xs
xsm
sm
md
lg

‘Blue’ แดน-วรเวช ดานุวงศ์ ขอเดี่ยวด้วยคนน่ะ/พอลเฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีกความพยายามของนักร้องหนุ่มที่ต้องการยกระดับตัวเองให้มากขึ้นกว่าการเป็นหนุ่มหล่อโชว์ร้องเพลงในแบบบอยแบนด์จนโด่งดังเป็นขวัญใจวัยรุ่นทั่วบ้านทั่วเมือง

อย่างที่ว่าอายุการใช้งานของนักร้องวัยรุ่นนั้น ถ้าเกิน 5 ปีที่ยืนหยัดได้ในตลาดคนฟังเพลงก็ถือว่า หรูแล้ว ส่วนมากมาแล้วก็จากไปเมื่อสูงวัยมีอายุมากขึ้น หากไม่หลุดจากวงโคจรของนักร้องแล้วหายไปเลย ก็อาจจะมีเวลาทอดลมหายใจในวงการบันเทิงในฐานะนักแสดงอีกนิดหน่อย

แดน – ดีทูบี หรือ วรเวช ดานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นไอดอลทีนป็อปสตาร์คนหนึ่งของเมืองไทย ไม่ว่าในนามบอยแบนด์ วงดีทูบี ก่อนที่จะเหลือแค่วงดูโอ แดน-บีม พวกเขาสามารถประคองตัวและอยู่รอดมาได้ ก่อนที่จะหมดอายุต่างแยกย้ายกันไปตามทาง

แดน ออกจากอาร์เอส ค่ายเพลงที่ฟูมฟักและสร้างเขาขึ้นมา ย้ายเข้าสู่ค่ายโซนี่-บีเอ็มจี เพื่อค้นหาความฝันในการเป็นนักร้องและคนดนตรีต่อ ซึ่งเรียกว่าเป็นผลดีต่ออาชีพก็ว่าได้ เพราะถ้ายังอยู่ที่เดิม เขาก็ยังคงติดภาพลักษณ์เดิมที่สลัดไม่หลุด พอมาอยู่ที่ใหม่ ดูเหมือนจะมีการไต่ระดับในเส้นทางคนดนตรีมากขึ้น

การเปิดโอกาสให้เขาทำงานเพลงในอัลบั้มของตัวเองมากขึ้นเกือบทั้งกระบวนการผลิต ไม่ว่า เขียนเนื้อร้อง-ทำนอง และเรียบเรียง นับได้ว่าเป็นย่างก้าวใหม่ที่น่าทึ่งมาก จากนักร้องวัยรุ่นบ๊องแบ๊วขายความหล่อ ท่าเต้น ลูกอ้อนสาว มาสู่ความครุ่นคิดในเชิงศิลปะดนตรีและบทเพลงที่จะขายตัวเองข้างหน้า และโชว์ความเป็นคนเบื้องหลังด้วย ถือว่าเป็นความพยายามอย่างสูงส่งและพัฒนาการที่ดีน่ายกย่อง

หากย้อนหลังกลับไปในตลาดเพลงวัยรุ่นที่เรียกกันว่า เพลงป็อปบับเบิลกัมนั้น สายสกุลของอาร์เอสถือว่าครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดเพลงต่างจังหวัดที่พวกเขายึดหัวหาดไว้เหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนในตลาดเพลงกรุงเทพฯ ก็มีแชร์กันหลายค่ายทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็ก ที่กลายเป็นกระแสหลักก็คือ ซาวด์เพลงแบบเบเกอรี่ที่ดูล้ำและทันสมัยกว่าค่ายอื่นๆ มีเสน่ห์ทางดนตรีและเสียงร้องที่แปลกออกไปในสไตล์อาร์แอนด์บีและคลับแด๊นซ์แบบคนผิวสี

อย่างที่ว่า นักร้องวัยรุ่นของอาร์เอส แม้โด่งดังขนาดไหน พอหมดช่วงวัยที่ทำเงินทำทองได้ก็มักจะสูญหายไปจากวงการ ไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางนักร้องอย่างยืนระยะได้ ที่เห็นหลุดรอดออกมาก็มี โดม-ปกรณ์ ลัม แต่ก็แสดงศักยภาพหลังจากที่ออกจากค่ายมาแล้ว อีกคนคือ จอนนี่ อันวา ได้ทำงานเดี่ยวหรือโซโล่อัลบั้มออกมาในค่ายอาร์เอสอยู่ประมาณ 2-3 ชุด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แต่ในแง่การสร้างสรรค์งานและพัฒนาการทางดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ถือว่า สอบผ่านได้น่าสนใจทีเดียว ปัจจุบันจอนนี่ ก็ยังอยู่ในแวดวงเพลงอินดี้เป็นคู่หูกับ เจ-มณฑล จิราอยู่

นักร้องวัยรุ่นนั้นยากนักที่จะอยู่รอดในวงการเพลง หลังจากที่พ้นช่วงวัยไปแล้ว ไม่จำเพาะเมืองไทย ในตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง อเมริกาและอังกฤษ ก็เป็นแบบเดียวกัน วงบอยแบนด์ และวงเกิร์ลแบนด์ รวมถึงนักร้องสายทีนป็อป ป็อปแด๊นซ์ และคลับแด๊นซ์ ล้วนมาเร็วมาแรงตามกระแสการโปรโมทและแฟชั่นการดูเพลง เห่อของใหม่ มาแบบพายุและก็หายไปแบบไร้ร่องรอย อาจจะเหลือเศษซากในความทรงจำอยู่บ้างแต่ก็ไม่นาน

ถ้านับในปัจจุบัน นักร้องในสายบอยแบนด์ที่หลุดรอดมาสู่ความเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกก็ยังพอมีอยู่ แม้จะมีหลายๆ คนพยายามที่จะเติบโตสลัดให้หลุดจากภาพความเป็นบอยแบนด์

ร็อบบี้ วิลเลียมส์ แห่งวง Take That เป็นหนึ่งในนั้น จัสติน ทิมเบอร์เลค แห่งวง ‘N Sync ที่โดดเด่นตระการตาจริงๆ รวมถึง โรแนน คีติ้ง แห่งวง Boyzone

เพราะฉะนั้น การก้าวมาสู่วงวัฏของบอยส์แบนด์แล้ว ก็ต้องทำใจล่วงหน้าได้เลยว่า มีช่วงเวลาที่สว่างไสวแค่พริบตา เหมือนพลุที่ขึ้นพุ่งสูงไปส่องแสงสีสวยงามตระการตาหลากสีสันบนท้องฟ้าแล้วก็ดับมืดหายไป

แดน –วรเวช ดานุวงศ์ ก็เป็นหนึ่งในนักร้องบอยส์แบนด์ของไทยที่มีอยู่ไม่กี่คน ซึ่งพยายามหนีให้พ้นวัฏจักรตรงนั้น

กลไกทางการตลาดที่ไม่เคยปราณีใคร เพราะถ้าโด่งดังผ่านแฟชั่น การตลาด และการดูเพลง โดยมิใช่เนื้อแท้ของดนตรีและบทเพลงที่ออกมาจากตัวเอง จึงต้องจากไปอย่างรวดเร็ว และเหลือในความทรงจำของคนฟังเพลงน้อยที่สุด
……….
6 บทเพลง พร้อมหนึ่งอินเทอร์ลูด และหนึ่งเพลงโบนัส ทำให้อัลบั้มชุด "Blue" ของ แดน-วรเวช ดานุวงศ์ มีบทเพลงในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขาทั้งหมด 8 เพลง

เพลงแถมหรือโบนัสแทร็คถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะบทเพลงนี้เป็นเพลงประกอบหนังโฆษณามอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งโหมยิงสปอตฯ ทั้งทีวีและวิทยุจนติดหูติดใจ ‘วันที่สวยงาม’ เป็นเพลงเก่าของ บอยด์ โกสิยพงษ์ ที่ทำออกมาแล้วถึง 2 เวอร์ชั่น โดยมีนักร้องเสียงดี รัดเกล้า อามระดิษ และ นภ พรชำนิ เคยร้องไว้อย่างตรึงใจและติดหูผู้ฟัง

เมื่อ แดน ได้มาร้องเพลงนี้ด้วยคอนเน็คชันเชื่อมโยงทางธุรกิจที่เอื้อกัน รวมถึงบอยด์ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายต้นสังกัดคือ โซนี่-บีเอ็มจี จึงถือเป็นการวิน-วิน กันทั้งหมด และแดนก็แสดงศักยภาพการร้องเพลงที่ยกระดับตัวเองขึ้นมาผ่านเสียงแบบเบเกอรี่ซาวด์ได้อีกโสตหนึ่งด้วย

เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก ที่ซาวด์โดยรวมของอัลบั้มชุด ‘Blue’ จะมีกรุ่นกลิ่นแบบเบเกอรี่หรือสไตล์เพลงแบบพ็อพอาร์แอนด์บีอยู่อบอวล แม้แดนจะทำหน้าที่ทั้งเบื้องหน้าในฐานะนักร้อง รวมถึงเบื้องหลัง เขียนเนื้อร้อง แต่งทำนอง เรียบเรียงดนตรี เล่นดนตรีบางชิ้น และโปรดิวซ์เองในอัลบั้มเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

การพัฒนาตัวเองขึ้นมาของแดนในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการแสดงตัวตนของความเป็นคนดนตรีมากขึ้น มากกว่าจะเป็นแค่คนพรีเซนต์เพลงในฐานะนักร้องเพียงอย่างเดียว ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าเอาใจช่วย แม้ภาพรวมอัลบั้มชุดนี้จะสลัดไม่หลุดจากซาวด์เก่าของเบเกอรี่ที่เคยมีมาก็ตาม แต่ถือเป็นรสนิยมของเจ้าของงานที่น่าจับตามองในการค้นและแสวงหาตัวเองบนเส้นทางสายดนตรีและบทเพลง เพื่อที่จะเติบใหญ่ต่อในอนาคต

เมื่อมองดูองค์ประกอบทั้งหมดของอัลบั้มแล้ว แดนสอบผ่านไปได้อย่างสบาย แม้ยังไม่ถึงขั้นดีเด่นโดดเด้งออกมาก็ตาม

ข้อสังเกตจุดหนึ่งที่มองเห็นว่า ค่ายเพลงต้นสังกัดยังไม่ปล่อยหมดเรื่องการทำงานแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยยังพะวงถึงเรื่องการตลาดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร เรื่องภาพลักษณ์ความเป็นไอดอลของวัยรุ่น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเน้นหนักทั้งเรื่องแฟชั่นและรสนิยมการแต่งตัวและท่าเต้น ก็ทำออกมาได้ดีและสมตัว และเป็นจุดที่ต้องขายอย่างละทิ้งไม่ได้ เพราะพื้นฐานของแดนเติบโตมากับตลาดและกลุ่มแฟนเพลงในส่วนนี้ โดยเฉพาะบทเพลงในแบบพ็อพแด๊นซ์

‘ใช้หัวใจ’ บทเพลงเปิดอัลบั้มจะเห็นชัดว่า พยายามที่จะงัดเอากึ๋นของแดนมาผนวกกับความเก๋าของ ไก่-สุธี แสงเสรีชน อดีตสมาชิกวงแกรนด์เอ็กซ์ยุคหลังสุด ที่ผันตัวเองมาเป็นคนดนตรีเบื้องหลังในวงการเพลงไทยมายาวนาน และมีอิทธิพลต่อการประกวดนักร้องล่าฝันในอะคาเดมี่แฟนตาเชียอยู่พอสมควร มาช่วยทำดนตรีในเพลงนี้

โดยขยับกันตั้งแต่ช่วง ‘อินเทอร์ลูด’ ที่ถือเป็นการแนะนำบทเพลงนี้ให้คนฟังกระทบหูแล้วอัดด้วยบทเพลงแบบเต็มๆ ก็ถือว่าเป็นเพลงในสไตล์ป็อปแด๊นซ์ที่ดี มีเนื้อหาที่ลงตัวและดูแข็งแรงในมุมมองของการเขียนเพลง สะท้อนถึงตัวตนของนักร้องได้ 2 นัย คือ ประกาศตัวในฐานะคนดนตรีด้วยหัวใจ และเป็นบทเพลงรักที่สนุกสนานเร้าใจวัยรุ่นได้อีกทางหนึ่ง

2 บทเพลงต่อมา ‘ขอร้อง’ และ ‘แค่เธอ’ เป็นบัลลาดป็อปอาร์แอนด์บีที่กินใจ ขึ้นอินโทรด้วยเสียงเปียโนหวานเศร้าที่นำอารมณ์คนฟังให้เคลิ้มเคลิบตาม เสียงร้องของแดนในสไตล์อาร์แอนด์บีพัฒนาขึ้นจากยุคเก่าอยู่พอสมควร แต่ยังขาดการตีความอารมณ์ในเพลงที่เอื้อต่อวิธีการร้องในการทอดปล่อยความรู้สึกออกมาอยู่บ้าง แต่ก็ยังเห็นรอยร่องของความพยายามที่ทำให้คนฟังรู้สึกดีๆ ได้

บทเพลงอื่นๆ ที่เหลือก็เป็นในสไตล์ป็อปร็อกและป็อปแด๊นซ์ในจังหวะกลางๆ ที่แดนค่อนข้างที่จะเอาอยู่และทำได้ดี แม้จะไม่ดีเลิศก็ตาม แต่ก็ถือว่าน่าพอใจสำหรับงานเดี่ยวชุดแรกของนักร้องที่เติบโตมาจากการสร้างตัวตนในแบบบอยด์แบนด์ผ่านบทเพลงพ็อพบับเบิลกัม

จุดที่น่าสนใจอีกอย่าง เมื่อดูคุณลักษณะในเสียงร้องและพลังขับเคลื่อนอารมณ์เพลงแล้ว แดนเหมาะที่จะร้องเพลงในสไตล์พ็อพร็อคและพ็อพแด๊นซ์มากกว่าการเค้นอารมณ์และความรู้สึกถ่ายทอดออกมาในแบบพ็อพอาร์แอนด์บี ซึ่งงานเพลงทั้งหมดในชุดนี้ก็ถือว่าเป็นการค้นหาตัวเองให้ดำเนินไปสู่ทางถนัดและจุดที่เหมาะสมมากกว่าความชอบเฉพาะตัวตามสมัยนิยม

แน่นอน หนทางเดินข้างหน้าบนเส้นทางดนตรีจะเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตัวเองของแดน-วรเวช อีกยาวไกล แต่ย่างก้าวแรกที่พยายามเสนอตัวตนผ่านงานเพลงและดนตรีในอัลบั้มชุด ‘Blue’ นี้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและน่าลุ้นต่อไปในอัลบั้มที่จะตามในอนาคต

หากก้าวผ่านจากจุดนี้ไป จากความเป็นทีนป็อปสตาร์ของแดนที่ฝังติดแน่นอยู่ รวมถึงกลุ่มแฟนเพลงวัยรุ่นที่ติดตามงานของเขามาตลอด อคติเก่าก่อนของคนฟังเพลงอาจจะมีอยู่กับภาพลักษณ์เดิมๆ แต่ดูจากความพยายามและตั้งใจ รวมถึงบทพร่ำบรรยายถึงความรู้สึกผ่านนเนื้อความภาษาอังกฤษที่อยู่ตรงปกเนื้อในอัลบั้มที่มีต่อดนตรีของเขา ก็ทำให้รู้สึกไปได้ว่า

แดน น่าจะคลี่คลายตัวเอง มีศักยภาพที่จะก้าวสู่ความเป็นซูเปอร์สตาร์ในโลกของดนตรีและเสียงเพลงของเมืองไทยก็เป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น