xs
xsm
sm
md
lg

ลับ ลวง พราง ละครไทย(1) : แฉเล่ห์เหลี่ยมซื้อเรื่องทำละคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเช่าช่วงลิขสิทธิ์บทประพันธ์ เพื่อกักตุนเป็นเรื่องสำคัญมากของช่อง 7 สี และช่อง 3 ณ วันนี้พรมแดนที่มีคนดูเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ ซึ่งเคยแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ไม่เป็นจริงซะแล้ว

เพราะทุกช่อง ทุกค่ายล้วนซูฮกว่า ทิศทางการมองละครของ คุณแดง "สุรางค์ เปรมปรีดิ์" นั้นยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ ดังนั้น... จึงมีความเพียรพยายามที่จะปั๊มสูตรละครให้ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ทุกวันนี้ซึ่งหันมาทำละครตลาดมากขึ้น หรือแม้แต่ช่อง 5 ที่ exact ผูกขาดอยู่นั้น ก็พยายามเลือกละครที่ผู้ชมเข้าถึงง่าย โดยใช้โปรดักชั่นตามแบบฉบับของตัวเอง ที่ทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจอยู่ตลอดเวลา

เอ็กแซ็กท์ ภายใต้การนำทัพของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ และถูกโอนถ่ายมายัง นิพนธ์ ผิวเณร ในปัจจุบัน ผู้เคยเป็นแค่ "ม้านอกสายตา" ของช่อง 3 และช่อง 7 สีตัวนี้ ก็ควรแก่การจับตามองเช่นเดียวกัน

เชื่อหรือไม่ว่า ละครเกือบทุกเรื่องของ exact และ/หรือ คณะละครของช่อง 3 ที่เริ่มจะมีมากขึ้น ก็ได้เริ่มใช้แบบอย่างและขนบที่ช่อง 7 สีทำ คือ ถ่ายไป ออนแอร์ไป

ในอดีต ช่อง 7 สี เคยวางกลุ่มเป้าหมายผู้ชมละครโดยใช้ฐาน B+ ลงมา ในทางกลับกัน ช่อง 3 ใช้ฐาน B+ ขึ้นไป และเคยอวดโอ้เอกลักษณ์ในการเป็นผู้นำ "ละครคนกรุง" หรือ "ละครปัญญาชน" ดังนั้น...การเลือกเรื่อง เลือกสไตล์ในการทำละครของทั้ง 2 ช่อง จึงมีความแตกต่างกันอยู่อย่างชัดเจน

แต่ ณ วันนี้ฐานผู้ชมถูก (จงใจ !?) ขยับให้มาใกล้เคียงกัน ส่งผลกับการเลือกเรื่องทำละครใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในกลุ่มงานของนักเขียนรุ่นใหญ่บางคน

บทประพันธ์หลายเรื่องที่อยู่ในการครอบครองลิขสิทธิ์ของช่อง 3 เวลานี้ เคยเป็นละครฮิต ของช่อง 7 สีมาก่อนแทบทั้งสิ้น!!
...
ละครช่อง 3 เหล้าเก่าในขวดใหม่

สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายรายการ สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 เคยยอมรับว่า ตลาดละครกรุงเทพฯของช่อง 3 นั้นไปได้สวย ฐานของเรตติ้งห่างกันไม่มาก 7 : 9 (โดยประมาณ) ขณะที่ต่างจังหวัด ผู้ชมโทรทัศน์ยังให้ความสนใจกับละครช่อง 7 สี อย่างเนืองแน่น ส่งผลให้เรตติ้งทิ้งห่างกันครึ่งต่อครึ่ง ราว 14 : 6

การเลือกจับบทประพันธ์ที่ช่อง 7 สีเคยทำเป็นละครมาแล้ว น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับช่อง 3 ได้

"การนำเอาละครมาลงจอ เราจะดูที่กระแส ดูตลาด และสภาวะของผู้ชมเป็นองค์ประกอบกัน อะไรที่ขาดหายไป เราก็เอามาเติม ที่บอกว่าเอาละครช่อง 7 มา ไม่ใช่หรอก บทประพันธ์ใครสนใจ อยากซื้อ นักเขียนก็มีสิทธิ์ที่จะขาย ขายให้กับช่อง 3 ขายให้กับช่อง 7 ได้ทั้งนั้น นักประพันธ์ไม่มีค่ายนี่ครับ" สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้เป็นคนชี้นิ้วว่าละครเรื่องไหน ของผู้จัดคนใด หรือนักแสดงคนไหนกล่าว

"อย่างต่างประเทศเขาก็เอา คิงคอง มาทำใหม่ ของทุกอย่างอยู่ที่การตีความ การสื่อสาร ว่าจะสื่อสารกับคนสมัยนี้ให้มันสนุกได้ยังไงเท่านั้นเอง เรามีนวนิยายคลาสสิกที่มีความสมบูรณ์พร้อมในการนำมาทำเป็นละคร คือเรามองว่า ถ้าของใหม่มันแต่งแล้วไม่ดี สู้ของเก่าไม่ได้ เอาของเก่าดีกว่า สนุกกว่า งานชิ้นไหนที่มันดี เราก็เอามาทำ"

"อย่าไปคิดว่า เอาของเก่ามาทำอีกแล้ว นิยายใหม่ส่วนมากอ่านแล้วมันไม่มีอะไร เขียนสู้งานเก่าไม่ได้ แล้วนิยายใหม่ๆ กลิ่นไปทางญี่ปุ่นหมดเลย นานๆจะเจอสักเรื่องที่เหมาะสมกับการนำมาทำเป็นละคร ผมอยากให้รอดูละครเรื่อง ปราสาทมืด รับรองไม่เหมือนกับเวอร์ชั่นเดิมๆ ที่เราเคยดูกันแน่นอน แล้วจะรู้สึกว่า คิดอย่างนี้กันได้ด้วยเหรอ"

ช่อง 7 สี เคยพยายามจะแก้เกมที่ช่อง 3 เปลี่ยนสูตรละคร โดยประชุมคณะผู้จัดละคร และทีมเขียนบท ในเบื้องต้น มีความคิดว่า อยากจะย้อนศรเจรจาเช่าซื้อบทประพันธ์ละครที่ช่อง 3 เคยทำไว้ มาเป็นของช่อง 7 สี แต่คณะผู้จัดละครส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ด้วยจะทำให้ทิศทางและฐานผู้ชมละครเปลี่ยนไป และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ไม่อยากวัด "รอยเท้าเดิม" ที่เคยทำโด่งดังมาแล้ว และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม ซึ่งก็ได้ปรากฏมาแล้ว เช่น แม่หญิง (บทประพันธ์ของ วราภา) ที่บริษัทคำพอดีทำขึ้นมา คิดว่าจะโด่งดังเหมือนที่ดาราวิดีโอเคยทำ แต่กลับล้มคว่ำไม่เป็นท่า แถมถูกตัดให้ลดตอนอีกด้วย

ความจริงแล้ว ช่อง 7 ใช่ว่าอยากจะทำละครรีเมกก็หาไม่ แต่ก็ไม่ยอมที่จะให้ใคร "ลูบคม" เช่นกัน จึงต้องหาวิธีดับเครื่องชนในบางครั้ง ทั้งที่รู้ว่าการทำละครรีเมกนั้นจะโด่งดังกว่าครั้งแรกนั้น เรียกว่า "หืดขึ้นคอ" ก็ว่าได้
...
ซื้อบทประพันธ์ หน้าที่สถานี
ณ วันที่ทิศทางและกลุ่มเป้าหมายของละครทั้ง 2 ช่องละม้ายคล้ายคลึงกัน จึงเป็นที่มาของการกว้าน ฉก ชิง เช่าซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์มา "กักตุน" เพื่อความอุ่นใจ อายุลิขสิทธิ์การเช่าซื้อมาตรฐานอยู่ที่ 3-5 ปี
เมื่อ 10 -15 ปีที่แล้ว ค่ายละครและสถานีจะช่วยกันเจรจาซื้อบทประพันธ์ แต่ ณ วันนี้เป็นสิทธิ์ขาดของสถานีแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำไม ... จึงเป็นเช่นนั้น

เหตุผลหนึ่งคือ สถานีเกรงว่า หากผู้จัดละครแปรพักตร์ไปทำงานให้กับวิกคู่แข่ง ก็อาจจะหอบบทประพันธ์เหล่านี้ไปด้วย เนื่องจากค่ายละครเป็นคู่สัญญากับเจ้าของบทประพันธ์โดยตรง ไม่ใช่สถานี ดังนั้น การใช้ตัวแทนของสถานีซึ่งไว้ใจได้ ย่อมดีกว่าทั้งในแง่ของแนวทางป้องกันและแนวรบอันแข็งแกร่ง

ทุกวันนี้ การเช่าช่วงลิขสิทธิ์บทประพันธ์จะผ่าน "ตัวแทนช่อง" ไม่ใช่คณะละคร ผู้จัดฯ อาจมีสิทธิ์เสนอเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจมายังต้นสังกัด เมื่อต้นสังกัดผ่าน ซื้อลิขสิทธิ์แล้ว คณะละครที่ทำการเสนอเรื่องนั้นๆ จะได้เอกสิทธิ์เป็นผู้จัดสร้างละครเรื่องนั้นๆ

บุคคลภายนอก หรือผู้ปฏิบัติงานจะไม่รู้สถานภาพ หรืองานอีกด้านหนึ่งของคนผู้นี้ ภาพที่คุณเห็นกับงานประจำวันที่สถานีฯ กับงานที่ปฏิบัติการลับอยู่นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ตัวแทนนี้นอกจากเป็นคู่เจรจาแล้ว ยังต้องรู้ทุกเรื่องราวของบทประพันธ์ ยิ่งในสมัยแข่งขันในการสร้างละครที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างยุคนี้ อาจจะย่นย่อเวลาการทำงานด้วยการอ่านเรื่องย่อ หรือฟังโครงเรื่องของนักเขียนแต่ละคนที่มีอยู่แล้ว

ในขณะที่สมัยก่อน ต้องอ่านนวนิยายเป็นเล่มๆ เพื่อให้ทราบเนื้อหาทั้งหมด หน้าที่ซึ่งไม่เปิดเผยนี้ ทำงานราวกับหน่วยราชการลับ และ/หรือ กองโจร โดยรับคำสั่งและขึ้นตรงต่อกองบัญชาการ ผู้แทนนี้จะรู้กันในหมู่ผู้จัดละคร , สถานีโทรทัศน์ (ระดับผู้บริหาร) และนักประพันธ์ เท่านั้น

มารยาทปฏิบัติต้องรู้ว่า ถ้าตัวแทนช่องมา ค่ายละครซึ่งเจรจา พูดคุยอยู่กับนักประพันธ์ต้องหลีกทางให้กับผู้ถือป้ายอาญาสิทธิ์นี้ แต่ถ้าตัวแทนต้องเจรจาซื้อ – ขายในเรื่องเดียวกับวิกคู่แข่งก็ต้องใช้ "วิชามาร" โดยงัดกลยุทธ์ทุกวิถีทางมาสกัดและกำจัดคู่แข่งให้พ้นทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งบทประพันธ์นั้นมาครอบครอง

ตัวแทนสถานี ทั้ง 2 ช่อง เป็น "ผู้หญิงเก่ง" ด้วยกันทั้งคู่ ตัวแทนของช่อง 3 อักษรย่อคือ "ศ" และตัวแทนของช่อง 7 อักษรย่อคือ "จ" ต่างกันที่ ช่อง 3 รับเงินเดือนจากสถานี แต่ช่อง 7 สี รับเงินเดือนจากคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์

ปกติปฏิบัติการเจรจาซื้อขายเรื่องเป็นความลับสุดยอด ของสถานี ช่อง 7 สี นั้นไม่ค่อยเปิดเผยบทประพันธ์ที่ซื้อ นอกจากเรื่องที่กำลังจะเปิดกล้องถ่ายทำเท่านั้น ตรงกันข้ามกับช่อง 3 ที่มักจะออกข่าวขย่มคู่แข่งอยู่เสมอ

นอกจากบทประพันธ์จากนักเขียนใหญ่กลุ่มหนึ่งที่นิยมซื้อลิขสิทธิ์ซ้ำเพื่อทำละครรีเมก ยังมีงานใหม่ๆ ของนักเขียนในรุ่นกลางที่ทางคณะละครก็ดี ทางสถานีก็ดี นิยมซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นละครเช่นกัน นักเขียนรุ่นนี้หลายคนพยายามลดความวิจิตรพิสดารทางภาษาอย่างนักประพันธ์รุ่นพี่ลงมา ให้เป็นนวนิยายมีเรื่องราว เนื้อหา และภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และหลายเรื่องก็มีเหตุจูงใจในการวางพล็อต เพื่อให้ง่ายที่จะโน้มเอียงไปในทางจัดสร้างเป็นละคร

แม้ว่า นักเขียนจะเป็นอิสระ ไม่มีค่าย ไม่มีสังกัด แต่สายสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยจากธุรกิจที่ต้องทำร่วมกัน ก็ทำให้นักเขียนบางคนมีช่องทางในการเสนองานกับช่องนั้นๆได้ถี่กว่านักเขียนคนอื่น เนื่องจากมีงานก่อนหน้านี้เป็นเครื่องการันตี
...
ราคาลิขสิทธิ์
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 – 15 ปี ราคาค่าลิขสิทธิ์ ประมาณ 30,000 – 80,000 บาท เป็นที่รับรู้ว่าทุกๆ 3-5 ปีราคาจะขยับขึ้นเล็กน้อย ราคาและข้อตกลงเป็นข้อตกลงเฉพาะระหว่างนักเขียนกับช่อง แม้จะมีมาตรฐานรองรับอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็สามารถพลิกแพลงได้ เช่น บทประพันธ์เรื่องนี้ ยืดอายุลิขสิทธิ์ให้เป็นกรณีพิเศษ มากกว่า 5 ปี เนื่องจากมีการเหมาซื้อบทประพันธ์กันเป็นล็อต 5-10 เรื่อง ของนักเขียนคนเดียวกัน เป็นต้น

ณ วันนี้ ราคาเริ่มต้นสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ถอดด้าม จะอยู่ที่ 3-5 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ราคามาตรฐานที่ใช้กันอยู่จริงๆโดยเฉพาะนักเขียนที่มีชื่อเสียงติดตลาดแล้วซึ่งจะอยู่ในราคา 100,000 – 150,000 บาท ทว่า บางเรื่อง บางเงื่อนไขสำหรับนักเขียนรุ่นใหญ่ที่เป็นมือระดับขั้นเทพเท่านั้นที่เคยไต่ราคาสูงสุดถึง 3 แสนบาทต่อเรื่อง! แต่ก็มีน้อยคน ซึ่งก็คือ "ว" "ท" "ก" เป็นต้น

นอกจากขายเรื่องแล้ว ปัจจุบันยังมีการขายพล็อต (เรื่องย่อแบบสั้นขนาดยาวประมาณไม่เกิน 10แผ่นกระดาษ A4) ราคาขายอยู่ที่ 10,000 บาท แต่นักเขียนใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยอยู่ในวงการน้ำหมึกมานาน เคยขายพล็อตเพียง 10 บรรทัด ราคาเท่ากับบทประพันธ์ 1 เรื่องก็เคยปรากฏมาแล้ว

การลงรายละเอียดกับพล็อต เป็นหน้าที่ของผู้เขียนบทโทรทัศน์ ซึ่งตัวนักประพันธ์มีสิทธิ์นำพล็อตนั้นไปเขียนนวนิยายได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ทางสถานีและค่ายละครไม่แคร์ว่ารายละเอียดของของนวนิยายจะต่างกับบทโทรทัศน์ ในกรณีที่นักเขียนนำพล็อตนั้นไปเขียนนวนิยายและเสร็จก่อนบทโทรทัศน์ การให้นวนิยายกับสถานีถือเป็นน้ำใจในการแบ่งเบาภารกิจของนักเขียนบทโทรทัศน์เท่านั้นเอง และไม่มีสิทธิ์มาทวงหรือขอค่าลิขสิทธิ์เพิ่มแต่อย่างไร
...
กรณีที่เคยเกิดขึ้นในปฏิบัติการซื้อ-ขาย
1. เปิดช่องทางให้ขึ้นค่าลิขสิทธิ์-สมมติว่า ตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ไปติดต่อกับนักเขียนท่านหนึ่งซึ่งอาจจะคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคยก็ตาม การเปิดโอกาสให้นักเขียนขึ้นค่าลิขสิทธิ์ เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้นักเขียนสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น

ตัวแทนช่อง : ตอนนี้ค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่คะ?
นักเขียน : หนึ่งแสนบาท
ตัวแทนช่อง : ราคายังไม่ขึ้นนะคะ
นักเขียน – ขึ้นก็ได้ค่ะ เป็นแสนห้าแล้วกัน !?

เมื่อบทประพันธ์เรื่องหนึ่ง ทางสถานีหนึ่งจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในราคา "แสนห้า" ส่งผลให้บทประพันธ์เรื่องอื่นๆ และสถานีอื่นต้องจ่ายในราคาเดียวกัน เพราะโดนฝ่ายตรงข้ามใส่ไข่ ตีผงฟู แถมยังปาดหน้าเค้กไปกินอย่างเอร็ดอร่อย

เงินค่าลิขสิทธิ์นี้ ช่อง 7 สีจะบวกภาษี ณ ที่จ่ายเพิ่มให้ ส่งผลให้นักเขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์เต็มจำนวน แต่ช่อง 3 ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และเป็นอัตราภาษีก้าวหน้าอีกด้วย นี่คือ อีกความต่าง !! กรณีที่ช่อง 7 สีบวกเพิ่มให้น่าจะมาจากกการที่สุรางค์ เปรมปรีดิ์มีเพื่อนนักเขียนมาตั้งแต่ในยุคนั่งบริหารนิตยสาร "สตรีสาร" ก่อนที่จะมาทำงานให้ที่ช่อง 7 สี

2. นักเขียนปั่นราคา - ในบางกรณี นักเขียนบางคนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองด้วยข้ออ้างว่า อีกคณะหนึ่งกำลังเจรจาอยู่ ส่งผลให้สถานีต้องเร่งซื้อบทประพันธ์ตัดหน้า ในบางกรณีทางสถานีอาจจะต้องขยับราคาค่าลิขสิทธิ์ให้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งๆที่เรื่องกำลังเจราจากับ "คณะละครอื่น" อยู่ จริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ !? จิตวิทยา เรื่องนี้ได้ผลมาก เพราะทันทีที่หูแว่วว่า สถานีคู่แข่งสนใจ อีกสถานีหนึ่งจะพยายามหาทางซื้อตัดหน้าทันที นี่คือเรื่องจริง โดยเฉพาะกรณีนี้ มักจะเกิดขึ้นกับนักเขียนหน้าใหม่ที่อยากดังเร็วแทบทั้งสิ้น ขณะที่นักเขียนที่เคยค้าขายกันมานานปีนั้น แค่มองหน้าก็รู้กันแล้ว

3. นักเขียนรุ่นใหญ่ขอวางตัวดารานำ - นี่เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นจากผู้จัดละครที่ชอบ "นำเสนอ" เรื่องโน่น นี่ นั่น จูงใจแถมให้กับนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นใหญ่บางคน เช่น ถามว่า บทนี้ใครเหมาะที่จะเป็นพระเอก – นางเอก กรณีนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าของบทประพันธ์พึงพอใจ และเก็บงานไว้ให้ค่ายและสถานีตน ตัวอย่างนี้ มักจะถูกนักเขียนเอาไปอ้างกับสถานีและค่ายคู่แข่งว่า ค่ายโน้นให้ตนวางตัวละครเป็นต้น ส่งผลให้เกิดการกำหนดตัวละครหลักมาพร้อมกับการเช่าซื้อลิขสิทธิ์

กรณีที่จะกล่าวถึงนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับนักเขียน!! คราวหนึ่งช่อง 7 สี และช่อง 3 หมายตา "เรือนมยุรา" ของ "แก้วเก้า" เหมือนกัน โดยทั้ง 2 ช่องบังเอิญใจตรงกันอีกว่า คนที่จะมารับบท "มยุรา" ต้องเป็น แหม่ม คัทลียา แมคอินทอช ที่กำลังฮอตสุดขีด เท่านั้น

ครั้นเมื่อทั้ง 2 ช่องได้ขอเช่าซื้อโดยระบุตัวนางเอกเช่นนั้น เจ้าของบทประพันธ์ถึงขั้นออกอาการหนักใจ แต่ได้ร่วมกันลงฉันทามติ กับ 2 ช่องไว้ว่า ถ้าหากใครได้ "แหม่ม" คัทลียา แมคอินทอช มาเป็นนางเอก ลิขสิทธิ์บทประพันธ์จะเป็นของช่องนั้น เชื่อหรือไม่ว่า เป็นครั้งแรกที่ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ และ นักเขียนบท ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ต้องเดินทางไปพบกับแหม่ม คัทลียา แมคอินทอชที่ RCA.! เนื่องจากวันนั้น แหม่มต้องไปเป็นแขกรับเชิญในงานหนึ่งบริเวณนั้น

แม้จะยังไม่บรรลุข้อตกลงและแนวโน้มที่ ช่อง 7 ทำท่าจะได้ลิขสิทธิ์ กลับตาลปัตร เนื่องจากตอนนั้นผู้จัด ไก่ วรายุธ มิลินทจินดา เป็นคนถือคิวของ "วิลลี่ แมคอินทอช" และได้ให้พี่ชายไปเกลี้ยกล่อมน้องสาว สุดท้ายไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ลิขสิทธิ์บทประพันธ์นี้ ตามข้อกำหนดร่วมกัน เป็นต้น

4.สกัดคู่แข่ง แค่ซื้อเก็บไว้เล่นๆ – จนถึงวันนี้ 15 ปีแล้วที่นวนิยายเรื่อง "ฟ้าจรดทราย" ของโสภาค สุวรรณ ถูกช่อง 7 สีเช่าช่วงลิขสิทธิ์มาเก็บไว้ ดาราวิดีโอ เคยลงทุนด้วยเงินร่วมล้านบาทเพื่อซื้อต้นปาล์มและทรายหลายตันมาลงไว้ที่โรงถ่ายลาดหลุมแก้ว เพื่อเตรียมสำหรับถ่ายทำละครเรื่องนี้ แต่โครงการนี้ก็พับไป ในหลายข้ออ้างว่า บทละครไม่เสร็จ, วางตัวพระ – นางไม่ได้ , ทุนสูงไม่คุ้มค่า นางเอกที่เคยระบุไว้มีหลายคน เช่น ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต (ปัจจุบันย้ายไปอยู่สังกัดที่ช่อง 3 แล้ว) , แคทรียา อิงลิช, ปู ไปรยา สวนดอกไม้, พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช , อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ จนมาถึง ขวัญ อุษามณี ไวทยานนท์ แต่เหตุผลจริงๆ น่าจะอยู่ที่ 1. ซื้อบทประพันธ์เก็บไว้เพื่อสกัดฝ่ายตรงข้าม

และ 2 . เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้เกี่ยวข้องอยู่กับการเมือง – ศาสนาของอิสลาม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากซึ่งดาราวิดีโอ เคยได้รับบทเรียนมาหลายครั้ง เช่น เมื่อตอนที่ทำละครเรื่อง "นวลนางข้างเขียง" ชาวอิสลามที่อยู่กันมากในแถบโรงถ่ายลาดหลุมแก้ว มาบอกว่า ต้องงดดูละครเรื่องนี้ !? ครั้งถามว่า ทำไม คำตอบคือ "มันมีเขียงหมูในละครด้วย"!! หรือในกรณีที่ละครเรื่อง "ตองหนึ่ง" ให้ผู้ร้ายซึ่งเป็นแขกอิสลามกินเหล้า ปรากฏว่า ได้รับการต่อว่าจากผู้นับถือศาสนาอิสลาม เรื่องใหญ่โตถึงขนาดวันรุ่งขึ้นต้องขึ้นข้อความขอโทษชาวอิสลามในตอนใหม่ทันที เหล่านี้คือสิ่งคณะผู้จัดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น

เหล่านี้นี่คือเรื่องราวเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของปฏิบัติการลับซื้อบทประพันธ์มาทำเป็นละคร ให้เราๆ ท่านๆ ได้ชมกัน (ติดตามอ่านตอนที่ 2 : อักษรโลดแล่นเป็นตัวละคร ทำความรู้จักกับ โสภี พรรณราย, วัตตรา และพงศกร)
...
หมายเหตุ
1. ส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ที่ช่อง 3 และช่อง 7 ครองลิขสิทธิ์อยู่

2. ส้มหวาน น้ำตาลเปรี้ยว (ก้อง สหรัถ สังขปรีชา และปิยธิดา วรมุสิก)เป็นละครของค่ายมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ดำเนินงานโดยชาลอต โทณวณิก ดำเนินการซื้อบทและลงทุนเองทั้งหมดโดยไม่เกี่ยวกับสถานี ละครในล็อตเดียวกันนี้ มี "คุ้มผาคำ" (บทประพันธ์ของ นิดา) ที่ศิริลักษณ์ ผ่องโชค เล่นประกบครั้งแรกกับจิรนันท์ มะโนแจ่ม อีกด้วย

3. ละครพล็อตของช่อง 7 สี ที่ยังพอมีอยู่บ้าง เช่น รักแท้แก้ได้ (ดาราวิดีโอ) และ ธิดาวานร 2 (ดีด้า) เฉพาะธิดาวานรนี้ได้รับเรตติ้งดีมากเมื่อเป็นละครเย็น จึงถูกปรับให้เป็นมาเป็นละครหลังข่าว ส่วนรุกฆาตก็ถือเป็นละครพล็อตเช่นกัน

คมแฝกซึ่งถือเป็นภาคแรกนั้น นำมาจากบทประพันธ์ของเสนีย์ บุษปะเกศ พ่อของ คฑาหัสต์ ซึ่งเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ด้วย รวมทั้งเพลิงพระนาง ที่เคยเป็นละครพล็อตที่โด่งดังจากช่อง 5 และกันตนาจะกลับมารีเมกใหม่ที่ช่อง 7 นี้ โดยใช้เจ้าของบทประพันธ์และบทโทรทัศน์คนเดียวกัน คือ แรเงา กลับมาเขียนใหม่โดยเฉพาะบทโทรทัศน์ที่จะไม่เหมือนเก่า
สกุลกา
แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา
แก้วล้อมเพชร
พระจันทร์สีรุ้ง05
สาปภูษา
มือนาง
หยกลายเมฆ
สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ช่อง 3
ถกลเกียรติ วีรวรรณ -  เอ็กแซ็กท์
สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สี

กำลังโหลดความคิดเห็น