(บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง)
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเป็น ทุกครั้งเมื่อเราได้ดูหนังต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย (และมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย) เรามักจะรู้สึกต่อต้านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งดูแปลกปลอม และบิดเบือนจากความเป็นจริง
ปีที่แล้วผมได้ดูหนังจากญี่ปุ่น 2 เรื่องที่ใช้ฉากหลังในบ้านเรา เรื่องแรกคือ Children of the Dark ของผู้กำกับ จุนจิ ซากาโมโตะ (Face) ว่าด้วยธุรกิจการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเรื่องที่สอง คือ Nanayo ของผู้กำกับหญิงคนเก่ง นาโอมิ คาวาเสะ (Shara) เรื่องราวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นซึ่งจับพลัดจับผลูมาพักอาศัยในบ้านแบบโฮมสเตย์แถบๆ แม่กลอง
หนังทั้งสองเรื่องจัดว่าเป็นหนังที่ดี และไม่เสียชื่อผู้กำกับที่มีเครดิตติดตัวมาไม่น้อย แต่ผมก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า มีผู้ชมไม่น้อยอีกเหมือนกันที่ไม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคที่กล่าวในย่อหน้าแรกไปได้ กล่าวคือ ทั้ง Children of the Dark และ Nanayo ยังปรากฏความแปลกแปร่งในแง่ของรายละเอียด บางอย่างดูเกินจริง อีกทั้งยังไม่น่าเชื่อถือ
บางครั้งเรื่องแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่เราเข้าไปควบคุมหรือตัดสินไม่ได้ มุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อวัฒนธรรมไทยมักขึ้นอยู่กับวิธีทำความเข้าใจส่วนตัวของพวกเขาเอง อย่างเราๆ ท่านๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนไทย - ก็ยังเห็นและคิดอะไรที่ต่างกัน
Vinyan (ความหมายตรงตัว คือ วิญญาณ) เป็นหนังเรื่องล่าสุดที่ผมได้ดู และพบกับสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวเป็นระยะๆ ตั้งแต่ เหตุการณ์เกิดขึ้นในภูเก็ต แต่เราสามารถเห็นตัวละครนั่งแท็กซี่เขียวเหลือง, เราได้เห็นชาวบ้านแถบทะเลภาคใต้ลอยโคมไฟคล้ายๆ ประเพณียี่เป็ง โดยหนังบอกเป็นนัยๆ ว่า มันคือการสักการะวิญญาณที่ล่วงลับ ฯลฯ
แต่พ้นไปจากส่วนที่น่ารำคาญใจอันเบาบางนั้นแล้ว Vinyan โดยผู้กำกับชาวเบลเยี่ยม ฟาบริซ ดู เวลซ์ (Calvaire) เป็นหนังสยองขวัญที่สร้างบรรยากาศขวัญผวาให้กับผู้ชมอย่างทรงประสิทธิภาพ และยิ่งไปกว่านั้น หนังยังพาตัวละคร (รวมทั้งผู้ชม) ไปในจุดที่ไกลเกินกว่าความคาดหวังอย่างมาก
พล็อตเรื่องของ Vinyan เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึนามิเมื่อปลายปี 2004 สองสามีภรรยาเบลห์เมอร์ พอล (รูฟัส ซีเวลล์) ชาวอังกฤษ และ ฌานน์ (เอมมานูแอล เบอาร์ต) ชาวฝรั่งเศส สูญเสียลูกชายตัวน้อยไปในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่มีใครพบศพ ฌานน์ผู้เป็นแม่ยังคงเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่า ลูกของเธอต้องรอดชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง
สิ่งที่มาตอกย้ำและกระตุ้นให้ฌานน์ทำในสิ่งที่ตนรอคอย คือ การได้เห็นภาพรางๆ ของเด็กชายผิวขาวคนหนึ่งในภาพวิดีโอที่กลุ่มเอ็นจีโอเข้าไปบันทึกในแถบชายแดนไทยพม่า ฌานน์โน้มน้าวสามีว่านั่นต้องเป็นลูกชายของพวกเขาแน่ๆ แล้วการผจญภัยเข้าไปในใจกลางของความมืดมิดก็เริ่มต้นขึ้นจนได้
บทภาพยนตร์ถูกผูกขึ้นอย่างหลวมๆ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 องก์ด้วยกัน ในช่วงต้น เน้นหนักไปที่การตามหาชายลึกลับที่ชื่อ ทักษิณ เกา (เพชร โอสถานุเคราะห์) ผู้มีอิทธิพลที่สามารถนำพอลและฌานน์แล่นเรือข้ามไปยังฝั่งพม่าได้, องก์ที่สองคือการออกตามหาอย่างเอาจริงเอาจัง และต้องพบเจอกับผลลัพธ์ที่ชวนให้ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า องก์สุดท้ายเป็นการบอกเล่าถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทาง ฌานน์ได้พบในสิ่งที่เธอพยายามตามหา แต่ในความหมายที่ต่างออกไป
แม้ไม่ได้ขึ้นเครดิตโดยตรง แต่โครงเรื่องของ Vinyan คือการนำ Heart of Darkness* งานเขียนของ โจเซฟ คอนราด มาดัดแปลง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คอนราดพูดครอบคลุมตั้งแต่ลัทธิล่าอาณานิคม การนิยามถึงความศิวิไลซ์และความป่าเถื่อน ไปจนถึงมนุษย์ที่พ่ายแพ้ต่อด้านมืดของตนเอง, Vinyan กลับปล่อยพื้นที่ว่างในหลายๆ ส่วน เพื่อรอคอยให้ผู้ชมใช้ความคิดมาเติมเต็มเอาเอง
พลังอำนาจของธรรมชาติถูกเน้นย้ำให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง กล้องของผู้กำกับภาพ เบอนัวต์ เดอบี (Irr?versible) จับภาพในระยะไกลมากๆ ที่สะท้อนความเวิ้งว้างว่างเปล่าของตัวละคร สีถูกปรับให้อยู่ในโทนมืดทึม ร้างและแล้งซึ่งความหวัง ในขณะที่สีเขียวของป่าไม้ก็แก่จัดชัดเจน
งานด้านภาพของเดอบี โดดเด่นมาตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เดอบีและฟาบริซ ดู เวลซ์ แนะนำคนดูให้รู้จักกับซึนามิด้วยภาพถ่ายใต้น้ำที่ไหววนอย่างข้นคลั่ก เราไม่จำเป็นต้องเห็นเหยื่อของภัยธรรมชาติแม้แต่ชีวิตเดียว แต่เสียงประกอบ และสีแดง (ของเลือด) ที่ค่อยๆ ซึมเข้ามา กลายเป็นตัวสร้างความสะพรึงกลัวโดยตัวของมันเอง
ฌานน์เป็นตัวละครที่ได้รับผลโดยตรงจากบรรยากาศของหนัง อันที่จริง-เธอและสิ่งแวดล้อมรายรอบเดินควบคู่ไปด้วยกัน มันค่อยๆ ดำดิ่งสู่ความมืดมิด องก์สุดท้ายของหนัง ตัวละครทั้งหมดพลัดหลงเข้ามาในเกาะร้างที่อึมครึมด้วยพายุฝน ฌานน์เป็นเพียงคนเดียวที่ไม่สะทกสะท้านกับอำนาจของธรรมชาติ เพราะเธอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไปโดยปริยาย
สิ่งที่ฌานน์ได้พบเจอไม่ใช่ลูกน้อยของเธอ แต่เป็นเด็กๆ อีกกว่าร้อยชีวิตที่ถูกนำเสนอออกมาราวกับว่าพวกเขาเป็นอมนุษย์ ร่างกายของเด็กๆ เหล่านั้นถูกพอกด้วยโคลนสีขาว (มันช่างน่าขันเหลือเกิน เพราะในตอนแรกฌานน์บอกความประสงค์ให้กับคนนำทางว่า ลูกของเธอเป็นเด็กผิวขาวในหมู่เด็กๆ ท้องถิ่นทั้งหลาย) สายตาถมึงทึงและคุกคามคนแปลกหน้าอย่างจะเอาชีวิต
สมมติถ้าเราจะมองโลกในแง่ดีไปกว่านั้น บางที Vinyan อาจจะไม่ใช่หนังที่ต้องการพูดในสิ่งเดียวกับที่โจเซฟ คอนราดพูดใน Heart of Darkness แต่ฝูงเด็กกำพร้าเหล่านั้น กลับชวนให้นึกถึง “เด็กๆ ที่สูญหายไป” ในงานเขียนของ เจ.เอ็ม. แบร์รี เรื่อง Peter Pan พวกเขาเป็นเพียงเด็กน้อยผู้บริสุทธิ์ซึ่งอยู่ในดินแดนที่ถูกลืม พวกเขาอาจเป็นเหยื่อของซึนามิหรือของอะไรบางอย่าง และแน่นอน พวกเขาไม่มีพ่อ ไม่มีแม่
การมาถึงของฌานน์ ทำให้ช่องว่างของเด็กๆ ถูกเติมเต็ม เธอกลายเป็นปีเตอร์แพนของเด็กพวกนั้น และในเชิงอุปมาที่ไม่ได้ซับซ้อน – เธอได้กลายเป็นแม่ของพวกเขา
ช็อตสุดท้ายของหนัง กล้องจับหน้าฌานน์ตรงๆ เธอหันมามองกล้อง ด้วยสีหน้าที่เปี่ยมด้วยความยินดีอยู่ลึกๆ ขณะที่เด็กๆ กำลังป้ายโคลนขาวให้กับเธอ พร้อมๆ กับที่พายุได้สงบลงแล้ว
Vinyan เป็นหนังที่ท้าทายสติปัญญาแบบที่ไม่ต้องใช้ความอดทนในการชมมากนัก และรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่สมจริงเกี่ยวกับเมืองไทยก็สามารถมองข้ามไปได้อย่างสบายๆ มันเป็นหนังสยองขวัญที่น่ากลัว และขณะเดียวกัน มันปลอบประโลมความเศร้าสร้อยได้ดีเยี่ยม ไม่แพ้หนังที่ว่าด้วยซึนามิเรื่องไหนๆ
...
หมายเหตุ
*Heart of Darkness เป็นนิยายขนาดสั้นของโจเซฟ คอนราด เล่าเรื่องของ กัปตันมาร์โลว นักเดินเรือชาวอังกฤษที่ได้รับมอบหมายให้ขนงาช้างกลับมาจากแอฟริกา แต่ภารกิจที่สำคัญกว่านั้น คือการนำตัวกัปตันเคิร์ตซ์ กัปตันเรือคนก่อนที่ไปสร้างอาณานิคมของตนเองในป่าดงดิบของคองโก – กลับมา มีการตีความว่า “ความมืดมิด” ที่มาร์โลวต้องเจอตามชื่อเรื่องนั้น มีอยู่ 3 ระดับขั้นด้วยกัน ขั้นแรกคือ ความมืดมิดของป่าทึบในแอฟริกา สองคือ ความโหดร้ายที่ประเทศเจ้าอาณานิคมกระทำต่อชนพื้นเมือง และสุดท้ายคือ กิเลสอันดำมืดของมนุษย์นั่นเอง