โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ไม่ได้ตั้งใจจะไปแอบฟัง อีกทั้งไม่คิดฝันว่าจะได้ยิน แต่คำพูดของคุณหญิงคุณนายบางคนที่ได้รับเชิญให้ไปดูหนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับรุ่นใหญ่ “ทรนง ศรีเชื้อ” ในรอบสื่อเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ลอยเข้าหูผมโดยบังเอิญ ซึ่งมันคงไม่มีอะไรให้ต้องเก็บมาขบคิด ถ้าเพียงแต่ถ้อยคำประโยคดังกล่าวนั้น จะไม่ใช่ “เยี่ยมยอดมากๆ เลยค่ะ คุณทรนง”!!
ใช่แล้วครับ, ผม (และคุณ) ฟังไม่ผิด...“13-04-2022 สึนามิ วันโลกสังหาร” ผลงานของคุณทรนง ศรีเชื้อ คือหนังยอดเยี่ยม ในความคิดของคุณผู้หญิงคนนั้น ซึ่งแน่นอนล่ะ ถ้อยคำและความคิดนั้น นอกจากจะไม่มีอะไรผิดบาปแล้ว ยังทำให้ผมเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่า เราๆ ท่านๆ ต่างก็มี “หนังยอดเยี่ยม” เป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น เพราะสำหรับการดูหนัง ถ้ามัวแต่ตามก้นคนอื่น คอยให้คนอื่นพิพากษาหรือคิดแทนว่าเรื่องไหนดีเรื่องไหนเลว ก็อย่าดูมันเลยครับ หนังน่ะ (และเพราะเหตุฉะนี้นั้น ก็จงอย่าได้เวิ่นเว้อวิตกจริตอะไรกันเลยครับ ถ้าใครสักคนมาบอกว่าหนังบางเรื่องนั้นมันห่วยแตกสิ้นดี แต่สำหรับคุณ มัน “สุดยอด” โคตรๆ)
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพราะถ้อยคำของคุณผู้หญิงท่านนั้นนั่นเองที่ทำให้ผมกลับไปมองหนังเรื่องนี้ใหม่ด้วยสายตาที่มีคำถามว่า ถ้างานชิ้นนี้ของคุณทรนงจะได้รับการหยิบยกไว้ในฐานะหนังยอดเยี่ยมนั้น มันจะเป็นไปได้ด้วยเหตุผลอันใดบ้าง?
...หลังจากห่างหายไปหลายปี คนทำหนังรุ่นลายคราม “ทรนง ศรีเชื้อ” ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมหนังไทยฟอร์มยักษ์แห่งปี (?) ที่เล่าเรื่องราวในอีก 13 ปีข้างหน้า (13 เมษายน พ.ศ.2565) วันที่เมืองไทยต้องเผชิญกับฝันร้ายอีกวาระจากการถล่มท่วมของคลื่นยักษ์สึนามิ
และไม่ว่าใครจะมองว่าคุณทรนงเอาความเจ็บปวดของหลายๆ คนที่สูญเสีย “คนรัก” ไปในเหตุการณ์สึนามิมาทำมาหากินก็ตามที (จริงๆ ผมว่า การที่หนังจะหยิบเอาเหตุการณ์สักเหตุการณ์มาเล่าผ่านบนแผ่นฟิล์ม มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่าง United 93 ก็พูดเหตุการณ์จี้เครื่องบินแบบเต็มๆ ทั้งๆ ที่มันก็คือความเจ็บปวดของใครต่อใคร แต่ที่ผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นักก็คือการที่หนังไปเอาภาพจริงๆ ของคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิไปแปะไว้บนโปสเตอร์โฆษณานั่นล่ะครับ ไม่รู้คุณทรนงไปได้ไอเดียนี้มาอีท่าไหน) แต่ที่แน่ๆ เมื่อมองไปถึงทุนสร้างและถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับในหลากหลายวาระ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า หนังคงออกมายิ่งใหญ่อลังการโดยแท้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองดูเนื้อหาและแนวทางแล้ว ผมก็เชื่อว่า มันคงทำให้ใครหลายๆ คนเคลิบเคลิ้มไปไกลถึงขั้นที่ว่า นี่จะเป็น Deep Impact เมืองไทย หรือ The Day After tomorrow เวอร์ชั่นทรนง ศรีเชื้อ หรือเปล่า?
แต่จะเป็นหรือไม่เป็นอะไรยังไง ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงได้รู้กันไปแล้ว และถ้าจะให้พูดกันแบบไม่คนที่ไม่ได้รับจ้างให้มานั่งเชียร์ใคร ผมเห็นว่า นับตั้งแต่ “อมนุษย์” เป็นต้นมา จนถึงเรื่องนี้ ดูเหมือนผลงานของคุณทรนง ศรีเชื้อ ดูจะอยู่ในช่วงเวลา “อากาศเปลี่ยนแปลง” ค่อนข้างเห็นได้ชัด
โอเคล่ะ ต่อให้เราเราแกล้งๆ ลืมพวกเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิคหรือ CG พวกนั้นไปก่อนก็ได้ ทั้งผมและคุณก็ยังจะมองออกอยู่ดีว่า “2022 สึนามิฯ” มีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นหนังดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของบทภาพยนตร์ (อย่าเพิ่งร้อนอกร้อนใจโวยวายกันไปนะครับ เพราะที่จริง หนังไทยอีก 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่ทำออกมาขายกันในแต่ละปี ก็มีปัญหาแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น)
ไม่เข้าใจเหมือนกันนะครับว่าทำไม เพราะจะว่าไป คนดูหนังไทยได้เริ่มทำความรู้จักกับผู้ชายที่ชื่อทรนง ศรีเชื้อ ก็จากผลงานเรื่อง “สัตว์สงคราม” ซึ่งแม้จะเป็นเพียงก้าวแรกบนเส้นทางการทำหนัง แต่ก็เป็น “ก้าวแรก” ที่ดีเด่นจนถึงขั้นได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (พ.ศ.2523) ถัดจากนั้นอีกหลายปี ทรนง ศรีเชื้อ ก็คว้ารางวัลเดิมกลับบ้านไปอีกครั้งจากผลงานอันอื้อฉาว เรื่อง “กลกามแห่งความรัก”
เป็นเพราะวันวัยที่ล่วงเลย หรือจะเป็นเพราะอะไร คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคุณทรนง แต่เท่าที่ตามองเห็น ดูเหมือนว่า 2002 สึนามิฯ ดูจะเจือจางกลิ่นอายของคนทำหนังที่เคยคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลงไปอย่างเห็นได้ชัด
เพราะอะไรน่ะหรือ?
อันดับแรกเลย คือการเข้า-ออก ของช็อตต่อช็อตและฉากต่อฉากครับ คือไม่ใช่แค่กระโดดข้ามไปข้ามมา แต่หลายๆ ฉากยังดูห้วนๆ สั้นๆ เหมือนกับเราเอาคลิปวิดีโอที่ถ่ายเก็บไว้หลายๆ คลิปมาเชื่อมต่อกัน แต่ขาดมิติความสัมพันธ์ทั้งทางด้านอารมณ์และเนื้อหาเรื่องราว พูดง่ายๆ ก็คือว่า มันดูสะเปะสะปะ คิดจะใส่อะไรเข้ามาตอนไหนก็ใส่ จู่ๆ คนนี้พูดได้หนึ่งประโยค ก็ตัดข้ามไปอีกฉากเพื่อให้อีกคนได้พูด
แน่นอนล่ะ ผมยอมรับนะครับว่า หนังเรื่องนี้มี “ของดี” หลายๆ อย่างอยู่ในตัวเอง ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการก่อเกิดของคลื่นสึนามิเอย ความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวบ้านในท้องถิ่นเอย ไม่เว้นแม้กระทั่งบทพูด (Dialogue) ที่ทั้งจิกกัดและเหน็บแนมสังคมการเมือง แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อมองภาพรวมของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมด มันก็เหมือนกับคนบางคนที่มากมายด้วยจินตนาการและความคิดความอ่าน แต่คุณกลับไม่สามารถจัดเรียงหรือเล่ามันออกมาอย่างเป็นระบบและลำดับขั้นให้ดูน่าสนใจได้ คือเรื่องปัญหาการเมือง หนังก็อยากจะพูด เรื่องสปิริตอันยิ่งใหญ่ของผู้นำ หนังก็ต้องการพาตัวเองเข้าไปเอี่ยว ขณะที่เรื่องจิตสำนึกของผู้คนในสังคม หนังก็อยากจะวิจารณ์ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงสงครามระหว่างชาวบ้านกับนายทุนที่เกือบจะมีสถานะเป็นซับ-พล็อตหนึ่งของหนัง
และเชื่อหรือไม่ครับว่า กับบทพูดที่ฟังดูขึงขังซีเรียสซึ่งหนังยัดเยียดใส่หูคนดูอยู่เรื่อยๆ นั้น มันทำให้เกิดความรู้สึกราวกับว่ากำลังนั่งฟังปาฐกถาเข้มๆ ของใครสักคน (โดยเฉพาะบทพูดของท่านนายกรัฐมนตรีนั้น ฟังดูฮึกเหิมมั่กๆ) คือถ้าคิดว่า เราไม่ได้กำลังนั่งดูหนังอยู่ แต่กำลังนั่งฟังปาฐกถา มันจะเวิร์กมากๆ เลย เพราะมุมมองความคิดหลายๆ อย่างที่คุณทรนงแทรกไว้ในบทพูดนั้น มันฟังดูเข้มๆ และชวนคิด จิกกัดและเสียดสีสังคมและการเมืองชุ่ยๆ ได้อย่างแสบๆ คันๆ และนี่ก็คือความเยี่ยมยอดอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่ผมมองเห็น
พ้นไปจากนี้ ถ้าไม่นับรวม “ตูด” และ “เต้า” ที่โผล่มาวับๆ แวมๆ ในบางฉาก (แน่นอน...จะขาดไปได้ไง ก็สองสิ่งนี้คือ “ลายเซ็น” ของผู้กำกับคนนี้อยู่แล้ว มิใช่หรือท่าน?) หนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วย “ความบังเอิญ” จนดูขาดความน่าเชื่อถือ ที่เห็นได้ชัดก็คือ เรื่องของแผ่นดินไหวที่บทแผ่นดินจะไหวก็ไหวขึ้นมาดื้อๆ หรือบางที พอมีตัวละครสักคนพูดถึงแผ่นดินไหวขึ้นมาปุ๊บ แผ่นดินไหวก็มาทันทีเลย แบบว่า...สั่งได้ราวกับก๋วยเตี๋ยว
ก็เข้าใจล่ะครับว่าหนังอยากจะบิวท์ให้คนดูเกิดความรู้สึกหวาดกลัวหรือขวัญผวากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืม “ความรู้สึก” ของคนดูด้วยครับว่าเขาจะรับได้หรือเปล่า ของแบบนี้ ผมว่าถ้าทำให้คนเชื่อถือได้ก่อน แล้วความหลอนมันจะตามมาเอง (เหมือนคุณทำหนังผี คุณก็ต้องทำให้คนดูเชื่อให้ได้ว่ามันมีผีอยู่จริงๆ เพราะถ้าไม่เชื่อ ความกลัวก็ไม่มีวันเกิด อย่างมากก็แค่ทำให้คนดูตกใจได้ด้วยจังหวะการปล่อยผีและซาวด์เอฟเฟคต์ผ่างๆๆ)
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามของหนังที่อยากจะพูดเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องสปิริตของผู้นำเอย เรื่องจิตสำนึกอันสึกหรอของผู้คนเอย 2022 สึนามิฯ กลับ “พลาด” ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างไม่น่าจะเป็น ซึ่งต่อให้เราตัดเหตุการณ์อันน่ามึนงงตอนที่นายทุนหน้าเลือดไปเมาปลิ้นอยู่ในป่าแบบไร้ที่มาที่ไปออกไปก่อน ชื่อของตัวละครที่เป็น รมต.คู่ปรับของท่านนายกฯ (รับบทโดยคุณชลิต เฟื่องอารมณ์) ก็ทำเอาผมงงเต็กไปเหมือนกัน คือผมไม่อาจเข้าใจได้เลยครับว่า ตกลง หนังจะเอายังไงกันแน่กับชื่อของตัวละครตัวนี้ เพราะบางที ก็เห็นเรียก “สมชาย” แต่พอเปลี่ยนไปฉากอื่น ชื่อก็เปลี่ยนเป็น “สมชาติ” ไปซะงั้น...น่าเสียดายนะครับ ถ้าคนซึ่งเคยทำงานละเอียดๆ จนถึงขั้นได้รับรางวัลตุ๊กตาทองอย่างคุณทรนงจะมา “หลุด” ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพียงแค่นี้
แต่ก็เอาล่ะ นั่นเป็นรายละเอียดปลีกย่อย เพราะสิ่งที่หลายๆ คนรอคอยจะได้ดูชมจากหนังเรื่องนี้จริงๆ นั้น ก็คือเทคนิคทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิค หรือ CG ที่แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า มันคงไม่ออกมาเหนือชั้นเกินความคาดหมายแน่ๆ แต่ก็ยังอดคาดหวังบ้างไม่ได้ว่ามันน่าจะเวิร์กกว่าหนังไทยเรื่องก่อนๆ อย่าง “ตะลุมพุก” เอย “มนุษย์เหล็กไหล” เอย
ก็อย่างที่เราๆ ท่านๆ รู้กันนั่นล่ะครับว่า หนังไทยยังต้องเดินทางอีกไกลมากในงานด้านนี้ และสำหรับซีจีของ 2022 สึนามิฯ ก็เป็นเช่นนั้น คือว่ากันตามตรงเลย มันก็ดูโอเคในระดับที่คนไทยทำได้ แต่ถ้าถามถึงความสมจริงสมจัง ก็ยังต้อง “พัฒนา” กันต่อไป แต่ถ้าจะมีอะไรที่ผมขออนุญาตแนะนำบ้างก็คงเป็นภาพการไหลท่วมของคลื่นสินามินั้นแหละครับ มันดูเรียบๆ ไปหน่อย และหนังก็ดูจะเร่งๆ และใจร้อนกับฉากนี้ไปสักนิด ซึ่งที่สุดแล้ว มันส่งผลให้ “ภาพหายนะ” ดูไม่น่าหวาดผวาอย่างที่ควรจะเป็น โอเคล่ะ ผมไม่อยากจะเปรียบเทียบเลยจริงๆ แต่ถ้าคุณไปหยิบหนังอย่าง Deep Impact หรือ The Day After Tomorrow มาดูฉากวินาศสันตะโรตอนที่คลื่นน้ำค่อยๆ โถมท่วมอาคารบ้านเรือนและผู้คนแล้ว คุณจะสัมผัสได้ถึง “ความน่าสะพรึงกลัว” ของฉากดังกล่าว และความน่าสะพรึงกลัวแบบนี้แหละครับที่จะย้อนกลับมาเตือนสติมนุษย์ถึงสิ่งที่จะทำได้ ก่อนอะไรๆ จะสายเกินการณ์ ไม่ใช่ “ดูแล้วผ่าน” ไม่เกิดมรรคเกิดผลอะไร
ว่ากันอย่างถึงที่สุด ผลงานของคุณทรนง ศรีเชื้อ ในชิ้นนี้ “อาจจะ” มีส่วนอยู่บ้างในการปลุกความคิดของผู้คนให้หันมาตระหนักเรื่องของภัยพิบัติ (ที่ก็เกิดจากความมักง่ายของมนุษย์เอง) และ “อาจจะ” มีประกายไฟเล็กๆ น้อยๆ ที่จะจุดขึ้นในใจของนักการเมืองชั่วๆ อยากกลับตัวกลับใจมาเป็นฮีโร่ของประชาชนเหมือนท่านนายกฯ (ในหนัง) ที่พูดเช่นนี้ ก็เพราะผมไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ ก็คือว่า หนังมีทุกอย่างครบหมด ทั้งบทพูดที่เข้มข้นขึงขังหวังปลุกพลังแห่งความดี ทั้ง Case Study (กรณีตัวอย่าง) ที่เป็นภาพจำลองของหายนะภัย แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะยัง “ขาด” ไป ก็คือ พลังในการเล่าเรื่องที่จะโน้มน้าวให้คนดูเกิด “ความรู้สึกร่วม” อย่างจริงจังต่อสิ่งที่หนังต้องการสื่อสาร จนถึงขั้นอยากกลับบ้านไปปรับเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไร ไม่เว้นแม้แต่พฤติกรรมแย่ๆ ของตัวเอง
แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะ “ยอดเยี่ยม” หรือ “ยอดแย่” อย่างไรในสายตาของใครบ้าง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่า นี่ก็คืออีกหนึ่งความพยายามที่น่าชื่นชมของคนทำหนังคนหนึ่งซึ่งอยากเห็นหนังไทยพลิกไปสู่อะไรๆ ที่ดีขึ้น มีสาระมากขึ้น แน่นอนล่ะ งานชิ้นนี้ของคุณทรนงอาจไม่ใช่ “สึนามิ” ลูกใหญ่ที่จะพัดท่วม “ขยะแห่งวงการหนัง” ให้สูญสิ้นไปได้ แต่อย่างน้อยๆ มันก็คือ “คลื่นลูกเล็ก” ที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง พร้อมกับคำบอกเล่าใหม่ๆ ว่า หนังไทยนั้นไม่ได้มีแค่ “ตลก ผี ปัญญาอ่อน”
จริงไหมครับ?? คุณผู้โช้มมมม....