xs
xsm
sm
md
lg

Dogtooth:ชีวิตหมาๆ/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง งานปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-30 กันยายน โดยจะเพิ่มโรงฉายเป็นสองแห่ง คือ พารากอนซีนีเพล็กซ์ และเอสเอฟเซ็นทรัลเวิลด์

เช่นกันกับครั้งที่ผ่านๆ มา งานปีนี้ยังคงมีหนังหลากหลายสัญชาติมาร่วมเทศกาลกันอย่างคับคั่ง ดิฉันเองได้ดูหนังที่อยู่ในโปรแกรมไปแล้วบางส่วน ในจำนวนนั้น เรื่องที่ถือว่าเด็ดที่สุด (ดีที่สุดหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าส่วนตัวแล้วชอบมาก) ดูแล้วเพ้อคลั่งไปสามวันเจ็ดวัน – สำหรับดิฉัน ขอยกให้กับ Dogtooth

Dogtooth เป็นหนังจากประเทศกรีซ ผลงานของ ยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับวัย 36 ปี

ประวัติคร่าวๆ ของลานธิมอสเท่าที่ดิฉันหาพบ มีอยู่ว่า เขาเกิดที่กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของประเทศกรีซ จบการศึกษาด้านการกำกับจากสถาบันภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ชื่อ สตาวราคอส (ชื่อเต็มคือ Hellenic Cinema and Television School Stavrakos) หลังเรียนจบ เขารับงานเป็นผู้กำกับวิดีโอให้กับคณะละครเต้นหลายแห่งในกรีซ จากนั้นจึงขยับมาทำหนังโฆษณา มิวสิกวิดีโอ หนังสั้น ละครเวที (ดูตัวอย่างงานของลานธิมอสในส่วนนี้ได้ที่ www.lanthimos.com)

นอกจากนั้น ในปี 2004 ซึ่งกรุงเอเธนส์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์ ลานธิมอสก็ยังมีชื่อเป็นหนึ่งในทีมงานผู้คิดสรรค์การแสดงในพิธีเปิดและปิดด้วย

ผลงานที่ผ่านมาน่าจะทำให้ลานธิมอสเป็นที่รู้จักภายในประเทศกรีซเองระดับหนึ่ง แต่หากจะว่ากันถึงระดับโลกแล้ว ลานธิมอสเพิ่งจะมาดังจริงจังก็เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ภายหลัง Dogtooth –ซึ่งเป็นหนังยาวเรื่องที่ 2 ที่เขากำกับเองคนเดียวเต็มตัว- ไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Un Certain Regard จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองได้สำเร็จ ทั้งที่ไม่มีใครคาดหมายว่ามันจะไปได้ไกลขนาดนั้นมาก่อน

ว่ากันว่า ชัยชนะของ Dogtooth นั้น ถือเป็นชัยชนะของม้ามืดโดยแท้ เพราะก่อนที่จะมีการประกาศผลรางวัลออกมา มันเป็นหนังซึ่งไม่ใคร่จะมีใครพูดถึงและให้ความสำคัญเท่าใดนัก ความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่ถูกเทถ่ายไปให้หนังอื่นๆ ในสายเดียวกันที่ดูจะมีภาษีดีกว่า อาทิ Police, Adjustive หนังโรมาเนียของ คอร์เนลิว โปรัมโบย, Independencia หนังของผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์ รายา มาร์ติน (เรื่องนี้จะมาฉายที่บางกอกฟิล์มด้วยเช่นกัน) หรือ Air Doll ของ ฮิโรคาสุ โครีเอดะ เสียมากกว่า (‘นางไม้’ ของ คุณเป็นเอก รัตนเรือง เป็นหนึ่งในหนังที่ได้รับเลือกให้ฉายในสายนี้ในปีเดียวกันนี้)

อย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายก็เป็นอย่างที่ทราบกัน ทันทีที่คณะกรรมการประกาศมอบรางวัลให้แก่ Dogtooth ก็ดูเหมือนมันจะกลายเป็นหนังที่มีราศีจับต้องเปล่งประกายเรืองรองขึ้นทันตาเห็น และล่าสุด สักสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังก็เพิ่งเดินทางไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตมาหมาดๆ ด้วย (ประธานกรรมการสาย Un Certain Regard ปีนี้ คือ เปาโล ซอร์เรนติโน ผู้กำกับชาวอิตาเลียน คนทำ The Family Friend ซึ่งดิฉันเคยเขียนถึงเมื่อเดือนก่อน)

Dogtooth เป็นหนังป่วยๆ เล่าเรื่องของครอบครัวป่วยๆ ครอบครัวหนึ่ง อันประกอบด้วย พ่อแม่ ลูกชายวัยรุ่นหนึ่งคน และลูกสาววัยรุ่นอีกสอง

ความเจ็บป่วยของครอบครัวมีต้นเหตุมาจากการที่พ่อและแม่จับลูกๆ ทั้งสามขังไว้ภายในรั้วบ้านกว้างขวางมาตั้งแต่เกิด ไม่ให้ใครออกไปไหน ไม่อนุญาตให้ใครพบเห็นโลกภายนอก ทุกคนใช้ชีวิตตามกฎเกณฑ์ที่สุดแท้แต่พ่อกับแม่จะตั้งขึ้น รู้จักโลกผ่านเพียงปากคำที่พ่อแม่เป็นผู้บอกเล่า เด็กๆ ถูกสอนจนเชื่อฝังหัวว่า นอกรั้วบ้านนั้นเต็มไปด้วยภยันตรายและความเลวร้าย และพวกเขาก็จะถูกฆ่าตาย หากริอ่านออกจากบ้านไปทั้งที่ไม่มีความพร้อม (และในความเห็นของพ่อแม่ พวกเขาก็จะไม่มีวันพร้อม)

ในแต่ละวัน พ่อแม่จะหมั่นเพียรหาความรู้มาป้อนใส่หัวลูก (โดยวิธีพูดใส่เทปแล้วให้ลูกเปิดฟังซ้ำๆ) แทบทุกอย่างเป็นความรู้ที่บิดเบือนเฉไฉจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง อาทิ ในฉากเปิดเรื่อง หนังให้ผู้ชมฟังเทปวิชา “ภาษากรีกวันละคำ” ไปพร้อมกับลูกทั้งสาม เนื้อหาที่ฟังกันในวันนั้นมีอยู่ว่า

“ศัพท์ใหม่ประจำวันมีดังต่อไปนี้ ทะเล ทางหลวง การท่องเที่ยว และปืนสั้น... ‘ทะเล’ คือเก้าอี้ที่หุ้มด้วยหนัง มีที่เท้าแขนทำจากไม้ เหมือนตัวที่อยู่ในห้องนั่งเล่นของเรา... ‘ทางหลวง’ คือลมที่พัดแรง... ‘การท่องเที่ยว’ คือวัสดุที่แข็งแรงทนทานใช้ในการสร้างพื้น ตัวอย่างเช่น ไฟระย้าตกกระทบพื้นอย่างแรง แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอันใด เพราะพื้นทำจากการท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์...”

พ่อแม่รวมหัวกันตัดสิ่งเร้าจากโลกภายนอกออกจากชีวิตของลูกโดยหมดสิ้น โทรทัศน์มีไว้แค่ให้เปิดดูโฮมวิดีโอที่พ่อแม่ลูกถ่ายกันเมื่อนานโข วิทยุมีไว้เพียงเปิดฟังเทปการเรียนการสอนของพ่อแม่ (ส่วน ‘โทรศัพท์’ นั้น เด็กๆ ถูกสอนว่า หมายถึงขวดพริกไทยที่วางอยู่บนโต๊ะอาหาร) บุคคลภายนอกเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาที่บ้าน ก็คือ คริสตินา พนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานที่พ่อทำงานอยู่ ซึ่งจะถูกนำตัวมาที่บ้านนานๆ ครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของลูกชายซึ่งกำลังโตเป็นหนุ่มเท่านั้น

สิ่งที่ดิฉันชอบที่สุดใน Dogtooth คือ การที่ยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับ กล้าหาญชาญชัยผลักดันหนังไปจนสุดตามวิถีทางของมันโดยไม่พยายามจะออมมือ ผ่อนหนักเป็นเบาแม้แต่น้อยนิด

ประเด็นดังกล่าว อธิบายคร่าวๆ ก็คือ หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนบ้าซึ่งไม่สนใจกรอบกฎใดๆ ในสากลโลก เพราะฉะนั้นคนบ้าประเภทนี้จึง ‘ทำอะไรก็ได้’ โดยไม่ต้องยี่หระหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน และลานธิมอสก็ให้ตัวละครทั้งห้าของเขาทำทุกอย่างตามอำเภอใจจริงๆ

ตลอดความยาว 90 นาทีเศษของหนัง ราวกับมันจับผู้ชมโยนไปอยู่ร่วมกับคนบ้าๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าในหัวคิดอะไรอยู่ ซ้ำร้าย ยังไปอยู่กันใน ‘โลกเฉพาะ’ ที่ตรรกะ วิธีคิด กฎเกณฑ์ ข้อตกลงร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือกระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เอง มีค่าน้อยเสียยิ่งกว่าขยะ (หนังมีรายละเอียดอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ ตัวละครหลักทั้งห้าในหนังเรื่องนี้ล้วนไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เช่น พี่ชายจะเรียกน้องสาวคนโตว่า “ยัยคนโต” และพ่อแม่ก็เรียกลูกสาวด้วยถ้อยคำเดียวกัน ในทางหนึ่ง การกำจัดชื่อของตัวเองทิ้งก็เหมือนการทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากสถานภาพทางสังคมและปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ขณะที่อีกด้าน มันแทบไม่ต่างจากการกำจัดตัวตนความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นๆ ลงไปด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่เห็นว่าฝ่ายหนึ่งคือ นายเอ หรือ น.ส. บี แต่เห็นเป็นเพียง “ผู้หญิงคนหนึ่ง” “น้องสาวคนหนึ่ง” “ชายคนหนึ่ง” เท่านั้น)

ที่ร้ายก็คือ โลกของ Dogtooth เป็นโลกที่ไม่มีความหวัง ยิ่งเวลาผ่านไป นอกจากสถานการณ์จะไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นแล้ว มันกลับยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมของตัวละครที่เราเห็นว่า ‘บ้าแล้ว’ ในช่วงต้นเรื่อง ถึงกลางเรื่องเราจะเจอที่ ‘บ้ากว่า’ และแน่นอนว่า ท้ายเรื่องจะเป็นช่วงเวลาของความ ‘บ้าที่สุด’

แม้เรื่องราวจะพัวพันอยู่กับสมาชิกในครอบครัวครอบครัวหนึ่งเป็นหลัก อีกทั้งกรอบเนื้อหา โดยรวมก็พอจะสรุปได้คร่าวๆ ว่าอยู่ในขอบข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน” ทว่าเอาเข้าจริง โดยส่วนตัวดิฉันเอง คิดว่าสาระสำคัญที่หนังต้องการจะนำเสนอนั้น แผ่ขยายครอบคลุมไปไกลกว่านั้น

กล่าวคือ ดิฉันไม่คิดว่า ยอร์กอส ลานธิมอสจะทำ Dogtooth ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพียงต้องการจะบอกว่า การเลี้ยงลูกที่ถูกต้องควรทำเช่นไร

แต่จุดใหญ่ใจความของหนัง น่าจะเป็นการชี้ให้ผู้ชมตระหนักว่า การกำจัดสิ่งเร้าทางลบทางร้ายจากภายนอก เพราะมุ่งหวังว่ามันจะเป็นการกล่อมเกลาให้ชีวิตผุดผ่องบริสุทธิ์ -อันเป็นข้ออ้างที่พ่อและแม่ในหนังเรื่องนี้ทำกับลูกนั้น- เอาเข้าจริงก็ช่างเปล่าประโยชน์

เพราะความเลวร้ายสารพัดอย่างที่เราเห็นๆ กันบนโลกนั้น แท้จริงแล้วล้วนมีต้นกำเนิดจากจิตใจที่ชั่วร้ายภายในตัวมนุษย์เองทั้งสิ้น

พูดอีกแบบก็คือ ลำพังตัวของโลกเองนั้น มันไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้อันตรายอะไร

แต่หัวใจของคน –อย่างน้อยก็จำนวนหนึ่ง- ต่างหากที่เลวร้าย และร้ายอย่างยากจะหยั่งถึง






กำลังโหลดความคิดเห็น