หลังจากค่อยๆ สร้างชื่อขึ้นมา ทั้งในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับก่อนจะได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นคนทำหนังรุ่นหนุ่มฝีมือดีอีกคนหนึ่งของเมืองไทย...ณ วันนี้ที่ชีวิตบนถนนคนทำหนังกำลังย่างก้าวเข้าครบทศวรรษ ผมคิดว่าฝีมือของ "โขม ก้องเกียรติ โขมศิริ" สุกงอมพร้อมแล้ว สำหรับคำว่า "ผู้กำกับยอดเยี่ยม" ผู้เป็นเจ้าของ "ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" แห่งปี
เชื่อว่า ก่อนหน้านี้ คนที่เกาะติดก้าวตามภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด ย่อมเคยได้ยินชื่อของก้องเกียรติ โขมศิริ มาบ้างไม่มากก็น้อย ขณะที่ภาพแรกๆ ซึ่งคนในวงการหนังจะนึกออก เวลาพูดถึงผู้ชายคนนี้ก็คือ การเป็นนักเขียนบทหนังที่ "ไว้วางใจได้"
เพราะต่อให้ไม่นับรวมบทบาทการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทหนังดีๆ ที่น่าจดจำหลายต่อหลายเรื่อง (อย่าง บางระจัน ลองของ ฯลฯ) แม้เมื่อต้องมารับภาระเขียนบทคนเดียว เขาก็ทำได้ไม่น่าผิดหวัง (อย่างเช่น "เปนชู้กับผี" ที่เขียนให้ผู้กำกับวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) ก่อนที่ศักยภาพของเขาจะถูกมองเห็นแบบเด่นชัดในผลงานหนังที่เขาทั้ง "เขียนบทเอง" และ "กำกับเอง" อย่าง "ไชยา"
แน่นอนที่สุด ผลงานการกำกับเรื่องที่สามของเขา (หลังจาก ลองของและไชยา) ซึ่งมีชื่อสั้นๆ ว่า "เฉือน" ก็เปรียบเสมือนคำยืนยันชั้นดีที่บอกเล่ากับเราว่า เขาคือ "ของแท้" และ "ตัวจริง" คนหนึ่งในวงการ ไม่ได้เกิดมาเพราะ "ลูกฟลุค"
อย่างไรก็ตาม ไม่รู้จะเรียกว่าเป็น "ชะตากรรม" หรือความบกพร่องของการโปรโมตหรืออะไรไม่ทราบได้ มันจึงมีสิ่งที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ตอนที่หนังเรื่อง "ไชยา" เข้าฉายนั้น กระแสของมันดูเหมือนจะ "เงียบ" ไปสักหน่อย ทั้งๆ ที่หนัง "มีดี" อยู่ในตัวเองสูงมาก คือในปี 2550 นั้น สำหรับผม ถ้าตัด "รักแห่งสยาม" ออกไปก่อน ลำดับถัดมาที่ควรค่าแก่การยกย่องในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ก็มี "ไชยา" นี่เองที่ถือเป็น "ม้าแข่ง" ตัวสำคัญ
ในทำนองเดียวกันนั้น ไม่มากไม่มาย ผมคิดว่าหนังเรื่องใหม่อย่าง "เฉือน" ก็กำลังประสบกับชะตากรรมไม่ต่างกันเท่าไรนัก เพราะนอกจากกระแสของหนังจะดูค่อนข้าง "เงียบ" แล้ว หนังตัวอย่างที่ตัดมาใช้ในการโฆษณายังมีท่าทีที่จะทำให้คนดูเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงของหนังสูงมาก อย่างคนใกล้ตัวผมหลายๆ คนยังบอกเลยว่าไม่เห็นจะน่าสนใจ เพราะมันก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นหนังฆาตกรรมที่มาพร้อมกับฉากบู๊ดุๆ แล้วแทรกแซมด้วยซีนสวาทยั่วราคะระหว่างมือปืนกับดาวโป๊อะไรทำนองนั้น
อย่าเพิ่งกล่าวหาว่าคนใกล้ตัวที่ผมพูดถึง เป็นพวกมนุษย์ผิวเผินที่มองอะไรเพียงพื้นผิว และอย่าเพิ่งโกรธกริ้วไฟว์สตาร์ที่หาวิธีโปรโมตได้ไม่เจ๋ง (การโปรโมตเจ๋งๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำการโฆษณาเลวๆ ยังไงก็ได้ เพื่อเรียกความสนใจให้คนไปดู) เพราะสิ่งดีๆ ในจุดนี้ยังมีอยู่ นั่นก็คือ ว่ากันอย่างถึงที่สุด หนังดี อย่างไรเสียก็ยังคงเป็นหนังดี ไม่ว่าจะโปรโมตได้ดีหรือไม่อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม หนังห่วย ต่อให้โฆษณาว่าดีแค่ไหน มันก็ยังเป็นหนังห่วยอยู่วันยันค่ำ และบางที...สำหรับหนังบางเรื่อง ที่มันดีก็ตรงที่มันมี "เซอร์ไพรส์" นี่แหละท่าน
...ภายใต้รูปลักษณ์หน้าตาของหนังฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน ผลงานของคุณก้องเกียรติชิ้นนี้ดูเหมือนจะมีหลายมุมให้เลือกมอง เพราะขณะที่ในด้านหนึ่ง หนังทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากคมมีดซึ่งกรีดและ "เฉือน" เอาความอัปลักษณ์มืดหม่นของสังคมออกมาเปิดโปงให้เราเห็น เช่นเดียวกับที่ได้ตีแผ่บาดแผลและผลพวงแห่งความขมขื่นจากการถูกกระทำและความรุนแรง แต่พอตะแคงพลิกไปอีกด้าน หนังชื่อสั้นๆ เรื่องนี้ก็ไม่ต่างไปจาก "กระจกชั้นดี" ที่ส่องสะท้อนเรื่องราวที่ทั้งน่ารันทดและน่าอัปยศอดสูไปด้วยในขณะเดียวกัน
และเหนือสิ่งอื่นใดเลยก็คือ การพูดถึง "ความหมาย" ของการมีชีวิตและตัวตนอยู่บนโลก
...การมีชีวิตและตัวตน ที่อาจไม่ได้หมายถึง แค่มีลมหายใจและร่างกายเนื้อหนังซึ่งใช้เดินเหินไปไหนมาไหนได้ แต่หมายถึงการได้รับการ "ยอมรับ" และ "รับรู้" ถึง "การมีอยู่" (Existence) จริงๆ ไม่ได้เป็น "ตัวประหลาด" อะไรสักตัวที่ "มีชีวิตอยู่ก็เหมือนไม่มี" มิหนำซ้ำ ยังถูกกระทำย่ำยีราวกับไร้หัวจิตหัวใจ และไร้ความสำคัญ
...การมีชีวิตและตัวตน ที่ไม่ได้หมายถึง เรียกร้องต้องการให้คนทั้งโลกมายกย่องบูชา แต่แค่มี "ใครสักคน" เห็นค่าความสำคัญ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว...
"เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ" พลิกบทบาทจากหมอหนุ่มมาดนิ่มใน "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว" มาสู่คาแรกเตอร์ห้าวๆ เข้มๆ ในบทของ "ไท" อดีตมือปืนรับจ้างที่ภายหลังกลับตัวกลับใจมาทำงานรับใช้ "หมวดชิน" (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ใช้เขาทำงานแบบลับๆ และกับภารกิจล่าสุดที่หมวดชินหยิบยื่นให้ไททำ คือการตามล่าหาตัวฆาตกรต่อเนื่องที่ปฏิบัติการอุกอาจประหลาดเหลือ
อย่างไรก็ดี ยิ่งมือปืนหนุ่มสืบสาวราวเรื่องลึกลงไปมากเท่าไหร่ ความฉงนงุนงงก็ยิ่งเพิ่มพูนคูณทวี และในท้ายที่สุด เมื่อปมปริศนาฆาตกรรมถูกคลี่คลาย มันก็กลับกลายเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงซึ่งหนักหนาถึงขั้นทำให้หนุ่มมือปืน "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" และ...หัวใจสลาย...
ตลอดเส้นทางที่ไทออกเสาะหาปมปริศนาฆาตกรรม ผมรู้สึกว่า ผลงานการกำกับของคุณก้องเกียรติชิ้นนี้มีความแตกต่างไปจากเรื่องที่แล้วเยอะพอสมควร เพราะในขณะที่ "ไชยา" ดูหวือหวาแพรวพราวในการเล่าเรื่องที่บิวท์อารมณ์ของหนังให้ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดทั้งเรื่อง (มีซีนซึ้งๆ เล็กๆ น้อยๆ กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ก่อนอารมณ์ของหนังจะถูกขยี้ให้ปะทุสะเทือนใจรุนแรงในตอนจบ) แต่ "เฉือน" กลับดูเหมือนจะไม่มีความพยายามแบบนั้น
ผมคิดว่า ผู้กำกับใช้หลักการในลักษณะที่จะไม่เข้าไป "กำหนด" หรือ "คั้นเค้น" ความรู้สึกของตัวละคร (หรือแม้แต่คนดู) แบบเกินจำเป็น แต่ปล่อยให้หนังเล่าเรื่องราวของตัวเองไปเรื่อยๆ และสุดท้าย เมื่อหนังบอกเล่ารายละเอียดของเรื่องราวครบถ้วนพร้อมกับเฉลยตัวเอง เราจะได้ภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดที่ชวนรันทดสะเทือนใจในแบบที่หนังไม่จำเป็นต้องเปลืองพลังในการบิวท์อะไรเลย
กระนั้นก็ตาม พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า "เฉือน" เล่าตัวเองในแบบหนังสารคดีแกนๆ ไร้อารมณ์ ในทางตรงกันข้าม ต่อให้แกล้งทำเป็นลืมๆ ความทุ่มเทของเป้ อารักษ์ กับการเปิดเผยเรือนร่างบางส่วนที่ชวนให้รู้สึก "จี๊ดใจ" ไม่น้อยไปกว่าฉาก "จุมพิตสะท้านภพ" ใน "รักแห่งสยาม"...หนังยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจิปาถะที่กระแทกกระทุ้งอารมณ์ของคนดูให้สะดุ้งสะเทือนได้เป็นระยะๆ
นั่นยังไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาในส่วนของตัวละครหลักที่คล้ายจะผลักความรู้สึกของคนดูให้จมลงสู่ความหดหู่เศร้าสลดอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นความจงใจของผู้กำกับด้วยหรือเปล่า แต่ผมคิดว่า ความคมคายอย่างหนึ่งของหนังก็คือ การสร้างคาแรกเตอร์และแบ็กกราวน์ของสองตัวละครหลักๆ ให้มี "จุดร่วม" ที่คล้ายคลึงกัน และมันก็ส่งผลด้านลึกต่อเนื้อหาเรื่องราวในเวลาต่อมา เพราะในขณะที่ "นัท" มีลักษณะของความเป็น "คนนอก" (Outsider) จากการถูกเด็กคนอื่นๆ กีดกันไม่ให้เข้าพวก (เพราะมองว่าเขาเป็นกะเทย) การมีอาชีพเป็นมือปืนของไทในวัยที่โตขึ้น แท้ที่จริงก็คือ การเป็น "คนนอก" คนหนึ่ง (คนนอก หมายถึงคนประเภทมือปืน โสเภณี กุ๊ย แก๊งสเตอร์ ไปจนถึงคนอีกหลายๆ แบบที่ไม่ได้รับความสนใจไยดีจากสังคม ฯลฯ)
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ขณะที่หนังเล่าเรื่องไป เราจึงสามารถสัมผัสได้ถึงความปรารถนาลึกๆ ของตัวละครทั้งสองที่อยากจะ "มีส่วนร่วม" ในอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเคว้งคว้างเกินไปนัก อย่างในกรณีของ "ไท" เขาถึงขั้นยินยอมทำร้ายได้แม้กระทั่งเพื่อน เพียงเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกเขี่ยออกไปจาก "สังคม" (ซึ่งในที่นี้หมายถึง กลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน) แต่มันโหดร้ายยิ่งกว่าในกรณีของ "นัท" เพราะหลังจาก "ตัวตน" ของเขา ถูก "มองข้าม" มาโดยตลอด ในที่สุด เขาก็เริ่มปฏิบัติการบางอย่างเพื่อยืนยันถึง "การมีอยู่" (Existence) ของตัวเอง
...การมีอยู่ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีเลือดเนื้อหัวจิตหัวใจ และต้องการใครสักคน...
ครับ, ถ้าจะมีอะไรสักอย่างสองอย่างที่แม้จะไม่ใช่จุดอ่อนของหนัง แต่ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนในตอนนี้ก็คือ นอกจาก Cliche ในหนังจุดสองจุด (คลิเช่ หรือ Cliche คือคำเรียกบางสิ่งบางอย่างที่ถูกนำมาใช้ในหนังแบบ "ทำตามๆ กันไป" จนกลายเป็นความเกร่อ) อย่างตำรวจที่ต้องมาตอนจบ (ทุกทีไปสิน่า!!) หรือการให้คนชุดแดงที่เป็น "ตัวปลอม" มาเดินหลอกมือปืนหนุ่ม ตามธรรมเนียมของหนังฆาตกรรมส่วนใหญ่ที่มักจะสร้างตัวละครเล็กๆ ขึ้นมาสักตัวสองตัวมาอำคนดู...มันก็ยังมีความน่าสงสัยเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับฆาตกรที่จู่ๆ ก็เดินเข้าไปยิงกราดมนุษย์ปาร์ตี้ในงาน "กามหรรษา" ทั้งที่จะว่าไป งานระดับนั้นของลูกท่าน รมต.ก็น่าที่จะมี "หน้าบ้าน" คุ้มกันบ้าง
อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากนี้ที่พูดมา ผมก็ยังมองว่า คุณก้องเกียรติเป็นคนทำหนังที่ใส่ใจในรายละเอียดและองค์ประกอบของหนังทุกๆ ส่วน ทั้งรูปแบบและเนื้อหา
ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่แม้จะใช้เทคนิคตัดสลับไปมา แต่ทว่าไม่น่างุนงง ดนตรีประกอบที่ทรงพลัง (เสียงไวโอลินบาดหู ฟังๆ ดู ชวนให้รู้สึกทั้งน่าพิศวงและปวดร้าวเปลี่ยวเหงาอยู่ในที ราวกับดนตรีในหนังของหว่องการ์ไวยังไงยังงั้น) งานด้านภาพที่ผ่านการจัดแสงเงามาอย่างพิถีพิถัน เพราะลำพังแค่ฉากเปิดเรื่องโชว์กระเป๋าสีแดงจัดตัดกับสีเขียวครามของผืนน้ำทะเลนั้น ก็กินขาดเหลือเฟือแล้ว ขณะที่อีกเกินกว่าครึ่งเรื่อง หนังก็เซ็ทฉากดาร์กๆ หม่นๆ ซึ่งเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับเนื้อหาของหนังซึ่งออกไปทางหนังนัวร์เรื่องหนึ่ง
พูดมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่า "เฉือน" นั้นมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ "เข้าทาง" หนังนัวร์หรือ Film Noir มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ขอพูดถึงแบบสั้นๆ ครับว่า ฟิล์มนัวร์หรือหนังนัวร์นั้น คือหนังสไตล์หนึ่งซึ่งนอกจากจะมีจุดเด่นๆ อยู่ที่การจัดแสงแบบ Low Key ที่ทำให้ฉากแลดูสลัวๆ มัวๆ หม่นๆ เรื่องราวในหนังยังเน้นนำเสนอเนื้อหาที่หม่นหมอง หดหู่ ผิดศีลธรรม และชวนสิ้นหวัง ตัวอย่างหนังแนวนี้ ก็อย่างเช่น The Last Seduction, Chinatowm, L.A.Confidential, Fight Club, The Maltese Falcon, Blood Simple, Double Indemnity ฯลฯ ส่วนหนังไทยที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างว่าเป็นหนังแนวนี้ก็คือ "กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน"
มองมาที่เรื่อง "เฉือน" หนังไม่เพียงจะมีคุณสมบัติของงานด้านภาพที่ฉาบทาด้วยบรรยากาศแสงเงาซึ่งหม่นมัวสลัวรางแทบทั้งเรื่อง แต่ในส่วนของเนื้อหายังอบอวลด้วยกลิ่นอายของความตาย กิเลสตัณหา การฆาตกรรม และความรุนแรง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหนังนัวร์ด้วยกันทั้งสิ้น
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกของหนังนัวร์นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่ "ขาวล้วน" หรือ "ดำล้วน" แบบแบ่งแยกชัดเจน แต่มันจะเป็นโลกสีเทาๆ ที่คนคนหนึ่งสามารถจะมีทั้งด้านที่ "ขาวสะอาด" และ "มืดหม่น" ปะปนคลุกเคล้ากันไป (ขณะเดียวกัน ตัวร้ายของเรื่อง อาจจะไม่ได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็น แต่ได้ดิบได้ดีในตอนจบ) ดังที่เราจะเห็นในงานชิ้นนี้ที่แม้แต่สถาบันหลักๆ ของสังคมซึ่งสมควรต่อการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดี กลับยังมีเหลี่ยมมุมที่มัวหมองสกปรก ไล่ตั้งแต่ครอบครัว (ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือ พ่อของนัท) ไปจนถึงตำรวจ หรือแม้กระทั่งครูบาอาจารย์
เหนืออื่นใด แม้แต่คนซึ่งเราคิดว่าโหดร้ายเกินบรรยายอย่างฆาตกรในเรื่อง เมื่อมองกันอย่างถึงที่สุด ก็ยังมีด้านที่น่าสงสารเห็นใจ และนี่ก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย หากแต่คือเสียงหนึ่งของหนังนัวร์ที่บอกเล่าให้เราฟังถึงสัจธรรมความเป็นคนที่มีหลายๆ ด้านปะปนอยู่ในตัวตนของคนคนเดียว
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มนักฆ่ามือฉมังอย่างไท หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่อย่างหมวดชิน และไม่ว่าจะเป็นฆาตกรจอมเฉือนหรือใครต่อใครอีกหลายคนในเรื่อง ที่สุดแล้ว แต่ละคนก็ไม่ใช่คนในแบบที่เราจะพูดได้ว่า "ดีสุดขั้ว" หรือ "ชั่วสุดขีด" อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งที่พวกเขาเป็น ก็คือ "มนุษย์สีเทาๆ" ใน "โลกสีเทาๆ"...
ครับ, พูดกันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าคุณจะมองหนังเรื่องนี้ในฐานะของหนังอะไร ซึ่งก็สามารถที่จะมองได้หลายหลากมากมุม
...หนังฆาตกรรมที่มาพร้อมกับฉากโหดๆ และซีนแรงๆ
...หนังสืบสวนสอบสวนที่มาพร้อมกับพล็อตเรื่องลึกลับชวนค้นหา
...หนังปรัชญาที่ว่าด้วยความหมายของการมีชีวิตและตัวตน
...หนังสะท้อนสังคมที่บอกเล่าความน่าอัปยศสลดใจของสิ่งที่มีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า "มนุษย์" และเรื่องราวอันวิปริตบิดเบี้ยวของสังคม หรือแม้กระทั่งหนังรักที่ไม่ใช่แค่ "เธอรักฉัน ฉันรักเธอ โลกนี้สวยงาม" แต่เป็นรักที่มีทั้งแง่มุมขื่นขมและงดงาม...
จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับผม เมื่อมองย้อนกลับไปในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมาของหนังไทย มันอาจจะมากมายด้วยหนังที่ดูแล้ว "เสียดายตังค์" และเสีย "ความรู้สึก" แต่เมื่อมานั่งนึกดูจริงๆ ผมคิดว่า มันก็ยัง "มี" หนังอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งถือเป็นความสุขใจที่ได้ดู
มี "หนังรัก" อย่างความจำสั้น แต่รักฉันยาวที่ทำให้เรามองเห็นแง่งามของความรัก แล้วก็มีหนัง "น่ารักๆ" อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มีหนังรักที่พอดูได้อย่าง "Before Valentine" ก็ยังมีหนังรักที่ลุ่มลึกด้วยอรรถรสแห่งสุนทรียะอย่าง "A Moment in June"
มี "ความสุขของกะทิ" ที่ประณีตด้วยมุมมองของศิลปะ แล้วยังมี "นางไม้" ที่ละเมียดละไมไม่น้อยไปกว่า
มี "ก้านกล้วย 2" ที่ไม่หลงลืมอนาคตของชาติ ก็ยังมี "อนุบาลเด็กโข่ง" ที่น่าเสริมส่งอุ้มชู มีหนังผีบวกตลกที่ควรให้กำลังใจอย่าง "หลวงพี่กับผีขนุน" ก็ยังมีหนังผีเจ๋งๆ ที่ทำเงินได้เยอะๆ แบบ "5 แพร่ง"
และสุดท้าย ก็คือมี "เฉือน" เรื่องนี้ ที่ในมุมมองของผม มันสมศักดิ์ศรีเป็นอย่างยิ่งกับการที่จะ "เฉือน" ตำแหน่ง "หนังยอดเยี่ยมแห่งปี" ของ พ.ศ.นี้ไปครอง...
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |