xs
xsm
sm
md
lg

‘ปราสาท’ และ ‘คดีความ’ เรื่องเล่าแฝดคนละฝาของ ‘ฟรันซ์ คาฟคา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะมีนวนิยายเรื่องใดบ้างไหมที่คล้ายคลึงกันมากจนแทบจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทว่าก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอย่างที่แน่ใจได้ว่าเป็นคนละเรื่องแน่ๆ แต่ทั้งที่ต่างก็สื่อสารในเรื่องราวเดียวกัน ขณะเดียวกันตัวละครเอกกลับมีความมุ่งหมายที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว

นวนิยายเรื่อง ‘Das Schloß’ (ปราสาท-แปลโดย ถนอมนวล โอเจริญ สนพ. แพรวสำนักพิมพ์ ) และ ‘Der Prozeß’ (คดีความ-แปลโดย ดวงพร พงษ์โสภาวิจิตร สนพ.สามัญชน) ผลงานของนักเขียนเยอรมนีนามว่า ‘ฟรันซ์ คาฟคา’ (1883-1924) สามารถเป็นนวนิยายที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวไปข้างต้น กระทั่งชื่อตัวละครที่ดำเนินเรื่องก็ใช้ชื่อเดียวกัน

‘โยเซฟ คา’ ในปราสาท และ ‘คา’ ในคดีความ

เรื่องเล่าของคาฟคาเป็นเรื่องที่บิดเบี้ยวพิกล ตัวละครบางตัวก็แสดงให้เห็นถึงความเพี้ยน ฉากบางฉากมีสภาพแปลกประหลาด แต่เรื่องกลับเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบและธรรมดาที่สุดราวกับว่าในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ ได้พบได้เจอกันโดยคุ้นชินอยู่แล้ว อีกทั้งเขายังเว้นที่ว่างระหว่างเรื่องราว โดยเว้นระยะความต่อเนื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเติมจินตนาการลงในช่องว่างนั้นเอง

แต่ถึงแม้ผู้อ่านมิได้จินตนาการสานต่อก็สามารถอ่านได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าใจความเป็นไปของเหตุการณ์ทั้งหมดของเรื่องได้ รวมทั้งรายละเอียดในเรื่องรูปร่างลักษณะทางกายภาพของตัวละครเขาก็จะบรรยายเอาไว้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ก็ไม่ได้บรรยายเอาไว้เลย เหล่านี้เป็นสิ่งที่เหนี่ยวนำให้ผู้อ่านคิดตีความไปได้ต่างๆ นานา ตามแต่สิ่งที่ผู้อ่านนึกคิดอยู่

ทั้งนี้ทั้งนั้นงานเขียนและภาษาของเขาก็ยังนับว่าเป็นงานที่อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย แต่ด้วยความที่ผู้อ่านสามารถตีความงานของเขาได้อย่างหลากหลายมากมายนั้นทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องของเขาเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

ในเรื่องปราสาทและคดีความนี้ คาฟคาเริ่มดำเนินเรื่องทั้งสองขึ้นอย่างฉับพลันในวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง แล้วเขาก็ให้มันจบลงอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นในวันธรรมดาวันหนึ่งเช่นกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นได้เชื้อเชิญให้ผู้อ่านต้องตีความ จะเป็นด้วยพฤติกรรมบางอย่างของตัวละครบางตัว สถานการณ์ต่างๆ ที่ดำเนินไป ความสงสัยธรรมดาๆ ในใจผู้อ่าน ซึ่งน่าจะมีรายละเอียดให้กับผู้อ่านในบทแรกๆ หรือเป็นสิ่งที่ผู้อ่านหวังจะได้รับรู้เมื่ออ่านถึงหน้าสุดท้าย

แต่คาฟคาก็ไม่ได้ให้อะไรเพิ่มเติมอีกจนเรื่องจบไป หรือจะกล่าวว่า ‘จนเขาหยุดเล่า’ น่าจะถูกต้องมากกว่า เพราะเรื่องเล่าของเขายังดำเนินต่อไปได้ด้วยความมีชีวิตของตัวละครแต่ละตัว ประหนึ่งว่าเขาเป็นผู้ชุบชีวิตตัวละครแต่ละตัวขึ้นมาแล้วจากนั้นก็ให้ปล่อยให้ตัวละครพวกนั้นมีชีวิตอย่างอิสระและเขาก็มีเพียงหน้าที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเรียกบรรทัดสุดท้ายว่าอย่างไร ความสงสัยต่อเรื่องราวในใจเหล่านั้นของผู้อ่านจะยังคงอยู่

นวนิยายเรื่องปราสาทดำเนินเรื่องด้วยการติดตามความเป็นไปและการตัดสินใจของคา ผู้ซึ่งพยายามทุกวิถีทางเพื่อเข้าถึงคนของปราสาทผู้จ้างวานเขาในฐานะช่างรังวัดที่ดิน โดยที่มีอำนาจบางอย่างจากปราสาทคลอบคลุมอยู่ในทุกเหตุการณ์และความนึกคิดของคาอยู่ คาพยายาม ‘เข้าถึง’ บางสิ่งบางอย่างที่เขาควรจะต้องได้รับ (การได้พบผู้จ้างวานเขา) ทว่าก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

โดยที่คาต้องพบปะและแวดล้อมด้วยผู้คนในหมู่บ้านซึ่งได้รับอิทธิพลจากปราสาททั้งความคิดและการกระทำ แต่คาเองยังไม่เข้าใจถึงพลังอำนาจจากปราสาทเท่าใดนัก

ส่วนเรื่องคดีความเป็นเรื่องของโยเซฟ คาที่จู่ๆ ก็ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่กำลังจะมีการไต่สวนและตัดสิน โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกระทำผิดอะไร ทว่าคาก็พยายามทุกวิถีทางเช่นกันที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง โยเซฟ คาพยายามดึงตัวเองให้ ‘หลุดพ้น’ จากข้อกล่าวหาซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เป็นการหนีให้พ้นจากบางสิ่งบางอย่างที่เข้ามาเคลือบคลุมชีวิตของโยเซฟ คาโดยที่เขาปฏิเสธมันไม่ได้เลย

ถ้าหากตีความไปว่า โยเซฟ คา เป็นผู้ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพราะเขาถูกจับกุมในฐานะเป็นผู้ต้องหาแล้ว คา ก็คงเป็นผู้เรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ให้ตนเอง ตลอดเรื่องราวของนวนิยายทั้งสองผู้อ่านก็จะเห็นว่าพื้นที่สิทธิเสรีภาพของตัวละครทั้งสองมีอยู่อย่างจำกัดเพียงใด ให้ฉุกคิดถึงพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพของสังคมประชาธิปไตยของเราทุกวันนี้ที่ถูกลิดรอนไปโดยผู้คนแวดล้อมเราแทนที่ศูนย์อำนาจยิ่งใหญ่ที่เห็นได้ชัดเสียอีก (ในอดีตนั้นรัฐบาลเป็นศูนย์อำนาจอันทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง) หรือผู้คนเหล่านั้นอาจได้รับอิทธิพลของอำนาจบางอย่างอยู่เบื้องหลังเหมือนอย่างที่ผู้คนในหมู่บ้านได้รับอิทธิพลจากปราสาทก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้อ่านเองอาจจะตีความนวนิยายสองเรื่องนี้ไปคนละทิศละทางโดยแตกต่างไปคนละขั้วเลยก็เป็นไปได้ นี่คือความมหัศจรรย์ของเรื่องเล่าของฟรันซ์ คาฟคา

ผลงานอื่นๆ
Die Verwandlung เป็นที่รู้จักกันในชื่อเรื่อง The Metamorphosis นวนิยายขนาดสั้นที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง, นวนิยายเรื่อง Der Verschollene หรือ Amerika, เรื่องสั้นและเรื่องสั้น-สั้นอีกกว่า 30 เรื่อง นอกจากนั้นยังเขียนไดอะรี่ จดหมายถึงพ่อและคนในครอบครัว และก่อนที่เขาจะจบชีวิตลงด้วยวัณโรคได้สั่งให้ ‘มักซ์ โบรท’ เพื่อนคนสนิทเผาต้นฉบับของเขาให้หมดสิ้นแต่เพื่อนของเขาก็มิได้ทำตามความประสงค์นั้น จนมีงานแปลกพิกลให้เราได้อ่านกันจนถึงวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น