไปอยู่ในบ้าน ทำอย่างไรกับผู้หญิงคนนี้ก็ได้ - กฤษณา อโศกสินว่า “ละครยังรักษาโครงเดิม ไม่ได้ทำให้แก่นของเรื่องเสียไป”
...
บางความต่างของ “น้ำผึ้งขม”
น้ำผึ้งขม ในรูปนวนิยายและละครโทรทัศน์แตกต่างกันมาก เช่น
นวนิยาย - เปิดฉากด้วย “กังสดาล” แต่งงาน “โรส” ดีใจที่ลูกสาวได้แต่งงานกับคนรักเก่า และโรสไม่ได้มีบทบาทในนวนิยาย เพียงแต่ถูกกล่าวถึงเท่านั้น อีกทั้งโรส และ “จวงจันทร์” ไม่เคยเป็นเพื่อนกัน ไม่เคยรู้จักกัน ประเด็นของนวนิยายอยู่ที่จวงจันทร์เป็นผู้หญิงของ “ปุริม” บีบคั้น เล่นงานกังสดาลจนต้องหนีออกจากบ้านไปพักอยู่กับ “แสงดาว” ที่ต่างจังหวัด ส่วน “ไก่” เป็นลูกติดของจวงจันทร์ ไก่และกังสดาลไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จนมาพบกัน เมื่อกังสดาลเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ เรื่องทั้งหมดมาเปิดเผยตอนหลังว่า แสงดาวเป็นคนวางแผนให้ปุริมมาจีบกังสดาล แล้วในที่สุดกังสดาลก็มาตกหลุมรักปุริม
ละคร - ปุริม (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) เคยเป็นแฟนกับจวงจันทร์มาก่อน แต่ถูกโรสซึ่งเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดงาบปุริมไปต่อหน้าต่อตา จวงจันทร์เสียใจหนักจนต้องประชดรักด้วยการแต่งงานกับญาติผู้พี่ของปุริมจนมีลูกด้วยกันคือ ไก่ ทั้งไก่และกังสดาลรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียน จนวันหนึ่งมารู้ว่าหญิงคนรักต้องกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของปุริม ผู้มีพระคุณที่ชุบเลี้ยงเขามาตั้งแต่พ่อตายไป
“อย่างในเรื่องมีชื่อ สันทัด ค่ะ แต่ว่าไม่ได้โดดเด่น แต่เขาดึงออกมาเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการของพระเอก – นางเอก ให้ดีให้ร้ายได้ เป็นเรื่องที่เขาสามารถดึงได้ ไม่ได้กระทบกระเทือนใจดิฉันหรอก ”
อย่างที่กล่าวไว้แต่แรกว่า กฤษณา อโศกสินเคยชินกับเรื่องดัดแปลงเช่นนี้ แต่นักเขียนวัย 78 ท่านนี้ก็ยอมรับว่า ละครบางเรื่องมีผู้อ่านบางคนตกใจ เพราะผู้อ่านไม่คิดว่าละครโทรทัศน์จะสร้างภาพออกมาเช่นนั้น บางคนถึงขนาดโทร.มาคุยกับเธอ
“ดิฉันบอกเขาว่า ใจเย็นๆ แล้วกัน เดี๋ยวจะไปพูดกับผู้จัดให้ แต่ก็ทำไม่ได้หรอก เพราะว่าละครออกอากาศไปแล้ว เราได้เคยคุยกับผู้จัดบางคนเหมือนกัน แต่เขาบอกว่า เสียงตอบรับดี เขาก็ยอมรับว่าคนชอบส่วนมากเป็นคนที่ไม่เคยอ่านนวนิยายมาก่อน ซึ่งก็เป็นจริงอย่างนั้น เพราะว่ามีคนที่ไม่เคยอ่านนิยายไปคุยให้เพื่อนดิฉันฟังว่าเขาชอบละครเรื่องนั้นมาก”
...
ชมัยภร แสงกระจ่าง – พระเอกเรื่องนี้แก่จัง
ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เจ้าของงานเขียนเรื่อง “แกะลายไม้หอม กฤษณา อโศกสิน” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546 สำนักพิมพ์เพื่อนดี / พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2549สำนักพิมพ์ ณ เพชร) เธอยอมรับกับซูเปอร์บันเทิงออนไลน์ว่าอ่านนวนิยายเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อ่านแล้วเกิดความรู้สึกเดียว คือ
“เฮ้อ … พระเอกเรื่องนี้แก่จัง สมัยที่เรายังเด็ก อยากจะอ่านแต่เรื่องที่พระเอกกับนางเอกอายุไล่เลี่ยกัน”
“คุณกฤษณาต้องการทรมานนางเอกให้คนอ่านสงสาร เลยสร้างให้พระเอกมีแต้มที่เหนือกว่าที่จะทำให้นางเอกหัวปั่นได้ ประเด็นอยู่ที่ความรักอย่างเดียว ไม่มีเรื่องอื่น กฤษณาเขียนเรื่องนี้เมื่ออายุแค่ 19 ปีเท่านั้น”
ในฐานะที่เป็นกูรูงานของกฤษณา อโศกสิน บอกว่า เสน่ห์งานเขียนของกฤษณาอยู่ที่วิธีทิ้ง หรือหยอด หรือสร้างประเด็นให้เป็นปม แล้วทิ้งปมนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคนอ่านติด พอติดแล้วก็ต้องตามว่าจะแกะปมเหล่านั้นอย่างไร
“น้ำผึ้งขมเป็นเรื่องที่กฤษณาลองสร้างพระเอกที่มีอายุมาก แล้วก็สร้างปมแค้นที่เป็นไปตามยุคสมัยนั้นซึ่งนิยมเรื่องแบบนี้ การที่กฤษณาเขียนแบบนี้ เวลาที่เราอ่าน เราต้องอ่านในฐานะที่มันเป็นนวนิยาย อย่าอ่านในฐานะที่มันเป็นเรื่องจริง มันอาจจะไม่จริงเท่าไรหรอก” ชมัยภร แสงกระจ่างกล่าวกับซูเปอร์บันเทิงออนไลน์
เชื่อหรือไม่ว่า กฤษณา อโศกสินเคยมีประสบการณ์ในวัยสาวที่ชอบผู้ชายอายุมากกว่าเธอมาก...“ขณะนั้นดิฉันอายุ 18 ปีเท่านั้น ดิฉันเคยชอบแล้วก็ชื่นชมนะคะ เขามีอายุราวๆ สัก 40 ปีเห็นจะได้” (หัวเราะ)
...
น้ำผึ้งขมหลากเวอร์ชัน
น้ำผึ้งขม เป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 2517 จัดสร้างโดยอัศวินภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล นำแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ (ปุริม), นฤมล นิลวรรณ (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย), อมรา อัศวนนท์ (โรส), ภัทราวดี มีชูธน (จวงจันทร์)
ส่วนละครโทรทัศน์ มีหลายเวอร์ชัน เช่น
พ.ศ. 2511 คณะสุภาพสตรี ช่อง 4 บางขุนพรหม นำแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ (ปุริม), กนกวรรณ ด่านอุดม (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย), อมรา อัศวนนท์ (โรส) และสุพรรณ บูรณพิมพ์ (จวงจันทร์) เพลงที่ใช้ประกอบละครเรื่องนี้คือ ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า (คำร้อง – อ.กวี สัตโกวิท, ทำนอง – ประสิทธิ์ พยอมยงค์)
พ.ศ. 2520 – 2523 เนื่องจากปี 2520 สมภพ เบญจาธิกุล ได้ก้าวเข้ามาเล่นละครโทรทัศน์ให้ช่อง 9 อสมท. อีกทั้งสีตลา เรืองศิริ เป็นนางเอกให้ละครโทรทัศน์ของช่อง 5 ซึ่งเป็นละครของ เทิ่ง สติเฟื่อง ในนามของ ศรีไทยการละคร ดังนั้น...เนื่องจากเวลาผ่านมานานมากแล้ว จึงไม่แน่ชัดว่าเวอร์ชันนี้จัดสร้างและแพร่ภาพที่สถานีไหนกันแน่ ระหว่าง ช่อง 9 อสมท. กับช่อง 5 น้ำผึ้งขมเวอร์ชันนี้ แสดงโดย สมภพ เบญจาธิกุล (ปุริม),สีตลา เรืองศิริ (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย) อมรา อัศวนนท์ (โรส) สุพรรณ บูรณพิมพ์ (จวงจันทร์)
พ.ศ. 2524 ค่ายรัศมีดาวการละคร โดย กนกวรรณ ด่านอุดม ช่อง 5 นำแสดงโดย นาท ภูวนัย (ปุริม), หทัยรัตน์ อมตวาณิชย์ (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย), อมรา อัศวนนท์ (โรส), สุพรรณ บูรณพิมพ์ (จวงจันทร์)
พ.ศ. 2529 ค่ายดาราวิดีโอ ช่อง 7 สี นำแสดงโดย นิรุตต์ ศิริจรรยา (ปุริม), มนฤดี ยมาภัย (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย), อมรา อัศวนนท์ (โรส), ฉันทนา กิตติยพันธ์ (จวงจันทร์)
พ.ศ. 2543 ค่ายทีวีซีน ช่อง 3 นำแสดงโดย ยุรนันท์ ภมรมนตรี (ปุริม), รามาวดี สิริสุขะ (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย), จารุณี สุขสวัสดิ์ (โรส), อภิรดี ภวภูตานนท์ (จวงจันทร์)
พ.ศ. 2552 ค่ายเมคเกอร์ วาย ช่อง 3 นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช (ปุริม), เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ (เกรซ, กังสดาล, นุ้ย), จริยา แอนโฟเน่ (โรส), สาวิตรี สามิภักดิ์ (จวงจันทร์)
...
ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ : เราปรับสัมพันธภาพตัวละครใหม่
หัวใจของเรื่อง “น้ำผึ้งขม” ในทัศนะของผู้กำกับการแสดง ป้าแจ๋ว - ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ คือ ผู้ชายคนหนึ่งที่มีความแค้นติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะถูกทำให้เสียใจโดยผู้หญิงคนหนึ่ง ถึงแม้ผ่านไปหลายปีก็ยังไม่ลืมความแค้นนั้นแล้วกลับมาทวงถาม คนที่ได้รับผลกรรมจากความแค้นนั้นคือ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ฉะนั้น วันที่เธอควรจะมีความสุข ได้แต่งงาน แทนที่จะได้ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่หวานชื่น กลับกลายเป็นน้ำผึ้งที่ขมขื่นอยู่ตลอดเวลา
เนื่องจาก น้ำผึ้งขม เป็นนวนิยายที่ผ่านระยะเวลาในโลกนวนิยายมานานมากเรื่องหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับสถานการณ์ ปรับเหตุการณ์ และปรับสัมพันธภาพของตัวละครใหม่ เพื่อให้ละครทันสมัย ดูสนุก
“ในนวนิยาย ตอนที่ปุริมเอานางเอกเข้ามาอยู่ในบ้าน ก็จะคอยกลั่นแกล้งด้วยการให้นางเอกเห็นว่าตัวเขาไปนอนกับจวงจันทร์ตลอดเวลา แล้วจวงจันทร์ก็ทำทีเหมือนคนที่ไม่ยี่หระอะไร เยาะกังสดาลว่า เห็นมั้ย เขาเป็นของฉัน เขารักฉัน เขานอนกับฉัน นางเอกก็นิ่งเงียบอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำตามหนังสือแบบนี้เรื่องจะไม่สนุกเลย เรื่องจะดูอ่อน เพราะไม่สมจริงกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป"
"คนดูละครก็จะหงุดหงิดว่า นางเอกไม่รู้สึกอยากจะตอบโต้เลยหรือมีปฏิกิริยาอะไรกับพระเอกและคุณจวงบ้างเลยหรือ ดังนั้นในละคร เราจึงต้องสร้างตัวช่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณสันทัด ที่เล่นโดยคุณจ๊อบ นิธิ สมุทรโคจร ก็พยายามเข้ามาช่วยเหลือนางเอก ซึ่งพระเอกก็จะพูดว่า เขาอยากให้นางเอกใช้สมองคิดหน่อยว่า การที่จะตอบแทนพ่อแม่ ไม่ใช่ไปยืมเงินของคนอื่นมาอีกต่อหนึ่ง แต่ตัวเองควรจะเป็นคนทำเอง หรืออย่างกรณีของไก่ ในละครเขาจะไม่รู้เรื่องสัมพันธภาพระหว่างปุริมกับจวงจันทร์มาก่อน น้ำผึ้งขมใน พ.ศ. นี้ดัดแปลงเยอะมาก”
ป้าแจ๋ว ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ เคยพบและได้คุยกับกฤษณา อโศกสินในงานเปิดตัวหนังสือ “วรรคทองของกฤษณา” งานดังกล่าวเขาได้เรียนกับกฤษณา อโศกสินว่า น้ำผึ้งขมที่จัดสร้างใหม่นั้นเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน
“ท่านบอกว่า มีนวนิยายบางเรื่องที่เอาไปทำเป็นละคร พอดูละครแล้วอยากจะขอซื้อคืน มันไม่เหมือนนวนิยายของท่านเลย วันนั้นได้อธิบายให้ท่านฟังว่า ข้อจำกัดหลายๆ อย่างของนิยายที่ถูกดัดแปลงมาเป็นละครเนี่ย มันเยอะมาก"
"เช่น ตอนนี้เราก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ละครดูสนุก คนติดตามดูทุกวัน เพราะฉะนั้นอะไรที่มันยืดยาดในนิยาย หรือเรื่องที่ดูน้อยเกินไปอาจจะต้องถูกแต่งเติมสีสันให้มากขึ้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ หรือสร้างเหตุการณ์ใหม่ หรือสร้างตัวละครเพิ่มเติมจากนิยาย หรือตัดบางตัวละครในนิยายทิ้งถ้ามันไม่มีประโยชน์"
"การนำนวนิยายมาทำละครจำเป็นต้องศัลยกรรม เหมือนคนที่ไปทำศัลยกรรม ทำจมูก ทำตา หน้าตาอาจจะดูเปลี่ยนไป แต่พอเขาพูดปั๊บ เราจะจำได้ว่านี่คือเสียงของเขา นวนิยายที่เอามาทำละครก็เหมือนกัน ดูครั้งแรกเรื่องอาจจะเปลี่ยนไป แต่พอดูเรื่อยๆ จะรู้ว่า อ๋อ นี่แหละ มันเป็นเรื่องเดียวกับที่เราอ่านในหนังสือ"
"จำได้ว่าวันนั้น คุณกฤษณา อโศกสินพูดปนหัวเราะว่า ความจริงแล้วเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่คนเขียนก็ช้ำใจเหมือนกันนะ เขาก็รับไม่ได้ แต่ว่าเมื่อเราไปอธิบายแบบนั้น ท่านก็พอเข้าใจขึ้นมาบ้างว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ท่านบอกว่า บางเรื่องที่ท่านรักมากๆ หรือว่าชอบมากๆ ท่านก็ไม่อยากขาย”
เมื่อใดที่จำเป็นต้องดัดแปลง ผู้จัดละคร, ผู้เขียนบทโทรทัศน์ และผู้กำกับต้องมานั่งคุยกัน
“เราจะคุยกันว่า อะไรที่เป็นข้อดีของนวนิยายที่เราจะเก็บไว้ อะไรที่เป็นจุดอ่อน จุดด้อย หรือตอนไหนที่ใช้ไม่ได้กับช่วงปีนี้ ต้องลิสต์ออกมา แต่ก็ต้องคงเรื่องเดิมของนวนิยายของเขาไว้ เพราะว่าการทำตลาดของละครในยุคใหม่ ทำให้เกิดวิธีคิดแบบใหม่ ทุกคนต้องช่วยกัน”
ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ เคยกำกับละครที่สร้างจากนวนิยายหลายเรื่อง เช่น นางอาย (นราวดี), สองนรี (พัดชา), ลิขิตกามเทพ (อาริตา), ทะเลแปร (ว. วินิจฉัยกุล), เรือนรักเรือนทาส (ชัยเจริญ ดวงพัตรา) เป็นต้น นวนิยายเหล่านี้ได้รับการตีความใหม่ มาก น้อย ในประเด็นที่แตกต่างกันไป
“สองนรี กับลิขิตกามเทพ เป็นนวนิยายเรื่องใหม่ ทำได้ใกล้เคียง แต่ตอนจบของละครไม่เหมือนในนิยาย ทะเลแปร คงเรื่องของนวนิยายเอาไว้ ดัดแปลงเนื้อเรื่องเล็กน้อย เปลี่ยนตอนจบใหม่ นางอาย เราใช้แนวคิดแบบการ์ตูนผู้หญิงของญี่ปุ่นมาใช้ เรื่องเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร"
"ซึ่งคุณนราวดีชอบมาก เพราะเห็นความต่างของละครกับนวนิยาย และเรือนรักเรือนทาส ซึ่งเป็นนิยายรุ่นเก่า จะคล้ายๆ กับเรื่องที่เราทำน้ำผึ้งขมนี่แหละ คือยุบบางตัวละคร ขยับเหตุการณ์บางอย่าง และเรียงลำดับสัมพันธภาพของตัวละครใหม่ พื่อให้มันสนุกขึ้น” ยุทธนากล่าวกับซูเปอร์บันเทิงออนไลน์
แล้วคุณคิดอย่างไรกับ “น้ำผึ้งขม” ละครศัลยกรรมเรื่องนี้!!