เอเอฟพี - รัฐบาลมาเลเซียแถลงเมื่อวันพุธ (22) ว่าจะเปิดเสรีภาคธุรกิจบริการบางส่วน โดยยกเลิกระเบียบเรื่องการเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจซึ่งเคยอิงอยู่กับนโยบาย "ภูมิบุตร" ที่กำหนดว่าต้องมีชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ ถือครองหุ้นส่วนของกิจการไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยนโยบายดังกล่าวนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในระยะหลัง
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ซึ่งเพิ่งเข้าสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ระบุว่าจะมีการเปิดเสรีลักษณะดังกล่าวในภาคธุรกิจบริการถึง 27 สาขา "เพื่อดึงดูดการลงทุน รวมทั้งเพื่อดึงพวกมืออาชีพและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาในมาเลเซียให้มากขึ้น พร้อมไปกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน"
ภาคธุรกิจดังกล่าวได้แก่ บริการด้านสุขภาพและสังคม การท่องเที่ยว การขนส่ง บริการธุรกิจ และบริการด้านคอมพิวเตอร์รวมทั้งส่วนที่เกี่ยวเนื่อง โดยภายหลังการเปิดเสรีแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีชาวมาเลย์หรือชนพื้นเมืองของมาเลย์ ซึ่งรวมเรียกว่า "ภูมิบุตร" ถือครองหุ้นส่วนอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์อีกต่อไป
ทั้งนี้ ข้อกำหนดเรื่องการถือครองหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ "นโยบายเศรษฐกิจใหม่" ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้หลังเกิดเหตุจลาจลเมื่อปี 1969 โดยในครั้งนั้นชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ต่างไม่พอใจที่พวกเชื้อสายจีนควบคุมธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศไว้ และทำให้เกิดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมาก
ทว่า ในเวลาต่อมานโยบาย "ภูมิบุตร" ก็ถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวเนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกับผู้ประกอบการชาวมาเลย์ที่ร่ำรวย และเมื่อเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกก็ยังฉุดรั้งทำให้มาเลเซียแข่งขันกับต่างชาติได้ยากขึ้นด้วย การผ่อนคลายข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกระตุ้นนักลงทุนได้มากขึ้น
มาตรการใหม่นี้ยังจะให้บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศราว 5 แห่งได้รับอนุญาตให้เสนอบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินของอิสลาม โดยรัฐบาลต้องการให้มาเลเซียได้ยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางระดับโลกแห่งหนึ่งของธนาคารอิสลาม