"ชุมชนสามชุก-ตลาดเก่า100ปี" สุพรรณบุรี ซิวคว้ารางวัลอนุรักษ์ระดับดี จากยูเนสโก ประจำปี 2552 ส่วนสถานที่ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ "Sangiin Dalai Monastery" ประเทศมองโกเลีย
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย แจ้งว่า ยูเนสโกได้ประกาศผลการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก ประจำปี 2552 จากสถานที่ต่าง ๆ ที่เข้าประกวดในโครงการดังกล่าว กว่า 48 แห่ง จาก 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อาทิ โรงแรม สำนักงาน หน่วยงานทางวัฒนธรรม สถาบันทางการศึกษา สถานที่ทางศาสนา สถานที่สาธารณะ และอาคารที่อยู่อาศัย รวมทั้งเมืองต่าง ๆ สำหรับสถานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปีนี้ ได้แก่ Sangiin Dalai Monastery เมืองโกบีไอมัคใต้ ประเทศมองโกเลีย
ส่วนประเภทรางวัลดีเด่น 3 รางวัล คือ 1. M24 Midget Submarine Wreck นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 2. Ali Gohar House เมืองฮุนซา ประเทศปากีสถาน และ 3. Hanok Regeneration เมืองบุกชอน ประเทศเกาหลีใต้
ส่วนประเภทรางวัลระดับดี 4 รางวัล ได้แก่ 1. ชุมชนสามชุก และตลาดเก่าร้อยปี จ.สุพรรณบุรี ประเทศไทย 2.Huai Hai Lu 796 เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน 3. YMCA Student Branch นครมุมไบ ประเทศอินเดีย และ 4. Waterworks Building เมืองโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
สำหรับรางวัลชมเชย 4 รางวัล 1. The Academy of Visual Arts (Former Royal Air Force Officers’ Mess) at the Hong Kong Baptist University เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน 2. Heritage Buildings in Cicheng Historic Town มลฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน 3. YWCA Lady Willingdon Hotel นครมุมไบ ประเทศอินเดีย และ 4. Tang Family Chapel เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการประเภท Jury Commendation for Innovation ประจำปี 2552 ได้แก่ Maosi Ecological Demonstration Primary School มลฑลกานซู ประเทศจีนด้วย
สำหรับคุณสมบัติของแต่ละสถานที่ที่จะส่งเข้า ประกวดต้องมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และมีการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จภายใน 10 ปีที่ผ่านมา และสามารถใช้งานได้อย่างน้อย 1 ปี นับจากการประกาศผลรางวัลดังกล่าว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูและซ่อมแซมสถานที่ ประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ให้คงอยู่กับชุมชนแต่ละประเทศต่อไป
อนึ่ง “ตลาดสามชุก” เป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี แต่เมื่อถนนคือ เส้นทางจราจรทางบกที่เข้ามาแทนที่การเดินทางทางน้ำ ทำให้คนหันหลังให้กับแม่น้ำท่าจีน ความสำคัญของตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าริมน้ำเริ่มลดลง
บรรยากาศการค้า ขายในตลาดสามชุกเริ่มซบเซา และเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตลาดนัดภายนอก ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต้องหาทางปรับตัว และเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าที่ดินมายาวนาน ดำริจะรื้ออาคารตลาดเก่า สร้างตลาดใหม่
จึงทำให้ชาวบ้านพ่อค้าที่อยู่ในตลาดสามชุก ครูอาจารย์ที่เห็นคุณค่าตลาดเก่า รวมตัวเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใช้การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือการพัฒนาอาคารไม้เก่าแก่ ในตลาดสามชุก ที่ก่อสร้างเป็นแนวตั้งฉากกับแม่น้ำท่าจีน
เป็นสิ่งบอกให้รู้ว่าเป็นลักษณะของตลาดจีนโบราณ เป็นชุมชนชาวไทย-จีน ที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง ซึ่งเท่าที่พบในตลาดนี้มีถึง 19 ลาย คือ ศิลปะตกแต่งอาคารไม้โบราณ ที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ก็ย่อมสูญหายไปเช่นเดียวกับตลาดโบราณอื่นๆนอกจากสถาปัตยกรรม อาคารไม้โบราณที่พบเห็นได้ตลอดแนวทางเดิน 2 ข้างทางเดินในตลาด วิถีชีวิตบรรยากาศภายในตลาดการค้าขายที่ยังคงรักษาวิถีแบบดั้งเดิมเช่นใน อดีต และบรรยากาศน้ำใจอัธยาศัยไมตรีของแม่ค้า ข้าวของเครื่องใช้ ขนมอาหารที่นำมาตั้งขายในตลาด เป็นสิ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้คือ วัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากอดีต บ่มเพาะมาเป็น 100 ปี ทำให้ตลาดสามชุก แห่งนี้ได้รับขนานนามว่าตลาด 100 ปี พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต