ถือเป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิงบ้านเราอีกครั้งเมื่อมีรายงานว่าอดีตมือกลองคนแรกของวงคาราบาว "เป้า อำนาจ ลูกจันทร์" ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลกลาง ด้วยวัย 68 ปี หลังจากล้มป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลานาน (อ่าน จากไปอีกราย ! "เป้า คาราบาว" เสียชีวิตด้วยวัย 68 ปี)
ก่อนหน้านั้นในช่วงที่เจ้าตัวเริ่มป่วย ทีมข่าว "ซูเปอร์บันเทิง" เองได้มีโอกาสพูดคุยเปิดใจกับเจ้าตัวในเรื่องราวต่างๆ วันนี้เพื่อเป็นการแสดงความรำลึกนึกถึงมือกลองที่ถือเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเพลงบ้านเรา เราจึงขอนำเอาบทสัมภาษณ์ที่ว่ามาให้ได้อ่านกันอีกครั้ง...
................
"ฟิล คอลลินส์” ประกาศแขวนไม้กลอง เลิกตีตลอดชีวิต
พาดหัวข่าวออนไลน์ เซคชั่น "ซูเปอร์ บันเทิง" ของเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์ ในช่วงราวกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาพร้อมด้วยเนื้อหารายละเอียดโดยสรุปที่ว่า อดีตมือกลองวงร็อกชื่อดังของอังกฤษ Genesis ออกมาเปิดเผยว่า ตอนนี้เขาทำไม่ได้แม้กระทั่งการจับไม้ให้มั่น และการนั่งอยู่หลังกลองชุดก็กลายเป็นความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส
"สภาพของผมตอนนี้มันไม่ไหวแล้ว หลังจากต้องเล่นกลองมา 50 ปี ถึงเวลาต้องหยุดจริงๆ เสียที" คอลลินส์เผยความรู้สึก พร้อมบอก "ไขสันหลังของผมถูกทำลาย มันเกิดขึ้นจากท่านั่ง และวิธีตีกลองของผมในช่วงเวลาที่ผ่านมา มันเป็นเวลาอันยาวนานมากๆ ตอนนี้แค่จะจับไม้ยังไม่ไหว บางทีก็ต้องใช้เทปกาวพันมือติดไว้กันไม้กลอง เพื่อให้จับได้มั่นคงขึ้น"
แต่ศิลปินร็อกชื่อดังก็ยังคงมองโลกในแง่ดี "อย่าเป็นห่วงไปเลย อย่างน้อยผมก็ยังร้องเพลงได้นะ"...
เนื้อหาเหล่านี้อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกมากมายนักกับคนที่ได้รับข่าวสารโดยทั่วไป ในขณะที่แฟนเพลงบางคนอาจจะเสียดาย บางคนอาจจะบอกดีแล้วอย่าไปฝืนสังขารเลย ฯ
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ แล้วถ้าเกิดว่าคุณเป็นมือกลอง รักการตีกลอง มีวัยเดียวกันกับคอลลินส์ มีสภาพร่างกายที่เหมือนๆ กัน(หรืออาจจะแย่กว่า)
ผิดกันก็เพียงแต่ว่าคุณยังไม่เคยมีความคิดที่อยากจะเลิกตีกลองแม้แต่น้อยนิดล่ะ?
...
ความหวัง
"อาจจะไม่ 100% แต่เราก็อยากให้ได้มากที่สุดนั่นแหละ..."
เจ้าของคำพูดในวัยเฉียด 60 บอกกล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงที่แม้จะฟังดูเข้มแข็งแต่ก็สัมผัสได้ถึงความล้าและช้าเนิบนาบ ที่คอเขามีเฝือกสวมอยู่ ขณะที่สองมือกำลังสาละวนอยู่กับการจัดยาถุงใหญ่ แทนที่จะเป็นไม้กลองอย่างที่ใครหลายคุ้นคุ้นตา
"อำนาจ ลูกจันทร์" (20 มีนาคม 2494) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ "เป้า คาราบาว" คือเจ้าของเสียงที่ว่า
ย้อนกลับไปตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงดนตรีชื่อดัง "คาราบาว" ในปี พ.ศ.2533 ดูเหมือนว่าชื่อของเป้า คาราบาวจะไม่เคยเป็นข่าวอีกเลย กระทั่งไม่นานมานี้เองที่ได้ปรากฏข่าวเล็กๆ แต่สร้างความสะเทือนอารมณ์ให้กับผู้ที่รับทราบไม่น้อย เมื่อมีรายงานว่าอดีตมือกลองวงคาราบาวคนนี้กำลังมีชีวิตที่น่ารันทดเป็นอย่างยิ่ง จากการล้มป่วยเป็นอัมพฤกษ์มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และมีชีวิตอยู่อย่างเงียบเหงาในบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ พร้าว กับหมาอีก 3 ตัว
ที่สำคัญเขายังถูกค่ายเพลงโกงเงินค่าตัวจำนวนเจ็ดหลักในการไปเล่นคอนเสิร์ตให้ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้วอีกต่างหาก
"ตอนนั้นคือเดินไม่ได้ มือเท้าชา ทรงตัวไม่ได้ เดินแล้วล้ม เวียนหัว ปราสาทการทรงตัวมันเสีย ก็มีลูกชายคนโตที่เขาอยู่อีกบ้านเขาพาไปส่งโรงพยาบาล หมอก็บอกว่าเป็นหัวใจกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทีนี้พอจะผ่าก็ปรากฏว่าต้องตรวจก่อน ก็ไปเจอหัวใจ" อดีตมือกลองเล่าให้ฟังถึงอาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ
"ก็ทำหัวใจก่อน เพราะว่ามันเพิ่งจะเริ่มเป็น แล้วถ้าปล่อยไว้อายุมากแล้ว ทีหลังเกิดเป็นเบาหวานความดัน ก็ไม่ต้องทำ รอหัวใจวาย(หัวเราะ) หมอบอกโชคดีที่เจอ เพราะถ้าเจออายุมากขึ้นมีโรคแทรกซ้อนก็จบ"
"ก็ผ่าหัวใจ ใส่ขดลวดเข้าไป หลังผ่าตัดหัวใจ พักฟื้น 6 เดือน เช็คอะไรเรียบร้อยก็ผ่าตัดหมอนรองกระดูก เอากระดูกสะโพกมาใส่แล้ว แล้วก็ขันน็อต 2 ตัว สรุปในร่างกายที่ทคอเลยมีน็อต 2 ตัว ส่วนที่หัวใจก็มีขดลวดอยู่สามเส้น"
เจ้าตัวเผยว่าช่วงแรกๆ อาการทั้งหมดค่อนข้างจะหนักเหตุเพราะเป็นข้อต่อที่อยู่สูง
"ปกติคนเราจะเป็นข้อข้างล่าง 6 7 แต่อันนี้มัน 2 3 4 อาการก็ค่อนข้างหนัก มันชา คือไหล่ซ้ายจะหลวม ส่วนไหล่ขวาจะติด ตอนนี้ก็ไปดึง มีดึง มีอะไร ทำอะไรหลายอย่าง โอ๊ย เมื่อก่อนจับไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ นอนก็ต้องมีหมอนรอง บางมีมันก็ชาด้วย ชาหนัก มันชาทั้งขาทั้งแขนทั้งขา"
"เดินทรงตัวไม่ได้ เราอยากจะเดินตรงแต่มันเซ บอกไม่ถูกนะอธิบายยาก คนไม่เป็นไม่รู้ เอ๊ะเราก็ว่าตรง ทำไมเซ มันเซปั๊บก็เวียนหัว เพราะเราจะฝืนให้มันตรง มันก็เวียนหัว โอ๊ย อึดอัด ไม่รู้จะพูดยังไง"
สำหรับอาการโดยรวมล่าสุด เจ้าตัวบอกว่าอาการดีขึ้นมาพอสมควร ส่วนการรักษาอดีตมือกลองคาราบาวจะต้องไปทำกายภาพบำบัดเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงพยาบาลกลาง อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ตรวจใหญ่เรื่องกระดูกเดือนละครั้ง หัวใจสองเดือนครั้ง
"เป็นธรรมดาเหมือนเครื่องจักรใช้งานมากก็สึกหรอ เราใช้งานตรงไหนมาก ตัวนั้นมันก็เสื่อม ทีแรกเราคิดว่าการตีกลองเหมือนการเล่นออกกำลังกาย แต่มันโอเวอร์โหลด แล้วเราโหมชีวิต ตั้งแต่เริ่มล่นดนตรี มุมานะ พวกเหล้าไม่ใช่สาเหตุนะ ทานนิดๆ หน่อยๆ"
...
เสี้ยวชีวิตกับวงดนตรีที่ชื่อ "คาราบาว"
เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เป้าจับในช่วงที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือก็คือทรัมเป็ต และอีกหลายๆ ชิ้นก่อนที่เขาจะมาลงเอยที่กลอง และรับหน้าที่ดังกล่าวมาโดยตลอดระหว่างที่รับราชการในกองดุริยางค์ทหารเรือ ยศ จ่าเอก (จ.อ.)
"ก็เรียนทรัมเป็ต จับหลายอย่าง ทีนี้ว่าเอ๊ะ กลองมันสนุกดี แล้วเรารู้สึกว่าตัวเราไทมิ่ง(timing)ดี พอตีๆ ไปก็ชอบ ก็เลยเปลี่ยนกจากทรัมเป็ตมาเป็นกลอง..."
ในวัย 18-19 เป้าเริ่มรับหน้าที่เป็นมือปืนในห้องอัดทั้งเมโทร, อาร์เอสซาวด์, อะมีโก้ โดยตีกลองเป็นแบ็คอัพให้กับศิลปินหลากหลายแนวทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง อาทิ พุ่มพวง, ยอดรัก, เพลิน พรหมแดน, ดอน สอนระเบียบ ฯลฯ พร้อมๆ กับตระเวนเล่นดนตรีตามผับ ไนท์คลับ ห้องอาหาร ในแนวป๊อปแจ๊ส, ฟิวชั่นแจ๊ส
"เล่นหลายคน ทั้งกับปราจีน ทรงเผ่า วงเดอะ ฮอทเปปเปอร์ วงพิ้งค์แพนเตอร์ วิรัช ออร์เคสตร้า วง THE MAGNIFICENT วงบีอีซีของทางช่อง 3"
"ถามถึงสไตล์หรือ? มาด้วยตัวเอง ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เราไม่ตามฝรั่งไม่อะไร ก็เรียนตามตำรา แล้วก็มาปรับเปลี่ยนเอาเองระหว่างกลองกับการเป่าทรัมเป็ต คือความเด็ดขาดพวกทรัมเป็ตนี่มันเยอะนะ เราก็ต้องแบ่งให้พอดี ก็เอาเครื่องเป่ากับกลองมาผสมกันให้เกิดอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งจากเครื่องมือที่เราถนัด"
"เวลาตีก็คือเราตีให้คนฟังตี ให้เพราะ ไม่ใช่เอาแต่แรง ตีให้มันจบเพลง (หัวเราะ) ตีให้มันเป็นเพลงไม่ใช่ตี อื้อ แบบบางคนมีแรงเยอะจริงๆ แรงดีก็น่าจะจับไปไถนานะ คือมันต้องรู้ว่าทัชชิ่งอยู่ตรงไหน เสียงตรงไหนเป็นอย่างไร หาตรงนั้นให้เจอ มือซ้าย-ขวา เท้าซ้ายอย่าง ขวาอย่าง ก็ต้องแยกปราสาทให้ได้"
สำหรับกับ "คาราบาว" นั้น เป้าบอกว่าได้มีโอกาสตีกลองให้ตั้งแต่ออกทัวร์คอนเสิร์ตชุดวณิพกปี พ.ศ.2526 จากนั้นจึงมีโอกาสได้ร่วมงานในห้องอัดชุด "ท.ทหารอดทน" งานเพลงอัลบั้มที่ 4 ของคาราบาวในปีเดียวกัน และอยู่เรื่อยไปจนถึงงานชุด "ทับหลัง" ในปี 2531
ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวโดยมีผลงานทั้ง ท.ทหารอดทน (2526) เมด อิน ไทยแลนด์ (2527) อเมริโกย (2528) ประชาธิปไตย (2529) เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (2530) ทับหลัง (พ.ศ. 2531) ต้องถือว่าเป็นยุคเฟื่องสุดขีดของ "คาราบาว" อันมีสมาชิกที่ประกอบไปด้วย ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : ร้องนำ กีตาร์ แต่งเพลงและดนตรี หัวหน้าวง, ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : ร้องนำ กีตาร์ แต่งเพลงและดนตรีบางส่วน, เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : ร้องนำ กีตาร์, กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : ร้องนำบางส่วนและประสานเสียง กีตาร์ ควบคุมการผลิต, อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี : ขลุ่ย ร้องนำบางส่วนและประสานเสียง แซกโซโฟน คีย์บอร์ด และอำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง, เพอร์คัสชั่น
"เจอคาราบาวในห้องอัด เพราะเราเป็นมือปืนรับจ้างอยู่ในนั้น แล้ววงที่เล่นแบ็คอัพของเขาคือวงเพรซซิเด้นท์เขาไปอเมริกา ไม่มีนักดนตรี สมัยวณิพกก็เลยรับงานข้างนอก เล่นแบ็คอัพให้ ช่วงหลังเขาก็เลยขอให้ร่วมงานด้วย"
"เข้าไปพร้อมกับอ.ธนิสร์ คือจับพลัดจับผลูจริงๆ ก็ทัวร์กันไปเรื่อยแล้วก็เลยรวมเป็นวงเดียวกัน ก็อัดมาเรื่อยจนถึงชุดสุดท้าย ชุดทับหลัง"
"ซึ่งตอนแรกๆ ก็ยังมีไปยังอัดเสียงให้คนอื่นอยู่นะ อย่างเพลงเด็กปั๊ม ของคนด่านเกวียน วงโฮป วงอมตะ ซี่โครงบุญมา ไอ้หมู พงษ์เทพ แต่จนกระทั่งมารวมเป็นวงก็มีกติกาว่าห้ามไปอัดเสียงให้คนโน้นคนนี้ มันก็แปลกดี เป็นอะไรที่แปลกๆ แต่เราก็ยอมรับนะ"
ปีพ.ศ.2533 หลังจากงานชุดทับหลัง เป้า พร้อมด้วย อ.ธนิสร์, เทียรี่ และเขียว ได้แยกตัวออกมา โดยสามคนแรกได้มาทำงานเพลงร่วมกันในชุดที่ชื่อว่า "ขอเดี่ยวด้วยคนนะ" ซึ่งเมื่อขอร้องให้เล่าถึงเหตุที่ต้องแยกตัวออกมาอดีตมือกลองคาราบาวได้แต่บอกเพียงสั้นๆ ว่า...บอกไม่ได้ เป็นเรื่องของครอบครัว
"อย่างตอนที่ทำกับเทียรี่ อ.ธนิสร์ ชุดเดียวก็แตกกันอีก ก็ไม่ได้ทะเลาะกันหรอก สาเหตุมันก็เหตุผลของแต่ละคนไม่เหมือนกันน่ะ(หัวเราะ) พอแยกกัน ก็รับทำเพลงทำอัลบั้มให้คนนั้นคนนี้ แต่งเพลงให้พรรคพวกบ้าง"
ถึงตอนนี้เมื่อมองกลับไปรู้สึกน้อยใจหรือว่ารู้สึกว่าเราคิดผิดมั้ยที่แยกตัวออกมา เพราะตอนนี้วงคาราบาวก็ยังคงเล่นอยู่ มีงานออกมาอยู่เรื่อยๆ?
"ทำไมต้องน้อยใจ ไม่เลย อะไรมันก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพลงมันยังเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่ได้น้อยใจหรือเสียใจอะไร ไม่มีอะไรต้องเสียใจ เป็นเรื่องปกติ โอ๊ย ผมอยู่มาไม่รู้กี่สิบวง ก็เป็นช่วงหนึ่งของวงจร ช่วงนั้นจะเป็นอย่างนั้น ช่วงนี้จะเป็นอย่างนี้ อย่างช่วงนี้ผมไม่อยากป่วยยังป่วยได้เลย"
"แต่ถ้าถามว่าช่วงไหนเล่นดนตรีสนุก ผมว่าตอนเล่นที่บีอีซีช่อง 3 ที่เป็นบิ๊กแบนด์มันสนุกนะ เพราะฟิวส์ดนตรีมากกว่า อย่างกับคาราบาวมันก็สนุกน่ะแหละ แต่ว่าเพลงส่วนใหญ่ของคาราบาวมันจะเป็นเต้นรำง่ายๆ ความหลากหลายทางกลอง ทางริธึ่มมันน้อย จังหวะแปลกๆ ยากๆ ไม่มี มีแต่ง่ายๆ เป็นการค้าให้คนเล่นตามง่ายเยอะ คนจำง่าย สินค้าจะได้ขายง่าย แต่เล่นกับวง MAGNIFICENTตอนนั้นยาก"
...
7 ปีที่รอคอย
นอกจากเรื่องอาการป่วยแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือข่าวที่ว่าเขาถูกโกงเงินค่าตัวกว่า 7 หลักในการไปเป็นแขกรับเชิญคอนเสิร์ต "20 ปี คาราบาว เรื่องราวของคน ดนตรี และเขาควาย" ที่แสดงไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดยบริษัทวอร์นเนอร์ มิวสิค ประเทศไทย
ซึ่งเมื่อถามความคืบหน้าล่าสุดเจ้าตัวบอกว่าเรื่องนี้ได้เคลียร์กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"เคลียร์กันแล้ว เป็นการเข้าใจผิดกัน เรื่องบางอย่างเขาว่าเราเข้าใจผิด แต่ไอ้เราก็ว่าเราเข้าใจถูก แต่เขาเข้าใจผิด ก็เรื่องตังค์นี่แหละ ตอนแรกก็ว่าจะให้ แล้วติดไว้ก่อน ประชุมกันใหม่ เราก็นึกประชุมยังไง ก็งานมันจบไปแล้ว"
"เจ็ดหลัก ใช่ ก็คือจ้างเราไปเป็นแขกรับเชิญ แล้วผู้บริหารเขาพูดเองต่อหน้าคนตั้ง 20 กว่าคนในที่ประชุมเลยว่าเท่านั้น พอคอนเสิร์ตเสร็จก็ยังไม่ได้ แล้วเขาก็เปลี่ยนผู้บริหาร ทีนี้พอติดต่อไป ก็โอเค เขาก็เจรจาว่าจะให้ แต่ก็บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็ขอลดหย่อน ขอลดหย่อนนี่พูดกันมาหลายหน"
"พูดกันทุกปี นี่ 7 ปี แล้ว ผมเจอผู้บริหารคนเก่าผมยังถามมันเลยว่า ประชุมห่าอะไรกันวะเรื่องแค่นี้ แค่เศษสตางค์ของมึง เขาเป็นน้องสนิทก็เลยพูดเงี้ย (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ได้แล้ว ได้มาช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ก็น้อยหน่อย แต่เมื่อก่อนพูดให้เยอะ ช่วงจัดเศรษฐกิจดี"
"ก็แปลกดีก็ ถ้าเกิดเศรษฐกิจตอนนี้ดีกว่าเมื่อก่อนล่ะ จะได้เยอะขึ้นมั้ยเนี่ย?"
ออกปากรับเรื่องนี้มีผลต่อสุขภาพอยู่เช่นกัน..."มีผลเหมือนกันกับสุขภาพ จะว่าไม่เครียดก็ไม่ได้ เพราะมันคาใจน่ะ บริษัทใหญ่โต คุณพูดอย่างนี้ ก็ไม่ติดใจอะไรนะ ไอ้เรื่องที่คาใจมาเจ็ดปีก็จบไป ไม่ใช่มันค้างไปอีก"
"ได้มาเมื่อเดือนสิงหาฯ คือเพราะไม่รู้ว่ามันเป็นข่าวหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้โทรไปคุยเขาไม่พูดด้วย พอมันเป็นข่าวก็ได้มา(หัวเราะ)"
...
กิจวัตร
ปัจจุบัน "เป้า คาราบาว" อาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นของบิดา-มารดาในซอยสงเคราะห์ 28 เขตลาดพร้าว พร้อมกับเจ้าวลาดิเมียร์ปูติน สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน รวมถึง "มาดามอู๋อี๋" และลูกที่ชื่อ "บิ๊ก" พันธุ์ลาบาดอร์ โดยมีภรรยาที่แยกกันไปและลูกชายคนโตซึ่งขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเด็กอ่อนแวะมาดูแลอยู่เป็นประจำ
ซึ่งด้วยสภาพร่างกายที่เป็นอยู่นี้เองที่ทำให้เขาต้องงดสอนกลองไปโดยปริยาย
"เริ่มสอนกลองมา 4-5 ปี ก็ไม่ได้โปรโมตอะไร จะเป็นการบอกกันปากต่อปาก เพราะอยากให้เขามากันเอง เราไม่ได้เน้นธุรกิจ แต่อยากให้เข้ารู้จริงๆ การเรียนสอนเป็นกลุ่มให้เขาได้ความรู้เยอะๆ มันยากนะ ขนาดเด็กที่มาเรียนบางที 2 คนเรียนไปจะได้ไม่เท่ากันเลย"
"เพราะว่าดนตรีและการรับรู้มันต่างกัน การรับรู้ การปฏิบัติ มันก็ต้องแยกเด็ก คือถ้าเรียนไปแล้วติดขัดตรงไหน ไม่เข้าใจแล้วไม่ถาม ต่อไปเรียนเพิ่ม ที่ติดอยู่กับที่ต่อมันจะไม่รู้ทั้งคู่ ต้องเข้าใจทุกขั้นตอน ไม่เข้าใจก็ต้องถาม แล้วเราก็จะได้รู้ว่าเด็กคนไหนเป็นอย่างไร ไปถึงไหน ฉะนั้นถ้าเยอะมากมันจะไม่ค่อยได้อะไร"
"ที่มาเรียนก็มีทั้ง 10 ปีจนถึง 40 มีทั้งนั้นแหละ บางคนเป็นแล้วก็อยากมาหาประสบการณ์เพิ่ม เพราะเราไม่ได้ถึงขนาดว่าเป็นคอร์สอะไร บางคนเรียนเป็นคอร์ส เรียนมาสามสี่ปีไม่ได้เรื่องเลย"
เหลือบมองเห็นเครื่องห้องดนตรีที่มีอุปกรณ์ครบถ้วนเมื่อถามว่าไม่คิดจะทำห้องซ้อมเพื่อหารายได้บ้างหรือ? เจ้าตัวรับบอกทันทีว่า..."เสียดายของ"
"คือไม่ได้หวง แต่ว่าเครื่องมันไม่เหมาะที่เด็กจะมาซ้อม เคยทำเหมือนกัน แต่พอมาก็หลับหูหลับตาเล่น ไม่ได้ฟังกันเลย ตัวใครตัวมัน เราก็เลยแนะนำให้ไปซ้อมที่อื่นแล้วกัน พอแล้ว ไม่เก็บตังค์หรอก คือพวกนี้ก็จะเอาไว้ให้ลูกศิษย์ที่สอนซ้อม เพื่อปรับปรุงบาลานชิ่งเป็นอย่างไร ต้องไปพร้อมๆ กัน"
"เด็กที่เราไม่เคยสอนมาถึงก็ใส่กัน นั่งฟังไม่รู้เรื่องเลย พอถามว่าได้ยินเสียงคนอื่นเล่นมั้ย เขาก็บอก ได้ยินแต่เสียงตัวเอง คือมันไม่ใช่เป็นที่ระบาย ไม่มีประโยชน์ ของไม่พังหรอกแต่ว่าเสียดายของมากกว่า"
สำหรับกิจวัตรประจำวันนั้น เป้า คาราบาว บอกว่าทำอะไรก๊อกๆ แก๊ก อยู่ในบ้าน ข้าว-อาหารไม่ต้องเองสั่งเขาเอา แล้วก็เลี้ยงหมา แค่นี้ก็หมดวัน ขณะเงินที่หมดไปกับค่ารักษานั้นต้องบอกว่าสวนทางกับรายได้ ซึ่งปัจจุบันหลังจากล้มป่วยลงก็แทบจะไม่มีเข้ามาเลย
"ค่าใช้จ่าย เยอะ ไม่อยากจะคิด รายได้ก็ ช่วงป่วยก็ไม่มีเลย ก็มีจากบำนาญของทหารเรือได้ไม่มาก ก็ได้ไอ้เงินที่เก็บสะสมไว้ มันก็ยังเอาออกมาเป็นค่าใช้จ่าย ทรัพย์สินพอมีอยู่ ไม่มีอะไรก็ขายทรัพย์สินไปเก็บไว้ตั้งนานแล้ว อะไรมีราคาก็ขายไป พอได้"
"ถามว่าลำบากมั้ย มันก็ลำบากในเชิงทำอะไรไม่ได้มากกว่า ปกติก็ยังสอน ยังรับอะไรได้อยู่ พอตีกลองไม่ไหวก็ไม่อยากให้เด็กมาเรียน คนมาเรียนเขาเสียตังค์แล้วเขาก็อยากได้อะไรเต็มที่ ก็หยุดสอนไป เดี๋ยวดีขึ้นก็ว่ากันใหม่"
เป็นคำบอกเล่าที่มาพร้อมกับแววตาอันมุ่งมั่นและคาดหวังจากชายชื่อ "เป้า คาราบาว"
...
เล็กๆ น้อยๆ
ทุกครั้งที่ต้องตีกลอง มือกลองนักดนตรีของวงคาราบาวคนเดียวที่ไม่มีโอกาสได้ร้องเพลงคนนี้จะต้องสวมหมวกอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุที่ว่าไม่ใช่เพราะต้องการเสริมความหล่อ เท่ห์ หรือสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากแต่เป็นเพราะว่า...
"ไฟ แสง มันแยงตา มันมีผลกับเรานะ แสงวูบเดียหน้ามืดเลย แล้วพอเปิดไฟข้างบนนี่ร้อนฉ่าเลย เราตีกลองสิ่งหนึ่งคือเราหนีไม่ได้ อย่างคนเล่นกีต้าร์เคลื่อนซ้ายขวาได้ แต่ของเราหนีไม่ได้ ก็จะใส่หมวกใส่แว่น"
"เคยเล่นช่อง 3 ก็เล่นสดสมัยบิ๊กแบนด์วงบีอีซี เชื่อมั้ย แค่เพลงเดียวจับหัวนี่มือร้อนเลยนะ แล้วมันใส่สูทด้วยไง แล้วกับคาราบาวเล่นสามชั่วโมง แย่ ตัวเนี่ยเหงื่อท่วม แล้วแต่ก่อนเราตีคนเดียวไม่มีคนเปลี่ยนด้วย"