xs
xsm
sm
md
lg

เร่ขายฝันฯ : แค่สอบผ่าน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประภาส ชลศรานนท์ กล่าวว่า "มีสองสิ่งที่เราจงเชื่อ สิ่งแรกคือ คุณค่าของชีวิตในวันนี้ สิ่งที่สองคือ ความงามของความฝันวันพรุ่ง ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไป ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่เต็ม"

เพลงของ "เฉลียง" ได้ชื่อว่าเป็นเพลงดนตรีอารมณ์ดี ฟังสนุก มีทัศนคติในเชิงบวก และปรัชญาบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่!! มีคำพูดประโยคหนึ่งในละครเรื่อง เดอะ เลเจนด์ ออฟ เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะมิวสิคัล ที่ "พันหนึ่ง" (บอย พิษณุ นิ่มสกุล) กล่าวกับ "พระจันทร์" (สาวิตรี สุทธิชานนท์) เมื่อตอนที่ขับเครื่องบินมาชนเฉลียงของเธอซึ่งสร้างอยู่บนต้นไม้จนพังว่า "เฉลียงอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่"!!

ละครเวที "เร่ขายฝัน" เรื่องนี้ เป็นผลงานอันดับ 2 ของโต๊ะกลม บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ ละครเรื่องแรกที่ผ่านสายตาผู้ชมไปเมื่อปีที่แล้วคือ ชายกลาง ละครชายกลางสมัยที่ยังเป็นละครถาปัด จุฬาฯ ใช้ชื่อเรื่องว่า "ปริศนา" มาปีนี้เวิร์คพอยท์จับมือกับทรู แฟนเทเชีย ทำ Jukebox Musical โดยนำเพลงของเฉลียงมาร้อยเรียงเข้าไปในโครงของละครเรื่องนี้ โดยมี ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์ 108 มงกุฎ) เป็นผู้กำกับฯ

สังข์ ธีรวัฒน์ชมละครถาปัดครั้งแรกสมัยที่เรียนอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนั้นเขารับรู้ว่า ละครถาปัดมันกวน – มาก และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตัดสินใจเลือกที่จะเอนทรานซ์เข้ามาเรียนที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่เขาเรียนปี 1 ได้มีโอกาสเล่นละครกับกลุ่มพี่ๆ ที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงแล้ว เช่น ดู๋ สัญญา คุณากร, ภิญโญ รู้ธรรม โดยสังข์เล่นเป็นทหารเลวในละครถาปัดเรื่อง คลีโอพัตรา เขาเริ่มมาทำละครเวทีเองสมัยที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 จนเมื่อจบแล้วก็ยังไปช่วยรุ่นน้องที่คณะอยู่ ละครถาปัดที่เขาประทับใจมีหลายเรื่อง เช่น อั้งยี่, ปริศนา, มานีชูใจ, ลั่มทม และเดอะก็อตฟาเธอร์

โต๊ะกลม บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ มีนโยบายที่จะทำละครซิตคอมและละครเวทีที่มีความหลากหลายในสไตล์ที่เป็นแบบอย่างของถาปัดที่คนกลุ่มนี้มีความถนัดอยู่เป็นทุนเดิม

"จูกบอกซ์ มิวสิคัลมันคือการนำเพลงดังมาสร้างเรื่อง ซึ่งต่างจากละครเพลงโดยทั่วไปที่สามารถบรรยายพฤติกรรม อารมณ์ในขณะนั้นๆ ได้ เราต้องเอาเพลงเหล่านั้นมาตัดลงในแต่ละช่วงแต่ให้สอดคล้องกับเนื้อหา เชื่อมตรงไหน ตัดช่วงไหนแล้วมันจะเนียน จูกบอกซ์มิวสิคัลสามารถแสดงตัวตนของศิลปินได้อย่างชัดเจน เอาเพลงมาตีความใหม่ตามตัวตนของศิลปินที่เรารู้จัก" ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม กล่าวกับซูเปอร์บันเทิง ออนไลน์

เมื่อสังข์ ธีรวัฒน์นำเนื้อเพลงมาอ่านและวิเคราะห์ พบว่ามีความจริงจังและคติธรรมแฝงอยู่ในหลายบทเพลงของเฉลียง เช่น ต้นชบากับคนตาบอด, นิทานหิ่งห้อย หรือบางเพลงอย่าง อยากมีหมอน, กล้วยไข่, นายไข่เจียว, นายตู้เย็น ที่เขาบอกว่าเอามาผูกเป็นเพลงได้ยังไง !? เพลงที่ถูกคัดมาเพื่ออยู่ในมิวสิคัลเรื่องนี้ มี 30 เพลงโดยประมาณ ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงครึ่งสำหรับการแสดง เพลงส่วนใหญ่เป็นของจิก ประภาส ชลชลานนท์ และบางส่วนเป็นของดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค

"เพลงเฉลียงเป็นเพลงที่ฟังเรื่อยๆ ฟังแล้วอยากทำอะไรดีๆ ทำให้โลกสวยงาม พี่จิกก็ยินดีกับการตีความใหม่ในรูปแบบละครเพลง มันเหมือนกับเอาเพลงมาต่อยอดให้เป็นภาพ แล้วคนฟังซึ่งเคยฟังเพลงเหล่านี้มาแล้วจะอินได้ง่ายกว่าการสร้างเพลงใหม่ ที่ต้องชมและคอยฟังเนื้ออย่างสนใจ"

การร้อยเพลงดังเข้าไปในละครเวทีเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายเลยจริงๆ สังข์ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ยอมรับว่าตนเองอาจจะไม่ได้ถนัดกับละครเพลงมากนัก เนื่องจากมิวสิคัลต้องไปสัมพันธ์กับท่าเต้นต่างๆ ไม่ใช่แค่บทโต้ตอบเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การทำละครเพลงจึงต้องเพิ่มคณะทำงานที่มีความถนัดเฉพาะด้าน

ละครเวทีเรื่องนี้ร่วมกันเขียนบทถึง 5 คน อีกทั้งยังต้องมีผู้กำกับและออกแบบลีลาของนักแสดงหลัก มีกระบวนการควบคุมและฝึกซ้อมนักแสดงประกอบ ส่วนขั้นตอนของดนตรีและเพลง ตั้งแต่การกำกับดนตรี เรียบเรียงเสียงประสาน ประพันธ์ดนตรีและคำร้องเพิ่มเติม เป็นต้น

บางเพลงของเฉลียงเป็นเพลงนิทานเล่าเรื่อง เช่นเดียวกับเดอะ เลเจนด์ ออฟ เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะ มิวสิคัลคือ ละครเล่าเรื่องบนเวที!!

เล่าเรื่องที่ว่าด้วยเมือง 2 เมือง คือ เมืองตรรกะ กับเมืองเอกเขนก ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมืองตรรกะมีคำปฏิญาณตนว่า "ข้าขออุทิศชีวิต เพื่อหลักการและเหตุผล อันจะนำประโยชน์สูงสุดสู่ตรรกนคร" ชื่อของพลเมืองในเมืองนี้มาจากรากที่ 2 ของรหัสพันธุกรรม ดังนั้นจึงไม่เหมือนใคร เช่น พันหนึ่ง (บอย พิษณุ), แสนเก้า (วันธงชัย), ห้าสิบห้าสิบ, หนึ่งเก้าหนึ่ง, ศูนย์พัน ทุกคนจะมีตัวเลขการประเมินประสิทธิภาพในด้านต่างๆ กำกับไว้ด้วย ขณะที่เมืองเอกเขนก ชาวเมืองมีชีวิตอยู่กับความสุนทรีย์ ธรรมชาติ และความฝันอันสวยงาม เน้นอารมณ์และความรู้เป็นสำคัญ ชื่อของพลเมือง เช่น พระจันทร์, ชนะลม, ปุยปุย, เตือนตะวัน, ยับยับ, หัวเต๋อ เป็นต้น

การแสดงแบ่งเป็น 2 องก์ องก์แรกคือ เหตุ และองก์หลังคือ ผล

ละครเล่ารื่อง ที่เริ่มต้นจากเด็กหญิงสารภีกับเด็กชายหัวหน้าห้องมีความเห็นเรื่องประวัติศาสตร์ขณะที่ชมซากเครื่องบินในมิวเซียมแตกต่างกัน ชายนิรนาม (ศุ บุญเลี้ยง) เล่าเรื่องราวของเมือง 2 เมืองให้ฟัง/เริ่มจากตรรกนครไม่คิดว่าจะมีเมืองอื่นนอกจากตน จนพบชายชราที่ไม่มีต้นขั้วที่มาที่ไป ทว่าอาศัยอยู่ในเมืองนี้นานแล้ว และเฝ้าบอกและสอนคนให้มีความฝัน จนวันหนึ่งเกิดไฟดับในเมือง เมื่อไล่สาเหตุถอยหลังไป สุดท้ายความผิดอยู่ที่ชายล้างชามไม่ปฏิบัติหน้าที่ หนีไปวาดรูป!? ดังนี้ ... จึงต้องส่งพันหนึ่งจากเมืองตรรกะไปสำรวจหาที่ตั้งของเมืองตรงข้ามที่มีแนวคิดเป็นอันตรายต่อตรรกนคร

ความตอนนี้ ... ไม่แจ้ง "ผล" แน่ชัด!!

เมื่อแสนเก้าตัดสินใจออกคำสั่งทิ้งระเบิดเมืองตรรกะ ขณะที่ชาวเมืองตัดสินใจรวมกันรอความตาย พระจันทร์เชื่อว่า ตรรกนครอาจเปลี่ยนใจ ขณะที่พายอาร์ (ภคมน บุณยะภูติ) อดีตคนรักของพันหนึ่งและหนีงานแต่งงานกับแสนเก้าไปเมืองตรรกะ ในเรื่องไม่มีการบอมบ์เมืองเอกเขนก โดยไม่ได้บอกเหตุผลแน่ชัด อาจเป็น เพราะหญิงคนรักหนีไปอยู่ในเมืองเป้าหมายการโจมตี หรือเนื่องจากตะแนนประเมินศักยภาพทุกด้านของแสนเก้าเท่ากับพันหนึ่ง ดังนั้น โอกาสที่แสนเก้าจะเปลี่ยนอุดมการณ์ทางความคิดเหมือนกับพันหนึ่งย่อมมีความเป็นไปได้ เพราะแสนเก้าได้สำนึก เนื่องจากได้ฟังนิทานหิ่งห้อยก่อนที่จะลงมือฆ่าชายตาบอดผู้นั้น

ละครเรื่องนี้มีหลายข้อคิดที่พยายามจะบอกเรา เช่น การทำร้ายผู้อื่นเพียงเพราะเขาต่างจากเรา เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลที่สุด, ความฝันใครก็จะไม่สามารถหยุดได้ นอกจากตัวเรา, ความจริงและความงามกักขังไม่ได้ และให้ใช้หัวใจมากกว่าสมอง

องก์แรก มีเพลงเร่งเร้าให้ผู้ชมได้สนุกกันอยู่บ้าง เช่น เธอกับฉันกับคนอื่นๆ, อยากมีหมอน (ไทยเดิม), ต่างกันอีกมากมาย ฯลฯ ทว่าในองก์ 2 เพลงทั้งหมดเป็นเพลง "ช้า" หมด แม้จะมีความพยายามที่จะแทรกมุกสนุกๆ เข้ามาเป็นช่วงๆ แต่เพลงที่เรียบและเป็นอารมณ์เดียวกันทำให้ผู้ชมบางคนเกิดความเบื่อหน่าย ในรอบที่มีโอกาสไปชมนั้น มีเสียงคนหาวจากแถวหลังถัดไปถึง 2 ครั้ง

เดอะ เลเจนด์ ออฟ เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะมิวสิคัล อาจไม่ใช่ที่สุด!! แค่ถือว่าแค่สอบผ่านเท่านั้น มีบางอย่างในละครเวทีเรื่องนี้ที่ยังไม่ลงตัว บางฉากสามารถสรุปให้กระชับได้กว่านี้, เข้าใจว่า ศุ บุญเลี้ยงถูกเชิญมาให้เป็นแขกพิเศษและเป็นสัญลักษณ์ของเฉลียง แต่บทชายนิรนามผู้นี้ สามารถตัดได้ เข้าใจว่า บทนี้ถูกเติมเสริมเข้ามาเมื่อจุ้ยตอบตกลงที่จะมาร่วมแสดง

การลดตัวละครนี้ เท่ากับการลดเวลาการแสดงลง เพราะเรากำลังตีความใหม่กับบทเพลงของเฉลียง บางความที่สำคัญของชายนิรนาม เอาไปปรับให้กับชายตาบอดเสียก็ยังได้ และให้การแสดงฉายชัดอยู่ที่เมืองตรรกะและเมืองเอกเขนกไปเลย ตัดไม้ประดับออก ให้เหลือแต่ไม้ยืนต้น "อย่าเกรงใจ – อย่าเสียดาย(เพลง)" จะทำให้ละครเวทีเรื่องนี้สมบูรณ์และสนุกได้กว่านี้อีก



หมายเหตุ : เดอะ เลเจนด์ ออฟ เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะ มิวสิคัล เปิดการแสดง ณ เอ็มเธียเตอร์ ถนนเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 2 – 18 ตุลาคม 2552 นำแสดงโดย บอย-พิษณุ นิ่มสกุล, โบว์-สาวิตรี สุทธิชานนท์, นัท-ณัฐ ศักดาทร, ต้อล-วันธงชัย อินทรวัตร, มิ้นท์-มิณทิตา วัฒนกุล และ ลูกโป่ง-ภคมน บุณยะภูติ

และนักแสดงรับเชิญพิเศษ บอย สิทธิชัย ผาบชมพู ตี๋ วิวิศน์ บวรกีรติขจร ร่วมด้วยนักแสดงละครเวทีมากฝีมือ เช่น อี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต, โย-ญาณี ตราโมท, เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, เอก-วิชัย จงประสิทธิ์พร ฯลฯ บัตรราคา 800 – 3,500 บาท จองบัตรโทร. 0-2900-9999 กด 4











กำลังโหลดความคิดเห็น