โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ไม่ว่าเรื่องเล่าข่าวลือเกี่ยวกับว่า สตูดิโอยักษ์ใหญ่หลายๆ แห่งของฮอลลีวูดจะติดต่อขอซื้อหนังเรื่องนี้ไปฉายในตลาดต่างประเทศ จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ผมคล้อยตามเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ครับกับความเห็นของหลายๆ คนที่มองว่านี่คือหนังไทยที่จะทำรายได้ทะลุร้อยล้านเป็นเรื่องแรกของปีนี้ ถามว่าเพราะอะไร ตอบได้เลยครับว่า เดา แต่เป็นการเดาโดยสังเกตจากจำนวนคนดูผู้ชมที่คุณและผมก็คงเห็นคล้ายๆ กันว่า อะไรมันจะมากมายขนาดนั้น
ไม่บ่อยครั้งนักหรอกครับที่เราจะเห็นคนไทยพร้อมใจกันเดินออกจากบ้านไปเสียตังค์ซื้อตั๋วดูหนังไทยมากมายถึงเพียงนี้ อย่างในรอบที่ผมดู (ซึ่งไม่ใช่วันหยุดด้วยซ้ำ) เก้าอี้โรงหนังยังมีคนนั่งเต็มแทบจะทุกแถว (ยกเว้น 2-3 แถวใกล้ๆ จอ) แล้วแบบนี้ เราจะไม่ให้เจ้าของผลงานอย่างกันตนา แอนนิเมชั่น เขาฝันหวานถึงเงินร้อยล้านได้ไงล่ะ จริงไหม?
หลังจากฝากความประทับใจไว้อย่างล้นเหลือเมื่อปี 2549 เรื่องราวของหัตถี (ก็คือ “ช้าง” นั่นแหละท่าน) ที่มีชื่อไทยๆ ว่า “ก้านกล้วย” กลับมาสู่สายตาคนดูอีกครั้งในภาคที่ 2 โดยการกำกับของ “ทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์” พร้อมภาระที่หนักหนากว่าเดิม เพราะอย่าลืมนะครับว่า ในภาคแรกนั้น หนังทำไว้ได้ดีน่าชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก (CG) ที่ดูเหมือนจะถูกผู้ชมหลายๆ คนคาดหวังว่ามันคงจะออกมายอดเยี่ยมกว่าภาคแรกแน่ๆ
แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงที่สุดแล้วนะครับ ผมคิดว่า เสน่ห์ของการ์ตูนแอนนิเมชั่นอย่าง “ก้านกล้วย” จริงๆ นั้น อาจไม่ใช่เทคนิคงานสร้าง อาจไม่ใช่ CG ตระการตา หากแต่อยู่ที่เนื้อหาอันเรียบง่าย แต่งดงาม และสามารถสร้างความประทับใจให้กับคนที่ได้ดู ดูแล้วมีความสุข สนุกไปกับเรื่องราว และรู้สึกดีกับสาระที่หนังต้องการสื่อ
พูดแบบนี้ ไม่ได้จะบอกว่า CG ของหนังเรื่องนี้ดูด้อยนะครับ ตรงกันข้ามเลย หนังทำภาพออกมาได้สวยงามมากถึงขนาดที่คุณอาจจะแปลกใจว่า นี่หรือ ฝีมือคนไทย? แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมอาจจะแตกต่างจากหลายๆ คนอยู่บ้างก็ตรงที่เชื่อว่า เนื้อหาเรื่องราวของหนังนั้นคือ “กระดูกสันหลัง” ที่จะชี้วัดในขั้นสุดท้ายว่าหนังเรื่องไหน ดีและน่าจดจำ เพราะอะไรน่ะหรือ? ผมเคยพูดไว้ในที่นี้หลายครั้งหลายหนแล้วว่า ต่อให้เทคนิคงานสร้างของคุณเลิศหรูอลังการแค่ไหน แต่ถ้าเนื้อหาไม่ได้บอกอะไรกับคนดูเลย มันก็ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง (ถามจริงๆ เถอะครับว่า คุณจะชื่นชมคนที่สวมสร้อยเพชรเต็มคอแต่ไร้สมอง ได้นานแค่ไหน? อย่างมากก็อาจจะแค่ตื่นตาตื่นใจนิดๆ หน่อยๆ ชั่วครั้งชั่วคราวกับความรวยหรูของพระคุณท่าน)
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะคิดยังไงกับเทคนิค CG ที่อยู่ในหนังก้านกล้วย 2 แต่ถ้ามองกันที่เนื้อหาเรื่องราว นี่คือหนังที่ตอบโจทย์ถูกทุกข้อ ทั้งในด้านของความสนุกสนานบันเทิง (Entertain) และ Content (เนื้อหาสาระ)
...3 ปีผ่านไป นับตั้งแต่ภาคแรก เจ้าช้างตัวสีฟ้าหัวใจกล้าหาญอย่าง “ก้านกล้วย” เติบโตขึ้นตามวันเวลา เช่นเดียวกับ “ชบาแก้ว” คนรัก เอ่อ...ไม่ใช่ครับ ต้องบอกว่า ช้างสาวที่รัก...ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ชีวิตครอบครัวของชบาแก้วและก้านกล้วยที่กำลังไปได้สวยก็มีอันต้องพบกับความยุ่งยาก เพราะศึกสงครามครั้งใหม่ระหว่างกรุงหงสาวดีกับอยุธยากำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง และช้างศึกอย่างก้านกล้วยซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากองค์ดำ (สมเด็จพระนเรศวร) ให้เป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกไปร่วมรบในการศึกครั้งนี้ด้วย
นอกไปจากฉากสวยๆ ของธรรมชาติในตอนต้นเรื่อง ผมคิดว่า ก้านกล้วยภาค 2 มีประเด็นเปิดที่สามารถก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจและเรียกความเห็นอกเห็นใจจากคนดูได้ตั้งแต่ก้าวแรก เพราะมันพูดถึงความขัดแย้งในใจ (Conflict) ของตัวละครอย่างก้านกล้วยที่ดูเหมือนจะถูกเรียกร้องให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างภาระความรับผิดชอบสองแบบ ด้านหนึ่งคือครอบครัวและลูกเมีย ส่วนอีกด้านคือหน้าที่การงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งหนังก็โชว์สปิริตความเป็นช้างนักสู้ของก้านกล้วยให้เราเห็นในตอนแรกที่ดูเหมือนจะเลือกสนามรบก่อนครอบครัว อย่างไรก็ดี เมื่อเราดูหนังไปเรื่อยๆ ทั้งผมและคุณก็คงสัมผัสได้ถึงความเป็นแฟมิลี่แมน (Family Man) ที่ห่วงลูกห่วงเมียซึ่งมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวของก้านกล้วย ขณะที่ชบาแก้วเอง ทีแรกก็ดูเหมือนจะเป็นช้างสาวเอาแต่ใจ (และขี้น้อยใจมั่กๆ อิอิ) แต่ในท้ายที่สุด ก้านกล้วยก็พิสูจน์ให้เธอได้ซาบซึ้งว่าเธอนั้นมีความสำคัญเพียงใดต่อชีวิตของเขา
และถ้าคุณจะลองตั้งใจฟังอย่าง “หาความหมาย” ผมคิดว่าเพลงประกอบในตอนต้นเรื่องนั้นก็คือคำอธิบายเนื้อหาของตัวละครหลักได้เป็นอย่างดี เพราะมันพูดถึงความรักและความรับผิดชอบของก้านกล้วยทั้งในฐานะ “ข้าแผ่นดิน” และฐานะของ “หัวหน้าครอบครัว” ยิ่งกว่านั้น ยังมีเนื้อร้องในท่อนที่สื่อถึง “ชบาแก้ว” ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้คิดอยู่แค่ว่าเนื้อหาของเพลงมันสื่อถึงสองตัวละครหลัก ผมมองว่า ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมันเป็นเสมือน “อุดมคติ” ที่หนังต้องการจะส่งผ่านบอกคนดูถึง “คุณค่าและความหมาย” ที่มนุษย์หญิงชายทุกคนควรจะเป็น
พ้นไปจากนี้ ความรักความผูกพันระหว่างพ่อลูกก็ถูกพูดถึงอย่างชัดเจน อย่างที่เราจะได้เห็นว่า คุณพ่อก้านกล้วยที่ห่างเหินกับลูกๆ นั้น ได้รับ “บทลงโทษ” อย่างไรบ้าง มีฉากๆ หนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ ก็คือ ตอนที่ก้านกล้วยปลอบลูกน้อยซึ่งกำลังร่ำไห้ แต่มันไร้ผลโดยสิ้นเชิง เพราะลูกๆ ก็ยังร้องไม่หยุดเช่นเดิม เหมือนเสียงปลอบของก้านกล้วยไร้ความหมาย นี่คือผลพวงของความห่างเหินอย่างแท้จริง (เจ็บปวดมั้ยครับ ถ้าคุณเป็นพ่อ แต่เสียงของคุณไม่มีค่าอะไรเลยสำหรับลูกๆ)
พูดไปพูดมา ฟังๆ ดูราวกับว่าก้านกล้วย 2 เป็นหนังเครียดซีเรียสจ๋า ความจริงไม่ใช่เลยครับ เพราะหนังเดินเรื่องได้สนุกน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาช้างตัวเล็กๆ ที่เป็นตัวละครซึ่งเพิ่มเข้ามาจากภาคแรกก็เป็นสีสันที่สร้างอารมณ์ขันให้กับคนดูได้โดยตลอด โดยเฉพาะคนดูตัวเล็กๆ (เด็กๆ) ที่ได้ขำกันแทบทุกฉากที่แก๊งช้างน้อยปรากฏตัว ขณะที่การเข้าออกของอารมณ์เรื่องราว จากสุขไปเศร้าแล้วเข้าช่วงขำก่อนข้ามไปหาความตื่นเต้นระทึกในฉากสู้รบ หนังสลับสับเปลี่ยนห้วงอารมณ์เหล่านี้ได้ลื่นไหลจนเกือบมองไม่เห็นรอยต่อ ขณะที่เสียงพากย์ของทีมพากย์ก็ไม่มีอะไรให้รู้สึกสะดุด ทุกคนสามารถสื่อสารสภาวะอารมณ์ของตัวละครออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
เหนืออื่นใด อย่าไปกังวลเลยครับกับความถูกต้องของแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่หนังหยิบยืมมาเพียงบางส่วนเสี้ยว แต่ควรคิดว่า หนังกำลังบอกสาระอะไรจะดีกว่า และโดยส่วนตัว ผมมองว่า นี่คือหนังครอบครัวดีๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด มันอาจจะไม่ได้คมคายอะไรมากมาย แต่เชื่อเถอะครับว่า นี่คือความลงตัวสุดๆ แล้ว สำหรับหนังเรื่องหนึ่งซึ่ง “เด็กเข้าใจ-ผู้ใหญ่รู้เรื่อง”
ไม่รู้คนอื่นๆ จะคิดยังไงนะครับ แต่สำหรับผม ถ้าผมมีลูก ผมจะพาลูกไปดูหนังเรื่องนี้ครับ