นอกจากนักประพันธ์รุ่นพี่แล้ว ยังมีกลุ่มนักเขียนในรุ่นกลางที่เขียนนวนิยายลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารบันเทิงต่างๆ ในท้องตลาด และผลงานของนักเขียนในกลุ่มนี้ มักจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นละครอยู่เสมอ
ซึ่งนักเขียนกลุ่มนี้บางคนได้ลดความเข้มข้นและความสละสลวยของภาษาลง มีการวางพล็อตที่ไม่สลับซับซ้อน ชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในตัวอักษรนั้นสัมผัสง่าย เข้าถึงชีวิตประจำวัน
วันนี้ เรากำลังพาคุณมารู้จักกับ 3 นักเขียนนวนิยาย ซึ่งงานของเขาและเธอถูกเช่าช่วงลิขสิทธิ์ไปทำเป็นละครโทรทัศน์
โสภี พรรณราย เจ้าของบทประพันธ์ "แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา" (ช่อง 7 สี / โพลีพลัส – เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ , อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ). หยกลายเมฆ (ช่อง 3 / บรอดคาซท์ - พัชฏะ นามปาน, เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ)
วัตตรา เจ้าของบทประพันธ์ "ลูกไม้เปลี่ยนสี" (ช่อง 3 / ทีวีซีน - พัชฏะ นามปาน, เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา), พระจันทร์สีรุ้ง (ช่อง 3 / ละครไท - สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) , ก๊วนกามเทพ (ช่อง 3 / ดวงมาลีมณีจันทร์ - จันทร์จิรา จูแจ้ง, รามาวดี นาคฉัตรีย์, อาภาศิริ นิติพล)
พงศกร เจ้าของบทประพันธ์ "สร้อยแสงจันทร์" ( ช่อง 3 / บางกอกดราม่า - พัชฏะ นามปาน, ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ, รินลณี ศรีเพ็ญ, ศรีริต้า เจนเซ่น) , สาปภูษา (ช่อง 3 / บรอดคาซท์ - ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ, ธัญเรศ รามณรงค์)
...
โสภี พรรณราย
วันศุกร์ – เสาร์ – อาทิตย์ ละครเรื่อง "แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา" ได้ดำเนินเรื่องจนอวสานไปหมาดๆ และขณะนี้ทุกวันจันทร์ – อังคาร กำลังแพร่ภาพ หยกลายเมฆ ทางช่อง 3
"บทประพันธ์ในแนวโรแมนติกคอมเมดี้ เป็นแนวที่ผู้จัดมักจะหยิบมาทำเป็นละคร เนื่องจากแนวนี้ดูสบาย ไม่หนัก ไม่ซีเรียส แต่ถ้าเป็นละครในแนวดราม่าจัดๆอาจจะเงียบไปนิดนึง ในความรู้สึกของพี่ว่า คนไทยไม่ค่อยชอบดูละดรามาจัดๆ ดูแล้วมันเครียดไปตามตัวละคร" โสภี พรรณรายกล่าว
ฟันธงว่า ต้องโรแมนติกคอมเมดี้เท่านั้น!?
"เรื่องนี้พี่ไม่กล้าฟันธงนะ เพราะเราไม่รู้ว่า ผู้จัดต้องการแนวเรื่องแบบไหน แต่นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัว เพราะรู้สึกว่าคนที่ชมโทรทัศน์น่าจะชอบในแนวสบายๆ ลองสังเกตดู พอเป็นแนวสบาย จำพวกหนังตลก อะไรพวกนี้เรตติ้งจะดี"
กว่า 30 ปีที่นามปากกาของโสภี พรรณรายโลดแล่นอักษรไปตามความฝันของเธอ นับเรื่องแล้ว เธอบอกว่า คงไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง ที่เธอ โสภี พรรณราย หรือ ชื่อจริงว่า สุรภี โพธิสมภรณ์ ถ่ายทอดให้ความสำราญแก่ผู้อ่าน
"ไม่ถือว่าเยอะนะคะ เฉลี่ยปีละ 3-4 เล่มเท่านั้นเอง"
ปีนี้ เธออายุ 52 ปี เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ หนังสือที่อ่านในยุคนั้นเป็นจำพวกนิยายจีนก็มี รวมถึง หัสนิยาย "พล นิกร กิมหงวน" ของ ป. อินทรปาลิต การอ่านในครั้งนั้น ทำให้บ้านของเธอมากมายไปด้วยหนังสือนับพันเล่ม
โสภี พรรณรายเล่าย้อนเรื่องราวสมัยที่เธออายุ 20 ปีให้ฟังว่า
"ตอนนั้นเพิ่งจบจากพณิชยการพระนครใหม่ๆ ยังว่างงานอยู่ ก่อนหน้านี้เราชอบอ่านหนังสือดรุณี บังเอิญว่าตอนนั้นเค้าประกาศรับนักเขียนใหม่ ดรุณีเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่สร้างนักเขียนให้กับวงการนี้หลายคน เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เราก็ลองเขียนต้นฉบับเรื่อง "แฝดสาวเจ้าเสน่ห์" ส่งไป พอส่งไปปุ๊บ ทางบก.ก็โทรกลับมาว่าใช้ได้"
นับเริ่มแต่นั้นมา บรรณพิภพก็มีนวนิยายของเธอโลดแล่นอยู่ด้วย เริ่มแรก เธอทำงานประจำควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือ ต่อมาเมื่อหนังสือ ดรุณี ปิดตัวเองลง เธอได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากสำนักพิมพ์รวมสาส์น ให้ไปเขียนนวนิยายตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารภาพยนตร์บันเทิง เรื่องแรกที่ตีพิมพ์คือ ปิ่นมุก ต่อมาเธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อเขียนหนังสืออย่างเดียว
นวนิยายหลายเรื่องของเธอได้รับการเช่าซื้อลิขสิทธิ์จากช่อง 7 สีไปเป็นละครโทรทัศน์ เช่น ลูกตาลลอยแก้ว, ลูกไม้ไกลต้น, เจ้าสัวน้อย, ร้ายเดียงสา, ดั่งสวรรค์สาป, ขิงก็รา ข่าก็แรง, คุณหนูเทวดา, แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา ฯ ส่วนที่เคยเป็นละครทางช่อง 3 เช่น กิเลสมาร, กากเพชร, ลูกไม้เปลี่ยนสี เป็นต้น
นวนิยายที่เคยไปจัดสร้างเป็นภาพยนตร์ มีเพียงเรื่องเดียวคือ "ลูกสาวเจ้าพ่อ" นวนิยายบู๊เรื่องนี้ เธอเขียนไว้ตั้งแต่สมัยที่อายุเพียง 20 เศษๆ เท่านั้น
"นางเอกในยุคแรกๆ ของโสภี พรรณรายจะออกไปทางแก่นมากๆ เลย นางเอกที่มีคาแร็กเตอร์สู้คน มันจะสนุกเมื่อต้องมีบทไปปะทะกับพระเอก" เธอเผยเคล็ดลับ
ในบรรดานวนิยายกว่า 100 เรื่อง ส่วนตัวของเธอชอบเรื่อง กิเลสมาร มากที่สุด เนื่องจากมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ ซึ่งใกล้เคียงกับชีวิตจริงของผู้คนในชีวิตประจำวัน
และในบรรดาละครทั้งหมด เธอประทับใจกับ "กิเลสมาร" และ "ลูกตาลลอยแก้ว"
"พี่โชคดี เพราะพี่ได้ผู้จัดที่ทำตามกฎ พี่ได้นักเขียนบทที่ดี รักษาแนวเรื่องเอาไว้ ส่วนที่จะเติมแต่งเพิ่มไม่เป็นไร ถ้ามันจะทำให้เรื่องสนุกขึ้น ดีขึ้น แต่แนวเรื่องเขาไม่ทิ้ง ที่จะคงไว้แต่ชื่อเรื่อง แล้วเปลี่ยนทั้งหมด พี่ยังไม่เคยเจอนะ"
นอกเหนือจากนามปากกา "โสภี พรรณณาย" ยังมีอีกนามปากกาหนึ่งคือ "ณิชา" ซึ่งเกิดขึ้นในโลกนวนิยายเมื่อสัก 7-8 ปีมานี้เอง แต่เมื่อต้องรวมเล่ม นามปากกา "ณิชา" จะถูกเปลี่ยนเป็นโสภี พรรณรายทันที ด้วยเหตุผลทางการตลาด
"เราเป็นคนที่คิดพล็อตช้า ตอนคิดพล็อตยากกว่าตอนเขียน พอได้พล็อตซึ่งเป็นเมนใหญ่ๆ ไว้แล้ว แต่จะไม่ลงรายละเอียดนะคะ พอมาเริ่มเขียนบทที่หนึ่งก็จะเปิดไปทีละบทตามพล็อตที่เราวางไว้ ละครไม่ได้ทำให้ยอดขายนวนิยายตกลงไปเลย เพราะเนื่องจากเป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย"
"พี่เป็นนักเขียนที่ไม่ขายพล็อตนะคะ เพราะว่าเราเป็นนักประพันธ์มา 30 กว่าปีแล้ว มีคนมาขอซื้อพล็อตเหมือนกัน แต่พี่บอกว่าไม่ขาย คุณต้องรอจากนวนิยายที่สำเร็จเป็นเล่มแล้ว เราไม่ใช่นักเขียนเด็กๆ แล้ว เราสำนึกตลอดเวลาว่า เราเป็นนักประพันธ์ พี่จะเขียนนวนิยายเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นถึงมารวมเล่มขาย"
ทุกวันนี้ โสภี พรรณราย เขียนนวนิยาย 6 เรื่องให้กับนิตยสาร 4 เล่มคือ ภาพยนตร์บันเทิง, ชีวิตรัก, เรื่องผู้หญิง, ชีวิตจริง
โสภี พรรณราย บอกเคล็ดลับสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักเขียนว่า ต้องรักการอ่านหนังสือที่หลากหลาย ทุกประเภท สำหรับตัวเธอ ทุกวันนี้เธอยังต้องอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง เห็นหัวข้อไหนน่าสนใจก็ต้องรีบจดไว้ และต้องเป็นคนหมั่นสังเกตเกตเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ข้อมูลไหน ไอเดียไหนน่าสนใจควรรีบจดใส่สมุดที่พกติดตัวไว้ มิเช่นนั้น สิ่งดีๆ จะหายไป
และนี่คือ ผลงานนวนิยายส่วนหนึ่งของโสภี พรรณราย
คุณหนูเทวดา,สาวเปิ่นเจ้าเสน่ห์,เจ้าพ่อจำเป็น ,พระจันทร์-พยศ , ระบำปลายฟ้า,น.ส.อวกาศ,เทพบุตรล่องหน,กระต่ายหลงจันทร์,ลูกปัดร้อยสี,นางฟ้าไร้ปีก,ลิลลี่สีกุหลาบ,ผักบุ้ง-กับกุ้งนาง,กากเพชร , เหยี่ยวสาวมือใหม่,สาวน้อยในตะเกียงแก้วภาค 1 และ 2 ,แหม่มแก้มแดง,หน้ากาก,โบสีชมพู,กิเลสมาร
ลูกไม้ไกลต้น ,ฟ้า หิน ดิน ทราย ,เพลิงพธู ,พะโล้ทรงเครื่อง ,เชอรี่พิ้งค์ , เจ้าสัวเจ้าสำราญ,ปิ่นมุก,เหลี่ยมกุหลาบ,มรสุมหัวใจ,ลูกตาลลอยแก้ว ,ดาวเย้ยเดือน,ไสยดำ,เพลิงพยศ,วิมานดวงดาว,รอยทรายในแสงจันทร์,ขิงก็รา ข่าก็แรง,สาปคฤหาสน์,น้ำผึ้งซาตาน,มณีเนื้อแท้,เจ้าสาวปริศนา,ลายมนุษย์,เชลยบาป,สุสาน,เพชรกินรี,ดวงหทัย,แม่เลี้ยงคนใหม่,เกมตัณหา,วิวาห์สลับรัก,น้ำปลาหวาน,นางสาวหวานชื่น,ร้าย...เดียงสา,ภูตาลัย,เจ้าช่อมาลัย,สุดดวงใจ,พลอยล้อมเพชร
หัวใจดงดิบ,ม่านมายา,กลกามเทพ,วังวารี,นางนกต่อ,เพชรกินรี,ไฟหิมะ,แม่สื่อยอดรัก,รักข้ามปลายเมฆ,เงาเคหาสน์,สาวน้อยร้อยมายา, แฝดสาวเจ้าเสน่ห์, กามเทพแฝง, มะนาวหวาน, ไฟสีเงิน, ลูกสาวเจ้าพ่อ, ตุ๊กตาเริงระบำ ,หัวใจอยากจะรัก ,ไฟลวง, บุษบาเร่รัก ,ระเริงไฟ , คู่เขย คู่ขวัญ , สาวใช้ไฮเทค ,ม่านจันทรา, แก่นกะโปโล ฯลฯ
วัตตรา
ขณะนี้ บทประพันธ์ของ "แวว" – วัตตรา เรื่อง ลูกไม้เปลี่ยนสี, พระจันทร์สีรุ้ง และก๊วนกามเทพ กำลังแพร่ภาพอยู่ทางช่อง 3 ก่อนหน้านี้ละครที่มีคนรู้จักและกล่าวถึงมาก อย่าง โบตั๋นกลีบสุดท้าย และ ใจร้าว ก็เป็นผลงานเขียนของเธอเหมือนกัน
ชื่อจริงของเธอคือ อภิญญา เคนนาสิงห์ นามปากกาที่ใช้ในการเขียนนวนิยาย เช่น วัสตรา (เขียนงานแนวสะท้อนปัญหาสังคม), วัตตรา (เขียนงานแนวโนแมนติกคอมเมดี้, โรแมนติกดราม่า) และ กานติมา (เขียนงานแนวเมโลดราม่า, ดรามาเข้มข้น, แฟนตาซี, เร้นลับ)
เธอเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อสมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสายปัญญา เป็นศิลปะศาสตร์บัณฑิต (เอกภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 13 เริ่มต้นจากการเขียนนวนิยายเล่มเล็กๆบางๆ ราคา 10 บาทมาก่อน ระหว่างปี 2531 – 2543 ได้เข้าทำงานกับนิตยสารรายสัปดาห์, รายปักษ์ และรายเดือน หลายเล่ม อาทิ "ชีวิตต้องสู้" เป็นต้น หลังจากนั้นอยู่กับบ้าน เขียนนวนิยายเพียงอย่างเดียว
"วัสตรา แปลว่า เสื้อผ้าอาภรณ์ อาจารย์ที่แววนับถือท่านหนึ่งบอกว่า ส เป็นกาลกิณี แต่เราเองก็ไม่ได้สนใจหรอกว่าอะไรเป็นตัวกาลกิณี แต่หลังจากเขียนนวนิยายได้ 3 เรื่อง ก็เปลี่ยนเป็น วัตตรา เอาตัว "ต" ไปแทน "ส" และเปลี่ยนงานเขียนจากแนวสะท้อนสังคม ไม่มีพระเอก ไม่มีนางเอก ในนามปากกา "วัสตรา" มาเป็นแนวคอมเมดี้ โรแมนติด ดราม่า ช่วงนั้นได้มีโอกาสได้คุยกับคนในวงการบันเทิง และเริ่มมองการตลาดว่า เขียนอย่างไรจึงสามารถใช้งานได้จริง ไม่เป็นเรื่องอุดมคติเกินไป และสามารถนำบทไปสร้างเป็นละครได้"
แววยอมรับว่า เธอไปเรียนเขียนบทโทรทัศน์มาด้วย และการไปในครั้งนั้นทำให้เธอทราบความต่างของการเขียนนวนิยายกับการเขียนบทโทรทัศน์
"เข้าใจว่า วิธีการเล่าเรื่องของนิยายกับละครต่างกัน นิยายเล่าในแบบของเรา ละครเล่าในแบบของเขา ซึ่งมันก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความยากง่ายในการถ่ายทำ ความเป็นไปได้ในแบบของเขา เรื่องความต่างเป็นเรื่องที่เราต้องทำใจ ซึ่งคนที่เป็นนักอ่านนวนิยายอาจจะไม่ชอบวิธีการเล่าเรื่องของละครโทรทัศน์ที่มีการต่อเติม เสริมแต่ง แต่ยืนยันว่า ละครทุกเรื่องเขายังรักษาแก่นของเรื่องที่เราเขียนไว้ได้ สิ่งที่เขาใส่เข้ามา เมื่อทำเป็นละครแล้วมันมีความสมดุล และเป็นจริงเป็นจัง เห็นภาพชัดเจน" แวว อภิญญา เคนนาสิงห์กล่าว
การเช่าซื้อบทประพันธ์ต่อเรื่องในระยะเวลา 5 ปี ไม่ได้หมายความว่า "ซื้อปุ๊บ ทำปั๊บ" บางเรื่องค้างอยู่ 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง แต่ละช่องไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 หรือช่อง 7 สี จะนิยมซื้อเรื่องไปตุนไว้ และหลายครั้งที่บทประพันธ์ของเธอถูกนำไปสร้างและออนแอร์ติดๆ กัน อย่างช่วงนี้ ช่อง 3 นำ "ลูกไม้เปลี่ยนสี", "พระจันทร์สีรุ้ง" และ "ก๊วนกามเทพ" มาออนแอร์ติดๆ กัน
นับถึงวันนี้ เธอมีนวนิยายอยู่ในมือราว 20 -30 เรื่อง งานเขียนของวัตตรา ส่วนใหญ่จะมีคู่พระ – นาง 2 คู่ บทประพันธ์ที่ได้ดั่งใจเธอ เธอยกนิ้วให้กับ "โบตั๋นกลีบสุดท้าย" ของ บริษัททีวีซีน แอนด์ พิคเจอร์
ล่าสุด การประกาศรางวัลบันเทิงที่มอบให้กับผู้ทำงานดีเด่นในปี 2551 จัดโดยสมาคม ผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย "สตาร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ อวอร์ด 2008" เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวาลัย พารากอนซิเนเพล็กซ์ สยามพารากอน เฉพาะภาพยนตร์เรื่อง "โบตั๋นกลีบสุดท้าย" คว้าไปทั้งสิ้น 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม, นักแสดงชายยอดเยี่ยม – อธิชาติ ชุมนานนท์, กำกับการแสดงยอดเยี่ยม – ชนะ คราประยูร, และบทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม
"เรามองภาพว่ามันเป็นละครพีเรียด ประมาณปี 2498 – 2499 ความจริงเรื่องที่เราเขียนไว้มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมากมาย คณะงิ้วจะอยู่หรือจะไปก็เป็นเรื่องของสังคมในยุคใหม่ที่เข้ามา แต่ 3 คนพี่น้องพยายามที่จะรักษาทุกอย่างเอาไว้ กับอีกบ้านหนึ่ง ที่เชื่อว่ามีลูกชายแล้วเฮง มันเฮงจริงหรือเปล่า เราเขียนและมีโอกาสใส่ข้อคิดเพื่อให้คนรักครอบครัวมากขึ้น ซึ่งทางทีวีซีนทำให้ภาพที่เราวาดไว้ในนวนิยาย สมบูรณ์ ไม่มีที่ติ และอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ" กานติมา อีกหนึ่งนามปากกาที่แววใช้เขียนเรื่อง โบตั๋นกลีบสุดท้ายยอมรับ
บทประพันธ์ที่ช่อง 7 สีเคยซื้อไปทำเป็นละครมีเรื่องเดียวคือ "ทะเลสาบนกกาเหว่า" โดย กานติมา เขียนบทโทรทัศน์ ฐานวดี สถิตยุทธการ กำกับการแสดง มารุต สาโรวาท
"ช่อง 7 ส่วนใหญ่มีนักเขียนประจำที่เขาซื้อ – ขายเรื่องกันอยู่แล้ว อย่าง ทะเลสาบนกกาเหว่า เนื่องจากคุณต้อ มารุต สาโรวาท เขาอยู่ที่ช่อง 3 มาก่อนที่จะย้ายไปทำละครกับช่อง 7 สี เขาเป็นคนอ่านงานของเราแล้วเสนองานกับทางช่องไป นักเขียนบางคนเมื่อสนิทสนมอยู่กับค่ายหรือช่องก็จะวิ่งเสนองานเข้าไปก็มี อย่างของเราไม่ได้ส่งไปไหน อยู่เฉยๆ อ่านแล้วชอบก็โทรมา ซึ่งเป็นช่อง 3 เป็นส่วนใหญ่" อภิญญา เคนนาสิงห์กล่าว
"เราเองก็เคยติดการเล่าเรื่องอย่างนักเขียนผู้ใหญ่ ติดสำนวน ติดการเล่าเรื่องแบบนั้นมา แต่ ณ วันนี้เราพยายามที่จะพัฒนากลวิธีการทำงานแบบใหม่ที่เป็นสไตล์ของเราเอง ไม่ติดในภาษา เพราะถ้าติดในภาษา จะทำให้บทละครแข็ง ไม่ได้อรรถรส ไม่ได้ความประทับใจ"
"ก๊วนกามเทพ" ละครหัวค่ำ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 19.15 น. ผลิตโดย บริษัท ดวงมาลีมณีจันทร์ จำกัด ซึ่งมี จันทร์จิรา จูแจ้งเป็นผู้จัด
"เรื่องนี้ทางช่อง 3 ซื้อทิ้งไว้นานมากจนหมดสัญญา 5 ปี การทำละครในครั้งนี้เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งที่ 2 ซื้อปุ๊บ ทำปั๊บ"
บทประพันธ์ของวัตตราที่ถูกนำไปทำละครรีเมกยังไม่มี
รวมผลงานของ "วัตตรา" ที่ได้รับการเช่าซื้อลิขสิทธิ์จากช่อง 3 ไปสร้างเป็นละคร เช่น บอดี้การ์ดแดดเดียว, รหัสลับสมปองน้องสมชาย , ก๊วนกามเทพ, ลูกไม้เปลี่ยนสี, พระจันทร์สีรุ้ง และเรื่องนี้ คุณหนูฉันทนา (กำลังเจรจา) และในนามปากกา "กานติมา" เช่น ร่ายริษยา, โบตั่นกลีบสุดท้าย, รุ้งร้าว เป็นต้น นามปากกานี้ เคยเป็นละครช่อง 7 สีเพียงเรื่องเดียวคือ ทะเลสาบนกกาเหว่า เท่านั้น
ส่วนผลงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือ ภารกิจพิชิตดอกเลา , พ่อหม้ายเนื้อทอง (วัตตรา), บาปกามเทพ (กานติมา – ดาราภาพยนตร์), บัลลังก์หงส์ (กานติมา – หญิงไทย), วิมานเล่ห์ (วัตตรา – หญิงไทย)
พงศกร
ถ้าคุณยังจำละคร "สาปภูษา" เรื่องราวของ "เจ้าสีเกด" ผู้ทอผ้าตาดทองฝีมือดี ซึ่งลอบได้เสียกับหม่อมทัด ขุนนางตำรวจ ต่อมาเมื่อหม่อมทัดต้องแต่งงานกับหม่อมฉาย ความผิดหวัง กลายเป็นความอาฆาตแค้น เธอทอผ้าตาดทองพร้อมสาปแช่งด้วยความโกรธ ทุกเส้นด้ายในผืนผ้าจึงถูกตราด้วยความพยาบาท ก่อนที่เจ้าสีเกดจะผูกคอตายพร้อมลูกในท้อง แม้กาลเวลาจะผ่านมานาน แต่ความแค้นก็ยังตามอาฆาตหลอกหลอนผู้คนที่เกี่ยวข้องจนถึงชาติภพปัจจุบัน
ผู้ชายมาดเนี้ยบ พูดจาสุภาพคนนี้ เราเรียกเขาว่า "หมอโอ๊ต" ชื่อและนามสกุลจริงคือ พงศกร จินดาวัฒนะ บทประพันธ์ที่เคยถูกช่อง 3 ซื้อไปทำละคร และผ่านสายตาผู้ชมไปแล้ว มี 2 เรื่องคือ สร้อยแสงจันทร์ และ สาปภูษา
"ขนาดที่เราเขียนเอง รู้ทุกเรื่องราว ก็ยังติดตามดูทุกตอน ดูแล้วขนลุก โดยเฉพาะคุณธัญญาเรศ รามณรงค์ เล่นเป็นเจ้าสีเกดเหมือนเดินออกมาจากที่เขียนไว้เลย เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย ละครเรื่องนี้ส่งผลให้คนมาซื้อนวนิยายอ่านมากขึ้น เริ่มที่อยากจะรู้ว่า คนเขียนเป็นใคร สำหรับคนที่อ่านงานเขียนแล้วดูละครจะรู้ว่า มันเปลี่ยนไป เพราะการปรับ เปลี่ยนบท ผมรู้เรื่องมาก่อนทุกขั้นตอน เพราะมีการโทร.คุยตลอด เพราะบริบทของหนังสือกับละครไม่มีทางที่มันจะเหมือนกัน แต่จะดีที่สุดเมื่อเป็นละครแล้วยังรักษาแก่นของเรื่องไว้ แค่นี้ผมก็แฮปปี้แล้ว" พงศกร จินดาวัฒนะกล่าว
หมอโอ๊ตเรียนจบมาทางด้าน เวชศาสตร์ครอบครัว ทุกวันนี้ทำงานในเรื่องเกี่ยวกับการเรียน การสอน อยู่ที่สาธารณสุขที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากหมอเป็นคนพื้นเพที่นั่น เมื่อไม่ได้เปิดคลินิก หรือทำอะไรส่วนตัวอย่างนายแพทย์คนอื่นๆ จึงมีเวลาว่างหลังเลิกงานเขียนหนังสือ งานเลิก 16.30 น.ใช้เวลาเพียง 5 นาทีสำหรับการเดินทางจากที่ทำงานถึงบ้าน จากนั้น โลกแห่งจินตนาการก็ล่องลอยตามประสาคนบ้าพลัง วันหนึ่งเขียนได้ 1-2 ตอน
พงศกร จินดาวัฒนะ เริ่มจากการเป็นนักเขียนเด็กในนิตยสารสตรีสารของอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทองมาก่อน จากนั้นได้หยุดไปพักหนึ่งเนื่องจากเรียนหนังสือ และกลับมาเขียนหนังสืออย่างเป็นทางการราวปีพ.ศ. 2544 – 2545 เริ่มต้นจากการส่งนวนิยายเรื่อง "เบื้องบรรณ" ลงประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุล
"เรื่องนี้ส่งประกวดเลย ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นตอนๆลงที่ไหน ก่อนหน้านี้เป็นคนที่เขียนนิยายมาหลายเรื่องแล้วไม่เคยจบสักเรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เอาชนะจนจบได้ ที่ไม่จบคงเนื่องจากประสบการณ์และความชำนาญน้อย ระหว่างที่รอกรรมการตัดสิน เรามีโอกาสส่งเรื่อง ทะเลราตรี เป็นเรื่องสั้นไปที่สกุลไทย ตอนนั้นคุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ ยังอยู่ ตอนไปรับรางวัลสุภาว์ เทวกุล คุณสุภัทรเป็นคนมามอบรางวัลให้ และบอกว่า คนนี้ส่ง "ทะเลราตรี" มานี่ จำชื่อเราได้ ดีใจมากยิ่งกว่าดีรับรางวัลอีกครับ"
สร้อยแสงจันทร์ เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ได้รับการเช่าซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละครของค่ายบางกอกดรามา ของเดอะงัด สุพล วิเชียรฉาย ละครเรื่องนี้ นำแสดงโดย ชาตโยดม, รินลิณี, ศรีริต้า, โฬม พัชฏะ
นักเขียนที่เป็นไอดอลในดวงใจของหมอโอ๊ตคือ จินตวีร์ วิวัฒน์
"ผมเป็นคนชอบอ่านงานของจินตวีร์ วิวัฒน์ ผมเข้ามาเขียนหนังสือช้า และไม่มีโอกาสได้เจอ ผมชอบพล็อตของจินตวีร์ที่มีความตื่นเต้น ลึกลับ ทำให้ต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอก และทุกเรื่องจะมีเรื่องของตำนาน ท้องถิ่น เรื่องเล่าอะไรต่างๆ เลยทำให้เรื่องของจินตวีร์มีมิติ น่าสนใจ อ่านสนุก และทำให้เรื่องของเขามีเสน่ห์ เคยอ่านเมื่อตอนเด็กๆ แม้จะหยิบมาอ่านใหม่ก็ไม่เชย"
"ขณะที่นวนิยายบางกลุ่มที่ไปเกาะกระแสสังคมจะเชย แล้วที่สำคัญเรื่องเทคโนโลยีไม่มีผลกับนวนิยายแนวนี้ ผมชอบงานเขียนของจินตวีร์มาตั้งแต่เด็กๆ อยากจะเขียนดูบ้าง ยังไม่ได้เขียนสักที จนวันหนึ่งคุณจินตวีร์เสียชีวิตไป เหลือนิยาย 4-5 เรื่องที่ยังเขียนไม่จบ 70-80 % งานของผมเป็นแนวลึกลับ แต่งานในแนวอื่นก็มี แต่เหมือนกับแนวทดลองมากกว่า"
"สาปภูษา" ใช้เวลากับการสืบค้นข้อมูลประมาณ 6-8 เดือน นวนิยายเรื่อง "สาวหลงยุค" ใช้เวลากับการหาข้อมูลถึง 2 ปี
"สาปภูษา ยากที่สุดในภาคย้อนอดีต ชีวิตของเจ้าสีเกด เรื่องจากเจ้าสีเกดเป็นลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยกบฏพระเจ้าอนุวงศ์ ข้อมูลคนลาวที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯยุคนั้นหายากมาก คำถามแรกเลย คนลาวไปอยู่กันที่ไหน จนได้รับความเมตตาจากนักเขียนผู้ใหญ่ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ (เจ้าของนามปากกา ศรีฟ้า ลดาวัลย์, สีฟ้า, จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2539) ซึ่งเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ ถึงรู้ว่าวังของอุปราชติสสะ น้องชายของเจ้าอนุวงศ์อยู่ย่านบางขุนเทียน ภาคอดีตมีทั้งสิ้น 10 กว่าบท เป็น 1 ใน 4 ของนวนิยายเรื่องนี้ ภาคนี้เขียนยากที่สุด เรื่องผ้าก็ยาก แต่เป็นเรื่องที่เรายังสืบค้นได้"
หมอโอ๊ตพบเสน่ห์และเรื่องราวของ "ผ้า" จากนวนิยายเรื่องสาปภูษา จนมีความคิดที่จะเขียนเรื่องราวซึ่งเกี่ยวกับผ้าของชนชาติต่างๆ "รอยไหม" นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาเรื่องผ้า และนวนิยายเรื่องนี้ ช่อง 3 เช่าซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว
"รอยไหมเป็นผ้าลาวเหมือนกัน ในอนาคตจะเขียนเรื่องผ้าของชาติอื่นๆ เช่น กี่เผ้าของชาติจีน ส่าหรีของชาติอินเดีย ชอบศึกษาเรื่องผ้ามาก มันมหัศจรรย์มาก ผ้าหนึ่งชิ้นมีความคิด และชีวิตเบื้องหลังเยอะ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ความเป็นมาและการดำรงอยู่ของชาตินั้นๆ เราสามารถนำมาผูกคิดเป็นนิยายได้เลย"
อีกเรื่องที่ลิขสิทธิ์อยู่กับช่อง 3 คือ "นางร้ายรายปักษ์" ส่วน "ประคำดอกงิ้ว" อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
"พี่หน่อง (อรุโณชา ภาณุพันธุ์) ค่อนข้างสนใจ ตอนที่ตีพิมพ์ใน Volume จบแค่ภาคต้น จากนั้นก็ไปเขียนนางร้ายรายปักษ์ ซึ่งความจริงเรื่องประคำดอกงิ้วยังมีภาคปลาย คือ ผมอยากจะทำเรื่องแรงๆ คือ ผมเป็นคนที่ชอบเรื่อง คนเริงเมือง ของสุวรรณี สุคนธามาก ผมมีโอกาสได้ทำงานกับคนไข้บางคนที่เธอมีสามีหลายๆคน ทำให้ผมรู้ว่า บางครั้งชีวิตก็เลือกอะไรมากไม่ได้ มันมีปัจจัยที่ทำให้ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ผมอยากให้นางเอกมีสามีหลายๆคน พอเขียนแล้วก็รู้สึกสนุก พี่หน่องอ่านแล้วโอเค. ในส่วนภาคปลายผมจะเขียนรวมเล่มไปเลย ไม่เขียนเป็นตอนๆลงที่ไหน"
นวนิยาย เรื่อง "ประคำดอกงิ้ว" นี้จะประเดิมกับสำนักพิมพ์ GROOVE PUBLISHING ซึ่งหมอโอ๊ตตั้งขึ้นเพื่อพิมพ์ผลงานของตัวเอง เช่นเดียวกับนักเขียนรุ่นพี่อย่าง อาริตา (ทัศนีย์ คล้ายกัน), ดวงตะวัน (ขวัญใจ เอมใจ)
"ผมอยากให้หนังสือของผมกระจายทั่วถึง ที่เดิม เขาขายตรง ไม่มีสายส่ง และคนหาซื้อหนังสือได้ค่อนข้างยาก และในบางครั้งเรื่องของปก หรืออะไรต่างๆ เราไม่สามารถกำหนดได้ เลยคิดว่า ลองทำเอง เพราะไหนๆเราก็มีงานอยู่ในมืออยู่แล้ว"
นอกจากนวนิยายในแนวลึกลับแล้ว พงศกรยังมีกลุ่มของงานเขียนทดลองในนามปากกาอื่น เช่น นวนิยายเรื่อง "ดอกฟ้ายาใจ" แของ "ดารกาประกา" ค่ายดีด้านำไปเป็นสร้างเป็นละครแล้ว และอย่างที่กล่าวไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า นักเขียนบางคนนอกจากจะขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์แล้ว บางคนยังขายพล็อตอีกด้วย
พงศกรก็เป็นคนหนึ่งที่ขายพล็อตให้กับช่อง 7 สี เช่น แก่งกระโดน เรื่องแก่งกระโดนเป็นพล็อตในแบบละเอียด และมีไดล็อกเป็นบางช่วง
"ทั้งงานบทประพันธ์และพล็อตมันมีความใกล้เคียงกันอยู่ ซึ่งในกระบวนการที่จะมาเป็นบทประพันธ์มันต้องมีพล็อตในใจเราก่อน แต่ผมจะเป็นคนเขียนเลย ไม่เขียนพล็อตก่อน ขั้นตอนในการคิดผมใช้เวลาเท่ากัน เพียงแต่ว่าพล็อตอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดมาก ถึงขายพล็อตแล้ว นักเขียนมีสิทธิ์ที่จะเอาพล็อตนั้นมาเขียนเป็นนวนิยายได้ แต่ผมไม่ทำ เราคิดว่า เมื่อละครออนแอร์ไปแล้ว จะมีคนมาซื้อนวนิยายอีกเหรอ ถ้าต้องเอาพล็อตนี้มาเขียนเป็นนวนิยาย สู้ผมทำเรื่องใหม่เลยดีกว่า เพราะค่าของมันเท่ากัน ผมจะได้มีงานชิ้นใหม่ด้วย" พงศกร กล่าว
ล่าสุด ช่อง 7 สี ในนามของบริษัท โชอิง ของประยูร วงศ์ชื่น ได้นำรวมเรื่องสั้นชุด "โคกอีเลิ้งหรรษา" ของพงศกรมาทำเป็นละครหรรษาด้วยกลิ่นอายชนบท โดยมี โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ/น้ำ รพีภัทร เอกพันธ์กุล/ตาล กัญญา รัตนเพชร/แยม รุ้งลดา เบญจมาธิกุล/เต้ นันทศัย พิศัลยบุตร แสดงนำ
เป็นไปได้ว่า ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หมอโอ๊ตอาจจะออกมาเพื่อเขียนนวนิยายเพียงอย่างเดียว
"ผมรับราชการมา 15-16 ปีแล้ว อีกสักระยะหนึ่งผมอาจจะต้องมาถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไร จะเกษียณตัวเองจากงานราชการมานั่งเขียนหนังสืออยู่บ้าน ซึ่งช่วงนี้ผมไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพักผ่อน ออกกำลังกาย ตอนนี้อายุ 40 ยังไหวอยู่ แต่ถ้า 45- 50 ปี มันจะไม่ไหว ถึงผมออกจากราชการ เราก็ยังใช้บางโอกาสไปช่วยเหลือน้องๆ ได้" พงศกร จินดาวัฒนะกล่าว
ตอนนี้ นวนิยายตอนๆ ของพงศกร หาอ่านได้ในนิตยสารพลอยแกมเพชร (มณีแดนสรวง), VOLUME ( เพิ่งจบประคำดอกงิ้ว ภาค1) หญิงไทย(คีตสังหาร) และสกุลไทย (คชาปุระ) เป็นต้น
(ติดตามอ่านตอนที่ 3 : ละครไทย สิ้น "ศิลปะ"สู่ยุค "ธุรกิจ")