ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) เปรียบเหมือนชีวิตที่ค่อยๆร่วงโรยสู่พื้นดิน ขณะที่ฤดูใบไม้ผลิ(Spring) เปรียบ เหมือนชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น และเมื่อชีวิตที่ถึงคราร่วงโรยแต่ย้อนกลับมาสู่การเริ่มต้นใหม่ ดังชื่อหนังเรื่องนี้ อะไรจะเกิดขึ้น..
Autumn Spring หรือในชื่อภาษาไทยที่ไม่ค่อยตรงนักว่า “ก็ผมไม่อยากตายนี่หว่า” ได้รับรางวัลออสการ์ของ ประเทศสาธารณรัฐเชก จำนวน 4 ตัว จากนักแสดงนำชาย ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นภาพยนตร์ ที่เล่าเรื่องราวอันสุดแสนจะแสบสันปน “ขันขื่น” (ทั้งขำขัน ทั้งขมขื่น)ของ “ฟองด้า” คุณปู่วัย 76 ปี ที่มีวีรกรรมสร้างความปวดหัวให้กับภรรยาและลูกเสมอๆ เมื่อคุณปู่วัยดึกทำตัวเป็นเด็กอีกครั้ง ด้วยชื่นชอบกับการควงเพื่อนซี้วัยเดียวกันอย่าง “เอด้า” ออกตระเวนหาเรื่องอำชาวบ้านไปทั่ว ไม่ว่าจะแกล้งทำตัวเป็นเศรษฐีใหญ่ แวะไปดูคฤหาสน์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรรถไฟใต้ดิน ฯลฯ
พฤติกรรมประหลาดๆของปู่ฟองด้า แม้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ในมุมหนึ่งก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เพราะเมื่อโดนจับได้แกก็รับผิดชอบ เพียงแต่คนที่ปวดเศียรเวียนเกล้า หรือเดือดร้อนต้องนำเงินไปจ่ายค่าเสียหาย กลับกลายเป็นภรรยา
หนังเล่าชีวิตในแต่ละวันของคุณปู่สุดซ่าไปเรื่อยๆ โดยค่อยๆเปิดเผยความสัมพันธ์และรายละเอียดของตัวละครอื่นๆ เริ่มจากภรรยาวัยเดียวกันอย่าง “ฮาโนวา” ซึ่งเป็นหญิงชราขี้บ่น แต่เธอก็รักสามี แม้วีรกรรมพิลึกๆ มักสร้างความเดือดร้อนมาให้เธอบ่อยครั้งก็ตาม
ฮาโนวาตรงกันข้ามกับสามีอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องการเตรียมตัวเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต เธอเหมือนกับคนชราทั่วไป ที่ตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างก่อนวาระสุดท้ายจะมาถึง ทั้งเรื่องเงินเก็บค่าทำศพ คำประกาศติดหน้างาน ไปจน กระทั่งปัดกวาด “หลุมศพมือสอง” ที่ลูกชายสุดแสบ อุตส่าห์ซื้อมาให้พ่อแม่ตัวเองล่วงหน้า
ส่วน “ยารา” ลูกชายคนเดียว ที่แม้ว่าไม่ได้สร้างปัญหา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่ แต่ก็มีปัญหาซึ่งเป็นผลพวงมาจากการกระทำด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ มีภรรยาหลายคน จนต้องหาที่อยู่ใหม่ให้ลูกๆ ซึ่งกลายเป็นผลกระทบต่อฟองด้า และ ฮาโนวาไปด้วย รวมถึงความหวังดีแบบผิดกาลเทศะไปหน่อย อย่างการซื้อหลุมศพมือสองให้พ่อแม่มีไว้ใช้ยามถึงคราวลาโลก
ขณะที่ “เอด้า” เพื่อนซี้สุดแสบพอกันของฟองด้า ก็นับเป็นเพื่อนยากของแท้ เพราะยามสนุก เขาก็จะออกไปสู่โลกจินตนาการพร้อมกันเสมอ ขณะที่ในเวลาเพื่อนรักเดือดร้อนขัดสนเงินทอง เอด้าก็ขวนขวายหาทางช่วยเหลือ
ตัวละครสำคัญก็มีเพียงเท่านี้ และเรื่องราวของภาพยนตร์ก็บอกเล่าชีวิตวุ่นๆ ขำๆ ปนขื่น ของบุคคลเหล่านี้ไป แต่ละวัน ทว่าในสิ่งเรียบง่ายของภาพยนตร์ สามารถให้ ข้อคิดที่แตกออกไปได้อย่างหลากหลายประเด็น
เริ่มต้นที่พฤติกรรมของฟองด้า กับ เอด้า สองเพื่อนรักวัยไม้ใกล้ฝั่ง ที่ยังทำตัวเป็นเด็ก สนุกไปวันๆ ไม่ได้คำนึง ถึงวัยของตน “หากมองโลกในแง่ร้าย” พฤติกรรมดังกล่าว อาจสมควรตำหนิ เพราะหากพวกเขาเป็นอะไรไป ก็จะกลายเป็นภาระของผู้อื่นในการดูแล หรือการทำอะไรประหลาดๆ ก็เป็นการหาเหาใส่หัว ชนิดที่คนวัยเดียวกันเขาไม่ทำ แต่หากเรา “มองโลกในแง่ดี” พฤติกรรมการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าของฟองด้ากับเพื่อน ก็เป็นสิ่งที่ดูจะพอมีสาระ (แบบประหลาดๆ) มากกว่านั่งปล่อยให้วันเวลาผ่านไปแต่ละวันจนถึงวันสุดท้าย
มีอยู่ 2-3 ฉาก ที่หนังฉายภาพให้เห็นว่า มีชายชราอีก รายหนึ่งในอพาร์ทเมนท์เดียวกันกับฟองด้า นั่งเหม่อลอยไปวันๆอย่างไร้ความรู้สึก แล้วสุดท้ายเขาก็จากไปอย่างไม่มีใครจดจำ หรือได้ทำอะไรให้แก่ผู้อื่น ตรงกันข้าม กับฟองด้า ที่แม้พฤติกรรมบางเรื่องสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น (ในระดับพอหอมปากหอมคอ) แต่ในอีกด้าน ก็มีใครหลายคนได้รับความสุขจากพฤติกรรมของคุณปู่หัวใจเด็กคนนี้
ดังนั้น ถ้าจะยกประโยชน์ให้พฤติกรรมของฟองด้า บางครั้งคุณปู่รายนี้อาจกำลังดำเนินชีวิตตามหลักของ “สงฺขา รุเปกขา” หรือ อุเบกขาในสังขาร ซึ่งหมายถึง การไม่ยึดติด การปล่อยวางจากสังขาร ร่างกาย อารมณ์ เขากับเพื่อนจึงไม่สนใจว่า ถ้าตายจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องเดือดร้อนคิดไปล่วงหน้าในขณะที่ชีวิตยังเดินได้ สนุกไปกันได้ หรือถ้าจะว่าไป การที่พวกเขาได้สนุกกับจินตนาการวัยเด็ก มันอาจทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยยืดอายุอีกด้วย
ส่วนพฤติกรรมของ “ฮาโนวา” ภรรยาจอมจู้จี้ ผู้ใจดี ซึ่งเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็คือ “ความไม่ประมาทในชีวิต” อันเป็นหลักคิดที่ดีอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน
Autumn Spring ค่อนข้างมีประเด็นย่อยกระจายไป หลายส่วน ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่เกี่ยวกับ “ชีวิตของผู้สูงวัย” สิ่งที่หนังต้องการนำเสนอ คือ เรื่อง “ความเข้าใจ” เข้าใจในความแตกต่าง เข้าใจในชีวิต เข้าใจเขา เข้าใจเรา
ดังจะเห็นว่าแม้คุณปู่สุดซ่าจะสร้างปัญหาให้กับภรรยา เพียงใด แต่สุดท้าย “ความเข้าใจในความแตกต่าง” ก็ทำให้คู่รักวัยชรายังประคับประคองสถานการณ์อันวิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ทุกครั้ง รวมถึงการเข้าใจถึงความเปลี่ยน แปลงไปตามสังขาร ว่าผู้ใหญ่หลายคนก็พัฒนาการย้อนกลับไปทำนิสัยหรือมีพฤติกรรมแบบเด็กอีกครั้ง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ปัญหาเลย หากเรามีความเข้าใจธรรมชาติของคนวัยชรา
ในส่วน “ยารา” แม้หนังจะนำเสนอภาพให้เราเห็นว่า เขาเป็นลูกชายที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวสักเท่าไหร่ แต่ข้อดีประการหนึ่งของยารา คือ “ความเข้าใจ” ที่มีต่อพ่อผู้สูงอายุ ดังจะเห็นว่า เขาไม่เคยโกรธ หรือต่อว่าอะไรสักคำ แม้พฤติกรรมบางอย่างของผู้เป็นพ่อนั้นจะหลุดโลกสุดๆ
บางครั้ง Autumn Spring อาจกำลังส่งสารให้ผู้ชมได้ รับรู้ว่า ผู้สูงวัยนั้นมีวันเวลาอยู่กับเราได้อีกไม่นาน ดังนั้นไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร อยากทำอะไร ก็จงเรียนรู้ และศึกษา ทำความเข้าใจ แล้วทุกชีวิตทุกวัยก็ย่อมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายได้ 1 ปี Vlastimil Brodsk - นักแสดงนำชายของเรื่องผู้รับบทฟองด้า ก็เสีย ชีวิตลง ส่วน Stella Z - zvorkov - คุณย่าผู้รับบท ฮาโนวา เสียชีวิตหลังจากนั้น 3 ปี
แต่สำหรับ Stanislav Zindulka ผู้รับบทเอด้า ซึ่งในภาพยนตร์ ต้องกลายเป็นผู้ป่วย และสื่อให้เห็นว่าต้องจากไป นักแสดงตัวจริงรายนี้กลับยังแสดงหนังอยู่จนถึงทุกวันนี้
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)