ASTVผู้จัดการรายวัน-- เรื่องราวกลับตาลปัตร เจ้าของร้านกาแฟ "สตาร์บั๊คส์" ในกรุงพนมเปญมีโอกาสถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้าของ Starbucks เนื่องจากร้านดังกล่าว ที่เคยเข้าใจกันว่าจะเป็นสาขาแรกในกัมพูชาของเชนกาแฟใหญ่จากสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้รับใบอนุญาตแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง
นอกจากนั้นเจ้าของร้านยังยอมรับอีกว่า Starbucks แห่งสหรัฐฯ ไม่เคย และไม่สนใจประเทศกัมพูชาอีกด้วย หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์รายงานเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดี (26 มี.ค.) ซึ่งสวนทางกลับรายงานก่อนหน้านี้โดยหนังสือพิมพ์รายวันภาษาฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง
เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้นำป้ายเครื่องหมาย Starbucks ขึ้นแขวนบนหน้าร้านกาแฟแห่งหนึ่งในศูนย์การค้าเดอะเพลส (The Place) ริมสีหนุบูลวาร์ด (Sihanouk Boulevard) ซึ่งเป็นถนนสายหลักพาดผ่านใจกลางกรุงพนมเปญ ที่นั่นยังอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์แห่งเอกราช ที่ผู้คนพลุกพล่านอีกด้วย
เจ้าของร้าน The Cafe ซึ่งแขวนป้ายเครื่องหมายการค้า Starbucks กล่าวว่า มีกำหนดเปิดร้านในวันที่ 1 เม.ย.ศกนี้ และ เชื่อว่าการใช้โลโกจะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะว่าร้านกำลังจะนำเอาสินค้าของสตาร์บัคส์ไปจำหน่าย แม้ว่าจะไม่ได้รับใบอนุญาตแฟรนไชส์ (Franchising) อย่างถูกต้องก็ตาม
ร้าน The Cafe จะตกแต่งทุกอย่างคล้ายกับร้านของ Starbucks รวมทั้งแขวนโลโกไว้หน้าร้าน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีแผ่นป้ายข้อความว่า "(ศูนย์การค้า) เดอะเพลสไม่ได้รับใบอนุญาตของสตาร์บั๊คส์) เอาไว้ด้วย
นายโจชัว โจนส์ (Joshua Jones) ผู้จัดการร้านยอมรับว่า ไม่ได้รับอนุญาตแฟรนไชส์จากร้านกาแฟยักษ์ใหญ่จากอเมริกาจริง แต่ The Cafe จะจำหน่ายกาแฟกับสินค้าต่างๆ ของสตาร์บัคส์ และจะใช้โลโก้ Starbucks
นายโจนส์บอกกับพนมเปญโพสต์ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการด้านกฎหมายใดๆ โดยตรงกับ Starbucks แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าอันทรงอิทธิพลของสตาร์บั๊คส์
"ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราทำ เราทำภายใต้กฎหมาย และไม่ว่าจะเกิดอะไรติดตามมาก็ตาม ทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข" นายโจนส์กล่าว และ ยังได้ย้ำถึงข้อความที่เขียนไว้ข้างๆ โลโก้ซึ่งได้ช่วยประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งนี้
ผู้บริหารรายนี้ยอมรับว่า ได้ใช้ความพยายามมาหลายครั้งในการขออนุญาตเป็นแฟรนไชส์ (Franchisee) ของสตาร์บัคส์ แต่ได้รับการปฏิเสธไปทุกครั้ง
"พวกเขาไม่สนใจที่จะเข้ามากัมพูชา" นายโจนส์กล่าว
อย่างไรก็ตามนายโจนส์บอกกับพนมเปญโพสต์ว่า กลุ่มเป้าหมายของ The Cafe เป็นกลุ่มคนทำงานวัย 20-30 ปีที่ยังโสด นอกจากนั้นยังรวมถึงบรรดาชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับเครื่องหมายการค้านี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
นายแมทธิว เรนดาล (Matthew Rendall) แห่งสำนักกฎหมาย Sciaroni & Associates บอกกับพนมเปญโพสต์ว่า ถ้าหาก The Cafe ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก Starbucks ก็ดูจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน
"คุณไม่สามารถจะไปใช้โลโก้ของผู้อื่นไปโปรโมทสินค้าหรือบริการของตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากสตาร์บัคส์คุณก็จะต้องเข้าใจเอาไว้ก่อนว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า" นายเรนดาลกล่าว
หนังสือพิมพ์กัมโบดจ์ซวาร์ (Cambodge Soir) รายงานเมื่อวันพุธอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวที่ระบุว่า สตาร์บัคส์จะเปิดสาขาแรกในกรุงพนมเปญ "อีกไม่กี่วัน" นี้ และ จะไม่ใช่สาขาสุดท้าย แต่ก็กล่าวว่าไม่สามารถขอข้อมูลใดๆ มากกว่านี้จากเจ้าของร้านที่ "ยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ"
ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Starbucks ร้านกาแฟชื่อดังนี้มีสาขากว่า 4,500 แห่งใน 47 ประเทศทั่วโลก แต่หลังจากขยายสาขาออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีมานี้ ปัจจุบันสตาร์บัคส์กำลังลดขนาดทางธุรกิจลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมทั้งกำลังปิดสาขาในหลายประเทศด้วย
ตั้งแต่เดือน ก.ค.2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สตาร์บั๊คส์ได้ปิดร้านกาแฟของตนแล้วกว่า 900 แห่งทั่วโลก ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วผลกำไรของบริษัทลดลงถึง 70%
หลายปีที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ได้ฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายร้านกาแฟที่ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งในจีนที่มีเชนร้านกาแฟแห่งหนึ่งใช้โลโกสีเขียว-ขาวแบบสตาร์บัคส์ แต่เขียนเป็นชื่อภาษาจีนออกเสียงเดียวกัน
สตาร์บัคส์ยังเคยฟ้องปัจเจกชนหรือองค์กรตามกฎหมายในสหรัฐฯ ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของตนไปดัดแปลงล้อเลียนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งรวมทั้งฟ้องร้องกรณีศิลปินล้อเลียนคนหนึ่งที่ใช้เครื่องหมาย Starbucks เขียนข้อความเป็นอักษรสีขาวเอาไว้รอบๆ ด้านนอกว่า "consumer whore"
ร้านสตาร์บัคส์แห่งแรกเปิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในนครซีแอนเติล (Seattle) มลรัฐวอชิงตัน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือสหรัฐฯ ตั้งชื่อตามชื่อในนวนิยายโมบีดิ๊ก (Moby Dick) ของเฮอร์แมน เมลวิลส์ (Herman Melvilles) ช่วง 10 ปีมานี้ขยายสาขาออกไปรวดเร็วมาก
ร้านกาแฟสตาร์บัคส์มีอยู่ทั่วไปในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทย จำหน่ายทั้งกาแฟนำเข้าและกาแฟที่ปลูกในท้องถิ่น
ในประเทศไทยยังมีร้านสตาร์บัคส์ในต่างจังหวัดที่เป็นปลายทางของนักท่องเที่ยว รวมทั่งสาขาหนึ่งที่อยู่ริมถนนโทลเวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ด้วย
กัมพูชามีประชากร 14 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งยังมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์ แต่ประเทศนี้ร่ำรวยมหาศาลด้วยทรัพยากรแร่ธาตุล้ำค่าที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการสำรวจขุดค้นรวมทั้งน้ำมันดิบ
เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวสูงกว่า 10% ทุกปีตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนกระทั่งปีที่แล้ว อันเนื่องมากจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก การท่องเที่ยวและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
กลุ่มคนรวยใหม่ในเมือง (Urban Rich) ได้ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ในประเทศนี้เช่นเดียวกันกับชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการลงทุนที่กำลังเฟื่องฟูเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แม้ว่ากัมพูชากำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกก็ตาม.