xs
xsm
sm
md
lg

หนังไทย “ห่วย” และ “ดี” ปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

จากถ้อยคำของเหล่ากูรูด้านการตลาดสายภาพยนตร์ที่พากันส่งเสียงคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมหนังไทยปีนี้จะเติบโตสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ นั้น ถึงตอนนี้ คงเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตากันไปแล้วว่า คำทำนายเหล่านั้นดูเหมือนจะคลาดเคลื่อนห่างไปจากความเป็นจริงที่มองเห็นและเป็นอยู่อย่างเห็นได้ชัด

อย่างน้อยที่สุด การที่แทบจะไม่มีหนังไทยเรื่องไหนพาตัวเองไต่ระดับรายรับไปถึงร้อยล้านได้เลย เพราะยกเว้นองค์บาก 2 แล้ว ที่เหลือนอกจากนั้น ทำเงินได้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 80-90 ล้านบาทซึ่งก็มีอยู่แค่เรื่องสองเรื่อง (ไม่นับรวมรายรับที่จะเกิดขึ้นจากการขายในตลาดต่างประเทศ) ก็เป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างดีว่า ธุรกิจหนังไทยปีนี้ “ไม่เข้าเป้า” ตามความคาดหมาย

ในด้านหนึ่ง ผมเชื่อว่า สถานการณ์สองสามอย่างที่เกิดขึ้นในรอบปี ทั้งเศรษฐกิจที่ป่วยไข้ หรือการเมืองไม่สบาย อาจใช้เป็นคำอธิบายถึงรายรับภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังไทยในปีนี้ได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ไม่มากก็น้อย มันย่อมส่งผลสั่นสะเทือนต่อรายได้ของหนังที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเชื่อของผมอยู่อีกนั่นแหละว่า ปัญหาเศรษฐกิจเอย หรือความวุ่นวายทางการเมืองเอย ว่ากันอย่างถึงที่สุด มันก็ไม่ได้มีส่วนไปชี้เป็นชี้ตายว่าหนังเรื่องไหนจะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” เพราะจริงๆ หนังแต่ละเรื่องจะออกมาดีหรือห่วย ล้วนขึ้นอยู่กับมันสมองและรสนิยมของคนทำเป็นสำคัญ

แน่นอนว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อาจส่งผลให้ต้นทุนในการสร้างของหนังแต่ละเรื่องลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าเราทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า หนังดีๆ เป็นคนละเรื่องกับหนังทุนสร้างมหาศาล เราก็จะมองออกว่า หนังที่เกิดขึ้นบนงบประมาณที่จำกัดก็สามารถจัดอยู่ในหมวดหมู่ของหนังดีได้เช่นกัน No Country For Old Men เอย Juno เอย Son of Rambow เอย หรือแม้กระทั่ง “แสงศตวรรษ” ที่ลงทุนไปไม่เท่าไหร่ แต่ใครล่ะจะกล้าพูดว่ามันคือหนังห่วย (แต่ถ้าใครจะบอกว่ามันคือหนังที่ดูไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะหนังของเจ้ย-อภิชาติพงษ์...นั้นก็ว่าไปอย่าง..ฮา)

ความพยายามที่จะทำหนังให้ดูฟอร์มใหญ่ๆ หรือทุนสร้างเยอะๆ แต่ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์ในแง่ของการเป็นหนังที่ดีได้ ที่สุดแล้ว มันก็คือการทำให้ตัวเอง “สิ้นเปลือง” และ “สูญเปล่า” โดยไม่จำเป็น...ผมเชื่อของผมแบบนี้

แต่เอาล่ะ ผมคงไม่เรียกร้องให้เรามานั่งถกเถียงกันว่า หนังแบบไหนที่จะเรียกว่าหนังดีหรือหนังห่วย ที่สำคัญกว่านั้น ผมว่ามันคงเป็นเรื่องที่สนุกมากกว่า ถ้าเราจะลองมองเข้าไปเพื่อตรวจเช็ก “สุขภาพ” ของหนังไทยที่เข้าฉายในปีนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง? แข็งแรง หรืออ่อนแอ?

เทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งผมและคุณก็คงมองเห็นคล้ายๆ กันว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างลิบลับ เพราะหากนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงโค้งสุดท้ายของสุดท้าย (คนละแบบกับ “สุดท้ายของสุดท้าย” ของลุงจำลอง ศรีเมือง) นอกจากเรื่องของรายได้ที่ล้มลุกคลุกคลานหนีตายไปตามๆ กันแล้ว ก็แทบจะไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่ดูเด่นขึ้นมาในสายตาเหนือกว่าเรื่องอื่นๆ ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่อย่างน้อยๆ พอถึงช่วงปลายปี เราจะมีหนังดีๆ หรือหนังที่คาดหวังว่าจะได้รางวัล กะเก็งไว้ในใจอย่างน้อยคนละเรื่องสองเรื่อง เช่น แฝด, พลอย, ไชยา, แสงศตวรรษ ไปจนถึง Final Score ฯลฯ

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลของสถาบันต่างๆ ในงวดที่กำลังจะมาถึงนี้ก็อาจจะต้องพบกับความยุ่งยากแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่...เลือกไม่ถูกว่าจะให้รางวัลกับหนังเรื่องไหนดี เพราะมันมีหนังดีๆ หลายต่อหลายเรื่องมาแข่งขันกันเหมือนปีที่ผ่านมา....แต่จะกลายเป็นว่า...ไม่รู้ว่าจะให้รางวัลกับหนังเรื่องไหนดี เพราะมองหาหนังที่ดีๆ โดนๆ ไม่เจอเลย!!

แต่พูดแบบนี้ก็ดูเหมือนจะเกินเลยไป เพราะหากดูกันจริงๆ ผมก็ยังเห็นว่า หนึ่งขวบปีที่ผ่านมา มันยังมีหนังไทยที่น่าพูดถึงด้วยความรู้สึกดีอยู่จำนวนหนึ่ง (เน้นนะครับว่า เป็นหนังที่น่าพูดถึงด้วย “ความรู้สึกดี” แต่จะดีถึงขั้นได้รางวี่รางวัลอะไรหรือไม่นั้น ค่อยไปว่ากันอีกที) ซึ่งถ้าเราลองแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ หนังสาย Popular ที่มุ่งเน้นตลาดแมส กับหนังที่ฉายในโรงจำกัด (จะเรียก หนังอินดี้, หนังอาร์ต หรือหนังนอกกระแส อะไรก็สุดแท้แต่จะเรียก) เราจะเห็นว่า หนังทั้งสองกลุ่มต่างก็มีผลงานที่เข้าตาอยู่จำนวนหนึ่ง

โดยในกลุ่มแรก เท่าที่ผมนึกออกก็มีตั้งแต่ กอด, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น, สี่แพร่ง, บุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู, โลงต่อตาย, รัก/สาม/เศร้า, อีติ๋มตายแน่ (หนังประเด็นดี แต่ไม่ทำเงิน ไม่รู้เพราะอะไร กูรูบางคนริมถนนพระอาทิตย์สะกิดบอกเชิงวิเคราะห์หลังจากกระดกเบียร์ไปอึกใหญ่...เพราะความชอบส่วนบุคคลของหลายๆ คนที่ไม่ชอบคนบางคน!?!?) ไปจนถึง องค์บากภาค 2 ที่แม้จะยังไม่เพอร์เฟคต์อะไรนัก แต่ก็ทำให้เรามองเห็นทิศทางที่ดีขึ้นของหนังตระกูลจา พนม

ส่วนกลุ่มหลังก็มี Wonderful Town, The 8th Day แปดวันแปลกคน, โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา และ The Convert อย่างไรก็ดี แทบทุกเรื่องที่ว่ามา พูดกันอย่างไม่อ้อมค้อม ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานที่ไม่ถึงกับดีมากหรือเด่นมาก

กระนั้นก็ตาม ในขณะที่ยังไม่มีตัวเลือกดีๆ ชัดๆ ให้เลือก มันก็ยังมีหนังอีกหลายเรื่องเหมือนกันที่กำลังรอเวลาจะออกสตาร์ท และอาจจะเป็นม้าตัวหลังๆ ที่วิ่งแซงทำคะแนนนำหน้าไปได้เช่นกัน โดยหนึ่งในนั้นก็มี “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” ของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง “ฝันหวานอายจูบ” ของสี่ผู้กำกับ รวมไปจนถึง A Moment in June ของ นัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล หรือแม้กระทั่งหนังวรรณกรรมรางวัลซีไรต์อย่าง “ความสุขของกะทิ” ที่จะเปิดโปรแกรมรับศักราชใหม่ในช่วงต้นปี

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ขณะที่หนังไทยปี 51 ดูเหมือนจะผ่านไปอย่างมีความแตกต่างจาก พ.ศ.ที่ผ่านมา แต่ความเหมือนอย่างหนึ่งซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่ก็คือ มันยังคงมีหนังด้อยคุณภาพ (หรือถ้าจะเรียกให้ถูกกว่านั้นก็คือ หนังห่วย) กลุ่มหนึ่งแทรกตัวอยู่อย่างหนาแน่น (ซึ่งก็เหมือนกันอยู่แทบทุกปีนั่นล่ะ) และผมคงไม่จำเป็นต้องไล่เรียงให้ฟังนะครับว่ามีเรื่องไหนบ้าง เพราะเชื่อว่าคุณก็คงมีอยู่ในใจแล้วคนละไม่น้อยกว่า 5-6 เรื่อง แต่เรื่องไหนบ้างนั้น นั่นล่ะคือประเด็น?
กำลังโหลดความคิดเห็น