ปมเห็นต่างของคน “รู้จักกัน” ระหว่าง “พจน์ อานนท์” กับ “อุ๊บ วิริยะ” ทำท่าจะเป็นเกาเหลาชามต่อไปของวงการบันเทิง เป็นครั้งที่นับไม่ถ้วนของคนคู่นี้ ซึ่งมีเรื่องให้แคลงใจภายใต้อ้อมกอด รอยยิ้มและ “รักนะจุ๊บๆ”
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พจน์ (อานนท์ มิ่งขวัญตา), อุ๊บ (วิริยะ พงษ์อาจหาญ), โกโก้ (นิรุณ ลิ้มสมวงศ์) กอดคอกันแหวว เป้าหมายคือ ร่วมกันถล่ม “นักฉก” ที่อ้างตัวเป็นนักปั้นอย่าง เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร ตัวจริงงานนี้ คือ พจน์ อานนท์ ส่วนคนอื่นแค่ร่วมด้วยช่วยกันแจม เพื่อสีสันและน้ำหนัก
ชั่วเวลาเพียง 2 เดือนเศษ พฤษภาคม 2552 พจน์ อานนท์ ประกาศรับรู้แต่ไม่รับทราบ ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับชมรมนักปั้น ที่สถาปนาและก่อตั้งโดย อุ๊บ วิริยะ บางประโยค ของทั้งคู่ มีนัยบ่งบอก ชี้ชัดว่า คนคู่นี้กำลังจะย่ำรอยประวัติศาสตร์เดิมที่ซ้ำซาก เป็นเช่นนี้มามากครั้งหลายหน ไม่น่าแปลก ถ้าจะบอกว่า ภาพที่เห็นมาในช่วง 2 เดือน ที่แท้คือ “การแสดง” ฉากหนึ่งของกลุ่มนักปั้นเท่านั้นเอง
...
(ตอนที่ 1) ชมรมนักปั้น-- เพื่อ !?
อุ๊บ วิริยะ พงษ์อาจหาญ อดีตนักรบจากช่างกลพระรามหก, ช่างกลเทคโนโลยี กรุงธน และช่างกลบุรณพนธ์ เขาเคยมีรูปเป็นหลักฐานขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์หัวสีเรื่อง “ยกพวกตีและยิงกัน” สมัยเรียนช่างกลพระรามหก มาแล้ว ต่อมาชีวิตพลิกผันเข้าสู่วงการคนทำหนังสือ และผ่านประสบการณ์ “นักปั้น” มานานกว่า 20 ปี ปั้นนางเอก นางแบบ นางงาม นายแบบ ดารา และนักร้องมาพอสมควร เป็นนักปั้นมาก่อน พจน์ อานนท์
นายแบบคนแรกของ อุ๊บ วิริยะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่แมกกาซีนวัยรุ่น ในยุคบูติกเฟื่องฟู เมื่อปี 2528 คือ ปราโมทย์ สามา ณ วันนี้ทิ้งวงการกลับไปรับงานก่อสร้างดังเดิม !
“ในฐานะที่พี่อุ๊บอาวุโส และมีอายุมากที่สุด ก็จะเป็นโต้โผ แกนนำ ซึ่งจะมีพี่อุ๊บ พจน์ โกโก้ ร่วมกันตั้งชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทย แต่พอพี่ออกข่าว พจน์เขาก็ออกมาปฏิเสธ ไม่ขอเข้าร่วม ไม่ขอคบค้าสมาคมด้วย ไม่ขอเข้าชมรมด้วย พี่ก็ตกใจแล้วก็มีการพาดพิงว่าไม่ได้สนิทกับพี่อุ๊บ ไม่ได้ไปไหนมาไหนกับพี่อุ๊บ ไม่อยากสังคายนาด้วย พี่ได้ยินแล้วพี่ก็รู้สึกว่า มันอะไรล่ะ แล้วที่มา แทกทีมกับเรา มาออกงานต่างๆ นานาอะไรละเนี่ย เวลาเขามีปัญหา พี่เข้าไปช่วย แต่พอเวลาพี่จัดตั้งสิ่งที่เป็นสาระให้วงการบันเทิงก็น่าจะมาช่วยกัน ไม่ควรจะปฏิเสธ ไม่ใช่เราไปตั้งชมรมบาร์เกย์ขายตัว ชมรมมั่วยา ปาร์ตี้อะไรแบบนั้น ก็เลยเสียความรู้สึกนิดหน่อย” อุ๊บ วิริยะ กล่าว
ทำไมต้องมี “ชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทย” ในแง่ปฏิบัติจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน !?
“ที่ผ่านมา ก็มีปัญหาเด็กโดนโมเดลลิงเถื่อนหลอกไป บางคนเสียเนื้อเสียตัว เสียเงิน หรือบางคนก็โดนถ่ายรูปลับเฉพาะไว้แบล็กเมล์ พี่ทำตรงนี้ หวังจะช่วยตรงนี้ให้มันดีขึ้น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า พจน์ จะซีเรียสเรื่องอะไร แต่ถ้าเค้าไม่เข้าร่วมก็ไม่เป็นไร” อุ๊บ วิริยะ กล่าวต่อไป
ที่ผ่านมา การทำงานของกลุ่มนักปั้นเป็นการทำงานแบบ “ทางใครทางมัน” ไม่มีกฎเกณฑ์ และกติกาตายตัว ทุกคนแยกกันทำงาน ไม่เคยร่วมงาน “กลุ่ม” และด้วยลักษณะของคนพันธุ์พิเศษกลุ่มนี้ จึงมี “แว้ง” ใส่กัน ไม่ได้ใส ซื่อ บริสุทธิ์ อย่างที่เห็น ประมาณว่า คนปั้นบางคนเห็นเด็กต่างค่ายหล่อ สวยก็ทำการหลอกล่อ ชักจูง หว่านล้อม เสกคาถา เป่ามนตรา ลงกระหม่อมให้มาร่วมสังกัด อย่างนี้ มีเยอะในวงการ
ความปรารถนาดีของ อุ๊บ วิริยะ เป็นเพียงมุมมองหนึ่ง บางคนอาจจะแย้งในมุมกลับว่า เด็กสมัยนี้แก่นแก้วแสนซน เกินกว่าที่ผู้ใหญ่ที่ตามทัน เรื่องข้อแลกเปลี่ยนกับ “ความดัง” บางครั้งก็เป็นเรื่องสมยอมและเต็มใจของเด็กเองไม่ว่าจะเป็นยุคไหนมีเรื่องทำนองนี้ทั้งนั้น
ชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทย ต้องมีความชัดเจนในแง่ของหลักการ - เหตุผล และวัตถุประสงค์
คุณสมบัติของนักปั้นคืออะไร เด็กในสังกัดจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไร กิจกรรมต่อเนื่องของชมรมคืออะไร ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องจัดวางระเบียบใหม่ทั้งสิ้น
หน้าที่ของ “นักปั้น” คือ หางานต่อเนื่อง สร้างและดูแลภาพลักษณ์ให้กับเด็กในสังกัด โดยมีรายได้จากการหักส่วนแบ่ง 30% จากรายได้ของชิ้นงานนั้น ขณะเดียวกัน ในกลุ่มนักปั้น ต้องยอมรับว่า บางคนมีพฤติกรรมคลุมเครือไม่ชัดเจน บุคลิก และรสนิยมของนักปั้นแต่ละคนล้วนแต่เยอะสิ่ง แล้วจะทนกับกฎเกณฑ์ที่คนอื่นจัดสรรวางให้ได้อย่างใด ดังนั้น การจัดระเบียบ “นักปั้น” จึงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งผู้ที่จะทำหน้าที่ “ประธาน” ได้ ต้องมีบารมีมากพอ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
“จริงๆ พี่สามารถจัดตั้งได้เลย โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไร เพราะว่าโดยศักยภาพพี่พร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะพี่เป็นทั้ง สื่อมวลชน, คอลัมนิสต์ และที่ปรึกษาบริษัทต่างๆ เยอะแยะ พี่ทำโครงการช่วยเหลือสัตว์พิการและจรจัด ตั้งทีมฟุตบอลการกุศลหล่อที่สุดในประเทศไทย ทำมาหมด พี่อยากทำอะไรที่เป็นมาสเตอร์พีซของวงการ เลยตั้งชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทยขึ้นมาครับ” อุ๊บ วิริยะ กล่าวเพิ่มเติม
ถึงจะบอกว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จะเป็นไปได้อย่างไร!?
สมมติว่า กลุ่มสมาชิกจำเป็นต้องจ่ายสัก 5% (จากรายได้ทุก 30%) เพื่อบำรุง “ชมรมฯ” แค่นี้ก็ต้องมีปัญหา สมาชิกชมรมคนไหนที่มีเด็กในสังกัดมาก งานชุก ต้องจ่ายมากกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่แต่เดิม ทุกคนต่างเป็นเจ้าของรายได้เบ้ดเสร็จนี้ ไม่ต้องซอยแบ่งเป็นค่า “ต๋ง” ให้กับใคร
นักปั้นบางคนแค่ส่งเด็กเข้าประกวดก็ประกาศตัวเป็น “นักปั้น” โดยที่ไม่ได้ดูแลภาพลักษณ์ของเด็กในสังกัด แต่ใช้เวทีประกวดเพื่อเป็นฐานพาตัวเองเข้าสู่วงการ เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เวทีประกวดของกลุ่มธุรกิจ สมัยก่อน เช่น Domon Man, Man of The Year, หนุ่ม-สาวแพรว, แฮ็คส์ ปัจจุบันทั้ง 4 เวทีนี้ ถือว่าสิ้นสุดลง ในรอบ 7 ปีที่ Domon Man ห่างหายไม่จัดประกวดและกลับมาใหม่อีกครั้ง ในวาระครบรอบ 30 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ ยังไม่มีสัญญาณส่งว่าจะดำเนินการต่อเนื่องในปีถัดๆ ไปหรือไม่ ณ ปัจจุบันเหลือเพียงเวทีเดียว คือ “ดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล” ที่สร้างดาราให้กับช่อง 7 สี แทนเวที Domon นอกจากนี้ กลุ่มที่แตกตัวออกมาจากดัชชี่ ก็มาตั้งบริษัท สปีด วัน (นักแสดงบางส่วนที่มาจากดัชชี่เดิม เช่น อู๋ นวพล, แพร พรรัมภา, ยุ้ย จีรนันท์ ภายหลังชวน ธันญ์ ธนากร เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) มีงานจัดประกวดเหมือนกัน แต่ยังไม่เปรี้ยงเท่าที่ควร
อื่นๆ ก็จะเป็นเวทีประเภทเรียลิตี้ เช่น AF, The Star ซึ่งมีความชัดเจนในการเลือกเฟ้นว่านำมาเพื่อทำ “งาน” อะไร มีสื่อประชาสัมพันธ์ในมือที่ถึงพร้อมในศักยภาพ แตกต่างจากเวทีประกวดนายแบบ-นางแบบทั่วไป การปั้นนักร้องของ 2 เวทีนี้จะถูกเสริมด้วยงานตัวอื่นๆ เช่น ถ่ายแบบ แสดงละคร เล่นละครเวที
ชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทย ผุดขึ้นมาครั้งแรกเมื่อ 3 นักปั้น คือ พจน์ อานนท์, อุ๊บ วิริยะ, โกโก้ นิรุณ ไปออกรายการหนึ่งทางช่อง 9 อสมท ทั้ง 3 คนแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง พุ่งเป้าถล่ม เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร
ทุกคนมีเคสตัวอย่าง พจน์ อานนท์ กรณี อั๋น พีรวิชญ์ บุนนาค, อุ๊บ วิริยะ กรณี อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ, โกโก้ กรณี มาริโอ้ เมาเร่อ ว่าไปแล้ว คราวนั้น พจน์ อานนท์ ชัดเจนที่จะเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ เอ-ศุภชัย ขณะที่ อุ๊บ และโกโก้ เป็นเพียงส่วนเสริมในเรื่องสีสันและน้ำหนักการนำเสนอเท่านั้นเอง
ด้าน พจน์ อานนท์ ยืนยันว่า ได้บอกไปในคราวนั้นว่า
“พจน์แล้วแต่พี่อุ๊บ ก็คือให้พี่เขาเป็น หรือทำอะไรไปเลย แต่พี่ไม่เอาด้วย เพราะพี่มีงานทำ ไม่มีเวลาว่าง เรา เป็นเจ้าของบริษัท เรามีหนังต้องกำกับ มีลูกน้องต้องรับผิดชอบ และวันนี้ พี่ไม่ชอบและไม่ได้เป็นนักปั้นอีกแล้ว เราผันตัวเองไปทางอื่นแล้ว” พจน์ กล่าว
ทุกวันนี้ พจน์ อานนท์ ข้ามพ้นความเป็น “นักปั้น” มาเป็น “ผู้กำกับหนัง” ส่วนการหาเด็กใหม่ๆ มาเล่นหนัง ไม่ถือว่าเป็น “นักปั้น” ฉายา “นักปั้นมือทอง” จึงเป็นเพียงตำนานในอดีตเท่านั้นเอง
อุ๊บ วิริยะ มองว่า พจน์ อานนท์ ต้องการล้างภาพนักปั้น ในอดีต
“สาเหตุหนึ่ง เขาเคยพูดบ่อยๆ ว่า เขาอยากจะล้างภาพนักปั้น นักปั้น ไม่ได้ทำอะไรเสียหายให้กับวงการบันเทิง ให้กับประเทศไทย ... พี่ว่ามันก็ไม่มีอะไรเสียหาย คุณจะลืมในสิ่งที่ตัวเองทำได้ยังไง เพราะสิ่งที่ตัวเองเคยทำไม่ได้ทำผิดกฎหมายนะครับ แล้วจะล้างภาพ ทำไม” อุ๊บ กล่าวแสดงความเห็น
หลายคนคงจะเริ่มคลางแคลงใจเหมือนกันว่า แล้วแต่ผ่านมานั้น สายสัมพันธ์ของคนคู่นี้เป็นอย่างไร สนิทสนม รักกันกี่มากน้อย
“พี่อยากจะบอกนะว่า พี่กับพี่อุ๊บน่ะไม่ได้สนิทกันมากมายอย่างที่ใครคิด ไม่เคยไปเที่ยว ไม่เคยกินข้าว ไม่เคยดูหนัง ด้วยกัน แต่ถ้าเจอกันไปดูหนังรอบสื่อมวลชน หรือกินข้าวด้วยกันตามงานมี แต่ที่จะไปกันส่วนตัว ไม่มีแน่นอน เราไม่ได้คบขนาดรู้ตื้นลึกหนาบางของอีกฝ่าย เจอกันตามงานก็ พี่อุ๊บ สวัสดีครับ เป็นเพื่อนร่วมวงการที่รู้จักกันดีกว่า” พจน์ กล่าว
“แล้วเรามาออกทีวีกันขนาดนั้น พี่จะโกหกตอแหลทำไม เวลามีปัญหาพี่ก็เป็นที่ปรึกษาให้อะไรหลายๆ อย่าง ทุกวันนี้เราอยู่อย่างติดดิน ไม่ได้ทำเพื่อสร้างกระแส เราทำเพื่อช่วยสังคม กับโกโก้ เขาก็โอเคนะไม่มีปัญหาอะไร พี่ก็อยากจะบอกนะว่าถ้าพจน์เขาพูดอย่างนั้น ต่อไปเค้าจะไม่มีเพื่อนในวงการบันเทิงอีก แล้วถ้ามีปัญหาก็จะไม่มีใครช่วย อย่างที่ผ่านมาเขามีปัญหาเรื่อง เอ ศุภชัย พี่ก็ไปช่วย ตอนเค้ามีเรื่องอะไรก็โทร.มาหาตลอด” อุ๊บ กล่าว
พจน์ อานนท์ ยืนยันว่า ไม่ได้ทะเลาะกับ อุ๊บ วิริยะ เพียงแต่เขาไม่พร้อมที่จะร่วมกับชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทย เท่านั้นเอง ส่วน อุ๊บ วิริยะ จะไปชักชวน “โจทก์ร่วม” เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร มาร่วมก๊วนก็เป็นเรื่องของอุ๊บ ไม่เกี่ยวกัน หลังสุดได้รับคำยืนยันจาก อุ๊บ วิริยะ ว่า เสียงข้างมากของกลุ่มนักปั้นในสังกัดไม่เอา เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร มาร่วมในก๊วนเดียวกัน เพราะภาพลักษณ์ของ เอ-ศุภชัย คือ “ผู้จัดการดารา” ไม่ใช่ “นักปั้น”
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของ พจน์ อานนท์ และ อุ๊บ วิริยะ ที่มีปัญหากัน!!
ในวงการ “นักปั้น” ไม่ได้มีเฉพาะแค่ อุ๊บ วิริยะ เท่านั้น
หากแต่ในอดีตเคยมีนักปั้นที่ทำหน้าที่ปั้นกันอย่างจริงจังมาแล้ว แต่ ณ ปัจจุบัน หลายคนได้ผันตัวเองไปสู่อาชีพอื่นกันหมด พจน์ อานนท์ ไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์, แก้ว ศิริ เหลืองสวัสดิ์ หรือ แก้ว พรีเมียร์ ผันตัวเองเป็นมาบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Gossip Star แก้ว พรีเมียร์ อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ เจสัน ยัง, แอนดริว เกร็กสัน, เกวลิน คอตแลนด์, นุ่น วรนุช วงษ์สวรรค์ ในอดีต แก้ว พรีเมียร์ มีบทบาทในเวที “คอฟฟี่เมตสเตรทชาเล้นจ์” นางแบบที่ได้จากเวทีนี้ นอกจาก เกวลิน คอตแลนด์ แล้วยังมี อ๋อม สกาวใจ พูนสวัสดิ์, ชาเลต ฮิลเดอร์บรานด์ เป็นต้น
อีกคนที่ต้องกล่าวถึง และลืมไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด คือ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ซึ่งเริ่มชีวิตการทำงานจากการเป็นพนักงานฝ่ายขายของโตโยต้าแห่งประเทศไทย เลื่อนไปสู่การทำงานในแผนกประชาสัมพันธ์และการตลาด จนถึงผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์, กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันนายแบบ-ดารา จำนวนมากเข้าสู่วงการ ภายหลังผันเข้าตัวเองเข้าสู่วงการเมือง เป็นอดีตทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชาชน และเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม
ดารา-นายแบบในสังกัดของมิ่งขวัญ เช่น โก้-นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, วิลลี่-คัทลียา แมคอินทอช, โอ-วรุฒ วรธรรม, ราเมศร์ ตั้งใหม่ดี, จอนนี่ แอนโฟเน่, ท็อป วาทิน เป็นต้น
มิ่งขวัญ คิดและทำไปไกลกว่า “นักปั้นและโมเดลลิง” ตรงที่เป็น “อิมเมจเมกเกอร์เมืองไทย” เป็นคนที่ได้รับการยอมรับของบรรดานักปั้นทั้งฝ่ายเทพและฝ่ายมารในยุคนั้น
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักปั้น, แมวมอง, โมเดลลิงประเภท “คลุมเครือไม่ชัดเจน” ที่แทรกอยู่ในวงการ จำพวก “ปั้นเป็นลำ-ปั้นทำเมีย” ส่งเด็กไปประกวดตระเวนตั้งแต่งานวัด งานห้าง หรือตามบาร์เกย์ ก็มีปรากฏ แต่ไม่ได้ต่อยอดให้กับเด็กในการสร้างมูลค่าเพิ่มเลย
พจน์ อานนท์ และ อุ๊บ วิริยะ มีจุดเหมือนที่นักปั้นคนอื่นในอดีตไม่มี คือ มีหนังสือเป็นฐานกระบอกเสียงโปรโมตเด็กในสังกัดตัวเอง ทั้งคู่รู้จักกัน โดยมี ไก่ สถาพร เชื้อมงคล (บรรณาธิการ นิตยสาร Hello) เป็นคนกลาง แต่คนคู่นี้ เหมือนไม้เบื่อไม้เมา ประหนึ่งเส้นขนานที่ไม่อาจจะคบค้าสมาคมกันได้ในระยะยาว ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความแคลงใจที่อาจจะเกิดขึ้นอีก อันอาจจะนำไปสู่เรื่องเดิมๆ อย่างในอดีต
เชื่อหรือไม่ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของคนคู่นี้ หากแต่คนคู่นี้เคยกระทบกระทั่งมาหลายครั้ง เลี่ยง หลบ ไม่คุยกันมาเกือบ 10 ปี (อ่านต่อ แต๋วแตก แหกกระเจิง (ตอนที่2) : ค่ำคืนที่ “อุ๊บ” สาดเหล้าใส่ “พจน์”)