xs
xsm
sm
md
lg

โหมโรง 2552/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ทองแท้ อยู่ที่ไหนก็ย่อมจะเป็นทองแท้

หนังดีดูเมื่อไหร่ก็รู้สึกดี...


ช่วงนี้ผมค่อนข้างจะไปทำงานสายมากขึ้น โดยบางวันก็อาจจะเลยจากสายไปถึงเที่ยงพระอาทิตย์ตรงหัวเลยครับ

สาเหตุของความสาย นอกจากเรื่องของการ "นอนดึก" แล้ว (สาเหตุของการนอนดึกขอไม่บอกแล้วกันนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่เยาวชนไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง) บางครั้งก็เป็นเพราะมัวแต่เพลิดเพลินอยู่กับภาพยนตร์(เก่า)ที่ทางบริษัทสหมงคลฟิล์มฯ เอามาฉายผ่านช่อง "มงคล แชนแนล"

เช่นเดียวกับวันนี้(วันที่เขียนคอลัมน์ นะครับไม่ใช่วันนี้ที่ท่านกำลังอ่านคอลัมน์) ที่ผมเพลิดเพลินอยู่กับภาพยนตร์ไทยเรื่อง "โหมโรง"

ย้อนความจำกันสักนิดนึงนะครับว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ในการกำกับของ "อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์" ต่อจาก "ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความประทับใจในประวัติของบรมครูเพลงไทยหลายๆ ท่านที่เต็มไปด้วยสีสันซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่ค่อยจะมีโอกาสได้รับรู้

และหนึ่งในครูเพลงที่เจ้าตัวสนใจเป็นอย่างมากก็คือตัวเอกของหนังอย่าง "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)"

หนังเรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 2547 ในช่วงแรกที่โหมโรงลงโรงโหมโรงย่ำแย่ทีเดียวครับ เพราะรายได้นั้นน้อยมาก ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะ 1. นี่คือหนังที่เกี่ยวกับดนตรีไทย 2. เรื่องของการโปรโมต(โดยเฉพาะภาพโปสเตอร์)ที่ค่อนข้างจะนิ่ง ไม่เชิญชวน

แต่ด้วยกระแสปากต่อปากถึงความสนุกของหนังนั่นเองที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ชนิดที่ต้องเรียกว่า "โหมโรงฟีเวอร์"

ช่วงนั้นใครๆ ก็ต้องรู้จัก "ขุนอิน", โรงเรียนดนตรีไทยได้รับความนิยม ส่วนตัวหนังเองก็ถูกเขียนถึงในแง่มุมต่างๆ และกวาดรางวัลทั้งในและต่างประเทศไปหลายรางวัล

จะว่าไปแล้วโดยรวมหนังโหมโรงก็เป็นไปตามสูตรหนังทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ แต่ว่าการเล่าเรื่องนั้นเป็นไปอย่างน่าติดตาม ขณะที่เนื้อหาและเรื่องราวก็มีองค์ประกอบต่างๆ แฝงอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่องของสังคม การปกครอง แนวความคิด ขนบ ประเพณี แนวทางการสร้างชาติ(ไทย) โดยมีตัวแปลจากการไหล่บ่าของวัฒนธรรมตะวันตกและกาลเวลา

ฉากดวลระนาดระหว่างศรกับคุณอินที่ถือว่าเป็นไคลแม็กซ์ของหนังนั้น อิทธิสุนทรให้สัมภาษณ์ไว้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการได้เข้าไปชมการแสดง“มหาราชาคอนแชร์โต“ ของวง BSO ซึ่งเป็นคอนแชร์โตที่แต่งขึ้นเพื่อโซโลระนาดเอกโดยเฉพาะ โดยเขาบอกว่ามันเหมือนมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างในระหว่างที่ได้เห็นภาพของระนาดเอกวางเด่นอยู่หน้าวงออร์เครสตร้าเกือบร้อยชิ้น

ก่อนหน้านี้ผมดูโหมโรงมาแล้ว 5 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกันไป ซึ่งถ้าถามว่าประทับใจฉากไหน ผมว่าคงจะเหมือนกับที่หลายๆ คนรู้สึก นั่นก็คือฉากการโต้คารมกันของ "พันโทวีระ" (พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) กับ "ครูศร" (อดุลย์ ดุลยรัตน์) เกี่ยวกับการที่รัฐบาลภายใต้สโลแกนเชื่อท่านผู้นำได้ออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมศิลปะแขนงต่างๆ

รวมถึงการละเล่นดนตรีไทย

เขียนมาถึงตรงนี้คนอ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็อย่าเพิ่งมาน้อยอกน้อยใจว่านี่จะมาด่าวัยรุ่นอีกแล้วใช่มั้ย ไม่ใช่หรอกครับ เพราะผมเข้าใจดีว่าคนต่างยุค ย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันไป แต่ก่อนรุ่นคุณย่าเล่นหมากเก็บก็สนุกแล้ว ถัดมาดีขึ้นหน่อยก็เล่นเกมกด ถัดมาก็เล่นเกมออนไลน์ หรือจะเป็นเรื่องบันเทิงอย่างรำวง ลิเก ลำตัด โขน ใครเกิดยุคนั้นก็ย่อมจะชื่นชอบแบบนั้น จะให้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับบอดี้สแลม เกิดมากับโรคหนังยุคมัลติเพล็กซ์และห้างสรรพสินค้า เล่น blog คุย m(sm) ส่งจดหมายผ่าน hi5 เหล่านี้จะให้ไปคลั่งไคล้ในการละเล่นดังกล่าวก็คงจะเป็นเรื่องที่ยาก

เพียงแต่บางทีผมก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นของเก่าซึ่งไม่ใช่เฉพาะดนตรีไทย หรืออะไรที่เป็นไทยๆ เท่านั้นนะครับ แต่ให้รวมถึงแนวความคิด ขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรม ต่างๆ เหล่านี้จริงๆ แล้วเราคิดว่ามันเก่า เราหลงลืมมันไปเพราะอะไรกันแน่?

หลงลืมเพราะวันเวลาที่ผ่านไป ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า หรือคิดว่ามันเก่ามันโบราณ มันคร่ำครึ ด้วยการตัดสินจากอารมณ์และความรู้สึก

มันเชย มันล้าสมัย มันโบราณ มันคร่ำครึ มันไม่ทันโลก มันไม่เท่ห์

โทรศัพท์มือถือมันเก่าตามอายุเวลาของการใช้งาน ระบบที่มันไม่พอเพียงต่อความต้องการ หรือมันเก่าเพราะเพื่อนไปซื้อรุ่นที่ใหม่กว่ามาโชว์

กระเป๋าที่วางขายตามตลาดนัดจะไม่เชยเลยใช่มั้ยหากมียี่ห้อ "GIORGIO ARMANI" แปะการันตี

ย้อนกลับไปถึงบทสนทนาของตัวละครอย่างพันโทวีระกับครูศร ซึ่งเป็นฉากที่ผมประทับใจแม้จะไม่ใช่คำคมแต่ก็น่าคิดทีเดียวครับ

...เป็นอารยะไปเพื่ออะไร

...เป็นอารยะโดยที่ทำลายขนบวัฒนธรรมที่เคยมีมาเนี่ยนะ

...ต้นไม้ใหญ่จะยืนต้านแรงลมพายุได้ย่อมต้องมีรากเหง้าที่หยั่งลึกแข็งแรง


ในหนังทางออกที่เป็นเสมือนคำตอบจากการสนทนาของพันโทวีระกับครูศรที่ว่านี้มันได้เกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่ฉากที่ "ประสิทธิ์" (สุเมธ องอาจ) ยกเปียโนเข้ามาในบ้าน โดยมีสายตาที่ดูเหมือนจะไม่พอใจของครูศรผู้เป็นพ่อมองอยู่

แต่แล้วทั้งเสียงเปียโนกับเสียงระนาดก็ถูกบรรเลงไปพร้อมๆ กันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มของผู้เล่นต่างวัยแต่มีหัวใจดวงเดียวกัน

หัวใจที่เข้าใจในความงดงามของเสียงดนตรีจริงๆ

การได้ดูหนังโหมโรงอีกครั้งทำให้ผมคิดไปถึงคำพูดของพี่ที่ออฟฟิศที่เคยนั่งคุยกันก่อนหน้านี้ 2-3 วัน

"จริงๆ มีเยอะนะพวกที่เรียนดนตรีไทย แต่ว่ามันไม่ค่อยจะมีเวที ไม่มีที่ให้เขาได้เล่น ได้แสดง..."

ดูหนังโหมโรงแล้วมีความสุขแต่นึกถึงคำพูดของพี่คนที่ว่าแล้วมันรู้สึกโหวงๆ อย่างไรพิกล

เขียนถึงเรื่องดีๆ ของ "โหมโรง" เป็นการโหมโรงปี พ.ศ. 2552 ก็ด้วยความหวังลึกๆ ที่ว่าสิ่งดีๆ สิ่งที่งดงามคงจะเกิดขึ้นกับสังคมและคนไทยในปีหนูปีนี้

สวัสดีปีใหม่ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น