xs
xsm
sm
md
lg

Vincere : เขาหาว่าเธอเป็นเมียน้อย/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


เบนิโต มุสโสลินี เป็นผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของประเทศอิตาลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศในระหว่างปี 1922-1943

เช่นเดียวกับผู้นำเผด็จการคนอื่นๆ ในช่วงเวลาที่อำนาจยังอยู่ในมือ มุสโสลินีอยู่ในสถานภาพที่ไม่ว่าใครก็ “แตะไม่ได้” ผู้ที่มีแนวคิดสวนทางกับเขาจำต้องหุบปากเงียบ ผู้ที่เหิมเกริมท้าทายต่อต้านจำต้องถูกกำจัด ความลับไม่ดีไม่งามใดๆ ของท่านผู้นำจำต้องถูกทำให้แน่ใจว่า มันจะเป็นได้แค่ความลับอยู่เช่นนั้น

อิด้า ดัลแซร์ เป็นความลับก้อนเขื่องเรื่องหนึ่งของมุสโสลินี ชีวิตของเธอต้องประสบภัยคุกคามสารพัดขณะที่เขาเรืองอำนาจ เพียงเพราะเธอประกาศตัวต่อสู้และเรียกร้อง ด้วยมุ่งหมายจะทวงคืนสถานภาพ “เมียหลวงมุสโสลินี” ให้แก่ตัวเอง

อิด้าพบมุสโสลินีครั้งแรกในปี 1907 โดยประมาณ ขณะที่เขาเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมหนุ่มไฟแรง ในระยะแรก เธอมีสถานภาพเพียง “ผู้หญิงคนหนึ่ง” ของมุสโสลินี (แต่ดูเหมือนเธอจะไม่รู้ตัว) จนกระทั่งในปี 1914 ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เดินทางมาถึงจุดก้าวกระโดด เมื่อมุสโสลินีลาออกจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาวันติ (Avanti! : หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคสังคมนิยมในช่วงเวลานั้น) เพราะดันไปแสดงความเห็นที่สวนทางขัดแย้งกับมติพรรคอย่างออกนอกออกตา

มุสโสลินีถอยตัวเองออกมา ทว่าไฟของนักต่อสู้ยังคงคุกรุ่น เขาหวังจะก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของตัวเองขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิ่งที่ตนปรารถนา แต่ติดตรงที่ว่า ตัวเขาเองไม่ได้มีทุนรอนมากมายนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องหลุดไปเข้าหูอิด้า เธอก็จัดแจงขายทรัพย์สินทุกอย่างที่ตัวเองมีอยู่ ทั้งเพชรนิลจินดาและร้านทำผมที่ตัวเองเป็นเจ้าของ แล้วนำเงินทั้งหมดไปให้มุสโสลินี เพื่อให้เขาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง

จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์นี้ก็คือ มันทำให้มุสโสลินีซึ้งน้ำใจของอิด้าจนตัดสินใจแต่งงานกับเธอ มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้อง แต่กระนั้น เขาก็ไม่เคยพาเธอปรากฏตัวในวงสังคมอย่างเป็นทางการเลยสักครั้ง

หนึ่งปีต่อมา –ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1915- ทายาทของทั้งคู่ก็ถือกำเนิด เป็นเด็กชาย อิด้าตั้งชื่อลูกให้เหมือนกับชื่อพ่อ คือ เบนิโต อัลบิโน มุสโสลินี (อัลบิโนซึ่งเป็นชื่อกลางนั้นเป็นชื่อพ่อของอิด้าเอง)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของอิด้ากับมุสโสลินีถึงแก่กาลพลิกผันไปในทิศทางเลวร้ายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง สาเหตุเพราะอิด้าพบความจริงว่า แท้จริงแล้วมุสโสลินีอยู่กินกับหญิงสาวที่ชื่อ ราเคเล กวิดี มาเนิ่นนานหลายปี (โดยไม่ได้แต่งงาน) และยังมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง เป็นเด็กหญิง ซึ่ง ณ ตอนนั้นอายุได้ 5 ขวบแล้ว

เจ็บแสบที่สุดก็คือ เพียง 1 เดือนหลังจากที่อิด้าคลอดลูก มุสโสลินีก็พาราเคเลไปจดทะเบียนสมรสบ้าง หนำซ้ำยังให้เกียรติยกย่องเชิดชูเธอในฐานะภรรยาอย่างออกหน้าออกตา ขณะที่อิด้านั้น นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็ถูกมุสโสลินีทิ้งขว้าง เฉดหัวส่งอย่างไม่เหลือเยื่อใยแม้แต่น้อยนิด

แน่นอนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดและคั่งแค้นให้อิด้าอย่างยิ่ง เธอจึงต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองและลูกชายอย่างไม่ลดละ ทั้งในระดับส่วนตัว (ไปยืนป่าวร้องด่ามุสโสลินีถึงที่ทำงาน) และในระดับทางการ (เขียนจดหมายไปร้องเรียนผู้มีอำนาจในฝ่ายต่างๆ ทั้งสื่อ บาทหลวง ข้าราชการฝ่ายปกครอง)

ความโชคร้ายของอิด้าก็คือ ณ เวลานั้นมุสโสลินีสั่งสมพลังอำนาจทางการเมืองมาจนถึงระดับที่ไม่มีใครอยากเป็นศัตรูด้วย เสียงวิงวอนของอิด้าจึงไม่มีผู้ใดอยากรับฟัง คำร้องขอของเธอจึงไม่มีผู้ใดหาญกล้าตอบสนอง

และในปี 1922 ทันทีที่มุสโสลินียึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศได้สำเร็จ มันก็ถือเป็นทำลายโอกาสที่อิด้าจะได้รับชัยชนะลงอย่างถาวร

มุสโสลินีกลายเป็น “ท่านผู้นำ” (หรือ “อิล ดูเช่” ในภาษาอิตาเลียน) ขณะที่สถานภาพของอิด้ากับลูกพลิกผันไปอยู่ในสภาพไม่ต่างจากนักโทษ มุสโสลินีสั่งตำรวจมายืนโยงเฝ้าระวังทั้งคู่ถึงที่พักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเธอกับลูกจะไปไหนหรือขยับตัวทำอะไร ล้วนมีคนของมุสโสลินีคอยจับตามองและพร้อมจะรายงานทุกฝีก้าว เอกสารต่างๆ ที่ยืนยันความสัมพันธ์ของ “ท่านผู้นำ” กับอิด้าและเด็กชายเบนิโต ถูกยึดและทำลายแทบจะเหี้ยน

อิด้ายังคงดิ้นรนเรียกร้องทุกครั้งที่มีโอกาส เธอลบหลู่ดูหมิ่นท่านผู้นำในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย กล่าวหาเขาว่าเป็นไอ้หัวขโมย เธอบอกทุกคนว่าเธอมีหลักฐานที่จะแฉความฉ้อฉลทางการเมืองของเขา ฯลฯ

อิด้าทำทุกอย่างโดยคาดไม่ถึงเลยว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้น ลงท้ายแล้วจะนำมาซึ่งอันตรายใหญ่หลวงแก่ตัวเองและลูกชาย... เป็นได้ว่า เธออาจประเมินความเลือดเย็นของมุสโสลินีไว้ต่ำเกินไป ไม่เช่นนั้นเธอก็อาจหลงลืมไปชั่วขณะว่า ณ เวลานั้น คู่ปรับของเธอไม่ได้เป็นเพียง “นายเบนิโต มุสโสลินี” อีกต่อไป แต่เธอกำลังสู้อยู่กับ “อิล ดูเช่” บุรุษที่ทรงอำนาจที่สุดในแผ่นดินอิตาลีต่างหาก

ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่มุสโสลินียังอยู่ในอำนาจ เรื่องราวของอิด้า ดัลแซร์และบุตรชาย ไม่เคยได้รับการพูดถึง –อย่างน้อยก็อย่างเป็นทางการ- เลยสักครั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างเพิ่งจะถูกเปิดเผยออกมาภายหลังมุสโสลินีและลัทธิฟาสซิสต์ล่มสลายไปแล้วหลายปี

หนังชื่อ Vincere เป็นผลงานของ มาร์โค เบลลอคคิโอ ผู้กำกับชาวอิตาเลียนวัย 60 ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิด้ากับมุสโสลินี หนังไปเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด โดยได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดหลัก

เบลลอคคิโอแบ่งหนังเป็น 2 ส่วน ช่วงแรกเล่าถึงความสัมพันธ์ก่อนถึงจุดแตกหักของอิด้ากับมุสโสลินี พร้อมกันนั้นก็แสดงให้เห็นการไต่เต้าในเส้นทางการเมืองและตัวตนของมุสโสลินีโดยสังเขป ส่วนหนังช่วงหลังอุทิศให้แก่วิบากกรรมของอิด้ากับลูกชายภายหลังมุสโสลินีก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

Vincere เป็นหนังซึ่งอลังการ ยิ่งใหญ่ สะเทือนใจ ดูสนุก (แม้หนังจะทิ้งรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ให้ผู้ชมต้องรับเป็นภาระ “เติมคำในช่องว่าง” กันเอาเองในหลายช่วงหลายตอน) โดดเด่นทั้งโดยตัวเรื่องของมันเอง วิธีการเล่าเรื่อง และเหนืออื่นใด นักแสดงนำทั้งสองของเรื่อง คือ โจวานนา เมสโซจอร์โน ผู้รับบทเป็นอิด้า ดัลแซร์ และ ฟิลิปโป ทิมี ผู้ควบสองบททั้งมุสโสลินีคนพ่อและคนลูก - ซึ่งปล่อยพลังแบบไม่มีใครยอมใคร

ตรวจสอบความเห็นเพื่อนฝูงที่ได้ดูหนังเรื่องนี้จากเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ที่เพิ่งจบไปสดๆ ร้อนๆ ส่วนใหญ่พูดคล้ายๆ กัน คือ “ชอบ” กระนั้นก็ยังขัดอกขัดใจในจุดเดียวกัน กล่าวคือ รู้สึกว่าช่วงแรกของหนังซึ่งเล่าถึงการไต่เต้าในเส้นทางการเมืองของมุสโสลินีนั้น ยืดยาวเกินจำเป็น ทั้งที่สาระสำคัญที่แท้จริงของหนัง น่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลัง คือ การต่อสู้เรียกร้องตำแหน่งเมียหลวงของอิด้ามากกว่า (พูดอีกแบบก็คือ การที่หนังเสียเวลาเล่าถึงตัวมุสโสลินีในวัยหนุ่มค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ชมส่วนหนึ่งรู้สึกว่ามัน “เข้าเรื่องช้า”)

โดยส่วนตัว ดิฉันไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวเท่าใดนัก ในความเห็นของดิฉัน เนื้อหาช่วงต้นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันแสดงให้เห็นตัวตนบางด้านของมุสโสลินี ซึ่งพอจะเป็นเงื่อนงำให้ผู้ชมสามารถตอบคำถามได้เหมือนกันว่า เหตุใดเขาจึงสามารถปฏิบัติต่ออิด้าและบุตรชายแท้ๆ ของตนอย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็นเช่นนั้น

ตัวตนดังกล่าว ขยายความได้ว่า หนังทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ว่า มุสโสลินีเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูงลิบ กล้าหาญ ถึงไหนถึงกัน ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชายผู้นี้เป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวไม่ใช่น้อย และพร้อมที่จะเปลี่ยนกระทั่งอุดมการณ์ของตัวเองได้ตลอด หากว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ตนปรารถนา

เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยปฏิเสธระบอบกษัตริย์หัวชนฝา แต่ในวันหนึ่งเมื่อตระหนักว่ายังมีผู้คนจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินจำนวนไม่น้อย ไม่เว้นกระทั่งนายทหารระดับผู้นำ มุสโสลินีก็สามารถพลิกท่าทีหันมาให้การยอมรับระบอบกษัตริย์ (แม้จะโดยจำใจ) และใช้จุดนั้นเป็นฐานกำลังในการผลักดันตัวเองขึ้นสู่อำนาจจนได้ในที่สุด

เช่นเดียวกันกับในฝั่งของศาสนา มุสโสลินีซึ่งครั้งหนึ่งเคยประกาศกลางที่ประชุมว่า “ผมให้เวลาพระเจ้า 5 นาที ถ้าทำให้ผมตายไม่ได้ นั่นหมายความว่าพระเจ้าไม่มีจริง” แต่ถึงวันหนึ่งกลับเป็นตัวตั้งตัวตีในการรับรองฐานะของวาติกันให้เป็นนครรัฐอิสระ เพราะรู้ดีว่า ในประเทศที่ผู้คนยังเคร่งศาสนา การกระทำเช่นนั้นจะทำให้เขา “ได้ใจ” มหาชนอีกเพียบ

เหนืออื่นใด การที่หนังให้เวลาผู้ชมรู้จักมุสโสลินีค่อนข้างมากในช่วงต้นเรื่อง ยังส่งผลมหาศาลต่อความรู้สึกที่เรามีต่ออิด้าและการต่อสู้ของเธอในช่วงท้าย

เพราะทันทีที่มุสโสลินีขึ้นสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ หนังก็เลือกที่จะให้ผู้ชมเห็นผู้นำเผด็จการผู้นี้ผ่านฟุตเตจเก่าๆ เป็นภาพมุสโสลินีตัวจริงเสียงจริงจากวาระต่างๆ ไม่ใช่ให้นักแสดงมารับบทมุสโสลินีอีกต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการเช่นนี้ถือเป็นการผลักดันให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับอิด้าไม่มีผิดเพี้ยน – บุรุษผู้นั้นดูยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม กร้าวกระด้าง และช่างห่างเหิน คนดูรู้พอกันกับที่อิด้ารู้ ว่าเขาไม่ใช่มุสโสลินีคนเดิมอีกต่อไป และเราตระหนักได้ในทันทีว่า ในการต่อสู้ครั้งนี้ อิด้าต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้...จะเจ็บตัวแค่ไหนเท่านั้น

ประเด็นหนึ่งที่ดิฉันสงสัยเป็นการส่วนตัว ก็คือ เหตุใดมาร์โค เบลลอคคิโอจึงตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า Vincere ซึ่งมีความหมายว่า to win หรือ "ชนะ"

ได้แต่คาดเดาและไม่ยืนยันว่าเดาถูก – ดิฉันเข้าใจว่า หนังน่าจะนำถ้อยคำดังกล่าวมาจากการปราศรัยครั้งหนึ่งของมุสโสลินี ที่พูดปลุกใจคนในชาติทำนองว่า วิธีการเดียวที่จะทำให้อิตาลีคงความเป็นอิตาลีอยู่ได้ ก็คือ การสู้ให้ชนะ ไม่เช่นนั้นแล้ว ตายเสียยังจะดีกว่า

นำคำพูดดังกล่าวมาเทียบเคียงกับเรื่องของอิด้า – ตอนหนึ่งในหนัง มีผู้ปรารถนาดีร้องขอให้เธอพูดออกมาว่าเธอไม่ใช่เมียหลวงท่านผู้นำดังที่กล่าวอ้าง ทว่าทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่เธอกุขึ้นเพื่อหวังผลบางอย่างเท่านั้น

รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองกำลังจนตรอกใกล้แพ้พ่ายอยู่รอมร่อ ทว่าอิด้าก็แข็งใจปฏิเสธไป เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะ “แล้วถ้าฉันตายไปในวันนี้พรุ่งนี้ จะมีใครรู้ความจริงหรือไม่ จะมีคนรู้ไหมว่าแท้จริงแล้วฉันเป็นใคร”

บางที อิด้ากับมุสโสลินี แม้จะเป็นคนละฝ่ายคนละข้าง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ต่างก็ยึดถือหลักการอย่างเดียวกันในการต่อสู้ของตน

และการที่ทุกวันนี้ ผู้คนรู้จักอิด้า ดัลแซร์ในฐานะ “เมียคนแรกของมุสโสลินี” ไม่ใช่เมียน้อย ไม่ใช่เมียเก็บ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงบ้าๆ คนหนึ่งอย่างที่เคยเข้าใจผิดกันมาตลอด สำหรับอิด้าแล้ว นี่ถือเป็น “ชัยชนะ” – แม้ว่าเธอจะไม่มีโอกาสสัมผัสมันด้วยตัวเองก็ตาม





กำลังโหลดความคิดเห็น