xs
xsm
sm
md
lg

Gomorra อันธพาลครองเมือง!

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


คามอร์รา (Camorra) เป็นองค์กรอาชญากรรมทรงอิทธิพลติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศอิตาลี มีต้นกำเนิดและฐานปฏิบัติการที่เมืองนาโปลี (หรือ เนเปิลส์ ในภาษาสากล) และเมืองอื่นๆ รายรอบในแคว้นคัมปาเนีย ทางตอนใต้ของประเทศ

จุดกำเนิดของคามอร์ราไม่ชัดเจนนัก บางกระแสบอกว่า กลุ่มสืบทอดอำนาจโดยตรงจากแก๊งการ์ดูนาของสเปน สมัยที่ราชอาณาจักรสเปนเข้ามาเรืองอำนาจในอิตาลีในศตวรรษที่ 16

ขณะที่อีกกระแสหนึ่ง -ซึ่งดูจะน่าเชื่อถือกว่า- ระบุว่า คามอร์ราถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยประมาณ โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มอาชญากรรมแก๊งเล็กก๊วนน้อยที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงเวลานั้น โดยมีความยากจนข้นแค้นและสภาพชีวิตที่ขาดแคลนไปเสียทุกด้าน เป็นแรงผลักดันสำคัญ

ไม่ว่าจะอย่างไร คามอร์ราก็มีการสืบทอดต่ออายุกันมาอย่างเข้มแข็งยาวนานหลายศตวรรษจนกระทั่งปัจจุบัน

คามอร์รามีวิธีหาเงินเลี้ยงสมาชิกที่หลากหลาย ที่ผิดกฎหมายชัดเจนก็เช่น ข่มขู่ รีดไถ เรียกเก็บค่าคุ้มครอง เปิดบ่อน ค้ายาเสพติด ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ยังมีธุรกิจด้านอื่นๆ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะถูกกฎหมาย (แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากลสารพัดอย่าง ทั้งผูกขาดการค้า หลบเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน) อาทิ ธุรกิจค้านม ค้าปลา ค้ากาแฟ ทำโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า กระทั่งร้านเบเกอรี่ก็ยังทำ

ว่ากันว่า ในแต่ละปี ธุรกิจทั้งหมดนั้น สร้างรายได้ให้ทางกลุ่มสูงถึง 2 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทีเดียว

แน่นอนว่า อิทธิพลที่เข็มแข็งกร้าวแกร่งของคามอร์รา สร้างปัญหาให้ประเทศอิตาลีมากมาย สถิติอาชญากรรมในแคว้นคัมปาเนีย –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่นาโปลี- พุ่งสูงลิบ มีการฆ่ากันตายโดยกลุ่มอาชญากรคู่อริแทบไม่เว้นแต่ละวัน

คามอร์รากลายเป็นหนามยอกอกที่รัฐบาลอิตาลีหมายกำจัดเรื่อยมา ทว่าเมื่อลงมือปฏิบัติการจริง กลับพบว่ามันยากยิ่งกว่ายาก เพราะหนึ่ง สมาชิกคามอร์ราทุกผู้นามรักษาสัญญาใจในการ ‘ปิดปากเงียบ’ อย่างเข้มแข็ง สอง ทางกลุ่มให้การเลี้ยงดูช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกที่บาดเจ็บ ล้มตาย หรือติดคุก อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

เหนืออื่นใด โครงสร้างองค์กรของคามอร์รานั้น มีลักษณะเป็น ‘แนวนอน’ กล่าวคือ มันประกอบด้วยกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยแบ่งแยกซอยย่อยมากมาย แต่ละกลุ่มมีหัวหน้าเป็นของตนเอง มีระเบียบกฎเกณฑ์ของตัวเอง ปกครองตัวเอง (สิ่งที่ผูกยึดทุกคนไว้ด้วยกัน ก็คือ จิตสำนึกที่ว่า เราเป็น ‘สีเดียวกัน’)

ลักษณะเช่นนี้ทำให้การกวาดล้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลงไป ก็ไม่อาจทำให้ทั้งองค์กรล่มสลายไปได้ ตรงข้าม มันรังแต่จะเป็นการเปิดช่องทางให้มีคามอร์ราสาขาย่อยรายใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย ครั้งหนึ่งหัวหน้าคามอร์ราสาขาย่อยรายหนึ่งเคยให้ความเห็นถึงโครงสร้างองค์กรของตนไว้ว่า “แคว้นคัมปาเนียอาจแย่ได้ยิ่งกว่านี้อีก เพราะคุณอาจโค่นคามอร์รากลุ่มหนึ่งลงไปได้ แต่หลังจากนั้นคุณจะพบว่า มีคามอร์ราอีกสิบกลุ่มเกิดขึ้นตามมาทันควันจนคุณไม่ทันได้ตั้งตัวเลยทีเดียว”

ในปี 2006 โรแบร์โต ซาวิอาโน นักเขียนใจถึงซึ่งเป็นชาวนาโปลีโดยกำเนิด เขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของคามอร์ราออกมาเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า Gomorra (หรือ Gomorrah ในภาษาอังกฤษ)

เนื้อหาในหนังสือพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างของกลุ่มในแบบที่สาธารณชนไม่เคยรับรู้ ซาวิอาโนเปิดโปงทุกซอก เปลือยทุกมุม แฉแบบไม่เกรงใจใครหน้าไหนทั้งสิ้น

แน่นอนว่า งานนี้ซาวิอาโนได้รับเสียงชื่นชมกึกก้องจากทั้งผู้อ่าน เพื่อนนักเขียนด้วยกัน (อุมแบร์โต เอโค นักเขียนนามอุโฆษ ผู้เขียนหนังสือ The Name of the Rose ถึงกับยกให้เขาเป็น ‘วีรบุรุษของชาติ’) รวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งหลายโดยพร้อมเพรียง

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลลัพธ์สุดท้ายแล้ว กล่าวได้ว่า หนังสือ Gomorra ถือเป็น ‘ทุกขลาภ’ ของซาวิอาโนโดยแท้ เนื่องจากเนื้อหาเจาะลึกถึงแก่นของมัน สร้างความขุ่นเคืองให้สมาชิกกลุ่มคามอร์ราอย่างมากมายมหาศาล ซาวิอาโนได้รับคำขู่เอาชีวิตหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิตาลีต้องจัดบอดี้การ์ดตามประกบเขาตลอด 24 ชั่วโมง

ลงท้าย เมื่อปลายปี 2008 ที่ผ่านมา เขาก็ประกาศว่า ได้ตัดสินใจแล้วที่จะอพยพโยกย้ายออกจากอิตาลี เพื่อจะได้รอดพ้นภัยคุกคามเหล่านี้เสียที (ในช่วงเวลาเดียวกัน มีนักคิด-นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบล รวม 6 คน ออกมาประกาศตัวว่า พวกเขาขอยืนหยัดสู้กับคามอร์ราเคียงข้างซาวิอาโน และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอิตาลีปกป้องดูแลชีวิตนักเขียนหนุ่มผู้นี้ให้ดี)

ภาพยนตร์ Gomorra ดัดแปลงจากหนังสือชื่อกระฉ่อนเล่มดังกล่าวของซาวิอาโน

หนังเป็นผลงานกำกับของ มัตเตโอ การ์โรเน ออกฉายที่อิตาลีในเดือนพฤษภาคม 2008 ได้รับรางวัลกรังปรีซ์ (รองชนะเลิศ) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีเดียวกัน อีกทั้งยังติดอันดับ ‘หนังเยี่ยมแห่งปี’ ของนักวิจารณ์หลายสำนักในปีนั้น


เดิมทีเดียว คาดหมายกันว่า Gomorra น่าจะไปได้ไกลถึงขั้นคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศได้อย่างสบายๆ อย่างไรก็ตาม ลงท้ายหนังก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และไม่กระทั่งจะได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายด้วยซ้ำ

หนังเล่าเรื่องของคน 6 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มคามอร์ราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หนึ่ง โตโต้ เด็กชายวัยสิบขวบต้นๆ ลูกร้านขายของชำ ที่ใฝ่ฝันจะได้เข้าแก๊ง

สอง โรแบร์โต คนหนุ่มไฟแรงซึ่งจับพลัดจับผลูได้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจกำจัดขยะปนเปื้อนของกลุ่ม

สาม ดอน ชิโร สมุหบัญชีหน้าหงอยวัยกลางคน ผู้รับหน้าที่เดินแจกจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้ครอบครัวของสมาชิกแก๊ง

สี่ ปาสกวาเล ช่างตัดเสื้อฝีมือดี เป็นจักรเฟืองตัวสำคัญในธุรกิจเสื้อผ้าของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม วันดีคืนดี เขากลับได้รับการติดต่อว่าจ้างโดยชาวจีนอพยพกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังคิดจะทำเสื้อผ้าแข่งกับพวกคามอร์รา

ห้าและหก มาร์โคและชิโร จิ๊กโก๋หัวเกรียนสุดห้าว ตัวป่วนประจำชุมชน ทั้งคู่เชื่อเหลือเกินว่า ตัวเองเจ๋งและเก่งพอที่จะโค่นหัวหน้าคามอร์ราสาขาย่อยในละแวกที่อยู่อาศัยของตน แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นหัวหน้าแทนได้

หนังบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ทั้งหกโดยใช้วิธีการที่ ‘เป็นธรรมชาติ’ ที่สุด ปรุงแต่งให้น้อยที่สุด และแทบไม่ใช้เทคนิควิธีทางภาพยนตร์มาปลุกเร้าโน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม เอาใจช่วย หรือผูกพันกับตัวละครเหล่านี้มากนัก

พูดอีกแบบก็คือ Gomorra เป็นหนังที่กำหนดบทบาทผู้ชมให้เป็นเพียง ‘ผู้สังเกตการณ์’ นั่งมองสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยรับรู้ตลอดว่า มันไม่ใช่เรื่องของตน หนังกำหนดระยะห่างระหว่างผู้ชมกับตัวละครไว้อย่างชัดเจน เรารู้จักพวกเขาจากสิ่งที่พวกเขาทำและหนังเลือกมานำเสนอเท่านั้น ไม่ได้รับรู้เบื้องหลังเบื้องลึก อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกใดๆ มากไปกว่านั้น

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ลักษณะดังกล่าวส่งผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่ง คือ มันทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ตัวละครเหล่านี้เป็นมนุษย์ที่ ‘ไร้ความหมาย’ ชีวิตเป็นเพียงวัชพืชที่รังแต่รอวันจะถูกถอนทิ้งโดยปราศจากความเสียดมเสียดาย ความตายของตัวละครในหนังได้รับการปฏิบัติแบบไม่แยแส ไร้เยื่อใย - ราวกับจะบอกว่า สำหรับคามอร์ราแล้ว คนเหล่านี้ก็เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ตัวหนึ่ง แม้แต่ละคนจะมีหน้าที่ภารกิจต่อกลุ่ม และบางคนสู้ตายถวายชีวิตให้กับกลุ่ม ทว่าถึงที่สุดแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้มีความหมายใดๆ ต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มเลยแม้แต่นิดเดียว

ชื่อ Gomorra นั้น มีรากฐานมาจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล

โกโมราห์ เป็นชื่อเมืองเมืองหนึ่ง ถูกอ้างถึงเคียงคู่เมืองโสโดม (Sodom) ในบทยูดา 1:7 ในฐานะเป็นเมืองที่คลาคล่ำด้วยคนใจบาปหยาบช้า ประชาชนในเมืองมีพฤติกรรมบาปหนาไม่เว้นแต่ละวัน จนท้ายที่สุดพระผู้เป็นเจ้าก็เห็นสมควรที่จะต้องสั่งสอนให้หลาบจำ ด้วยการดลบันดาลให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์แผดเผา จนทั้งสองเมืองต้องราพณาสูร


คาดเดาได้ไม่ยาก โรแบร์โต ซาวิอาโน เจ้าของงานเขียนต้นฉบับ ตั้งชื่อหนังสือของเขาเช่นนี้ ก็ด้วยเจตนาจะเปรียบเปรยว่า เมืองที่ตกอยู่ในอิทธิพลมืดของกลุ่มคามอร์รานั้น ก็มีสภาพไม่ได้แตกต่างจากนครโกโมราห์ในพระคัมภีร์ไบเบิลมากนัก

กล่าวคือ เป็นเมืองที่อุดมด้วยบุคคลประเภทที่สะกดคำว่า ‘บาปกรรม’ ไม่ค่อยจะถูก และกระทำการชั่วร้ายบ่อยครั้งซ้ำซากจนกลายเป็นเรื่องปรกติวิสัย

หากยึดตามเนื้อหาที่ว่าไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล สักวันหนึ่งข้างหน้า เมืองเมืองนี้ก็คงวายวอดล่มสลายตามโสโดมและโกโมราห์ไปอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงวันพิพากษาที่ว่านั้น ผู้คนในเมือง ทั้งพวกที่ทำชั่วด้วยตัวเอง และผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็เหมือนจะขึ้นทางด่วนตกนรกล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่ตาย – ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม




กำลังโหลดความคิดเห็น