ในวันที่ยังฝันถึงการเป็นผู้กำกับ เวลามีคนถามว่า อยากเป็นเหมือนผู้กำกับหนังคนไหน ใครเป็นคนทำหนังต้นแบบที่คิดฝันจะเจริญรอยตามอย่าง ดิฉันตอบแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน – ดิฉันอยากเป็นอย่าง ร็อบ ไรเนอร์
ระยะหลังชื่อเสียงของไรเนอร์อาจไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ใช้รับประกันคุณภาพของหนังได้หนักแน่นเข้มแข็งเท่าใดนัก ทว่าในยุคสมัยหนึ่ง -หรือว่ากันอย่างจำเพาะเจาะจง คือ ช่วงยุค 80- ไรเนอร์ผลิตผลงานดีๆ ออกมาติดๆ กันหลายเรื่อง และอย่างน้อย 2 เรื่องในจำนวนนั้น ก็ดีถึงขั้นที่หลายคนยกให้เป็นหนังในดวงใจเลยทีเดียว
ดิฉันชื่นชอบและชื่นชมไรเนอร์ก็จากงานในยุคนี้
งานเด่นๆ ที่ไรเนอร์ทำในช่วงเวลานี้ เช่น This Is Spinal Tap (1984) หนังเลียนแบบสารคดี (mockumentary) ที่ได้รับการยกย่องให้ติดทำเนียบหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในหมวดหมู่นี้, Stand by Me (1986) coming-of-age ชั้นเยี่ยมที่แม้แต่เจ้าของหนังสือต้นฉบับอย่าง สตีเฟน คิง (ซึ่งตามปรกติมักออกมาให้ความเห็นต่อหนังที่สร้างจากหนังสือของเขาทำนองว่า “ห่วยกว่าหนังสือผม”) ยังอดไม่ได้ที่จะกล่าวชม, When Harry Met Sally (1989) โรแมนติก-คอมเมดี้ที่ปลุกปั้นให้ เม็ก ไรอัน กลายเป็น "ตัวแม่" ของนักแสดงสายนี้ในเวลาต่อมา หรือแม้แต่หนังระทึกขวัญแอบโหดปนโรคจิตอย่าง Misery (1990 – สร้างจากนิยายของคิงเช่นกัน) ไรเนอร์ก็เคยทำมาแล้ว
แน่นอนว่า การที่ไรเนอร์ไม่ได้จำกัดตัวเองกับหนังประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเหนียวแน่น สำหรับบางคนอาจเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อนของเขา เนื่องจากมันทำให้เขาเป็นผู้กำกับที่ "ไม่มีลายเซ็น" ที่ชัดเจนนัก
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวดิฉันเอง ดิฉันชอบไรเนอร์ก็ด้วยสาเหตุนี้ เพราะคนทำหนังที่ทำได้หลากหลายแนวทางและทำได้ดีอย่างที่ไรเนอร์เคยทำมาแล้วนั้น เอาเข้าจริงก็หาได้ไม่ง่ายนัก
A Few Good Men เป็นหนังของไรเนอร์อีกเรื่องหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่ "ดูแล้วชอบและอยากบอกต่อ" ของดิฉัน (แม้จะไม่ถึงกับกรี๊ดสลบเท่า Stand by Me กับ When Harry Met Sally)
หนังออกฉายในปี 1992 และได้มาเข้าโรงฉายในบ้านเราด้วย (กลุ้มใจมากที่ต้องบอกว่า ตอนนั้นดิฉันโตพอที่จะฉายเดี่ยวขึ้นรถเมล์ไปดูที่โรงหนังสยามคนเดียวแล้ว) แต่ตอนนั้นใช้ชื่อไทยว่าอย่างไร ดิฉันก็จำไม่ได้เสียแล้ว
หนังดัดแปลงจากบทละครชื่อเดียวกันของ แอรอน ซอร์กิน (เขาทำหน้าที่ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์เองด้วย) ว่ากันว่า ลิขสิทธิ์บทละครถูกค่ายหนังซื้อเพื่อนำไปดัดแปลงเป็นหนัง ก่อนที่ละครเวทีจะเปิดการแสดงจริงเสียอีก (ซึ่งน่าจะแปลความหมายได้ว่า มันน่าจะเป็นบทที่ดีมาก)
ตัวเอกของหนังคือ แดเนียล แคฟฟี ทนายประจำกองทัพที่ไม่ค่อยจะเอาไหนและเอาเรื่องเอาราวเท่าใดนัก
แคฟฟีสนุกกับการเล่นเบสบอลมากกว่าว่าความในศาล ใยดีไม้เบสบอลคู่ชีพมากกว่าลูกความของตน สถิติที่เจ้าตัวภูมิใจ –แต่ไม่ค่อยจะมีทนายคนไหนอยากเอาอย่าง- ก็คือ การปิดทุกคดีได้อย่างรวดเร็วฉับไว เพราะมักจะแนะนำชักจูงให้ลูกความของตนยอมรับสารภาพเพื่อแลกกับการขอลดหย่อนผ่อนโทษให้เรื่องจบๆ ไป โดยไม่แยแสสนใจจะยืนหยัดต่อสู้ให้ลูกความแม้สักน้อยนิด
แล้ววันหนึ่งแคฟฟีก็พบกับความท้าทายครั้งสำคัญของชีวิต...
เกิดเหตุนายทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกเพื่อนทหาร 2 นายทำร้ายเสียชีวิตภายในฐานทัพประจำอ่าวกวนตานาโม กองทัพเลือกแคฟฟีมารับหน้าที่ทนายให้กับจำเลยทั้งคู่
ความตั้งใจแรกของแคฟฟี คือการเกลี้ยกล่อมหว่านล้อม ชักแม่น้ำทั้งห้าให้ลูกความทั้งสองของเขายอมรับผิด ติดคุกนิดหน่อย ก้มหน้ายอมรับการถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ที่ตนรับใช้มันอย่างภาคภูมิใจ จากนั้นคดีความต่างๆ ก็จะเป็นอันยุติ เขาจะได้กลับไปหวดเบสบอลให้หนำใจต่อโดยไม่ต้องแก้ต่างว่าความในชั้นศาลให้เหน็ดเหนื่อยเปลืองแรง
อย่างไรก็ตาม ลงท้ายคดีนี้กลับไม่ง่ายดายหวานหมูเหมือนที่แคฟฟีคาดหวังไว้ ข้อเสนอของเขาได้รับการตอบรับด้วยสายตาหยามหมิ่นดูแคลนจากลูกความทั้งคู่ อีกทั้งทนายหญิงผู้เสนอตัวเองอย่างกระตือรือร้นให้กองทัพแต่งตั้งมาช่วยทำคดีนี้ ยังบอกเล่าข้อมูลเพิ่มเติมถึงความไม่ชอบมาพากลของคดี –ที่แต่เดิมเขาไม่ใส่ใจจะรับรู้- ให้รู้อีกชั้นหนึ่ง
ทั้งหลายทั้งปวงทำให้แคฟฟีต้องพาตัวเองไปพัวพันกับคดีนี้แบบถลำลึกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เขาพาตัวเองไปทำความรู้จักกับ "โลกของทหาร" ที่ไม่เคยปรารถนาจะทำความรู้จัก จับตัวเองขึงพรืดเป็นคู่ต่อกรกับคู่อริชั้นเซียนอย่างนายพลนาธาน เจสเซป ผู้บัญชาการประจำกองนาวิกโยธินสหรัฐฯ สาขาอ่าวกวนตานาโม ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ
เหนืออื่นใดเขาพาตัวเองไปเรียนรู้บทเรียนสำคัญในหัวข้อ "ภาระของความเป็นคน" ที่ก่อนหน้านี้ แม้จะเกิดเป็นคนมาจนอายุปูนนี้ แต่กลับไม่เคยสนใจจะเรียนรู้มันอย่างจริงจังมาก่อนเลย
A Few Good Men ได้รับเสียงวิจารณ์อย่าง ‘กลางๆ’ เมื่อครั้งที่ออกฉาย นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มันไม่ใช่หนังที่แย่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หนังที่ดีเลิศหาตัวจับยากชนิดที่จะติดโผ "หนังแห่งปี" ในบัญชีรายชื่อของตนแต่อย่างใด
ส่วนตัวดิฉันเอง พยายามขุดคุ้ยระลึกชาติค้นความทรงจำของตัวเองในระหว่างการดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อนโน้น ก็ได้คำตอบว่า หนังมี 3 อย่างที่ดิฉันชื่นชอบประทับใจ และยังจำได้มาจนทุกวันนี้
หนึ่ง ในแง่ของความสนุกเพลิดเพลิน A Few Good Men สอบผ่านหายห่วง แม้หนังจะมีความยาวเกิน 2 ชั่วโมงไปหลายนาที มีการพูดจาโต้ตอบกันฉอดๆ แบบไม่มีใครยอมใคร อีกทั้งยังเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางทหารและทางกฎหมายที่คนซึ่งไม่ได้ข้องแวะกับทั้งสองสาขาวิชาชีพอย่างเราๆ ฟังรู้เรื่องบ้าง-ไม่รู้เรื่องบ้าง ทว่าร็อบ ไรเนอร์กลับทำให้หนังตรึงความสนใจของผู้ชมไว้ได้โดยตลอดทั้งเรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ
สอง ฉากสุดท้ายของหนังซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันในศาลระหว่างแดเนียล แคฟฟีและนายพลนาธาน เจสเซปนั้น เข้มข้นถึงพริกถึงขิงและถึงใจแบบสุดกึ๋น ถ้าดิฉันจำไม่ผิด ฉากที่ว่านี้น่าจะมีความยาวไม่น้อยกว่า 30 นาที ทว่าระหว่าง 30 นาทีนั้น ทั้งที่เกิดในสถานที่จำกัด มีตัวละครที่เป็นหัวใจหลักๆ แค่ 2 คน ก็เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน บทสนทนาหักเหลี่ยมเฉือนคมชั้นเยี่ยม และจุดพลิกผันผัดกันรุกและรับชนิดที่ทำให้ผู้ชมหายใจไม่ทั่วท้องอยู่ตลอดเวลา
ประการสุดท้าย สิ่งที่น่าประทับใจอย่างยิ่งของ A Few Good Men ก็คือ การแสดงของ แจ็ก นิโคลสัน ในบทนายพลนาธาน เจสเซป นิโคลสันไม่ได้ปรากฏตัวในหนังมากมายเท่าใด ทว่าทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวขึ้น เขาก็ดึงความสนใจของผู้ชมให้มารวมศูนย์อยู่ที่เขาได้อย่างหมดสิ้น
นิโคลสันทำให้เจสเซปเป็นตัวละครที่เย่อหยิ่ง น่าเกรงขาม ถือดี มีความเชื่อที่ผิด ทว่าก็เชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อแบบสุดลิ่มทิ่มประตูโดยไม่เปิดโอกาสให้ความเชื่อที่แตกต่างเข้ามาเกาะกุมยุ่มย่ามกับพื้นที่ส่วนใดๆ ในสมองและหัวใจแม้แต่น้อยนิด
เจสเซปเป็นทหารมานาน ภาคภูมิใจกับดาวบนบ่าอย่างล้นพ้น ได้ดิบได้ดีกับสาขาอาชีพนี้ กฎระเบียบและคำสั่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ชนิดที่หากขาดมันไป เขาคงนึกไม่ออกว่าควรจะจัดการกับชีวิตและดำเนินมันต่อไปอย่างไรดี
อย่างไรก็ตาม เจสเซปก็เป็นเหมือนคนส่วนหนึ่งซึ่งเมื่ออยู่ในอำนาจนานๆ แล้วติดกับดักแห่งอำนาจจนหาทางออกไม่พบ – หรือแย่กว่านั้น เขาไม่รู้ตัวว่ากำลังหลงอยู่ในกับดักด้วยซ้ำไป
การทำหน้าที่รั้วของชาติ ปกป้องภัยรุกรานของศัตรู ทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข ได้นอนบนเตียงนุ่มๆ ได้กินอาหารอุ่นๆ ได้มีชีวิตที่ปลอดภัย ฯลฯ เหล่านี้เจสเซปถือว่าคนทั้งแผ่นดินเป็นหนี้บุญคุณเขา และสมควรพินอบพิเทาแก่เขาในฐานะผู้มีพระคุณ โดยไม่ได้ฉุกคิดเฉลียวใจสักนิดว่า แท้จริงแล้วทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันเป็น "ภาระหน้าที่" ที่พ่วงติดมากับบทบาท "ชายชาติทหาร" ของตน ในอันที่จะต้อง "รับใช้ผืนแผ่นดินและประชาชน" ทั้งนั้น
พูดอีกแบบก็คือ ภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้น จริงอยู่ว่าหนักหนาสาหัส และแน่นอนว่า คนทั้งแผ่นดินสมควรรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม และให้กำลังใจในความกล้าหาญและเสียสละของเขา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีสิทธิ์ยกตัวเป็นนายเหนือหัวใคร หรือเรียกร้องหาความเป็นอภิสิทธิ์ชนที่จะปฏิบัติกับใครอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจแม้แต่น้อยนิด
ที่ควรจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ก็คือ แม้ตัวร้ายใน A Few Good Men จะเป็นนายทหาร ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ดิฉันไม่คิดว่าหนังมีเป้าหมายที่จะว่าร้ายกล่าวประณามผู้คนในตำแหน่งหน้าที่นี้หรือสถาบันทหารในภาพรวมแต่อย่างใด
ตามความเข้าใจของดิฉัน ความเป็นทหารในหนัง ถูกนำมาใช้เพียงในฐานะภาพเปรียบของสถาบันที่มีกฎระเบียบของตัวเองที่เข้มข้น ยึดถือสายการบังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด และผู้บังคับบัญชาในแต่ละหน่วย แต่ละกรมกอง ก็คล้ายๆ กับว่าจะยึดกุมอำนาจในการสั่งการอย่างเบ็ดเสร็จ
อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เจ้าของอำนาจที่ไม่ทันระวังตัว สามารถหลุดหลงเข้าสู่ "ด้านมืด" ได้โดยง่าย – ขอเพียงเผลอตัวเผลอใจสักเล็กน้อยเท่านั้น
ตามที่ดิฉันเข้าใจ จุดใหญ่ใจความที่ A Few Good Men ต้องการจะบอกกล่าว ก็คือ การชี้ให้เห็นถึง "ภาระของความเป็นคน" ซึ่งในฐานะผู้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะในสาขาอาชีพใด จำต้องแบกรับและรับผิดชอบมันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ภาระที่ว่านั้น เท่าที่หนังแสดงให้เห็น มีอยู่หลากหลาย แต่ 2-3 ประการหลัก ก็คือ การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีเมตตา การแอ่นอกรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำไม่ว่ามันจะผิดหรือถูกอย่างไร
เหนืออื่นใด คือ การยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างกล้าหาญ
เพื่อที่ว่า แม้ท้ายที่สุดผลของมันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนนานัปการ อาจนำมาซึ่งความสูญเสียในลาภยศตำแหน่ง แต่อย่างน้อยๆ เราก็ยังสามารถประกาศ "ความเป็นคน" ของตนได้อย่างทระนง
ระยะหลังชื่อเสียงของไรเนอร์อาจไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ใช้รับประกันคุณภาพของหนังได้หนักแน่นเข้มแข็งเท่าใดนัก ทว่าในยุคสมัยหนึ่ง -หรือว่ากันอย่างจำเพาะเจาะจง คือ ช่วงยุค 80- ไรเนอร์ผลิตผลงานดีๆ ออกมาติดๆ กันหลายเรื่อง และอย่างน้อย 2 เรื่องในจำนวนนั้น ก็ดีถึงขั้นที่หลายคนยกให้เป็นหนังในดวงใจเลยทีเดียว
ดิฉันชื่นชอบและชื่นชมไรเนอร์ก็จากงานในยุคนี้
งานเด่นๆ ที่ไรเนอร์ทำในช่วงเวลานี้ เช่น This Is Spinal Tap (1984) หนังเลียนแบบสารคดี (mockumentary) ที่ได้รับการยกย่องให้ติดทำเนียบหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในหมวดหมู่นี้, Stand by Me (1986) coming-of-age ชั้นเยี่ยมที่แม้แต่เจ้าของหนังสือต้นฉบับอย่าง สตีเฟน คิง (ซึ่งตามปรกติมักออกมาให้ความเห็นต่อหนังที่สร้างจากหนังสือของเขาทำนองว่า “ห่วยกว่าหนังสือผม”) ยังอดไม่ได้ที่จะกล่าวชม, When Harry Met Sally (1989) โรแมนติก-คอมเมดี้ที่ปลุกปั้นให้ เม็ก ไรอัน กลายเป็น "ตัวแม่" ของนักแสดงสายนี้ในเวลาต่อมา หรือแม้แต่หนังระทึกขวัญแอบโหดปนโรคจิตอย่าง Misery (1990 – สร้างจากนิยายของคิงเช่นกัน) ไรเนอร์ก็เคยทำมาแล้ว
แน่นอนว่า การที่ไรเนอร์ไม่ได้จำกัดตัวเองกับหนังประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเหนียวแน่น สำหรับบางคนอาจเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อนของเขา เนื่องจากมันทำให้เขาเป็นผู้กำกับที่ "ไม่มีลายเซ็น" ที่ชัดเจนนัก
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวดิฉันเอง ดิฉันชอบไรเนอร์ก็ด้วยสาเหตุนี้ เพราะคนทำหนังที่ทำได้หลากหลายแนวทางและทำได้ดีอย่างที่ไรเนอร์เคยทำมาแล้วนั้น เอาเข้าจริงก็หาได้ไม่ง่ายนัก
A Few Good Men เป็นหนังของไรเนอร์อีกเรื่องหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่ "ดูแล้วชอบและอยากบอกต่อ" ของดิฉัน (แม้จะไม่ถึงกับกรี๊ดสลบเท่า Stand by Me กับ When Harry Met Sally)
หนังออกฉายในปี 1992 และได้มาเข้าโรงฉายในบ้านเราด้วย (กลุ้มใจมากที่ต้องบอกว่า ตอนนั้นดิฉันโตพอที่จะฉายเดี่ยวขึ้นรถเมล์ไปดูที่โรงหนังสยามคนเดียวแล้ว) แต่ตอนนั้นใช้ชื่อไทยว่าอย่างไร ดิฉันก็จำไม่ได้เสียแล้ว
หนังดัดแปลงจากบทละครชื่อเดียวกันของ แอรอน ซอร์กิน (เขาทำหน้าที่ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์เองด้วย) ว่ากันว่า ลิขสิทธิ์บทละครถูกค่ายหนังซื้อเพื่อนำไปดัดแปลงเป็นหนัง ก่อนที่ละครเวทีจะเปิดการแสดงจริงเสียอีก (ซึ่งน่าจะแปลความหมายได้ว่า มันน่าจะเป็นบทที่ดีมาก)
ตัวเอกของหนังคือ แดเนียล แคฟฟี ทนายประจำกองทัพที่ไม่ค่อยจะเอาไหนและเอาเรื่องเอาราวเท่าใดนัก
แคฟฟีสนุกกับการเล่นเบสบอลมากกว่าว่าความในศาล ใยดีไม้เบสบอลคู่ชีพมากกว่าลูกความของตน สถิติที่เจ้าตัวภูมิใจ –แต่ไม่ค่อยจะมีทนายคนไหนอยากเอาอย่าง- ก็คือ การปิดทุกคดีได้อย่างรวดเร็วฉับไว เพราะมักจะแนะนำชักจูงให้ลูกความของตนยอมรับสารภาพเพื่อแลกกับการขอลดหย่อนผ่อนโทษให้เรื่องจบๆ ไป โดยไม่แยแสสนใจจะยืนหยัดต่อสู้ให้ลูกความแม้สักน้อยนิด
แล้ววันหนึ่งแคฟฟีก็พบกับความท้าทายครั้งสำคัญของชีวิต...
เกิดเหตุนายทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกเพื่อนทหาร 2 นายทำร้ายเสียชีวิตภายในฐานทัพประจำอ่าวกวนตานาโม กองทัพเลือกแคฟฟีมารับหน้าที่ทนายให้กับจำเลยทั้งคู่
ความตั้งใจแรกของแคฟฟี คือการเกลี้ยกล่อมหว่านล้อม ชักแม่น้ำทั้งห้าให้ลูกความทั้งสองของเขายอมรับผิด ติดคุกนิดหน่อย ก้มหน้ายอมรับการถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ที่ตนรับใช้มันอย่างภาคภูมิใจ จากนั้นคดีความต่างๆ ก็จะเป็นอันยุติ เขาจะได้กลับไปหวดเบสบอลให้หนำใจต่อโดยไม่ต้องแก้ต่างว่าความในชั้นศาลให้เหน็ดเหนื่อยเปลืองแรง
อย่างไรก็ตาม ลงท้ายคดีนี้กลับไม่ง่ายดายหวานหมูเหมือนที่แคฟฟีคาดหวังไว้ ข้อเสนอของเขาได้รับการตอบรับด้วยสายตาหยามหมิ่นดูแคลนจากลูกความทั้งคู่ อีกทั้งทนายหญิงผู้เสนอตัวเองอย่างกระตือรือร้นให้กองทัพแต่งตั้งมาช่วยทำคดีนี้ ยังบอกเล่าข้อมูลเพิ่มเติมถึงความไม่ชอบมาพากลของคดี –ที่แต่เดิมเขาไม่ใส่ใจจะรับรู้- ให้รู้อีกชั้นหนึ่ง
ทั้งหลายทั้งปวงทำให้แคฟฟีต้องพาตัวเองไปพัวพันกับคดีนี้แบบถลำลึกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เขาพาตัวเองไปทำความรู้จักกับ "โลกของทหาร" ที่ไม่เคยปรารถนาจะทำความรู้จัก จับตัวเองขึงพรืดเป็นคู่ต่อกรกับคู่อริชั้นเซียนอย่างนายพลนาธาน เจสเซป ผู้บัญชาการประจำกองนาวิกโยธินสหรัฐฯ สาขาอ่าวกวนตานาโม ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ
เหนืออื่นใดเขาพาตัวเองไปเรียนรู้บทเรียนสำคัญในหัวข้อ "ภาระของความเป็นคน" ที่ก่อนหน้านี้ แม้จะเกิดเป็นคนมาจนอายุปูนนี้ แต่กลับไม่เคยสนใจจะเรียนรู้มันอย่างจริงจังมาก่อนเลย
A Few Good Men ได้รับเสียงวิจารณ์อย่าง ‘กลางๆ’ เมื่อครั้งที่ออกฉาย นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มันไม่ใช่หนังที่แย่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หนังที่ดีเลิศหาตัวจับยากชนิดที่จะติดโผ "หนังแห่งปี" ในบัญชีรายชื่อของตนแต่อย่างใด
ส่วนตัวดิฉันเอง พยายามขุดคุ้ยระลึกชาติค้นความทรงจำของตัวเองในระหว่างการดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อนโน้น ก็ได้คำตอบว่า หนังมี 3 อย่างที่ดิฉันชื่นชอบประทับใจ และยังจำได้มาจนทุกวันนี้
หนึ่ง ในแง่ของความสนุกเพลิดเพลิน A Few Good Men สอบผ่านหายห่วง แม้หนังจะมีความยาวเกิน 2 ชั่วโมงไปหลายนาที มีการพูดจาโต้ตอบกันฉอดๆ แบบไม่มีใครยอมใคร อีกทั้งยังเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางทหารและทางกฎหมายที่คนซึ่งไม่ได้ข้องแวะกับทั้งสองสาขาวิชาชีพอย่างเราๆ ฟังรู้เรื่องบ้าง-ไม่รู้เรื่องบ้าง ทว่าร็อบ ไรเนอร์กลับทำให้หนังตรึงความสนใจของผู้ชมไว้ได้โดยตลอดทั้งเรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ
สอง ฉากสุดท้ายของหนังซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันในศาลระหว่างแดเนียล แคฟฟีและนายพลนาธาน เจสเซปนั้น เข้มข้นถึงพริกถึงขิงและถึงใจแบบสุดกึ๋น ถ้าดิฉันจำไม่ผิด ฉากที่ว่านี้น่าจะมีความยาวไม่น้อยกว่า 30 นาที ทว่าระหว่าง 30 นาทีนั้น ทั้งที่เกิดในสถานที่จำกัด มีตัวละครที่เป็นหัวใจหลักๆ แค่ 2 คน ก็เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน บทสนทนาหักเหลี่ยมเฉือนคมชั้นเยี่ยม และจุดพลิกผันผัดกันรุกและรับชนิดที่ทำให้ผู้ชมหายใจไม่ทั่วท้องอยู่ตลอดเวลา
ประการสุดท้าย สิ่งที่น่าประทับใจอย่างยิ่งของ A Few Good Men ก็คือ การแสดงของ แจ็ก นิโคลสัน ในบทนายพลนาธาน เจสเซป นิโคลสันไม่ได้ปรากฏตัวในหนังมากมายเท่าใด ทว่าทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวขึ้น เขาก็ดึงความสนใจของผู้ชมให้มารวมศูนย์อยู่ที่เขาได้อย่างหมดสิ้น
นิโคลสันทำให้เจสเซปเป็นตัวละครที่เย่อหยิ่ง น่าเกรงขาม ถือดี มีความเชื่อที่ผิด ทว่าก็เชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อแบบสุดลิ่มทิ่มประตูโดยไม่เปิดโอกาสให้ความเชื่อที่แตกต่างเข้ามาเกาะกุมยุ่มย่ามกับพื้นที่ส่วนใดๆ ในสมองและหัวใจแม้แต่น้อยนิด
เจสเซปเป็นทหารมานาน ภาคภูมิใจกับดาวบนบ่าอย่างล้นพ้น ได้ดิบได้ดีกับสาขาอาชีพนี้ กฎระเบียบและคำสั่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ชนิดที่หากขาดมันไป เขาคงนึกไม่ออกว่าควรจะจัดการกับชีวิตและดำเนินมันต่อไปอย่างไรดี
อย่างไรก็ตาม เจสเซปก็เป็นเหมือนคนส่วนหนึ่งซึ่งเมื่ออยู่ในอำนาจนานๆ แล้วติดกับดักแห่งอำนาจจนหาทางออกไม่พบ – หรือแย่กว่านั้น เขาไม่รู้ตัวว่ากำลังหลงอยู่ในกับดักด้วยซ้ำไป
การทำหน้าที่รั้วของชาติ ปกป้องภัยรุกรานของศัตรู ทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข ได้นอนบนเตียงนุ่มๆ ได้กินอาหารอุ่นๆ ได้มีชีวิตที่ปลอดภัย ฯลฯ เหล่านี้เจสเซปถือว่าคนทั้งแผ่นดินเป็นหนี้บุญคุณเขา และสมควรพินอบพิเทาแก่เขาในฐานะผู้มีพระคุณ โดยไม่ได้ฉุกคิดเฉลียวใจสักนิดว่า แท้จริงแล้วทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันเป็น "ภาระหน้าที่" ที่พ่วงติดมากับบทบาท "ชายชาติทหาร" ของตน ในอันที่จะต้อง "รับใช้ผืนแผ่นดินและประชาชน" ทั้งนั้น
พูดอีกแบบก็คือ ภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้น จริงอยู่ว่าหนักหนาสาหัส และแน่นอนว่า คนทั้งแผ่นดินสมควรรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม และให้กำลังใจในความกล้าหาญและเสียสละของเขา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีสิทธิ์ยกตัวเป็นนายเหนือหัวใคร หรือเรียกร้องหาความเป็นอภิสิทธิ์ชนที่จะปฏิบัติกับใครอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจแม้แต่น้อยนิด
ที่ควรจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ก็คือ แม้ตัวร้ายใน A Few Good Men จะเป็นนายทหาร ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ดิฉันไม่คิดว่าหนังมีเป้าหมายที่จะว่าร้ายกล่าวประณามผู้คนในตำแหน่งหน้าที่นี้หรือสถาบันทหารในภาพรวมแต่อย่างใด
ตามความเข้าใจของดิฉัน ความเป็นทหารในหนัง ถูกนำมาใช้เพียงในฐานะภาพเปรียบของสถาบันที่มีกฎระเบียบของตัวเองที่เข้มข้น ยึดถือสายการบังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด และผู้บังคับบัญชาในแต่ละหน่วย แต่ละกรมกอง ก็คล้ายๆ กับว่าจะยึดกุมอำนาจในการสั่งการอย่างเบ็ดเสร็จ
อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เจ้าของอำนาจที่ไม่ทันระวังตัว สามารถหลุดหลงเข้าสู่ "ด้านมืด" ได้โดยง่าย – ขอเพียงเผลอตัวเผลอใจสักเล็กน้อยเท่านั้น
ตามที่ดิฉันเข้าใจ จุดใหญ่ใจความที่ A Few Good Men ต้องการจะบอกกล่าว ก็คือ การชี้ให้เห็นถึง "ภาระของความเป็นคน" ซึ่งในฐานะผู้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะในสาขาอาชีพใด จำต้องแบกรับและรับผิดชอบมันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ภาระที่ว่านั้น เท่าที่หนังแสดงให้เห็น มีอยู่หลากหลาย แต่ 2-3 ประการหลัก ก็คือ การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีเมตตา การแอ่นอกรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำไม่ว่ามันจะผิดหรือถูกอย่างไร
เหนืออื่นใด คือ การยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างกล้าหาญ
เพื่อที่ว่า แม้ท้ายที่สุดผลของมันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนนานัปการ อาจนำมาซึ่งความสูญเสียในลาภยศตำแหน่ง แต่อย่างน้อยๆ เราก็ยังสามารถประกาศ "ความเป็นคน" ของตนได้อย่างทระนง