โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ว่ากันตามความจริง บารัค โอบามา กับ ฮาร์วี่ มิลค์ (Harvey Milk) อาจไม่ได้มีอะไรเกี่ยวดองกันเลย แต่ทั้งสองคนก็มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันโดยไม่อาจปฏิเสธ เพราะในขณะที่คนแรกตะโกนบอกโลกว่าเขาจะ Change (เปลี่ยนแปลง) บนโปสเตอร์บางเวอร์ชั่นของหนังเรื่อง Milk ซึ่งเป็นผลงานเชิงอัตชีวประวัติของฮาร์วี่ย์ มิลค์ ก็มีคำว่า Change ปรากฏอยู่เช่นเดียวกัน (His Life Changed History. His Courage Changed Lives.)
อย่างไรก็ดี ขณะที่เรายังไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรนักว่า โอบามาจะเช้นจ์อะไรต่อมิอะไรได้สำเร็จลุล่วงหรือไม่ และจะเช้นจ์ไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่สำหรับฮาวี่ย์ มิลค์ เขาเช้นจ์เรียบร้อยแล้ว และถือเป็นการเช้นจ์ที่สวยงามที่สุดครั้งหนึ่งซึ่งประวัติศาสตร์และอเมริกันชนส่วนหนึ่งยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้
และที่ต้องพูดว่า “ส่วนหนึ่ง” เพราะจริงๆ ผมไม่แน่ใจเท่าไรนักว่าประเทศที่รับรองอิสรเสรีภาพของผู้คนมากที่สุดประเทศหนึ่งอย่างอเมริกาจะสามารถขจัดอคติเกี่ยวกับเรื่อง “เพศที่สาม” ไปได้หมดหรือยัง หรือว่าแท้จริงแล้ว ก็ยังเหมือนผู้คนในประเทศแถวๆ นี้บางประเทศที่พอได้ยินคำว่า เพศที่สาม เกย์ กะเทย ตุ๊ด ทอม ก็พร้อมเสมอที่จะแสดงสีหน้าขยะแขยง??
แต่เอาล่ะ ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่เป็นความจริงยิ่งกว่าจริงก็คือว่า Milk คือหนึ่งในหนัง 5 เรื่องที่ผ่านเข้าชิงรางวัลออสการ์มาสดๆ ร้อนๆ ซึ่งแน่นอนว่า มันอาจจะพ่ายแพ้สำหรับการเป็นหนังยอดเยี่ยมของตุ๊กตาทองอย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้รู้กันไปแล้ว แต่ทว่า เมื่อมองดูเนื้อหาของมันแล้ว ผมคิดว่า Milk น่าจะเป็นหนังที่ชนะใจคนดูได้ไม่ยาก โดยเฉพาะคนดูผู้ถือสังกัด “เพศที่สาม” ไม่ว่าจะในนามของเกย์หรือทอม หรืออะไรก็ตามที
เหนืออื่นใด สำหรับผม นี่คือหนังเกย์ที่บอกได้เลยว่า นอกจากจะไม่มีภาพที่รุนแรงในเรื่องเพศอย่างที่หนังเกย์หลายๆ เรื่องชอบทำกัน (มีจุ๊บๆ นิดๆ หน่อยๆ พอน่ารักแบบ “รักแห่งสยาม” หึหึ) ยังเป็นหนังที่ดูแล้ว รู้สึกเหมือนได้รับพลังชีวิตเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมาย
โดยรากเหง้าที่มา Milk สร้างขึ้นจากเรื่องราวชีวิตจริงของ “ฮาร์วี่ มิลค์” (Harvey Milk) นักการเมืองคนแรกของสหรัฐฯ ที่ไม่เพียงจะประกาศตัวเองอย่างชัดเจนว่าเขาเป็นเกย์แล้ว ยังเป็นเสมือนฟันเฟืองตัวสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิของชาวรักร่วมเพศ (Homosexual) อย่างกว้างขวางในอเมริกา และนั่นก็ถือเป็นชนวนเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งนำพาโศกนาฏกรรมอันคาดไม่ถึงมาสู่ชีวิตเขา
และแน่นอนที่สุด แม้ว่าผู้กำกับ กัส แวน แซงต์ (หลายๆ คนอาจจดจำคนทำหนังคนนี้ได้ดีจาก Good Will Hunting ที่เข้าชิงออสการ์สาขาหนังยอดเยี่ยมปีเดียวกับ Titanic ) จะประกาศตัวเองว่า เขาก็เป็นเกย์เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้น หนังที่เล่าถึงชีวิตเกย์อย่าง Milk ก็ไม่ใช่หนังที่จะมานั่งสรรเสริญคนพันธุ์เดียวกันอย่างไร้เหตุผล และจากจุดเริ่มต้น หนังก็ทำให้เราได้เห็นอย่างเด่นชัดว่า มิลค์เองก็ไม่ได้ต่างไปจากมนุษย์คนอื่นๆ ที่ใช้สอยอายุมาจน 40 ปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แม้แต่เป็นเกย์ก็ยังต้องเป็นแบบหลบๆ ซ่อนๆ ดังนั้น หลังจากพบรักกับหนุ่มวัยละอ่อนนามว่า สก็อต สมิธ (เจมส์ ฟรังโก้) ทั้งคู่ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ซานฟรานซิสโก พร้อมกับเปิดร้านทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่ร้านแห่งนั้นจะกลายเป็นศูนย์รวมของชาวโฮโมเซ็กช่วลในเวลาต่อมา
เรื่องราวของฮาร์วี่ย์ มิลค์ ทำให้ผมนึกไปถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเขียนโดยคุณวิทยา แสงอรุณ ชื่อ “เลิกแอบเสียที” เพราะจากการที่ต้องมีชีวิตเกย์แบบ “แอบๆ” มิลค์ตัดสินใจที่จะ Change ครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการเปิดเผยตัวตนอันแท้จริงของตัวเอง แน่นอนว่า มันเป็นทั้งความปลอดโปร่งโล่งสบายและเป็นความหวาดหวั่นอันตรายไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะในสังคมที่หนาแน่นไปด้วยความเกลียดชังเพศที่สามนั้น มันไม่ใช่เรื่องครึกครื้นหรอกครับที่ใครสักคนจะออกมาบอกว่า “ข้าเป็นเกย์”
นอกเหนือไปจากฉากทุกฉากที่มิลค์ปรากฏตัวพร้อมกับแดน ไวท์ (จอร์ช โบรลิน) ซึ่งเราจะสัมผัสถึงกลิ่นอายแห่งอคติปกคลุมชั้นบรรยากาศอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว ทั้งผมและคุณก็คงเห็นว่า มีฉากที่อธิบายความกล้าหาญของมิลค์ได้ดีมากๆ ฉากหนึ่ง คือ ตอนที่เขากับคนรักกอดจูบกันอย่างดูดดื่มหน้าร้านของพวกเขาในวันเปิดร้านวันแรก ถ้าสังเกตให้ดี เราจะเห็นป้ายร้านเขียนว่า Yes We are Open ติดอยู่บนกระจกหน้าร้าน ซึ่งความหมายจริงๆ ของมัน คงไม่ใช่แค่การประกาศให้ผู้คนย่านนั้นรู้ว่า ธุรกิจของพวกเขาเริ่มต้นแล้วเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะที่เชื่อมโยงถึงการเปิดเผยตัวตนของมิลค์อย่างเด่นชัด
และในขณะที่ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ชัดเจนในความเป็นตัวของตัวเอง เราจะพบว่า ฌอน เพนน์ ก็ชัดเจนในบทบาทการแสดงของเขาเช่นกัน ไม่แปลกใจเลยครับว่า ทำไม ออสการ์ถึงเต็มใจที่จะมอบตุ๊กตาทองตัวที่สองในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมให้กับผู้ชายคนนี้ เพราะบทบาทของมิลค์ที่เขาเล่น นับเป็นความแนบเนียนในระดับมืออาชีพเท่านั้นที่ทำได้ เหมือนเขาเปลี่ยนหัวใจสวมวิญญาณเกย์มาเลยยังไงยังงั้น (นี่หรือเปล่าที่เขาว่า ผู้ชายอย่างเราๆ ท่านๆ ต่างมีธาตุของความเป็นเกย์อยู่ในตัวเองทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะแสดงมันออกมา เหมือนที่ฌอน เพนน์ แสดงออกมา หรือไม่เท่านั้นเอง หึหึ)
ท่ามกลางบรรยากาศยุคฮิปปี้ในช่วงปีทศวรรษ 1970 ของเมืองซานฟรานซิสโก ผมคิดว่า สิ่งที่ทุกๆ คนคงจะรู้สึกได้คล้ายๆ กัน ก็คือ การเป็นเกย์นั้น ไม่ง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดเผยหรือปกปิด แน่นอนล่ะ เกย์ยุคนี้อาจจะรู้สึกสะดวกสบายขึ้นในหลายๆ ด้าน แต่สำหรับยุคของมิลค์ มันคือความหนักหน่วงรูปแบบหนึ่งของชีวิต เพราะสังคมที่ปิดกั้นจนแทบไม่มี “ที่ว่าง” สำหรับความหลากหลายทางเพศเลย ภาพแบบหนึ่งซึ่งหนังฉายให้เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ การถูกกระทำของเพศที่สาม ไล่ตั้งแต่การเหยียดหยามทางสายตา ไปจนถึงการฆาตกรรมและการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งเหล่านี้เป็น “ความเจ็บปวดร่วมสมัย” ของชาวโฮโมเซ็กช่วลยุคนั้น และกลายเป็นแรงเหวี่ยงอย่างหนึ่งซึ่งผลักดันให้ฮาร์วี่ย์ มิลค์ คิดจะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อ “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ของคนเพศที่สาม
วีรกรรมของฮาร์วี่ มิลค์ มีอะไรบ้างนั้น ผมขออนุญาตข้ามไปไม่เล่า เพราะขืนเล่าไปก็คงไม่สนุกเท่าคุณไปดูเอง แต่หลักๆ ผมเห็นว่า กัส แวน แซงต์ ทำให้หนังเรื่องนี้ พ้นไปจากความเป็นหนังอัตชีวประวัติของเกย์ธรรมดาๆ ไปได้โดยสิ้นเชิง โอเคล่ะว่า เรื่องราวในหนังอาจเป็นเรื่องของเกย์ แต่ว่ากันอย่างถึงที่สุด Milk มันคือเรื่องราวของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ยอมที่จะอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็น ชาย เป็นหญิง หรือเป็นเกย์ เป็นทอม อะไรก็ตาม ถ้อยคำที่สะท้อนถึงความคิดแบบหัวก้าวหน้าของฮาร์วี่ย์ มิลค์ ซึ่งหนังใส่เข้ามาได้อย่างสวยงามก็คือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาให้เท่าเทียมกัน ต่อให้คุณพยายามแค่ไหน คุณก็ไม่มีวันลบล้างถ้อยคำนี้ได้
ทั้งหมดทั้งมวลที่มิลค์เป็น ไม่ใช่แค่ไอดอลของชาวโฮโมเซ็กช่วล แต่เขาคือไอคอนของคนที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและทุ่มเทตัวเองเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น สิ่งที่มิลค์ต่อสู้ ดูเพียงผิวเผิน อาจเป็นเพียงเสียงเรียกร้องของเกย์คนหนึ่ง แต่จริงๆ มันคือการต่อสู้เพื่อมนุษย์ทุกๆ คน...มนุษย์ทุกๆ คนที่ไม่ว่าจะสังกัดเพศไหน ชนชั้นใด ก็สมควรได้รับเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม
ผมเห็นด้วยครับ ถ้าใครจะบอกว่า ชีวิตของฮาร์วี่ มิลค์ เป็นทั้งแบบอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตไปด้วยพร้อมๆ กัน ดังนั้น ถ้าคุณกำลังคิดว่า ชีวิตนี้กำลังต้องการจะทำอะไรจริงๆ จังๆ สักอย่าง บางที เรื่องราวของมิลค์ อาจจะกระตุ้นให้คุณเริ่มต้นออกเดินก้าวที่หนึ่งได้
หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้ามันจะไม่ก่อให้เกิดการ Change อะไรในตัวคุณเลย แต่สิ่งที่ผมคิดว่า คุณน่าจะรู้สึกได้แน่ๆ ก็คือ “นักการเมืองเกย์” นั้น ยังไงเสีย ก็คงดีกว่า “นักการเมืองโกง” อยู่วันยันค่ำ (จริงไหม?)
เหนืออื่นใด ถ้าเปรียบ Milk เป็น “นม” กล่องหนึ่ง ก็เชื่อขนมร้านป้าหน้าปากซอยกินคอยได้เลยครับว่า นมกล่องนี้ นอกจากจะไม่บูดเหมือนนมโรงเรียนในบางประเทศแล้ว ยังดีต่อสุขภาพและหล่อเลี้ยงหัวใจได้ดีเป็นอย่างยิ่ง...