มีหนังกลุ่มหนึ่งซึ่งดิฉันจัดหมวดหมู่และเรียกขานมันเป็นการส่วนตัวว่า ‘หนังบ้าอะไรวะ’
‘หนังบ้าอะไรวะ’ ในความหมายของดิฉัน ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ ทำนองก่นด่าประณามหรือติติงว่ากล่าว ตรงข้าม ออกจะกระเดียดไปทางชื่นชมหน่อยๆ ในฐานะที่คนทำหนังเรื่องนั้นๆ ทำในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงหรือไม่คิดฝันว่าชีวิตนี้จะได้พบเห็นอะไรเช่นนั้นบนจอภาพยนตร์ – ไม่ว่าเราจะชอบสิ่งที่เห็นหรือไม่ก็ตาม
Hotel หนังเหวอแตกของ เจสสิกา เฮาส์เนอร์, Humanity หนัง ‘จะช้าไปไหน’ ของ บรูโน ดูมงต์, Inland Empire หนังซึ่งดิฉันดู 2 รอบแล้วยังเข้าใจไม่ถึงเศษเสี้ยวของ เดวิด ลินช์, Inside หนังโหดอภิมหาโหด โหดแบบ ‘มันบ้าไปแล้ว’ ของ อเลกซองดร์ บุสติโญ กับ ฌูเลียง โมรี, หนังป่วงๆ ทั้งหลายของ จอห์น วอเตอร์ส, หนังโคตรเซอร์ทุกเรื่องของ ปีเตอร์ กรีนอะเวย์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนจัดอยู่ในขอบข่าย ‘หนังบ้าอะไรวะ’ ของดิฉันทั้งสิ้น
Otto; or, Up with Dead People คือ ‘หนังบ้าอะไรวะ’ เรื่องล่าสุดที่ดิฉันค้นพบ
หนังเป็นผลงานของ บรูซ ลาบรูซ (ชื่อจริงคือ จัสติน สจวร์ต) นักเขียน / ช่างภาพ / ผู้กำกับ ชาวแคนาดา (ข้อมูลใน wikipedia ระบุว่า เขาเป็นดาราหนังโป๊เกย์ใต้ดินด้วย) ซึ่งผู้คนบางกลุ่มขนานนามว่าเป็น ‘บุคคลที่ได้รับการรังเกียจเดียดฉันท์มากสุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์’
ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยดูหนังของบรูซ ลาบรูซเพียงเรื่องเดียว คือ The Raspberry Reich อย่างไรก็ตาม เท่าที่สอบถามข้อมูลจากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งติดตามหมอนี่อย่างแนบสนิทชิดชอบ ก็ได้ความว่า งานชิ้นอื่นของลาบรูซก็ไม่ได้ฉีกหนีทิ้งห่างจาก The Raspberry Reich เท่าใดนัก
สรุปคร่าวๆ หนังของลาบรูซทุกเรื่อง ล้วนมีจุดร่วมคือ มันเป็นหนังซึ่ง ‘สุดโต่ง’ โป๊ แรง มีอารมณ์ขันวายป่วง โปรดักชันกระป๋องๆ ตัดต่อกระฉึบกระฉับฉับไว บางช่วงตอนแทบจะกลายเป็นมิวสิก วิดีโอและวิดีโอ อาร์ตรอมร่อ นอกจากนั้นยังมักมีแง่มุมการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างถึงพริกถึงขิงสอดแทรกเอาไว้ด้วย (ในความเห็นของดิฉัน หนังของลาบรูซมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงหนังของจอห์น วอเตอร์ส อยู่ไม่น้อย เพียงแต่หนังของวอเตอร์สนั้น ‘เนียน’ กว่า สไตล์ไม่จัดและไม่ตั้งอกตั้งใจจะวิพากษ์สังคมเท่า)
เหตุการณ์ใน Otto; or, Up with Dead People เกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี หนังมี 3 เส้นเรื่องหลักเล่าสลับหมุนเวียนกันไป
หนึ่ง คือ เรื่องของซอมบี้หนุ่มนาม อ๊อตโต้ ซึ่งใช้ ‘อชีวิต’ เป็นผีดิบจรจัดมาแรมปี จนวันหนึ่งจับพลัดจับผลูได้เป็นพระเอกหนังซอมบี้เรื่องใหม่ของผู้กำกับหญิงขาใหญ่แห่งวงการหนังใต้ดินนาม มีเดีย ยาร์น
สอง เป็นเรื่องของมีเดีย ยาร์น ในระหว่างการทำหนังทีเดียว 2 โปรเจกต์ควบ คือ Otto หนังกึ่งสารคดี เจาะเกาะติดชีวิตอ๊อตโต้ และ Up with Dead People หนังแนวซอมบี้บวกเกย์บวกการเมืองบวกสยิว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เธอเคี่ยวกรำกับมันมานานนับปีไม่หวาดไม่ไหว ทั้งที่ไม่มีนายทุนกลุ่มใดให้การสนับสนุนใดๆ เลยแม้แต่น้อยนิด
และสุดท้าย หนังนำเสนอภาพบางช่วงตอนจาก Otto และ Up with Dead People ที่มีเดีย ยาร์น กำลังถ่ายทำอยู่นั้น
เทียบกับ The Raspberry Reich – Otto; or, Up with Dead People ถือเป็นงานที่ ‘เบา’ ลงและ ‘กลมกล่อม’ ขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด
หนังมีฉากโชว์อวัยวะโจ๋งครึ่มน้อยลง อุบาทว์น้อยลง แต่แหวะมากขึ้นเนื่องจากตัวเอกของเรื่องเป็นซอมบี้ จังหวะจะโคนในการตัดต่อไม่ไวจนตาลายเท่า โปรดักชันเจริญหูเจริญตากว่ามาก ส่วนอารมณ์ขันพิลึกพิลั่น ความทะลึ่งตึงตัง และสาระวิพากษ์สังคมนั้น ยังคงมีอยู่ครบ
อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องบอกกล่าวทำความเข้าใจกันไว้ด้วยว่า คำว่า ‘เบา’ ในที่นี้ หมายถึงเบาในมาตรฐานของบรูซ ลาบรูซ (ซึ่งเป็นคนละโลกกับมาตรฐานของกองเซ็นเซอร์บ้านเรา) และมันก็ไม่ได้หมายความว่า Otto; or, Up with Dead People จะเป็น ‘หนังปรกติ’ ที่ผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่ม จะดูมันได้โดยไม่รู้สึกรู้สาแต่อย่างใด
ฉากหนึ่งที่ดิฉันเองดูแล้วหงาย คือ ‘ฉากทะลวงไส้’ (เป็นตอนหนึ่งในหนัง Up with Dead People ของมีเดีย ยาร์น) ซึ่งซอมบี้เกย์สองตนร่วมรักกันด้วยวิธีการที่ ตนหนึ่งเขมือบพุงของอีกตนจนเป็นรูโหว่ แล้วลากไส้ออกมาเขมือบต่ออย่างอร่อยเอร็ด จากนั้น ภายหลังอิ่มหนำพุงกาง ซอมบี้ตนนั้นก็จัดการหาความสำราญในเพศรสให้ตัวเองต่อ ด้วยการควักเครื่องเพศของตนออกมา จับมันยัดใส่รูไส้ของคนรัก ขยับเข้าออกอย่างทุลักทุเล แล้วครางฮืออย่างสุขสมหน้าตาเฉย! (ถ้าคุณคิดว่าดิฉันเล่าได้อุบาทว์เหลือทน ขอรับประกันว่า ของจริงยิ่งทุเรศทุรังกว่านี้หลายเท่า)
ถึงจะอุบาทว์อยู่สักหน่อย แต่ถึงอย่างนั้น Otto; or, Up with Dead People ก็ไม่ใช่หนังขายฉาวเอามันแต่เพียงอย่างเดียว ตรงข้าม มัน ‘มีประเด็น’ และมุขตลกต่างๆ ในหนังก็เป็นมุขซึ่งมีที่มาที่ไป อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘คนมีของ’ ของบรูซ ลาบรูซ ไม่น้อย
มีสองมุขที่ดิฉันชอบ หนึ่งคือ มุขน้องหนังเงียบ หนังมีตัวละครตัวหนึ่งชื่อ เฮลลา เบนท์ ซึ่งตามเนื้อเรื่อง เธอเป็นคู่รักเลสเบี้ยนของมีเดีย ยาร์น เรื่องตลกของตัวละครตัวนี้คือ ลาบรูซนำเสนอเธอแบบ ‘หนังเงียบ’ เสื้อผ้าหน้าผมของเธอถอดแบบมาจากตัวละครของ หลุยส์ บรูกส์ ในหนังเรื่อง Pandora’s Box ของผู้กำกับ เกออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ ซึ่งออกฉายในปี 1929 เปี๊ยบ
เฮลลามีซาวน์ดแทร็กของตัวเองแทบทุกครั้งที่ปรากฏตัว คำพูดคำจาของเธอถูกสื่อสารผ่านไตเติ้ลการ์ด (ตัวหนังสือขาวบนพื้นดำ มีการตกแต่งอักขระลวดลายพอหอมปากหอมคอ ซึ่งเป็นเทคนิคที่หนังเงียบทั่วไปใช้กัน) ที่เด็ดก็คือ เฮลลาจะปรากฏตัวเป็นภาพขาว-ดำตลอดเวลา แม้แต่ในยามร่วมเฟรมกับตัวละครอื่นๆ ซึ่งทุกคนมีสีสันกันหมด เฮลลาก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ยืนโด่เป็นขาว-ดำอยู่คนเดียวซะงั้น! (นอกจากนั้น ข้อมูลใน wikipedia ยังระบุว่า Pandora’s Box ถือเป็นหนังเรื่องแรกที่มีการนำเสนอภาพของตัวละครเลสเบี้ยนในโลกภาพยนตร์ด้วย)
อีกมุขที่เด็ดใช้ได้ คือ มุขคารวะ –หรือควรจะเรียกว่าล้อเลียนก็ไม่แน่ใจ- มายา เดอเรน ผู้กำกับหนังทดลองระดับตัวแม่ ที่โด่งดังในยุค 40-50
ร่องรอยการคารวะมายา เดอเรน ปรากฏใน 2 จุดใหญ่ๆ หนึ่งคือ ตัวอักษรในชื่อของมีเดีย ยาร์น (MEDEA YARN) นั้น หากจับมาโยกสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งไปมา จะได้เป็นชื่อ MAYA DEREN และสอง ตอนหนึ่งของหนัง มีเดีย ยาร์นนำผลงานเก่าของตัวเอง 2 ชิ้นมาเปิดฉายให้ทีมงานดู และผลปรากฏว่า ทั้งคู่คล้ายๆ กับจะเป็นการนำหนังหลายๆ เรื่องของเดอเรนมายำรีเมคแบบบ้าๆ บวมๆ อย่างไรอย่างนั้น (มีหนังเรื่องหนึ่งของเดอเรนที่ทำเสร็จแล้วแต่ไม่ได้รับการเผยแพร่ คือ Ensemble of Sonambulists หนัง 1 ใน 2 เรื่องที่มีเดีย ยาร์น นำมาฉายให้ทุกคนดูนั้น ชื่อ Duet for Sonambulists)
พ้นจากที่กล่าวมา ความดีความชอบที่ถือเป็นที่สุดของ Otto; or, Up with Dead People อยู่ที่การนำ ‘ซอมบี้’ มาเปรียบเปรยถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้อย่างคมคาย
ตอนหนึ่ง มีเดีย ยาร์นแสดงทัศนะของตนต่อสังคมปัจจุบันว่า มันเป็นสังคมที่ถูกปกครองด้วยระบบทุนนิยมก้าวหน้า ทุกอย่างก้าวมาถึงจุดที่มากจนล้น ผลิตภัณฑ์ไร้ประโยชน์ปรากฏให้เห็นเกลื่อนกลาด มนุษย์ถูกบังคับให้ต้องแบกรับภาระต่างๆ และกดเก็บความต้องการส่วนตัวไว้อย่างมากเกินพอดี และนั่นก็ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้คนตกอยู่ในสภาพกึ่งหลับกึ่งตื่น ไร้ความรู้สึกรู้สม และไม่ได้ต่างอะไรจากการเป็นซอมบี้ผีดิบเลยสักนิด
มีเดียบอกว่า คนที่ใช้ชีวิตได้ตามปรกติในสังคมที่ไม่ปรกติเช่นนี้ แท้จริงแล้วคือคนผิดปรกติ และการเป็นซอมบี้ของอ๊อตโต้ (ตลอดทั้งเรื่องเธอไม่เคยเชื่อว่าเขาเป็นซอมบี้จริงๆ แต่คิดว่ามันเป็นอาการทางจิตรูปแบบหนึ่ง) ที่ต้องปฏิเสธวิถีชีวิตตามครรลองในทุกๆ ด้านของมนุษย์ ก็เป็นการแสดงอารยะขัดขืนแบบฉายเดี่ยว เป็นการตอบโต้ที่เข้าท่า ต่อโลกที่แสนจะไม่เข้าท่าใบนี้
นอกจากนั้น หนังยังจับมนุษย์กับซอมบี้มาเปรียบเปรยถึงกันในอีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือ ความโหดเหี้ยมโหดร้าย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ตามปรกติ หนังซอมบี้ทั่วไปมักให้ภาพของมนุษย์ในฐานะผู้ถูกกระทำ และซอมบี้คือผู้กระทำการจู่โจมฆ่าล้างมนุษย์แบบไม่เลือกหน้า
Otto; or, Up with Dead People นำเสนอภาพในมุมกลับ กล่าวคือ ตลอดทั้งเรื่อง หนังแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงมนุษย์เป็นฝ่ายกระทำย่ำยีซอมบี้มาโดยตลอด เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เพราะความเป็นอมตะของซอมบี้ทำให้มนุษย์รู้สึกอิจฉาตาร้อนผ่าว นอกจากนั้น มนุษย์ยังมีความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ผู้ที่ผิดแผกแตกต่างจากตนอยู่แล้วเป็นทุน
ในฉากเปิดเรื่อง หนังนำภาพความรุนแรงโดยฝีมือมนุษย์มาเรียงร้อยต่อกัน มันมีทั้งสงคราม การประท้วง และการเข่นฆ่ากันอย่างทารุณ
พิจารณาเนื้อหาทั้งหมดและการเปิดเรื่องด้วยภาพดังกล่าว อาจประมวลรวมความได้ว่า ในความเห็นของบรูซ ลาบรูซนั้น แม้วงจรชีวิตของคนจะไม่ยืดยาวเทียบเท่าซอมบี้
แต่หากเปรียบเทียบกันในแง่ของประสิทธิภาพการทำลายล้าง –ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม- แล้ว เราอาจร้ายกาจและบ้าเลือดกว่าซอมบี้หลายเท่านัก